แม้วฉลุย!เข้าเกณฑ์ สมศักดิ์ชี้คุณสมบัติเป๊ะขังนอกเรือนจำ/แฉไร้ประวัตินักโทษ

"สมศักดิ์" ชี้ "ทักษิณ" เข้าเกณฑ์ระเบียบใหม่ราชทัณฑ์ ปัดไม่เคยล้วงลูก กม.เอื้อประโยชน์ใคร ย้อนถามสื่อเคยนอนคุกหรือไม่ หลังถูกซัก "แม้ว" ถึงไทยป่วยหนัก บอกใครเสียอิสรภาพต้องเครียด "อธิบดีราชทัณฑ์" ปัดปล่อย "น.ช.ทักษิณ" นอน รพ.ตำรวจเกิน 120 วัน รอระเบียบจำคุกนอกเรือนจำมีผล  ระบุอยู่ในดุลยพินิจแพทย์ ไม่มีการกำหนดกรอบเวลา "สุทิน" หยันกระแสนักโทษเทวดาปลุกไม่ขึ้น "วัชระ" แฉ "แม้ว" ไม่ได้กรอกทะเบียนประวัตินักโทษแม้แต่บรรทัดเดียว

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีปรากฏชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ในการคุมขังนอกเรือนจำว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ปี 2560 เป็นกฎหมายที่ออกมาในช่วงของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็น สส. ซึ่งหลังจากมีการเลือกตั้งในปี 2562 ตนเข้ามาเป็น รมว.ยุติธรรม ได้ออกกฎกระทรวง มาตรา 33 เรื่องการจำแนก พฤติกรรม การรักษาพยาบาล ตลอดจนการเตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง ในปี 2563 ต่อมามีข้าราชการ อดีตข้าราชการ และคณะกรรมการสิทธิมนุยชนฯ ได้เข้ามาหาตน เพื่อขอให้มีที่คุมขังนอกเรือนจำ ทั้งกับนักโทษ ผู้ต้องขัง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหา ที่ไม่ควรจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ซึ่งตนก็เห็นด้วย จึงให้ปลัดกระทรวงและคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรมดำเนินการเรื่องนี้ แต่ยังไม่ทันเสร็จเรื่องตนก็ได้ลาออกจาก รมว.ยุติธรรม และได้มาเห็นการทำระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาช่วงนี้

นายสมศักดิ์กล่าวว่า การที่มีการกล่าวถึงตน ยิ่งตนมีฐานะเป็นวิปด้วย  ทำให้มีหลายคนเข้ามาถาม ซึ่งทางวิปก็ยอมรับว่าในช่วงที่มีการออกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี จึงขอให้ตนมาช่วยชี้แจงและทำความเข้าใจต่อสาธารณะ ในส่วนที่จะเข้าสู่กระบวนการการคัดแยกให้เป็นสากลขึ้น ส่งผลให้มีกระแสข่าวออกมาว่ามีการเอื้อประโยชน์กับผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ซึ่งตนก็ชี้แจงไปว่าไม่ใช่ เป็นกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในกรอบสากล เพราะฉะนั้นการจำแนกผู้ต้องขัง และมีที่คุมขังนอกเรือนจำนั้น เป็นการดำเนินการตามหลักสากล และกฎหมายนี้ก็อนุญาตให้ดำเนินการในลักษณะนี้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการอย่างครบถ้วน ตามเกณฑ์ แต่การจำคุกที่มีโทษร้ายแรง จะไม่ถูกนำมาจำแนก เรื่องนี้เป็นเรื่องการทำความเข้าใจ

"ขณะนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีที่มีตัวอย่างในกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในการคุมขัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการอธิบายเรื่องทัณฑวิทยา ซึ่งผมก็ยินดีที่จะตอบคำถามในส่วนที่ยังขัดกับความรู้สึกของประชาชน และยังมีประเด็นไหนที่น่าจะต้องปรับแก้ให้ชัดเจน ทั้งนี้ ในฐานะที่ผมกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรมอยู่ด้วยนั้น  ก็ไม่ได้ไปล้วงลูก แต่ทบทวนสิ่งที่เคยผ่านมาให้เห็น" นายสมศักดิ์กล่าว

ถามว่า กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเข้าเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาใหม่หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า เข้าเกณฑ์ เพราะเท่าที่ดูคือมีโทษไม่เกิน 4 ปี และไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในข่ายสิ่งที่น่ากลัวของสังคม แต่เป็นโทษในลักษณะที่ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม จึงสามารถอยู่ในที่คุมขังได้ และเป็นโทษที่มีจำนวนน้อยกว่า 1 ปี

ซักว่า มีกระแสข่าวการที่ได้เข้าพรรคเพื่อไทย เพราะมีการเอื้อประโยชน์กัน ในส่วนนี้ นายสมศักดิ์รีบปฏิเสธทันทีว่า ไม่ใช่หรอกครับ

"ถ้าผมคิดว่าจะต้องเข้าพรรคเพื่อไทย ผมคงทำให้เสร็จในตอนนั้นไปแล้ว แต่ผมไม่ได้คิด มันเป็นไปตามครรลอง เป็นพัฒนาการของกฎหมายจากปี 2560 ไม่ได้คิดว่าจะไปอยู่พรรคการเมืองไหน แต่กฎหมายมันพัฒนาไปเข้าสู่ความเป็นสากล นี่คือพัฒนาการของกฎหมาย และเป็นโอกาสของประเทศ โชคดีที่มีกรณีสำคัญตรงนี้ที่ทำให้คนสนใจ และได้ออกมาอธิบาย แต่เมื่อผมเห็นว่าเหตุการณ์เริ่มเดินไปในอีกทิศทางหนึ่ง จึงต้องพูดให้สังคมเข้าใจ" นายสมศักดิ์กล่าว

รองนายกฯ ยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีอำนาจใหญ่กว่าศาล การบริหารโทษทางอาญามี 5 ประเภท แต่ในส่วนของกรมราชทัณฑ์มี 2 ประเภท คือประหารชีวิตและการจำคุก ซึ่งการจำคุกนี้ไม่ได้สงวนไว้แค่ในเรือนจำเท่านั้น  ขณะนี้เท่าที่ทราบในการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่อย่างไม่เป็นทางการ  มีกลุ่มคนที่มีโทษน้อยกว่า 4 ปี จำนวนกว่า 10,000 คน ไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้ แต่เป็นเหตุการณ์ที่พ้องต้องกัน

 “โชคดีที่ได้เอาเคสนี้มาอธิบายต่อสาธารณะ เพราะมีวีไอพีอยู่ตรงนี้ ทำให้คนสนใจติดตาม แต่ไม่ได้ทำเฉพาะกรณีนี้ หรือเป็นการเอื้อประโยชน์” รองนายกฯ กล่าว

นายสมศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจของนายทักษิณครบ 120 วันว่า อยู่ในความเห็นของแพทย์ และอำนาจของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา จากสถิติของเดือนนี้ก็มีผู้ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเกิน 30 วันเป็นจำนวนมากเกือบ 150 คน ไม่ใช่แค่ 1-2 คน ในอดีตก็มีมาก แต่ไม่ได้เปิดเผย นายทักษิณเป็นคนที่สาธารณะให้ความสนใจ ถ้ามีผู้ที่อธิบายเรื่องดังกล่าวให้สังคมเข้าใจ สังคมจะยอมรับและเดินหน้าต่อไปได้

ปัดยื้ออยู่ รพ.รอระเบียบใหม่

ถามถึงการที่นายทักษิณมีสุขภาพดีตอนที่อยู่ต่างประเทศ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทยกลับป่วย ถือว่าแปลกหรือไม่ นายสมศักดิ์ย้อนถามว่า “ก็น้องไม่เคยถูกจองจำ น้องลองไปสักสองสามวัน ชีวิตมันเครียดนะ เราเสียอิสรภาพ หรือสิ่งต่างๆ ที่เราเคย ลองเข้าไปนอนสักคืนสองคืน นอนไม่หลับ คนอายุมากความดันขึ้น ป่วย”

รองนายกฯ กล่าวว่า ทางผู้บริหารเรือนจำและอธิบดีก็มองว่ามีความเสี่ยง เมื่อเห็นเหตุการณ์แล้วจึงไปส่งต่อไปยังโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องขัง และเพื่อไม่ให้ตนเองต้องรับผิดชอบด้วย

 “ใครไม่เคยไปนอนคุก ไม่เคยถูกจองจำ ลองไปสักคืนสองคืน จะพบว่าความเครียดเป็นต้นกำเนิดของโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย เป็นบ่อเกิดของโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน ความดันเข้ามารุมเร้า” รองนายกฯ กล่าว และถามผู้สื่อข่าวว่า “เคยเป็นหวัดภูมิแพ้หรือไม่ นอนไม่หลับคืนสองคืนก็อาจจะป่วยหนัก ผมก็เป็นเช่นกัน เดี๋ยวนี้โรคภัยไข้เจ็บเยอะ ยิ่งคนที่อยู่ในเรือนจำเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ”

เมื่อถามว่า จะสามารถเปิดเผยเพียงแค่ชื่อโรคของนายทักษิณได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ยืนยันว่า ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ตนเพียงแค่มาพูดในทางวิชาการ

ขณะที่ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์  รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 เรื่องระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำว่า ราชทัณฑ์ต้องกำหนดหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ออก และอยู่ระหว่างดำเนินการ เพราะมีรายละเอียดต้องพิจารณา แต่จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีผู้ต้องขังที่ป่วย พิการ ผู้ต้องขังสูงอายุ ดูแล้วไม่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ รอใช้ระเบียบฉบับนี้อยู่เช่นกัน

ถามว่า หากกรณีนายทักษิณเข้าหลักเกณฑ์ จะคุมขังที่บ้านหรือโรงพยาบาล นายสหการณ์กล่าวว่า ต้องดูขั้นตอนในกฎกระทรวง ระเบียบ เพราะมีหลายสถานที่ ขึ้นอยู่กับแต่ละคน โดยคณะทำงานจะพิจารณาว่าสถานที่ใดมีความเหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ ซึ่งคำว่าเหมาะสม หมายถึงว่า สถานที่ที่รองรับมีความพร้อมในการทำกิจกรรม ปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขได้ และอยู่ในสถานที่ราชทัณฑ์ควบคุมดูแลได้ ซึ่งไม่ไกลจากเรือนจำและเจ้าหน้าที่ ไปหาได้ง่าย

ซักว่า นายทักษิณจะเป็นผู้ต้องหาชุดแรกที่ได้ใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะเรือนจำทั่วประเทศต้องไปดำเนินการคัดเลือกพิจารณาผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติและเข้าหลักเกณฑ์ ก่อนเสนอรายชื่อขึ้นมายังคณะทำงานตามขั้นตอน

นอกจากนี้ นายสหการณ์ยังได้ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านรายการ “มุมการเมือง” ทางไทยพีบีเอส ถึงกรณีนายทักษิณจะครบกำหนดพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจครบ 120 วันว่า ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการนำผู้ต้องขังรักษาภายนอกเรือนจำ กำหนดกรอบเวลาไว้ 3 ระยะ คือ 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน และเมื่อครบกำหนด 120 วัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของราชทัณฑ์ ประกอบกับการวินิจฉัยของแพทย์ว่ายังจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องหรือไม่ แม้กฎกระทรวงจะระบุกรอบเวลาไว้ถึง 120 วัน แต่หากแพทย์ลงความเห็นว่ายังจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง ก็สามารถขยายเวลาได้โดยไม่ได้มีข้อกำหนดว่าจะขยายได้ถึงเมื่อใด

 “ถ้าจำเป็นต้องรักษาเกิน 120 วัน แม้กฎหมายไม่ได้เขียนขยายได้เท่าไหร่ แต่ต้องติดตามรักษาต่อเนื่องว่าอาการเป็นอย่างไร ถึงนำกลับเข้าเรือนจำได้ ซึ่งกรณีนายทักษิณรักษานอกเรือนจำ ก็ไม่ได้เป็นการประวิงเวลา ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขังมีผลบังคับใช้" นายสหการณ์กล่าว

พิธีกรถามถึงอาการนายทักษิณ รรท.อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยอาการหรือรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับกระบวนการรักษานายทักษิณได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อกฎหมายและจริยธรรมแพทย์ และกรมราชทัณฑ์ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจที่ขัดกับข้อกฎหมายได้

รรท.อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยืนยันว่า แม้จะครบ 120 วันแล้ว แต่นายทักษิณจะยังไม่สามารถขอพักโทษได้ โดยจะต้องรอให้รับโทษจำคุกแล้วเป็นเวลา 6 เดือนก่อน

หยันนักโทษเทวดาปลุกไม่ขึ้น

ด้านนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การได้รับสิทธิพิเศษของนายทักษิณภายใต้บริหารรัฐบาลเพื่อไทยว่า  เราพูดคุยกันชัดอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ได้มีอะไรที่ไปเกี่ยวข้องหรือไปสนับสนุน หรือไปจัดสิทธิพิเศษให้กับนายทักษิณ ซึ่งนายทักษิณเป็นเพียงบุคคลหนึ่งซึ่งเคยก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เป็นความผูกพันในเชิงประวัติศาสตร์ ในเชิงส่วนตัว แต่คงไม่มีเอารัฐบาลไปเกี่ยวข้อง

ถามว่า รัฐบาลเพื่อไทยพยายามลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่กรณีของนายทักษิณดูเหมือนจะย้อนแย้งกับนโยบายดังกล่าว นายสุทินกล่าวว่า จะเหลื่อมล้ำหรือไม่ ต้องไปดูก่อนว่าเขาใช้มาตรการเป็นพิเศษหรือไม่กับนายทักษิณ ถ้าเป็นมาตรการปกติที่ใช้ด้วยกันทุกคนจะบอกว่าเหลื่อมล้ำไม่ได้ แต่ถ้าทำอะไรที่ต่างจากรายอื่นออกมา ก็ต้องไปดูกันอีกที ถ้าทำโดยที่ไม่มีระบบรองรับก็อาจจะเหลื่อมล้ำ

ถามว่า การสร้างกระแสหรือสร้างวาทกรรมว่าเป็นนักโทษเทวดา จะทำให้เป็นชนวนนำไปสู่การชุมนุมหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ได้ในระดับหนึ่ง แต่ตนมองว่าประชาชนมีวิจารณญาณ และไม่ใช่เคสแรก ไม่ใช่คนเดียว อย่างที่ตนบอกมีหลายหลายคนที่เคยใช้ระบบนี้อยู่ เชื่อว่าประชาชนไม่ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะขนาดนี้ประชาชนต้องการให้แก้ปัญหาปากท้องคนกำลังลำบากใครที่มาคิดปั่นสถานการณ์ให้เกิดปัญหาในการบริหารโยงมาใส่ฝ่ายบริหารทำให้เกิดความวุ่นวาย ตนคิดว่าประชาชนไม่เอาด้วย

ซักว่า จะเป็นการสร้างโมเดลเพื่อปูทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับมาหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า เรื่องท่านยิ่งลักษณ์ยังไม่มีประเด็นอย่างนี้เข้ามา จะมายังไม่รู้เลย เมื่อถามว่าหากมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะครอบคลุม น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ยังไม่รู้ว่า พ

ร.บ.นิรโทษกรรมจะออกมาเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ว่าครอบคลุมถึงใครบ้าง และยังไม่รู้ว่าเขาเสนอกฎหมายอย่างไร

วันเดียวกัน นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ส่งหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และนายสหการณ์  รักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอให้ระงับยับยั้งการที่จะส่งตัวนายทักษิณไปคุมขังนอกเรือนจำ และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษข้าราชการกรมราชทัณฑ์

หนังสือของนายวัชระตอนหนึ่งระบุถึงสาเหตุขอคัดค้านและให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาดำเนินการ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ข้อ ที่น่าสนใจอยู่ที่ข้อ 2 ระบุว่า น.ช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหมายเลข  6650102668 ไม่ได้กรอกแบบประวัติ ร.ท.101 แบบประวัตินักโทษ จำนวน 4 หน้า ในฐานข้อมูลแม้แต่บรรทัดเดียว ไม่ลงรายละเอียดเหมือนนักโทษทั้ง 4 แสนราย น.ช.ทักษิณไม่ได้ให้ข้อมูล เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยก็ไม่กล้าถาม ยังไม่ได้สอบประวัติ ไม่ได้ทำตามขั้นตอนแต่ประการใด จึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เจ้าพนักงานทะเบียนเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ (ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน)

ที่รัฐสภา กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธาน กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการรักษาตัวของนายทักษิณว่าอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจจริงหรือไม่ และมีอาการหนักขนาดไหน รวมถึงการรักษาตัวดังกล่าวเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ เนื่องจากเกือบ 120 วันยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวออกมาชี้แจงให้คลายข้อสงสัย

นายสมชายกล่าวว่า กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ได้ตรวจสอบเรื่องนี้มาอย่างน้อย 2 ครั้งแล้ว แต่ก็ยังมีข้อสงสัย ในวันที่ 25 ธ.ค. จะเรียกกรมราชทัณฑ์และ รพ.ตำรวจมาชี้แจงเพิ่มเติมว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรหลังจากการรักษาตัวครบ 120 วันแล้ว

"ฝากไปยังข้าราชการประจำว่า ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะในอดีตก็มีบทเรียนมาแล้ว เช่น การออกพาสปอร์ต โครงการจำนำข้าว ที่มีคนติดคุกและตอนนี้ก็ยังอยู่ในเรือนจำ เพราะการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ" นายสมชายกล่าว 

ส่วน นพ.เจตน์กล่าวว่า ทางกรมราชทัณฑ์และ รพ.ตำรวจเคยมาชี้แจงในกมธ. สรุปได้ว่าข้อมูลที่เจ็บป่วยอยู่ 4 โรคได้มาจากต่างประเทศ แต่เรื่องอาการหนักยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด ตนคิดว่าหลักฐานที่สำคัญที่สุดคือเวชระเบียนผู้ป่วยใน แต่ก็ไม่สามารถที่จะขอมาได้ เพราะต้องเป็นคำสั่งของศาล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี