ครบ 120 วัน "ทักษิณ" นอนรักษาตัว รพ.ตำรวจ ห้องชั้น 14 เปลี่ยนป้ายจาก "หอผู้ป่วยพิเศษระดับสูง" เป็น "หอผู้ป่วยพิเศษ" เตือนสื่อทำข่าวในพื้นที่ระวังอย่าให้ภาพข่าวกระทบสิทธิผู้ป่วย-ปชช.ใช้บริการ "ทวี" ปัดไม่รอ "น.ช.แม้ว" นอน รพ.ต่อได้หรือไม่ โยน "อธิบดีคุก-หมอ" พิจารณา "สมศักดิ์" ระบุ กมธ.ตำรวจขึ้นตรวจชั้น 14 ไม่ได้ เอกสิทธิ์ผู้ป่วย ขู่! ใครขึ้นไปโดนฟ้องตายห่า "วัชระ" ร้อง ป.ป.ช.สอบ "ราชทัณฑ์-นักการเมือง" อุ้มทักษิณเหาะข้ามกำแพงเรือนจำหนีไปนอน รพ. แนะเลื่อนบังคับใช้ระเบียบใหม่คุมขังนอกเรือนจำ 1 ปี สิ้นครหาสังคม
ที่โรงพยาบาลตำรวจ ถ.พระราม 1 วันที่ 22 ธ.ค. บริเวณชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ซึ่งเป็นสถานที่รักษาตัวของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งกรมราชทัณฑ์ส่งตัวมารักษาอาการป่วยครบ 120 วัน (22 ธ.ค.) โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาได้แจ้งผลการรักษาให้กรมราชทัณฑ์รับทราบ เพื่อพิจารณาว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจต่อไปนั้น ยังคงมีตำรวจเฝ้าประจำการดูแลความเรียบร้อยอยู่เช่นเดิม
โดยเฉพาะบริเวณปีกซ้ายของอาคารชั้น 14 พบว่ามีตำรวจ 2 นาย ที่ประจำการดูแลความเรียบร้อยบริเวณหน้าห้อง 1401 ซึ่งเป็นห้องที่ น.ช.ทักษิณนอนพักรักษาตัว และมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 1 นายนั่งประจำการ ขณะเดียวกันฝั่งปีกขวา จากเดิมก็เป็นห้องพักฟื้นของผู้ป่วยเช่นเดียวกันกับฝั่งปีกซ้าย แต่ปัจจุบันมีสภาพเปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่ามีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และตำรวจจัดโต๊ะที่นั่งคล้ายประจำการ
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือป้ายแจ้งข้อมูลของแต่ละชั้นในอาคาร พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงข้อความของชั้น 14 จากเดิมเคยระบุว่าเป็น "หอผู้ป่วยพิเศษระดับสูง" ซึ่งหมายถึงเป็นชั้นพักฟื้นระหว่างรักษาตัวของตำรวจระดับนายพล แต่ปัจจุบันข้อความระบุสั้นๆ ว่า "หอผู้ป่วยพิเศษ"
นอกจากนี้ โรงพยาบาลตำรวจได้ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการเข้ามาทำข่าวในพื้นที่ ให้ระมัดระวังการนำเสนอภาพข่าวหรือภาพ เพื่อไม่ให้ไปกระทบสิทธิผู้ป่วยและประชาชนที่มาใช้บริการ
พ.ต.อ.หญิงศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า พื้นที่การควบคุมผู้ต้องขังตามคำสั่งศาลเป็นพื้นที่รักษาความปลอดภัย ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 รวมถึงโรงพยาบาลตำรวจมีหน้าที่รักษาคนไข้เพียงอย่างเดียว อีกทั้ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 (มาตรา 7) มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายทักษิณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจครบ 120 วันว่า ล่าสุดตนยังไม่ได้รับรายงานความเห็นจากนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วยการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 มีการระบุชัดเจนว่าหากการรักษาเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ
"แม้วันนี้จะเป็นวันที่ 22 ธ.ค.ก็ตาม แต่จะต้องรอให้เกินวันที่เกินก่อน และหากดูในรายละเอียดกฎระเบียบ จะเป็นไปตามที่ผมเรียนแจ้ง ถึงเกิน 5-7 วัน ก็ยังอยู่ในกรอบของกฎระเบียบ แต่หากเจาะจงไปก่อนวัน ซึ่งยังไม่เกินกว่า 120 วัน ก็จะยังไม่สามารถสรุปใดๆ ได้" พ.ต.อ.ทวีกล่าว
มีรายงานว่า เมื่อเวลา 15.30 น. พ.ต.อ.ทวีเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนเดินทางออกจากทำเนียบฯ โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ ทั้งนี้ คาดว่ามารายงานกรณีนายทักษิณครบกำหนดการพักรักษาพยาบาลด้านนอก เนื่องจากอาการป่วยครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค. ซึ่งมีรายงานข่าวว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้เตรียมนำเอกสารความเห็นจากแพทย์ผู้รักษาอาการป่วยของนายทักษิณมาประกอบการพิจารณา เพื่อเสนอไปยังกรมราชทัณฑ์เพื่อขอขยายเวลาพักรักษาตัวเกิน 120 วัน เนื่องจากยังมีอาการป่วย ถือเป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบ ซึ่งทั้งหมดต้องรายงานให้รัฐมนตรีทราบ แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมาจากกรมราชทัณฑ์
นอกจากนี้ คาดว่ามารายงานเรื่องระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ซึ่งถือเป็นระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ให้อำนาจกรมราชทัณฑ์กำหนดสถานที่คุมขังอื่นๆ นอกเหนือจากเรือนจำได้
ขู่บุกชั้น 14 ถูกฟ้องตายห่า
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบต่างๆ ถูกเชื่อมโยงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณว่า กรณีดังกล่าวเป็นพัฒนาการ เมื่อมีกฎหมายออกมา ก็ต้องดำเนินการไปตามแนวทางของกฎหมาย ทั้งนี้มีหลายกระทรวงที่สร้างกฎหมายออกมา แต่ไม่ได้เดินต่อ และไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จึงทำให้เสียโอกาส ทำได้หน่วยงานนั้นๆ แค่นั่งรอเซ็นหนังสือไปวันๆ ซึ่งมันไม่ใช่การพัฒนาประเทศ แต่การพัฒนาจะต้องคิดใช้ประโยชน์จากกฎหมายเพื่อสังคมและประเทศชาติ นั่นคือการเมืองที่ดี
นายสมศักดิ์กล่าวว่า กรณีนายทักษิณจังหวะมันไปลงกันพอดี และโดยปกติสังคมข้าราชการไทยจะอยู่แบบสบายๆ ไม่ค่อยคิดอยากจะทำอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ เพราะเรื่องใหม่ก็เป็นเรื่องน่าหวาดเสียวสำหรับองค์กรที่เข้ามาตรวจสอบ เพราะองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบบางรายไม่ได้อยู่ในมาตรฐาน ขณะที่คนส่วนใหญ่อยู่ในมาตรฐาน ก็จะทำให้ผู้ที่ถูกตรวจสอบนั้นเสียสติ เพราะเกิดความไม่ชัดเจนในตัวกฎหมายหรือหลักวิชาการ บางครั้งก็มีเด็กฝากที่ไม่ค่อยเก่ง ทำงานไม่คล่อง ก็ไม่เกิดการพัฒนา
ถามว่า รายชื่อผู้ที่เข้าตามหลักเกณฑ์ของระเบียบราชการฉบับใหม่น่าจะได้เห็นออกมาก่อนปีใหม่หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ดูจากแนวทางดำเนินการ ถ้ามีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารออกไป ก็จะกระทบกับคนที่ทำงาน เพราะคิดว่าทำให้เกิดปัญหามาก จึงไม่ทำดีกว่า และอาจทำให้ผู้ที่จะได้เข้าหลักเกณฑ์เสียโอกาสไปด้วย เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการบังคับให้ทำ แต่เป็นพัฒนาการของกฎหมาย เพราะพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ออกมาตั้งแต่ปี 2560 ผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 5 ปี โดยในมาตรา 43 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวระบุว่า เมื่อครบเวลา 5 ปี จะต้องสังคายนากฎหมายดังกล่าวว่ามีอะไรที่สมดุลหรือไม่สมดุล และต้องมีการปรับแก้ไข แต่ตอนนี้เกิน 5 ปีไปแล้ว ถ้าไม่คิดพัฒนา ก็นอนอยู่เฉยๆ คอยเซ็นหนังสือไปวันๆ
"ถามว่าประเทศจะไหวหรือไม่กับการไม่คิดจะทำอะไร ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้หมดก็จะกลายเป็นประเทศที่คอยใช้แต่เงินงบประมาณที่มีจำนวนน้อย ดังนั้นเราต้องแก้กฎระเบียบข้อบังคับที่จะพัฒนาสู่สากลในทุกด้าน จะทำให้มีช่องทางหาเงินเข้าประเทศได้ ผมอยู่การเมืองมานานกว่า 40 ปี สามารถพูดได้เพราะเห็นชัด" นายสมศักดิ์กล่าว
ซักว่า พรรคเพื่อไทยจะสามารถชี้แจงต่อข้อกังขาของประชาชนที่ยังสงสัยอยู่ได้ใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ชี้แจงได้ และตนที่ไม่ได้เกี่ยวแต่เข้าใจเรื่องนี้ก็ชี้แจงได้ และออกมาพูดในขณะที่ไม่มีใครพูด เพราะถ้าไม่พูดก็จะเกิดความเข้าใจผิด และมองเห็นถึงความตั้งใจดีของราชการ แต่ถ้าภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ก็จะไม่กล้าเดินต่อ ขณะเดียวกัน ถ้าไม่เดินต่อ ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับคนอื่นที่ควรจะได้รับประโยชน์จากตรงนี้
เมื่อถามว่า หากเป็นอย่างนี้นายทักษิณจะอยู่นอกเรือนจำไปตลอดจนกว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ
ใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น อย่าไปถามออกนอกกรอบ เรื่องจะอยู่นอกหรือในเรือนจำนั้นเป็นการตรวจสอบของแพทย์ และเป็นเรื่องเอกสิทธิ์ส่วนตัวของผู้ต้องขังด้วย หากเขาไม่ต้องการให้ใครมาเยี่ยม บุคคลนั้นก็มาเยี่ยมไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ใช้กับผู้ต้องขังทุกคนที่อยู่ในเรือนจำ และต้องขึ้นบัญชีผู้ที่จะเข้าไปเยี่ยมได้ ไม่ใช่อยากจะเข้าไปเยี่ยมหรือเข้าไปตรวจสอบ มันก็ทำไม่ได้
"การที่บอกว่าใจไม่กว้าง ปกปิดไม่ให้มีการเข้าเยี่ยม ผมต้องขอย้ำว่ามันมีกฎกติกาในการเยี่ยม ถ้าเจ้าตัวไม่อนุญาต ก็จะมีเพียงทนายความหรือญาติที่สนิทเท่านั้น" รองนายกฯ กล่าว
ถามว่า กมธ.การตำรวจฯ จะขอไปตรวจชั้น 14 ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ นายสมศักดิ์กล่าวว่า หากเขาไม่อนุญาตก็ไม่ได้ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ป่วย และหากถามว่าเป็นโรคอะไร เจ็บป่วยอะไร และเขาไม่อยากเปิดเผย หากเปิดเผยจะถูกฟ้องตายห่า
ร้อง ป.ป.ช.สอบราชทัณฑ์
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ผ่านทางนายสุขสันต์ ประสาระเอ ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และรักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวก และฝ่ายการเมือง ที่เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์หรือกระทำผิดประมวลจริยธรรมของข้าราชการ หรือนักการเมืองและกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณว่า 1.ไม่ต้องจำคุกจริง และไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่ ป่วยจริงหรือไม่ 2.มีการดำเนินการตามขั้นตอนรับเข้าเรือนจำ ออกประวัตินักโทษครบถ้วนหรือไม่ 3.มีข้าราชการ นักการเมือง สั่งการ ช่วยเหลือหรือไม่ และ 4.มีการเร่งรัดออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 6 ธ.ค.2566 เอื้อประโยชน์นายทักษิณ จริงหรือไม่
นายวัชระกล่าวว่า เชื่อว่าลำพังผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คงไม่กล้าอนุมัติให้นายทักษิณไปรักษาที่ รพ. แต่มีนักการเมืองเหาะเหินเดินกรุงลงกาหรือไม่ แล้วพานายทักษิณเหาะข้ามรั้วเรือนจำไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ จริงหรือไม่ เชื่อว่าย่อมมีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย จึงขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบจริยธรรมนักการเมืองและข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งนายวิษณุ นายสมศักดิ์ ก็เป็น รมว.ยุติธรรมขณะนั้น รวมทั้งนายทวี รมว.ยุติธรรมคนปัจจุบันที่อนุมัติด้วย
"ประชาชนสงสัยว่าความยุติธรรมนั้นยุติธรรมจริงหรือไม่ หากยุติธรรมจริงทำไมนักโทษกว่า 2.7 แสนรายยังอยู่ในคุก แต่ทำไมนายทักษิณคนเดียวซึ่งถูกคำพิพากษาจำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้ติดคุกจริง กลับแหกตาประชาชนทั้งประเทศ โดยให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยและหน่วยงานอื่นๆ ไว้เป็นพยานทั้งหมด รวมทั้งขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตั้งอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ด่วนที่สุด" นายวัชระกล่าว
ถามว่า นายสมศักดิ์ระบุนายทักษิณเข้าเรือนจำแล้วมีภาวะเครียด มองว่าเป็นไปได้หรือไม่ นายวัชระกล่าวว่า คิดว่าเป็นไปไม่ได้ นายสมศักดิ์นั่นแหละเครียดกว่า แต่นายสมศักดิ์เป็นคนดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นคนที่รู้ดี
นายวัชระกล่าวว่า ได้เสนอในกรรมาธิการการตำรวจว่า เพื่อให้สิ้นข้อสงสัย สิ้นข้อครหา ก็ขอให้อธิบดีประกาศเลื่อนการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวออกไป 1 ปี เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย สิ้นครหาต่อนายทักษิณ
“ผมสงสารข้าราชการประจำ ขอให้ไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาว่านักการเมืองใช้ข้าราชการประจำแล้วเป็นอย่างไร เช่น กรณีของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ ในคดีจำนำข้าว สุดท้ายล้วนแต่ต้องติดคุกกันทั้งนั้น ดังนั้นขอให้ข้าราชการรักศักดิ์ศรี อย่ายอมเป็นทาสของนักการเมือง” นายวัชะกล่าว
ถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้มีการวางแผนเอานายทักษิณกลับมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว นายวัชระย้อนว่า “อันนี้เป็นความเห็นของท่าน ซึ่งผมก็เห็นคล้อยด้วย”
เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่ฝ่ายค้านหรือพรรคก้าวไกลตรวจสอบเรื่องนี้น้อยมาก นายวัชระกล่าวว่า พรรคก้าวไกลมีเข็มมุ่งที่ชัดเจน และอยู่ภายใต้การครอบงำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ แล้วนายธนาธรมีการคุย ตกลงอย่างลับๆ กับนายทักษิณล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นการกระทำของพรรคก้าวไกลในอนาคตล้วนอยู่ใต้การชักนำของนายธนาธรหรือไม่ ดังนั้นเป็นเหตุให้ไม่กล้ายุ่งกับกรณีนายทักษิณ ถึงแตะก็แตะอย่างผิวเผิน
นายพายัพ ปั้นเกตุ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้มีฝ่ายการเมืองออกมาใช้เรื่องสถานที่คุมขังนายทักษิณที่กำลังรักษาอาการป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจมาเล่นเกมการเมืองมากเกินไป พยายามโจมตีเพื่อหวังผลทางการเมือง ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพรรคร่วมรัฐบาล และบางคนถึงกับฝันไปว่าจะเปลี่ยนขั้วอำนาจการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ขอบอกเลยว่าเป็นเรื่องฝันกลางวัน เพราะอย่างไรวันนี้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ก็มีความมั่นคงแข็งแรงเป็นปึกแผ่น ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องปรับใครเข้าหรือปรับใครออก มีแต่มุ่งทำงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชาติและปากท้องประชาชนทุกวัน และทุกวันนี้ก็ทำไปมากแล้ว หากไม่มีใครคอยขัดแข้งขัดขาผลงานรัฐบาลก็จะเกิดขึ้นมากกว่านี้
"อยากจะขอร้องทุกฝ่ายหยุดใช้สถานที่คุมขังนายทักษิณมาเป็นเกมการเมืองอีกเลย ขอให้เป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ที่จะใช้อำนาจตามกฎระเบียบของกฎหมายให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุยชนจะดีกว่า เพราะทุกคนที่ถูกศาลสั่งจำคุกก็ต้องให้กรมราชทัณฑ์ควบคุมตัวไปตามกฎเกณฑ์อยู่แล้ว ใครเจ็บใครป่วยก็ให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย ไม่ควรไปกดดันใดๆ" นายพายัพกล่าว
ที่ปรึกษารองนายกฯ กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองออกมาเรียกร้องตรวจสอบกันทุกวันนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองได้ว่ามิได้กระทำโดยสุจริตใจ แต่หวังผลทางการเมืองมากจนเกินไป จึงขอให้หยุดฝันกลางวัน หยุดต่อรองทางการเมือง หยุดเอาโรงพยาบาลตำรวจ กรมราชทัณฑ์ และคนป่วยมาเล่นการเมืองกันเสียที เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้คนไทยทั้งชาติ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กต่อแจงบ้านลอนดอน รมว.ดีอีดีดรับพ่อนายกฯ
ป.ป.ช.เปิดขุมทรัพย์ “บิ๊กต่อ” หลังพ้นเก้าอี้ ผบ.ตร. ทรัพย์สิน 209 ล้าน
ภท.เฮรอดคดียุบพรรค! อิ๊งค์ขอเริ่มทำงาน2ม.ค.
“ภท.” เฮ รอดยุบพรรค กกต.ยุติสอบ “วันนอร์” ไม่หวั่นถูกเลื่อยขาเก้าอี้
ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3
“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด
ชวนบี้แก้ปมท้องถิ่นชิงลาออก
“แสวง” ลงพื้นที่ปราจีนบุรี ส่องรับสมัครนายก อบจ.วันสุดท้าย
จี้สอบ6ข้อป่วยทิพย หวั่น‘สมศักดิ์’แทรกแซง/‘แม้ว’ถก‘อันวาร์’เรื่องอาเซียน!
"บิ๊กป้อม" เลี่ยงเผชิญหน้า "ทักษิณ" ยกเลิกร่วมงานอวยพรครบรอบ 75 ปี
‘ทักษิณ’ ติงสื่อขยายข่าวมากเกินไป! หลัง คุยกับ ‘อันวาร์’
ที่อาคารมูลนิธิไทยรัฐ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี