ชี้ชะตา‘พิธา’คดีหุ้นสื่อ24ม.ค.

ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา "พิธา" ถือหุ้นสื่อหรือไม่ 24    ม.ค.นี้ หลังไต่สวน "พิธา-คิมห์-แสวง"    ประเด็นไต่สวนหลัก "ไอทีวี" เป็นสื่อหรือไม่ในวันที่ถือหุ้นสื่อและสมัคร สส. เจ้าตัวมั่นใจได้กลับเข้าสภา ส่วนคดีแก้  ม.112 ศาลนัดไต่สวน 25 ธ.ค. "ชัยธวัช" ยันไม่ถึงขั้นยุบพรรค เชื่อตัดสินต้นปีหน้า

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมเวลา 09.30 น.     โดยมีกำหนดนัดไต่สวนพยานบุคคล กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง  สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค.2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย  

ทั้งนี้ การไต่สวนพยานบุคคลครั้งนี้  ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีและบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังการไต่สวนเท่านั้น ไม่มีการถ่ายทอดการไต่สวนผ่านโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 และมาตรา 59

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศบริเวณศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในส่วนของการรักษาความสงบเรียบร้อยนั้น มีเพียงการนำแผงเหล็กมากั้นเท่านั้น ซึ่งพบว่ามีแฟนคลับพรรคก้าวไกล 3 คน มาชูป้ายข้อความเขียนด้วยลายมือระบุว่า "เรียกร้องให้ กกต. ถ่ายทอดสดผ่านไอทีวี" และ "ไอทีวี อยู่ไหน อยากออกไอทีวี" พร้อมทั้งกล่าวว่า อยากให้ศาลสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าถ้าเรามีปัญหาอะไรก็สามารถพึ่งพาศาลได้ เพราะปัจจุบันนั้นไม่มีความเชื่อใจต่อศาล และยังกระทบกับโครงสร้างทั้งหมด จึงอยากให้ศาลเรียกความเชื่อมั่นตรงนี้กลับมา

เวลา 09.10 น. นายพิธาพร้อมทีมทนายได้เดินทางเข้าให้การไต่สวนพยานด้วยตัวเอง พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า รอวันนี้มานาน ที่จะได้มีโอกาสสื่อสารข้อเท็จจริง และตนมั่นใจในข้อเท็จจริง หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาล ส่วนรายละเอียดต่างๆ จะเก็บไว้ในชั้นศาล แต่สิ่งที่จะเปิดเผยต่อสื่อมวลชนได้นั้น  คือไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อแล้ว ไม่ได้ประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2550 และมีสื่อมวลชนยังได้รายงานว่า รายได้ทั้งหมดมาจากดอกเบี้ยหรือการลงทุนทั้งนั้น   ฉะนั้นถ้าเทียบกับระบบยุติธรรมกับคำพิพากษาในอดีต มั่นใจว่าไอทีวีไม่ได้เป็นหุ้นสื่อแต่อย่างใด ทั้งนี้พร้อมที่จะตอบคำถามอย่างละเอียด ทั้งในแง่มุมของบริษัทไอทีวีเอง มั่นใจว่าจะใช้โอกาสนี้ในการพูดชี้แจงต่อศาลครั้งแรก นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี และตนรอโอกาสนี้มานานพอสมควร

เมื่อถามว่า มีความกังวลใจอะไรในคดี นายพิธากล่าวว่า ไม่มีข้อกังวลอะไรเลย ดีใจที่ได้มีโอกาสได้พูด ได้สื่อสารในมุมของเรา ซึ่ง กกต.ก็มีหน้าที่ของ กกต.  ตนเองก็มีหน้าที่ของตน ถ้าเขาสงสัยข้อไหนเราก็ยินดีที่จะตอบคำถามให้สิ้นข้อสงสัย

ทั้งนี้ นายพิธาได้เดินทางมาศาลพร้อมทีมงาน และมีกระเป๋าเดินทางมาถึง 2 ใบ ซึ่งเป็นวัตถุพยานหลักฐานต่างๆ ในคดี

ต่อมานายพิธาเปิดเผยภายหลังการเข้ารับการไต่สวนว่า บรรยากาศระหว่างการไต่สวนเป็นไปตามที่คาดหวัง พอใจกับกระบวนการ และได้ไต่สวนตามข้อเท็จจริงที่ตั้งใจไว้ทุกประการ รู้สึกพอใจ ส่วนรายละเอียดในการชี้แจงที่สามารถเปิดเผยได้ ตนคงให้สัมภาษณ์ไม่ได้ เพราะเป็นการละเมิดศาล แต่ในส่วนข้อเท็จจริงที่สื่อมวลชนได้เคยนำเสนอเกี่ยวกับการยุติจากประกอบกิจการไอทีวี หรือสถานะผู้จัดการมรดกของตนเองก็ได้รับการไต่สวนจากศาลและฝ่ายกฎหมายของผู้ร้องและผู้ถูกฟ้องครบถ้วน แต่รายละเอียดตนไม่สามารถเปิดเผยได้

 การไต่สวนครั้งนี้มีพยาน 3 ปาก คือ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือเลขาฯ กกต.   ในฐานะพยานผู้ร้อง นอกจากนั้น นายคิมห์ สิริทวีชัย ผู้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี และตนเอง จากการฟังน้ำหนักพยานและหลักฐานจากตนเองและผู้ร้องแล้ว ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะจะเป็นการชี้นำและละเมิดศาลได้

อย่างไรก็ตามเขาบอกว่า สิ่งที่จะให้สัมภาษณ์ได้คือพอใจและเป็นไปตามที่หวังไว้ทุกประการ ซึ่งสามารถบอกได้แค่นี้ ส่วนรายละเอียดขอให้รอการสรุปอย่างเป็นทางการจากทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนี้ไม่มีการนัดไต่สวน โดยจะมีการนัดตัดสินหรือการอ่านคำวินิจฉัยเลย ส่วนความคาดหวังต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้คาดหวังอะไร  แต่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมและความยุติธรรม ในกรณีนี้หากคำพิพากษาเป็นคุณ ก็หวังว่าจะกลับไปทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที

ซักว่า ก่อนการลงรับสมัครเลือกตั้ง  สส. ได้ถือหุ้นไอทีวีไว้หรือไม่ นายพิธา ตอบว่า เป็นการถือแทนในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ในส่วนรายละเอียดอยู่ในชั้นศาล ตนไม่อยากที่จะละเมิดศาล แต่ก็ยืนยันว่าเป็นการถือแทนน้องชาย  ซึ่งได้สละเจตนาตั้งแต่ก่อนอยู่พรรคอนาคตใหม่ และมีการปันทรัพย์มรดกกัน ตนจะตอบมากกว่านี้ไม่ได้ แต่ข้อนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อที่มีการพูดคุยกัน ถ้าตอบไปจะเป็นการชี้นำสังคมและเป็นการละเมิดศาล

เมื่อถามว่า ไอทีวีได้ยุติการออกอากาศแล้ว สามารถกลับมาทำสื่อได้อีกอีกครั้งหรือไม่ นายพิธาระบุว่า ถ้าตามเอกสารก็ต้องดูที่นายคิมห์ สิริทวีชัย ผู้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี ที่เคยได้มีการพูดคุยกันที่ประชุมผู้ถือหุ้น 

เขาบอกว่า เรื่องนี้ขอให้ถามนายคิมห์น่าจะเหมาะสมมากกว่า ส่วนตัวจะไปพูดแทนไม่ได้ แต่ถ้าได้ดูตามเอกสารที่ออกมา ก็จะเห็นว่าไอทีวีได้ยุติการประกอบกิจการไปตั้งแต่ปี 50 ทรัพยากรอีกครึ่งหนึ่งก็ไปอยู่ไทยพีบีเอส แล้วตอนนี้ใบอนุญาตก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการจะกลับมาประกอบกิจการเดิมก็ต้องมีทั้งคดีความที่เกี่ยวโยงกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ที่ศาลปกครองสูงสุด รวมถึงคลื่นความถี่ที่ไม่มีแล้ว ใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่สอบถามไปยัง กสทช.ก็ไม่มี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพยาน 3 ปาก เป็นพยานฝั่งผู้ถูกร้อง 2 คน คือ นายพิธากับนายคิมห์ ส่วนพยานอีก 1 คน เป็นฝั่งผู้ร้อง คือนายแสวง ที่ศาลเรียกให้มาไต่สวน โดยให้การเสร็จแล้ว ซึ่งนายแสวงได้ยืนยันเอกสารหลักฐาน แล้วก็กลับสำนักงานทันที โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่านัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 24 ม.ค.2567 เวลา 14.00 น.

ส่วนคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร  อดีตทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ..... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ศาลได้มีการอภิปรายเพื่อเตรียมการไต่สวนในวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค. เวลา 09.30 น.

นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า ฝ่ายกฎหมายได้เตรียมพร้อมและส่งเอกสารชี้แจงเพื่อประกอบการไต่สวน ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ ตนเชื่อว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่เป็นความผิดตามคำร้อง แต่ต้องรอและหวังว่าเมื่อไต่สวนแล้ว หากไม่มีการไต่สวนเพิ่ม คาดว่าศาลจะนัดวินิจฉัยในช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือต้น ก.พ.67

 “ผมไม่กังวลว่าจะไปถึงการยุบพรรคเพราะคดีนี้เป็นการร้องให้ยุติการกระทำ ไม่สามารถไปไกลถึงเรื่องยุบพรรคได้ ทั้งนี้พรรคต่อสู้เต็มที่ และการเสนอร่างกฎหมายใดๆ ไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ เพราะกระบวนการทางนิติบัญญัติมีกรอบชัดเจนว่าไม่สามารถขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้”  นายชัยธวัชกล่าว

นายชัยธวัชกล่าวย้ำด้วยว่า ในกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น สามารถเกิดได้ทั้งก่อน หรือหลังประกาศใช้ โดยศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขไขกฎหมายใด ไม่เฉพาะมาตรา 112 เท่านั้น ซึ่งในกระบวนการทางนิติบัญญัติไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ด้วยตัวของร่างกฎหมายนั้นๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก