‘รถไฟฟ้า’สะดุด ชมพูปิด7สถานี ม่วงใต้หยุด7วัน

วิกฤตรถไฟฟ้า “สายสีม่วง” กำแพงกันดินร่วงหล่นทำคนงานเสียชีวิต 1 ราย ผู้รับจ้างรับผิดชอบเบื้องต้น 1.6 ล้านบาท “สุริยะ” สั่งหยุดก่อสร้าง 7 วัน ตรวจสอบไม่ให้เกิดเหตุอีก  ส่วนสายนมเย็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้าร่วง รมว.คมนาคมสั่งปิด 7 สถานี เปิดแค่ 23 สถานี รวม 7 วัน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค. ได้เกิดอุบัติเหตุในระบบขนส่งสาธารณะถึง 2 เส้นทาง โดยเมื่อเวลา 04.45 น. โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู   บริเวณถนนติวานนท์ สถานีสามัคคี  (PK04) เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทานได้รับความเสียหาย  รวมทั้งทำให้รถยนต์ที่จอดใต้สถานีจำนวน 3 คัน ได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด และจากเหตุดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถจนต้องปิดให้บริการ ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) เป็นการชั่วคราว 

ต่อมา ในเวลา 08.00 น. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สายสีม่วงใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สถานีวงเวียนใหญ่ ได้เกิดอุบัติเหตุจากการดำเนินงานยกเหล็กเส้นกำแพงกันดิน (D-Wall) ร่วงหล่นขณะปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้างสถานีวงเวียนใหญ่ เป็นเหตุให้คนงานชายเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง  แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 4

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สายสีม่วงใต้) ว่าขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จากการรายงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เบื้องต้นระบุว่า เหล็กเส้นกำแพงกันดินร่วงหล่น เนื่องจากไม่ได้มัดรอบสลิงเบลท์ แต่ใช้วิธีเกี่ยวโครงเหล็ก และเมื่อวางเหล็กเส้นกำแพงกันดินบนพื้น  ทำให้กระแทกทำให้โครงเหล็กกระจายออกจากกัน และสะบัดเข้าพื้นที่ปลอดภัยไปโดนศีรษะของคนงานชายเสียชีวิต ซึ่งผู้รับจ้างก่อสร้างจะรับดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด และจ่ายค่าเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตในเบื้องต้นประมาณ 1.6 ล้านบาท

นายสุริยะกล่าวต่อว่า อุบัติเหตุดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ปิด จึงไม่กระทบต่อประชาชนและผู้สัญจรบนถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินแต่อย่างใด แต่ได้กำชับให้ รฟม.วางแนวทางป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นอีก โดยให้ตรวจเช็กโครงเหล็กให้หนาแน่นในทุกจุดต่อ พร้อมทั้งเสริมรอยเชื่อมให้แน่นหนา และให้รัดรอบเหล็กทุกครั้งก่อนนำเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนบทลงโทษผู้รับจ้างต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นั้น รฟม.ได้สั่งหยุดการก่อสร้างเป็นเวลา 7 วัน เพื่อดำเนินการสืบสวนและทบทวนมาตรการด้านการทำงานและด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ หากประเมินผลงานในครั้งต่อไป อาจโดนปรับอันดับ (เรตติ้ง) คุณภาพของผู้รับจ้าง ซึ่งจะมีผลในการคัดเลือกผู้รับจ้างในโอกาสต่อไป

นายสุริยะยังกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพูว่า จากการหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.), รฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการฯ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้ปิดการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูในวันนี้ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เพื่อตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียด และในวันที่ 25 ธ.ค.2566 จะเปิดให้บริการ 23 สถานี คือตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ (PK08)-สถานีมีนบุรี (PK30) ขณะที่ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) รวม 7 สถานีนั้น ขร.ต้องตรวจสอบและประเมินเบื้องต้น 7 วัน จากนั้นจะตรวจสอบให้มั่นใจในด้านความปลอดภัย ก่อนพิจารณาเปิดให้บริการอีกครั้งต่อไป ทั้งนี้ ได้กำชับว่า หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก จะมีบทลงโทษครอบคลุมตามสัญญา ด้วยเงื่อนไขในการเดินรถต่อไป

นายสุริยะกล่าวต่อว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จากการรายงานเบื้องต้นทราบว่า รถตรวจรางพบวัสดุแปลกปลอม ซึ่งวัสดุแปลกปลอมดังกล่าวอาจจะเกิดจากรถเครนที่เข้าไปเคลียร์พื้นที่ เพื่อคืนผิวจราจร แล้วไปขัดบริเวณตัวล้อด้านข้าง ทำให้ลากรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกทั้งแนว ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่มีรถยนต์บริเวณดังกล่าวเสียหาย 3 คัน และสายไฟฟ้าล้ม โดย NBM จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด โดยหลังจากนี้ จะมีรถตรวจทางวิ่งตรวจสอบในช่วงเวลา 04.00 น.ก่อนให้เปิดบริการทุกวัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความปลอดภัยในการให้บริการและการเดินทางอย่างแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง