ทุ่ม4.9พันล้าน เคาะ3มาตรการ แก้หนี้ทั้งระบบ

ครม.ทุ่มงบ 4.9 พันล้านบาท แก้หนี้ทั้งระบบ ไฟเขียว 3  มาตรการ พักหนี้เอสเอ็มอี-สินเชื่อหนี้นอกระบบ-ลูกหนี้รายย่อยจากวิกฤตโควิด ยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 19 วัน พุ่ง 6.2 พันล้าน

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่่ 19  ธันวาคม เวลา 11.25 น. นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง  กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้ให้ความเห็นชอบในเรื่องของหนี้สิน คือการพักหนี้เอสเอ็มอี  การช่วยเหลือหนี้นอกระบบ ลูกหนี้รายย่อยที่เกิดจากวิกฤตโควิดที่ผ่านมา

ด้านนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติอนุมัติแนวทางการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ โดยให้ความเห็นชอบ 3 มาตรการ ดังนี้ 1.มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) 2.มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ และ 3.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ ครม.อนุมัติงบเงินงบประมาณ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 400 ล้านบาท  และมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ จำนวน 4,500 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 4,900 ล้านบาท และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 “การแก้ไขหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ จะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของลูกหนี้ในระบบ ช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีหนี้นอกระบบสามารถกลับเข้ามาในระบบได้ และป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ในระบบกลับไปเป็นหนี้นอกระบบได้อีก   สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ช่วยให้ประชาชนสามารถผ่อนชำระหนี้ได้สอดคล้องกับศักยภาพในการหารายได้ พร้อมทั้งผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรม” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง ให้ธนาคารออมสินชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายกับลูกหนี้สถานะ NPLs ด้วยมาตรการ "4 ไม่" คือ ไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณีว่าสถานะคดีของลูกหนี้แต่ละรายอยู่ในขั้นตอนใด โดยในการปรับโครงสร้างหนี้ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

นอกจากนี้ มาตรการ “แก้ไขหนี้ลูกหนี้ NPLs” ของสินเชื่อรายย่อยไม่มีหลักประกัน วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจะยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นให้ทั้งหมดในวันที่ลูกหนี้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนยอดหนี้ที่เหลือธนาคารจะปรับลดเงินงวดผ่อนชำระเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยในปีแรกลงเหลือ 0% ต่อปี แล้วนำเงินงวดที่ลูกหนี้จ่ายชำระไปตัดยอดเงินต้นทั้งจำนวน จากนั้นในปีที่ 2 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา​ ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้มีเงินคงเหลือเพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และยังคงสถานะหนี้ชั้นปกติ ไม่เสียประวัติเครดิต สำหรับประชาชนที่เป็นหนี้ในระบบกับธนาคารออมสิน ทางธนาคารจะจัดส่ง Notification ผ่าน MyMo/SMS และจดหมายเชิญลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการ โดยลงทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ www.gsb.or.th และที่แอป MyMo ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.66 ถึง 28 ก.พ.67 และทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 มี.ค.67

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 19 ว่า จากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 6,247.791 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 102,282 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 72,895 ราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป