เคาะขึ้นค่าแรง2-16บาท ตีกลับรายชื่อกมธ.งบ67

ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 67 กว่า 3.48  ล้านล้านบาท นายกฯ ตีกลับรายชื่อ กมธ.งบปี 67 สัดส่วน ครม. สั่ง “ภูมิธรรม-สำนักงบฯ” ยึดโควตาก่อนเสนอใหม่สัปดาห์หน้า ครม.รับทราบมติไตรภาคีขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-16 ตั้งแต่ 1 ม.ค.67 "รมว.แรงงาน" จ่อตั้งคณะอนุ กก. 17 ม.ค. พร้อมปรับอีกรอบเป็นของขวัญปีใหม่ไทย

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26  ธันวาคม นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ วาระที่ 1 ในวันที่ 3-4 ม.ค.2567

โดยร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายฯ เป็นจำนวนไม่เกิน 3,480,000 ล้านบาท จำแนกตามประเภทต่างๆ ได้ดังนี้ 1.รายจ่ายงบกลาง จำนวน 606,765.0 ล้านบาท 2.รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,150,114.0 ล้านบาท 3.รายจ่ายบูรณาการ 214,601.7 ล้านบาท 4.รายจ่ายบุคลากร 786,957.6 5.รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 257,790.5 6.รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 346,380.1 และ 7.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361.1

จำแนกตามยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐสรุปได้ ดังนี้ 1.ด้านความมั่นคง 390,149.3 ล้านบาท 2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 393,517.9 ล้านบาท 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 516,954.2 ล้านบาท 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 834,240.6 ล้านบาท 5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 131,292.3 ล้านบาท และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 604,804.5 ล้านบาท โดยมีรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 564,041.20 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นการชำระหนี้ภาครัฐ และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง

 “ครม.รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็น และให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่าง พ.ร.บ. โดยให้สำนักงบประมาณพิมพ์ร่าง พ.ร.บ. และเอกสารประกอบงบประมาณเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้ผลิตเอกสารงบประมาณฉบับประชาชน โดยใช้ infographic เพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจในเนื้อหาได้ง่ายขึ้น ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ งบประมาณตามช่วงวัย ตามความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และตามยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องงบประมาณประเทศเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ประชาชนจะต้องรู้ว่าได้อะไรบ้างจากงบประมาณปี 2567 ขอชวนเชิญให้สแกนคิวอาร์โค้ดได้จากเฟซบุ๊กของสำนักโฆษก​ https://www.facebook.com/ThaigovSpokesman” นางรัดเกล้าระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในที่ประชุม ครม. สำนักงบประมาณได้เสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะมีการพิจารณาในสภาวันที่ 3-5 ม.ค.2567 ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรีที่มีทั้งสิ้น 18 คน จากทั้งหมด 72 คน โดยวันเดียวกันนี้ มีการเสนอเพียง 5 รายชื่อ ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง, นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม, นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ และนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ทำให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะพรรคภูมิใจไทย กดไมค์แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วย เพราะนอกจากนายเฉลิมพล ที่เหลือเป็นรัฐมนตรีสัดส่วนพรรคเพื่อไทย เหตุใดไม่เสนอชื่อมาทั้ง 18 คน ตามสัดส่วน

นายเศรษฐาจึงได้พยายามไกล่เกลี่ย อยากให้เรื่องนี้มีการคุยกันก่อนจัดสรรให้ลงตัว แล้วค่อยเสนอเข้ามาโดยยึดตามแนวทางสัดส่วน ตามที่เคยทำกันมา โดยมอบหมายให้นายภูมิธรรมและนายเฉลิมพลไปดำเนินการเพื่อเสนอรายชื่อเข้ามาใหม่ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้าให้ครบทั้ง 18 คน และจากประเด็นดังกล่าว ทำให้นางมนพรและนายจักรพงษ์ถึงกับต้องเดินเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับนายอนุทิน จนเป็นที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย

นายกฯ แถลงภายหลังการประชุม ครม. ถึงเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า คณะกรรมการไตรภาคีจะมีการประชุมอีกครั้งในต้นปีหน้า เพื่อกำหนดอัตราใหม่เพื่อที่จะพยายามทำให้สูงขึ้น ซึ่งในตรงนี้ทุกฝ่ายพยายามทำอย่างเต็มที่ และจะประกาศใช้ให้ได้ภายในเดือน มี.ค. 2567 ใหม่อีกรอบ โดยจะดูตามรายอำเภอหรือรายอาชีพตามความเป็นจริงที่สามารถจะทำให้ชีวิตของประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายกฯ แถลงภายหลังการประชุม ครม. ถึงเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า คณะกรรมการไตรภาคีจะมีการประชุมอีกครั้งในต้นปีหน้า เพื่อกำหนดอัตราใหม่เพื่อที่จะพยายามทำให้สูงขึ้น ซึ่งในตรงนี้ทุกฝ่ายพยายามทำอย่างเต็มที่ และจะประกาศใช้ให้ได้ภายในเดือน มี.ค. 2567 ใหม่อีกรอบ โดยจะดูตามรายอำเภอหรือรายอาชีพตามความเป็นจริงที่สามารถจะทำให้ชีวิตของประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทางด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้นำมติขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีมติเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ยืนยันเหมือนเดิม แจ้งให้ ครม.รับทราบ ซึ่งขออนุญาตนายกรัฐมนตรีว่าวันที่ 17 ม.ค.นี้ คณะกรรมการไตรภาคีจะมีการประชุมอีกครั้ง และตั้งอนุกรรมการไตรภาคีขึ้นมาศึกษารายละเอียดถึงรายวิชาชีพ ในระดับอำเภอ และอาจซอยย่อยไปถึงระดับเทศบาลด้วย และจะขอข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาอีกครั้ง เพื่อนำเข้าคณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ในเดือน มี.ค. และจะประกาศการขึ้นค่าแรงอัตราใหม่เป็นของขวัญปีใหม่ไทย คือช่วงวันสงกรานต์ ทั้งนี้ หากเจาะรายละเอียดเชิงลึกตั้งแต่รายอาชีพ เทศบาล อำเภอ มั่นใจว่าค่าแรงขั้นต่ำในชุมชนเมืองต้องดีกว่าวันนี้

เมื่อถามว่า แสดงว่าในจังหวัดเดียวกันไม่จำเป็นต้องได้ค่าแรงอัตราเดียวกันใช่หรือไม่ นายพิพัฒน์กล่าวว่า “ไม่จำเป็น”

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.รับทราบ ตามที่ รมว.แรงงานเสนอมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ โดยยืนยันตามเดิมในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท  แบ่งเป็นระดับค่าจ้าง 17 ขั้น ขั้นต่ำสุดเพิ่มจาก 328 บาท เป็น 330 บาท หรือเพิ่ม 2 บาท ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ส่วนที่มีการปรับเพิ่มสูงสุดคือจังหวัดภูเก็ต  ขึ้นจาก 354 บาท เป็น 370 บาท เริ่ม 1 ม.ค.2567.   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก