‘เศรษฐา’ไปน่านแก้หนี้! สงกรานต์ขึ้นค่าแรงอีก

“เศรษฐา” พักร้อนเสร็จ เสาร์นี้ไปน่าน ติดตามแก้หนี้นอกระบบ รบ.เผยยอดลงทะเบียน 21 วัน เจ้าหนี้-ลูกหนี้ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 224 ราย มูลหนี้ลด 89 ล้าน “พิพัฒน์” มั่นใจปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ได้ก่อนสงกรานต์ กมธ.แรงงานชงรื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ-ใช้บอร์ดพหุภาคี

เมื่อเวลา 13.10 น. วันที่ 22 ธ.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังลาราชการพักผ่อนตั้งแต่เวลา 13.00 น. วันที่ 19 ธ.ค. ถึงวันที่ 22 ธ.ค. เวลา 12.00 น. โดยนายเศรษฐาสวมเสื้อแจ็กเกตสีเขียว เมื่อมาถึงได้หันมายิ้มและโบกมือทักทายสื่อมวลชน

ขณะที่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ  เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.น่าน ในวันที่ 23 ธ.ค. เพื่อติดตามประเด็นการเจรจาแก้หนี้นอกระบบในพื้นที่ จ.น่าน ซึ่งเป็นการยืนยันว่า นายกฯ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้นอกระบบที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ

นายชัยเปิดเผยด้วยว่า ล่าสุดในส่วนของการแก้หนี้นอกระบบ รายงานจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) ระบุพบว่า การลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. จนถึงวันที่ 21 ธ.ค.นั้น นับเป็น 21 วันตั้งแต่เปิดลงทะเบียน จากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. (21 ธ.ค.) มีมูลหนี้รวม 6,576.779 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 105,482 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 92,235 ราย และการลงทะเบียนที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 13,247 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 76,223 ราย

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ 1.กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 6,649 ราย เจ้าหนี้ 5,692 ราย มูลหนี้ 562.401 ล้านบาท 2.จ.นครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 4,506 ราย เจ้าหนี้ 3,722 ราย มูลหนี้ 278.536 ล้านบาท 3.จ.สงขลา มีผู้ลงทะเบียน 4,164 ราย เจ้าหนี้ 2,975 ราย มูลหนี้ 259.213 ล้านบาท 4.จ.นครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,065 ราย เจ้าหนี้ 2,596 ราย มูลหนี้ 311.691 ล้านบาท และ 5.จ.ขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,764 ราย เจ้าหนี้ 2,245 ราย มูลหนี้ 205.655 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศ พบว่ามีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 1,294 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 224 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 133.548 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 44.044 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 89.503 ล้านบาท ซึ่งมีจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุด คือ จ.นครสวรรค์ โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 185 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 16 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 14.394 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 5.7 แสนบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดลดลงมากถึง 13.824 ล้าน

วันเดียวกัน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า จากการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. และวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมไตรภาคีมีมติเป็นเอกฉันท์ในการปรับขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศ 2-16 บาท ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์ถัดไป หลังจากนั้นตนจะขอให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาข้อมูลต่างๆ ในทางเศรษฐกิจ โดยพิจารณารายจังหวัด รายอำเภอ และกลุ่มอาชีพ เพื่อหารือว่าจะมีสาขาอาชีพใดบ้างที่จะมีการปรับขึ้นได้มากกว่าที่ประกาศไป

นายพิพัฒน์กล่าวว่า การปรับอัตราค่าจ้างรายจังหวัดอาจต้องไปดูถึงรายอำเภอ รายตำบล หรือเทศบาลใดบ้างที่ควรจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีที่ผ่านมาเป็นการปรับอัตราค่าจ้างจากภาพรวมเศรษฐกิจรายจังหวัด ซึ่งมองว่าเรื่องนี้ไม่ยุติธรรมที่ทำกับผู้ใช้แรงงาน คนทำงานในเมืองค่าครองชีพสูงกว่า แต่ได้อัตราค่าจ้างเท่ากับคนนอกเมืองที่มีอัตราค่าครองชีพถูกกว่า ฉะนั้น คนที่ทำงานในเมือง หรือในเทศบาล หรือในพื้นที่ที่มีความเจริญ เศรษฐกิจที่ดีกว่า ค่าครองชีพสูงกว่า ควรปรับอัตราค่าจ้างให้เหมาะสม ตนคิดว่าคณะกรรมการค่าจ้างจะยอมรับในสิ่งที่กระทรวงแรงงานเราจะนำเสนอเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง จึงขอความกรุณาจากคณะกรรมการค่าจ้างว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะศึกษาและหารือกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเหมือนในหลายประเทศทั่วโลกที่มีการศึกษารายอาชีพ หรือรายพื้นที่

รมว.แรงงานกล่าวอีกว่า คิดว่าน่าจะมีการปรับอัตราค่าจ้างใหม่อีกครั้งช่วงก่อนปีใหม่ไทย คือ เทศกาลสงกรานต์ เดือน เม.ย.67 โดยนายกฯ เน้นย้ำว่า ขอให้ดูความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคนไทยในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีค่าครองชีพสูงควรปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น ฉะนั้น ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้มาดูแลกระทรวงแรงงาน ก็ได้หารือผ่านปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อไปหารือกันอีกครั้งหนึ่งในคณะกรรมการค่าจ้าง

เมื่อถามว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 2 ในปี 67 เป็นลักษณะใด นายพิพัฒน์ อธิบายว่า จะต้องมีการศึกษาข้อมูลในเรื่องนี้ และมีข้อมูลสนับสนุนมากพอสมควร โดยปลัดกระทรวงแรงงานจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูล นอกจากนั้นยังขอความร่วมมือจากทางกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูภาวะเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ในแต่ละจังหวัดของปี 66 ว่าจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง แต่ตนมีความมั่นใจว่าในปี 67 เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นมาจากเดิม

เขาระบุว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นความหวังของพี่น้องคนไทยทุกคน ซึ่งถ้ามีเงินนี้เข้ามาช่วงเดือน พ.ค.67 ตามที่นายกฯ แถลงข่าวไปว่าเศรษฐกิจทุกคนจะดีขึ้น ดังนั้น การที่เราจะปรับค่าแรงขั้นต่ำตามพื้นที่และรายกลุ่มอาชีพก็จะสอดคล้องกัน และทำให้ในแต่ละพื้นที่มีการขยับและขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น และหากเศรษฐกิจดีขึ้น สถานประกอบการต่างๆ ก็สามารถขยับค่าจ้างให้ผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการได้ วันนี้คงต้องลงไปดูว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่เท่าไร ถ้าหากเฉลี่ยแล้วสูงมากกว่า 400 บาทต่อวัน เราก็ต้องไปดูว่าคนที่ได้ต่ำกว่านั้น เราจะต้องพยายามขยับให้สูงขึ้นถึง 400 บาท เพราะแต่ละพื้นที่ในเขต กทม.จะมีความไม่เท่าเทียมกัน

 “มั่นใจว่าหลังจากวันที่ 17 ม.ค.67 ที่ปลัดกระทรวงแรงงานจะเชิญคณะกรรมการค่าจ้างหารือกันอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับการหาข้อมูลจากกระทรวงอื่นๆ  จากนั้นเราจะต้องรีบประชุมให้เสร็จสิ้นก่อนเดือน มี.ค. เพื่อประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ในเทศกาลสงกรานต์” รมว.แรงงานย้ำ

เมื่อวันศุกร์ ที่รัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี มีมติยืนฐานการปรับค่าจ้างตามเดิม ระหว่าง 2-16 บาท ว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากกฎหมายการคำนวณค่าแรงของไตรภาคีล้าสมัย ทำให้สูตรการคิดคำนวณหาค่าแรง จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข เช่น ในกรณีของพื้นที่ จ.ปัตตานีนั้น ที่จริงจะต้องปรับลด 1 บาท ไม่ใช่ปรับเพิ่ม 2 บาท แต่เนื่องจาก จ.นราธิวาสและยะลา ได้ปรับ 2 บาท จึงทำให้ปรับจังหวัดปัตตานีด้วย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายสฤษฏ์พงษ์กล่าวด้วยว่า ในอดีตกระทรวงแรงงานเป็นกรมแรงงานในกระทรวงมหาดไทย กฎหมายจึงตามไม่ทัน ทำให้เกิดความขัดแย้งในอำนาจระหว่างรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี และตัวแทนไตรภาคีจากฝั่งนายจ้าง เป็นนายจ้างที่บางครั้งเป็นลูกจ้างที่นายจ้างมอบหมายมา จึงทำให้เป็นการทำงานตามคำสั่งนายจ้าง ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบารมีตัวแทนนายจ้าง ยังเหนือกว่าลูกจ้าง จึงขอเสนอว่าให้มีการเปลี่ยนระบบไตรภาคี เป็นพหุภาคี หรือรูปแบบใหม่ๆ  รวมถึงการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัด และจำเป็นจะต้องพิจารณาบริบทอีกหลายมุมว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะเป็นค่าแรงที่เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ.ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแล้ว

นายสุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.แรงงาน กล่าวว่า หลายพรรคการเมืองหาเสียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไว้ แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีเงื่อนไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น คณะกรรมการไตรภาคีที่ถือกฎหมายอยู่มีอำนาจ และมีสิทธิที่จะดำเนินการเต็มที่ ส่วนภาคการเมือง ต้องไปแก้ไขในส่วนของกฎหมายเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องของเงื่อนไขการปรับค่าจ้าง ซึ่งชัดเจนว่าสูตรการคิดอัตราค่าจ้างปัจจุบันเป็นสูตรที่ยังล้าสมัย โดยตามหลักสากลเรื่องค่าจ้าง ของ 1 คน ต้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 3 คน แต่สูตรของกระทรวงแรงงานปัจจุบัน 1 คน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 1 คนเท่านั้น อีกทั้งแต่ละคน มีภาระ บ้านเช่า ข้าวซื้อ รถผ่อน ลูกเรียน และเลี้ยงดูพ่อแม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ