บอร์ดค่าจ้างเคาะปรับค่าแรงขั้นต่ำตามมติเดิม 8 ธ.ค. ขึ้น 2-16 บาท จ่อคำนวณสูตรใหม่ เพิ่มขยักสองปีหน้า “คลัง” กางเกณฑ์ Easy E-Receipt เริ่ม 1 ม.ค.67 คาดเงินสะพัด 7 หมื่นล้าน ดันจีดีพีโตอีก 0.18% คนเข้าเกณฑ์ดิจิทัลวอลเล็ตใช้ได้ด้วย
ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 67 ตามมติเดิมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. เนื่องจากสูตรคำนวณที่คณะกรรมการใช้เป็นสูตรที่เห็นชอบให้อนุกรรมการทุกจังหวัดใช้เป็นเกณฑ์ ซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยเหตุผล และอยู่บนข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงเห็นควรปรับอัตราค่าจ้างตามความเหมาะสมและเป็นความจริง อยู่บนพื้นฐานความเสมอภาค เป็นธรรม และน่าเชื่อถือ หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการปรับสูตรคำนวณใหม่ ซึ่งจะมีตัวแทนนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นายจ้าง ลูกจ้าง เข้าร่วม โดยอาจจะมีการพิจารณาตามประเภทกิจการเข้ามาด้วย ทั้งนี้ เมื่อคำนวณสูตรใหม่แล้ว จะเรียกประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณาค่าจ้างใหม่ ซึ่งอาจจะมีเพิ่มขยักสองในปีหน้า แต่จะทำให้เร็วที่สุด
นายไพโรจน์กล่าวว่า การพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างสูตรเก่า คำนวณจากปี 63-64 ช่วงโควิด ซึ่งอัตราเศรษฐกิจในช่วงนั้นตกต่ำ และเกิดภาวะเงินเฟ้อ คงต้องนำมาคำนวณใหม่เพื่อให้เปอร์เซ็นต์ค่าจ้างเพิ่มขึ้น ซึ่งทางคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาโดยเร็ว โดยจะตั้งคณะอนุกรรมการปรับสูตรอัตราค่าจ้างในวันที่ 17 ม.ค.67 เพื่อพิจารณาแล้วเสนอมายังคณะกรรมการชุดใหญ่ แต่ต้องให้อนุกรรมการในรายจังหวัดพิจารณาด้วย ทั้งนี้ มติที่ประชุมวันนี้เป็นเสียงเอกฉันท์ และได้รายงานให้ รมว.แรงงานทราบแล้ว เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้าต่อไป
ส่วนจะขยับค่าแรงอีกครั้งเพื่อเป็นของขวัญก่อนวันแรงงานในปี 67 ได้หรือไม่นั้น นายไพโรจน์กล่าวว่า อาจจะก่อนหรือหลังก็ได้ ยังตอบไม่ได้ ต้องรอความพร้อมจากทุกฝ่าย และต้องพิจารณาในประเภทกิจการด้วย เช่น ด้านการท่องเที่ยวและบริการ เป็นภาคที่มีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องนำมาพิจารณาในการปรับสูตร
ด้านตัวแทนลูกจ้างกล่าวว่า มติไตรภาคีที่ออกไปแล้วไม่ควรมีการปรับเปลี่ยน แต่หากจะให้ปรับขึ้นอีกควรจะเป็นครั้งต่อไป ซึ่งจะใช้สูตรใหม่ในการคำนวณ เพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุมมากที่สุด โดยจะถือเป็นการสังคายนาจากสูตรเก่าใหม่ทั้งหมด ซึ่งในวันที่ 17 ม.ค.67 จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการไตรภาคีอีกรอบเพื่อพิจารณาตั้งอนุกรรมการจากผู้ทรงวุฒิในแต่ละสาขาอาชีพ เข้ามาร่วมกันพิจารณาสูตรใหม่โดยเฉพาะ
ขณะที่ตัวแทนนายจ้างกล่าวว่า มติที่ออกมาถือว่าชอบธรรม เพราะเราขึ้นค่าจ้างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และใช้ทั่วประเทศพร้อมๆ กัน ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น เรายังใช้ตามมติเดิม หรือถ้าอนาคตมีสงคราม เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น สามารถพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งต้นปีจะมีการปรับสูตรอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ขอส่งสัญญาณใดๆ ไปที่ฝ่ายการเมือง แต่ขอวิงวอนว่าอย่าทำให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง หากต้องการทราบข้อมูลอะไร ฝ่ายนายจ้างพร้อมจะให้ข้อมูล ก่อนที่ท่านจะให้สัมภาษณ์ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายแบบนี้
“ถ้าย้อนหลังกลับไปปี 56 เราโดนพิษการเมืองเล่นงาน จาก 221-251 บาท เป็น 300 บาท นายจ้างล้มหายตายจากไปเยอะ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เราไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก ควรจะยุติการที่มาแทรกแซง ควรให้เรามีอิสระในการพิจารณา จะเป็นผลดีกับประเทศมากกว่า” ตัวแทนนายจ้าง ระบุ
สำหรับการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ตามมติวันที่ 8 ธ.ค.2566 มีดังนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มมากที่สุดคือ จ.ภูเก็ต คือ 370 บาท เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท และต่ำที่สุดคือ 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 328 บาท โดยค่าจ้างเฉลี่ย รวม 77 จังหวัด จะอยู่ที่ 345 บาท ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป
ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการ Easy E-Receipt ว่า จะให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า หรือบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้ประกอบการทั่วไปเฉพาะค่าซื้อสินค้าและบริการ ไม่เกิน 50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.2567 โดยต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ 70,000 ล้านบาท เพิ่มจีดีพี 0.18% เมื่อเทียบกับไม่มีมาตรการ
ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้มาตรการ Easy E-Receipt แล้ว หากเข้าเงื่อนไขของเกณฑ์ดิจิทัลวอลเล็ต ยังสามารถใช้โครงการดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศช่วงต้นปี และเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียการจัดเก็บรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าว เชื่อว่าจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาว สำหรับปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบจดทะเบียนประมาณกว่า 4,000 ราย แต่ช่องทางจำหน่ายกว่า 110,000 จุดทั่วประเทศ ดังนั้นเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้มีผู้เข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น
สำหรับบุคคลที่เข้าร่วมโครงการ คือ ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2567 ซึ่งมีกำหนดการยื่นแบบ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2568
ส่วนสินค้าและบริการเข้าเกณฑ์นั้น จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศ โดยสินค้าที่ไม่เข้าร่วมคือ ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เป็นต้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"