นายกฯชิ่งปม‘นช.’ โบ้ยอุ้ม‘แม้ว’ฝีมือรัฐบาลประยุทธ์/ยันกรมคุกทำ ถูกกม.

ดอนเมือง ๐ "เศรษฐา" ปฏิเสธเรียก "ทวี" คุยเรื่อง "น.ช.ทักษิณ"  โบ้ยระเบียบราชทัณฑ์เริ่มตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ ไม่เกี่ยวเอื้อประโยชน์ใคร มั่นใจ “ราชทัณฑ์-  รพ.ตำรวจ” ทำตามกฎ ตรวจสอบได้  อดีตแกนนำแดงเชื่อคนเกลียดนายใหญ่ ปั่นกระแสโจมตี กระทบสิทธิคนอื่น ส่วน "ชัยชนะ" ยัน 12 ม.ค. บุก รพ.ตำรวจแน่  ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำหนังสือขอ สตช.และกรมราชทัณฑ์แล้ว

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีที่ช่วงเย็นวันที่ 22 ธ.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เข้าพบนายกฯ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเข้าพบเพื่อรายงานกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครบกำหนดการพักรักษาพยาบาลนอกเรือนจำครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่ว่า ที่จริงแล้วเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. มีหลายท่านมาพบ

เมื่อถามว่า รมว.ยุติธรรมได้รายงานเรื่องของนายทักษิณหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า เชิญมาถามเรื่องคดีอื่นๆ ทั้งเรื่องหมูเถื่อน และเรื่องหุ้นสตาร์ค ไม่มีเรื่องของนายทักษิณ และไม่มีเรื่อง 120 วัน ไม่ได้ถาม แต่เชื่อว่ากรมราชทัณฑ์และ รพ.ตำรวจมีกฎระเบียบดูแลคนเจ็บคนไม่สบายอยู่แล้ว มั่นใจว่าทุกท่านทำตามกฎระเบียบ ตรวจสอบได้

ถามว่า ระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง 2560 ที่กำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ แต่ขณะนี้สังคมมองว่าระเบียบดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ  นายเศรษฐาชี้แจงว่า มันย้อนแย้ง เพราะแนวคิดมีตั้งแต่ปี 60 ตอนนั้นไม่ใช่รัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตนยังเชื่อว่ากรมราชทัณฑ์ทำถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งหมดต้องว่าตามกฎที่ตั้งไว้ อะไรที่ละเมิดสิทธิคงไม่ถูกต้อง

นายวรชัย เหมะ ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระเบียบดังกล่าวใช้กันทั่วโลก เป็นหลักสากลที่ต้องการให้นักโทษที่เหลือโทษจำคุกน้อย นักโทษที่เจ็บไข้ได้ป่วยมีสิทธิในการย้ายที่คุมขังซึ่งไม่ใช่เรือนจำ เช่น บ้านหรือสถานที่ราชการอื่นๆ ซึ่งในประเทศไทยมีเหตุจำเป็นต้องใช้ระเบียบดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ในเรือนจำมีจำกัดแค่ 3.8 แสนตารางเมตร แต่วันนี้มีนักโทษเกือบ 3 แสนคน โดยหลักสากลนักโทษ 1 คน จะต้องมีพื้นที่ 1.6 ตารางเมตร ซึ่งวันนี้ในเรือนจำมีความแออัดอย่างมาก

นายวรชัยกล่าวว่า เคยอยู่ในเรือนจำ และได้เห็นความแออัดที่ว่า อีกทั้งยังไม่มีการแยกกลุ่มนักโทษออกเป็นกลุ่มต่างๆ  อาทิ นักโทษยาเสพติด ลักเล็กขโมยน้อย หมิ่นประมาท หรือแม้แต่นักโทษการเมือง ไม่ว่าจะถูกจำคุก 1 ปี หรือ 10 ปี ก็ต้องมาอยู่รวมกัน ทำให้ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปมีโอกาสเจ็บป่วยได้สูง เพราะมีโรคติดต่อค่อนข้างเยอะ

เขากล่าวต่อว่า ระเบียบราชทัณฑ์ที่กำลังจะออกมานี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องขังชั้นดีที่กำลังจะได้ออกจากเรือนจำ และยังช่วยผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่ยังต้องอยู่ในเรือนจำ ความแออัดจะได้ลดลง และเชื่อว่าระเบียบดังกล่าวมีผู้ได้ประโยชน์เกือบ 2 หมื่นคน แต่วันนี้มีคนที่มีความเกลียดชังต่อตัวนายทักษิณหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นโจมตีกรมราชทัณฑ์ โจมตีรัฐบาล โจมตีนายทักษิณ ว่าระเบียบที่ออกมาตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ปี 2560 และ 2563 เป็นการเอื้อประโยชน์ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าที่จะเดินหน้าเรื่องดังกล่าว จนกระทบสิทธิของคนอื่นจำนวนมาก จึงอยากขอให้คนที่ออกมาวิจารณ์เรื่องนี้ดูข้อเท็จจริงและให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายที่ออกมา อย่าให้ความเกลียดชังนายทักษิณต้องทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปด้วยโดยไม่มีเหตุจำเป็น

ขณะที่ นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าหากคณะกรรมาธิการฯ จะไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจ ในเรื่องวิธีการ ขั้นตอนและมาตรการดูแลผู้ต้องขังเข้ากรณีเข้ารับรักษาตัว และรวมถึงเรื่องของนายทักษิณ ว่ามีอาการป่วยจริงอย่างไร ก็ต้องระวังว่าจะถูกฟ้อง รวมถึงนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความประจำตัวนายทักษิณ ที่ประกาศว่าจะดำเนินการฟ้องร้องคนที่ต้องการให้เปิดเผยข้อเท็จจริงถึงอาการป่วยของนายทักษิณ โดยอ้างว่าเข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิของผู้ป่วย และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงว่า ตนเห็นว่าทั้งสองกรณีมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือต้องการปกป้องสุดชีวิต และปกปิดไม่ให้สาธารณชนรับรู้ โดยให้เข้าใจเอาเองว่านายทักษิณยังรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล และกลายเป็นชุดความคิดที่จะสะกดจิตคนไทยทั้งประเทศ

เขายืนยันว่า การที่ทางคณะกรรมาธิการฯ จะเดินทางไปดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อสอบถามถึงมาตรฐานการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง และสอบสวนหาข้อเท็จจริงให้กับคนไทย  ในวันที่ 12 มกราคม 2567 นั้น ถือว่าเป็นการทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย ที่ได้รับเลือกมาตามระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ก็ได้รับรองการกระทำของคณะกรรมาธิการแต่ละชุดในการสอบหาข้อเท็จจริง

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า  ทางคณะกรรมาธิการการตำรวจ มีอำนาจหน้าที่อย่างถูกต้องในการดำเนินการดังกล่าว เพราะฉะนั้นต้องขอบคุณนายสมศักดิ์และนายวิญญัติ ในความปรารถนาดีที่เป็นห่วงกลัวว่าคณะกรรมาธิการฯ และประชาชนที่ต้องการทราบข้อเท็จจริงจะกระทำผิดกฎหมาย เพราะเชื่อว่า หากกระทำการโดยอาศัยอำนาจที่มีตามกฎหมายอย่างซื่อสัตย์สุจริตและตรงไปตรงมาแล้ว ก็จะมีกฎหมายและข้อเท็จจริงคอยคุ้มครองบุคคลเหล่านั้น ให้รอดจากภยันตรายและโทษทางกฎหมาย แต่ถ้าหากว่า รู้ทั้งรู้ว่าข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ก็แต่ยังดันทุรังเพื่อช่วยเหลือให้บุคคลคนหนึ่งมีสิทธิมากกว่าคนอื่นๆ จนกลายเป็นคนไม่เท่ากันแล้ว  นอกจากจะทำให้เกิดความไม่สบายใจกับตนเองแล้ว ยังจะทำให้ส่วนรวมขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทยด้วย

“ผมก็ไม่ได้แปลกใจที่ทั้งรองนายกฯ สมศักดิ์และคุณวิญญัติจะใช้วิธีการฟ้องปิดปากกับทางคณะกรรมาธิการฯ และประชาชนที่ต้องการทราบว่านายทักษิณ อยู่ที่ไหน และทำไมยังรักษาตัวไม่หาย และผมคิดว่าบุคคลทั้งสองควรจะคำนึงประเด็นสงสัยของประชาชนขณะนี้"

นายชัยชนะกล่าวว่า มีหลายข้อสงสัยที่ทางคณะกรรมาธิการฯ จะต้องหาคำตอบให้ได้ เช่น ตกลงแล้วนายทักษิณป่วยหนักจริงหรือไม่ ทำไมได้เอกสิทธิ์และอภิสิทธิ์เหนือนักโทษคนอื่น ตกลงแล้วนายทักษิณจะได้กลับเข้าไปเรือนจำเพื่อชดใช้ความผิดหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งการที่ผมและคณะกรรมาธิการฯ จะมีกำหนดการดูงานและสอบหาข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลตำรวจในวันที่ 12 มกราคมนั้น ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำหนังสือถึงกรมราชฑัณฑ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่ได้กระทำการเกินเลยแต่อย่างใด

"เป็นหน้าที่ของทางโรงพยาบาลตำรวจและกรมราชทัณฑ์เองว่าจะตอบรับให้ทางคณะกรรมาธิการฯ เข้าไปดูงานและตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ เพราะถ้าไม่อนุญาต ทางโรงพยาบาลตำรวจ กรมราชทัณฑ์ และผู้เกี่ยวข้องก็ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ โดยเฉพาะข้อสงสัยของประชาชน" นายชัยชนะกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง