เคาะ‘ประชามติ-ส.ส.ร.’ พริษฐ์งอแงต้องเลือกตั้ง

“ภูมิธรรม” ยันที่มา ส.ส.ร.  จากการเลือกตั้ง ปชช. แต่ต้องคำนึงถึงความแตกต่างและคนส่วนน้อยด้วย เล็งเคาะก่อนชงเข้า ครม.อังคารนี้ "นิกร" โต้   "พริษฐ์" บอกไม่ต้องกังวล 100 คนมาจาก   ปชช.ล้วนๆ ไม่มีแต่งตั้ง แต่กลุ่มหลากหลาย 23 คนมาจากทางอ้อมที่เลือกกันเอง "พริษฐ์" ยันต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กังวล สว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีสิทธิเลือก ส.ส.ร.ด้วย แนะจัดเลือกตั้ง 3 ประเภท หากยังเห็นต่างควรถาม ปชช. ในคำถามรองทำประชามติ

เมื่อวันอาทิตย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย   รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล เสนอให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้งหมด 100% ว่า ที่มาของ ส.ส.ร.เป็นเรื่องที่เราไปรับฟังความคิดเห็นมา และที่ผ่านมาได้มีการประชุมกับทุกภาคส่วน โดยมีตัวแทนวิชาชีพต่างๆ เข้าร่วม ได้เสนอว่า หากต้องไปเลือกตั้ง อาจจะสู้คนอื่นไม่ได้ แต่ก็จำเป็นว่าอยากให้มีตัวแทนจากหลายวิชาชีพเข้ามา ทั้งเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ผู้พิการ รวมทั้งวิชาชีพต่างๆ ซึ่งเห็นว่าเป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง แม้การเลือกตั้ง 100% เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย แต่จะทำให้คนที่อยู่ในการเมืองประสบความสำเร็จอยู่ฝ่ายเดียว

"เรายินดีที่จะมี ส.ส.ร.จากประชาชน แต่กลไกที่ได้มาจะ 100% หรือไม่ จะต้องคำนึงถึงความแตกต่าง และคำนึงถึงคนส่วนน้อยด้วย โดยทั้งหมดจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 25 ธ.ค. และจะสรุปเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาตัดสินใจอีกครั้ง โดยคาดว่าภายในไตรมาสแรกของเดือนมกราคม 2567 น่าจะผ่าน ครม. หลายๆ เรื่องคงจะจบและได้ข้อยุติ ซึ่งถ้าทำได้เร็วกว่านี้อาจจะได้ข้อยุติและดำเนินการได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้าเลย"

นายภูมิธรรมกล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นก็ยังไม่เป็นเอกภาพ ยังมีหลายความเห็น แต่ก็เห็นว่าการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน 77 จังหวัด ก็ถือว่าเป็นเหตุผล ส่วนตัวแทนวิชาชีพก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่ามีมากน้อยขนาดไหน อาจจะมี 23 คน ครบ 100 คน หรืออาจจะมีส่วนอื่น  ซึ่งเป็นเรื่องของกรรมการจะต้องไปตรวจสอบและพิจารณาแต่งตั้ง โดยการเสนอข้อมูลให้รัฐบาลจะเสนอทั้ง 2 ด้าน

สำหรับขั้นตอนการทำประชามติ ยังยืนยันที่ 3 ครั้งหรือไม่นั้น นายภูมิธรรม ระบุว่า การทำประชามติ 3 ครั้ง ก็เป็นหลักประกันที่ทำให้รัฐธรรมนูญผ่านได้โดยไม่ตก แต่ก็มีปัญหาว่า การใช้จำนวนครั้งที่มาก ก็มีค่าใช้จ่ายครั้งละ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งถ้าลดจำนวนลงก็ดี โดยขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ และหาทางเจรจากับทาง กกต. ว่าถ้าสามารถรวมกับการเลือกตั้ง อบจ.ในครั้งนี้ได้ ก็จะลดงบประมาณลง

ส่วนข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยทำประชามติแค่ครั้งเดียว จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เกรงว่าจะมีปัญหาว่าตนดึงเรื่องและทำให้ทุกอย่างล่าช้า ซึ่งมีเหตุผลและมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งนั้น ดังนั้นวันนี้จะดูให้ครบส่วน และจัดการให้ดีที่สุด โดยจะอยู่ในเงื่อนไขที่วางเอาไว้ตั้งแต่ตั้ง ครม.คือ จะไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านให้ได้ ภายใน 4 ปีต้องจบ และมีกฎหมายลูกให้เสร็จ พร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่ในกติกาใหม่ทันที

นายนิกร จำนง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อกรณีที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อข้อเสนอที่มาของ ส.ส.ร. ควรมาจากการการเลือกตั้งทั้งหมด 100% ว่า ทางคณะอนุฯ เราเห็นว่าการได้มาของ ส.ส.ร.ที่เราเสนอก็มาจากประชาชนทั้งหมดด้วยเช่นกัน คือตัวแทนของ 77 จังหวัด ซึ่งเป็นส่วนมากนั้น จากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน กลุ่มหลากหลายของประชาชน 5 กลุ่ม กลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นส่วนน้อยแค่ 23 คน ก็มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมจากในกลุ่มของเขาเองกลุ่มละจำนวนหนึ่ง แล้วให้รัฐสภาซึ่งในขณะนั้นก็เป็น สส.ที่มาจากประชาชนโดยตรง และ สว.ที่มาจากการเลือกตั้งจากกลุ่มอาชีพของประชาชนเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่ สว.ชุดปัจจุบันที่ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งพิจารณา

"ดังนั้น ส.ส.ร.ส่วนที่คุณพริษฐ์เป็นกังวลก็มาจากประชาชนล้วนๆ เช่นกัน มิได้มาจากรัฐบาลแต่งตั้งขึ้นแต่อย่างใด ที่สำคัญมากของการให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามามีส่วนในการร่วมพิจารณา ส.ส.ร.โดยอ้อมด้วยในส่วนน้อยก็เพื่อยึดโยงกับรัฐสภา ป้องกันการถูกร้องว่าไม่ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2564 ที่ได้กำหนดว่า "รัฐสภามีหน้าที่ และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" อันเป็นแนวทางเพื่อไปสู่การดำเนินการให้สัมฤทธิผล"

นายนิกรระบุว่า การนำเสนอกรอบที่มาของ ส.ส.ร.นี้ยังไม่ถือเป็นที่สุดในชั้นนี้  ต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหญ่โดยนายภูมิธรรมพิจารณาแล้วเสนอต่อ ครม. เพื่อนำรอไปบรรจุในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ถ้าประชามติของประชาชนเห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายร่างแก้ไขนั้น ก็จะไปยุติที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ที่น่าจะมีนายพริษฐ์ และพรรคก้าวไกลอยู่ในนั้นด้วยแน่นอน  จึงยังจะมีทางเดินเพื่อการปรับปรุงแก้ไขที่ยาวไกลอยู่พอสมควร จึงอยากขอให้ช่วยประคับประคองกัน

น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องเดียวกันว่า การเลือก ส.ส.ร.โดยตรงทั้งหมดก็มีทั้งข้อดีและมีข้อจำกัด เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าตัวแทนทั้งหมดจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือไม่ และกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้น การมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือทางเลือกที่มีส่วนผสมมาจากการเลือกตั้งและการคัดสรรด้วย จะเป็นสูตรที่มีข้อเสียน้อยกว่า เพราะได้ตัวแทนที่มาจากประชาชน และคนที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆ มาร่วมกันกลั่นกรองเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริงอีกครั้ง

"ดิฉันเห็นด้วยกับแนวทางของนายนิกร ด้วยหลักการคือควรให้ ส.ส.ร.มีสัดส่วนผสมระหว่างคนที่มีความเชี่ยวชาญส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน แต่จำนวนของ ส.ส.ร.จะเป็นเท่าไหร่นั้น ในส่วนนี้ก็จะต้องเป็นข้อถกเถียงที่เข้าไปสู่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ว่าในแต่ละสัดส่วนควรมีจำนวนเท่าไหร่ หากผลของประชามติผ่านแล้วว่าให้มี ส.ส.ร.ในการร่างรัฐธรรมนูญ" น.ส.ลิณธิภรณ์กล่าว

ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า ยืนยันเหมือนเดิมว่า หากเราต้องการการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีความชอบธรรม มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ส.ส.ร.ก็ควรมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ การที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาจากประชาชนอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด คือมาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มีข้อกังวลที่จำกัดเพียงว่า ส.ส.ร.บางส่วน จะมาจากการแต่งตั้งหรือการคัดเลือกของรัฐบาลเท่านั้น แต่หากมาจากการแต่งตั้งของรัฐสภาส่วนหนึ่ง คือสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถึงแม้จะไม่ใช่ สว. 250 คนในชุดปัจจุบัน ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ สว.อีก 200 คนในชุดถัดไปก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เป็นวิธีการให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง หากนายนิกรพยายามจะชี้แจงว่า ส.ส.ร.ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล แต่มาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา เราก็ยังมีความกังวลอยู่ดี

นายพริษฐ์กล่าวว่า เราสามารถออกแบบระบบเลือกตั้งที่เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มต่างๆ ได้ โดยยังคงหลักการว่า ให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งมีหลายทางเลือก แต่อีกทางเลือกหนึ่งคือการใช้ระบบเลือกตั้งที่ประชาชนมีบัตรเลือกตั้ง 3 ใบ เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้ง 3 ประเภท 3 ใบเลือกตั้ง ประเภทที่ 1 ส.ส.ร. การเลือกตั้งตัวแทนพื้นที่ โดยกำหนดได้ว่าจะใช้อะไรเป็นเขตเลือกตั้ง ประเภทที่ 2   ส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ หรือฝ่ายวิชาการ ประเภทที่ 3 การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ประเภทตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย วิธีนี้จะทำให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด จึงย้ำว่าไม่ควรใช้เหตุผลว่า ส.ส.ร.ต้องมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญผู้มีประสบการณ์ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายมาเป็นข้ออ้างว่า ส.ส.ร.จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้

"แต่หากเรายังเห็นต่างกันจริงๆ ในเรื่องนี้ เราเสนอว่าควรให้ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในคำถามรองที่ถูกถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก นอกเหนือจากคำถามหลัก หากประชาชนลงความเห็นไปในทิศทางใดผ่านการทำประชามติ เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทุกคนก็พร้อมเดินหน้าต่อตามเสียงของประชาชน" นายพริษฐ์  กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ

'ภูมิธรรม' จ่อบิน ตรวจบึงบอระเพ็ด แม่น้ำน่าน-เจ้าพระยา จ.สุโขทัย - ชัยนาท 31 ส.ค. นี้

'ภูมิธรรม' เตรียมบิน ตรวจบึงบอระเพ็ด แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมประชุมแนวทางการบริหารจัดการน้ำ จ.สุโขทัย - ชัยนาท 31 ส.ค. นี้