ฟ้องสั่งทักษิณกลับคุก ‘พี่ศรี’ยื่นศาลฯชี้นอนรพ.มิชอบ-เพิกถอนระเบียบราชทัณฑ์

“วัชระ” ตามบี้ร่วมวง กมธ.ตำรวจสอบนักโทษชั้น 14 เขย่าจุดยืนกล้ายืนหยัดความถูกต้องเป็นธรรม ก่อนระเบียบราชทัณฑ์ปล่อยลอยนวลกลับจันทร์ส่องหล้า ขณะที่ "เทพไท" โอดเทียบช็อตต่อช็อตตนเองนอนคุก-รพ.ตร.ต่างกันราวฟ้ากับเหว ด้าน "ศรีสุวรรณ" จ่อฟ้องศาลกราวรูด สั่งนักโทษกลับเข้าเรือนจำ “รทสช.-ชทพ.” ล่มหัวจมท้ายแยกทางนิรโทษกรรมก้าวไกล ขณะที่  “พรเพชร” ชี้แก้ รธน.ไทม์ไลน์ไม่ชัด “คำนูณ” ยอมรับเป็นเรื่องยากในการผ่านประชามติถึง 3 ครั้ง

ที่รัฐสภา วันที่ 18 ธันวาคม นายวัชระ เพชรทอง อดีต  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือต่อนายชัยชนะ เดชเดโช ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการการตำรวจ เพื่อติดตามสอบถามปมที่ตนขอให้คณะกรรมาธิการการตำรวจตรวจสอบ กรณีสังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่านายทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาดพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่

นายวัชระระบุว่า ในฐานะผู้ร้องเรียนและประชาชน ตนจึงมีความประสงค์ขอเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการการตำรวจ เพื่อสอบถามเรื่องนี้กับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และขอเสนอให้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2566 โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาดใกล้ครบรับโทษ 1 ใน 3 หรือ 4 เดือน ระยะเวลาครบ 120 วัน ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 คือการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำโดยถือเป็นระยะเวลาจำคุก

 “ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการตำรวจต้องกล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม ยึดมั่นหลักการในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติใดๆ ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ  พ.ศ. 2563 และตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561” นายวัชระระบุ

 จากนั้นนายวัชระแถลงว่า เหตุที่มายื่นหนังสือขอเข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวด้วย เพราะเห็นว่าเมื่อนายชัยชนะ เดชเดโช ประธาน กมธ.การตำรวจเชิญบุคคลต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม,  ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อมาให้ข้อมูลในเรื่องที่ขอให้ตรวจสอบได้ เหตุใดจึงไม่เชิญตนเข้าร่วมประชุมซักถามต่อบุคคลเหล่านั้น เพื่อตอบข้อสงสัยของพี่น้องประชาชนด้วย เพราะตนคือผู้ร้องเรียนเรื่องนี้ และเป็นคนเสนอในที่ประชุมครั้งที่ผ่านมาว่า ขอให้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเข้าประชุมเพื่อตอบข้อสงสัยของพี่น้องประชาชนด้วย

 “ผมขอเรียกร้องให้คณะ กมธ.ตำรวจลงพื้นที่ตรวจสอบที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ภายในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ เนื่องจากกำลังจะครบ 120  วันในสัปดาห์นี้แล้วที่ น.ช.ทักษิณเข้าพักรักษาตัว ขอให้คณะ กมธ.ตำรวจยึดมั่นในหลักคุณธรรม กล้าปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติใดๆ ตามข้อบังคับประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการต่อไป” นายวัชระระบุ

ภายหลังนายวัชระเปิดเผยว่า ได้รับโทรศัพท์จากนายชัยชนะบอกเพิ่งทราบข่าวที่ว่า กมธ.จะไม่เชิญตนไปร่วมประชุมนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง จะกลับกรุงเทพฯ ในวันพรุ่งนี้ แล้วจะรีบส่งหนังสือเชิญตามระเบียบของทางราชการ

ด้านนายวันชัย สอนศิริ สว. กล่าวถึงกรณีของนายทักษิณจะส่งผลอย่างไรต่อรัฐบาลหรือไม่ว่า แล้วแต่จะมอง  คนเราอาจจะมีภาวะ ฐานะที่มีสภาพไม่เหมือนกัน ตนก็ไม่ทราบถึงข้อมูลว่านายทักษิณป่วยหรือไม่ป่วยมากน้อยแค่ไหนเพียงใด จึงไม่ขอวิจารณ์ แต่ก็ควรชัดเจนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ถ้าหากมัวอ้ำอึ้งก็อาจทำให้เกิดข้อสงสัย 

"ไม่ว่าจะอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจหรืออยู่ในเรือนจำ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้รัฐบาลชุดนี้สั่นคลอนไปได้ และถ้าตัวผมเป็นคุณทักษิณ ผมจะเลือกเข้าไปอยู่ในคุก แล้วเดินออกจากคุกอย่างเท่และสง่างาม จะไม่ทำให้คนคลางแคลงใจ" นายวันชัยกล่าว

เทียบชั้น 14 ต่างฟ้ากับเหว

ส่วนนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช  โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “16 เดือน ในเรือนจำ ของ น.ช.เทพไท กับ 4 เดือน ในโรงพยาบาลตำรวจ ของ น.ช.ทักษิณ" ระบุว่า "แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ผมขอสะท้อนชีวิตของนักโทษธรรมดา ที่ถูกคุมขังในเรือนจำคนหนึ่งว่า การถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 14 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับการพักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ทำไมมันช่างแตกต่างกันอย่างลึกลับ ระหว่าง น.ช.ทักษิณ ชินวัตร กับ น.ช.เทพไท  เสนพงศ์ ไม่ต้องเปรียบเทียบกับนักโทษคนอื่นๆ เลย"

นายเทพไทระบุว่า "เมื่อคุณทักษิณเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อรับโทษตามคำพิพากษา จึงได้ขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคล และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จาก 8 ปีเหลือ 1 ปี ผมเห็นว่าคุณสมบัติของผมกับของคุณทักษิณไม่ได้แตกต่างกัน จึงได้ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ ผ่านกรมราชทัณฑ์เช่นเดียวกัน

ระหว่างที่ผมถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เกิดอาการป่วย ปวดท้อง แน่นหน้าอก ขอเบิกตัวไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช ได้พักรักษาตัวอยู่ 5 วัน ได้มีคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงของกรมราชทัณฑ์ กดดันให้ผู้บัญชาการเรือนจำ และเจ้าหน้าที่นำตัวผมกลับสู่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชในทันที ซึ่งแตกต่างกับกรณีของคุณทักษิณ ที่ยังคงรักษาตัวโรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ทราบอาการป่วย และยังคงรักษาตัวต่อไปอย่างไม่มีกำหนด"

 “ผมได้รับการพักโทษตามประกาศของกรมราชทัณฑ์ ที่ใช้บังคับกับนักโทษทั่วไป คือถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลา 2 ใน 3 ของโทษทั้งหมด จึงได้รับการพักโทษ ระหว่างที่ผมถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 16 เดือน พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 บังคับใช้แล้ว แต่ไม่มีการออกกฎกระทรวง หรือระเบียบของกรมราชทัณฑ์แต่ประการใด ที่เป็นประโยชน์ต่อการถูกคุมขังของผมเลยแม้แต่ฉบับเดียว ซึ่งแตกต่างกับกรณีของคุณทักษิณ ที่มีการเร่งรีบออกกฎกระทรวง และระเบียบกรมราชทัณฑ์ เพื่อรองรับการถูกคุมขังของคุณทักษิณ ใช่หรือไม่” นายเทพไท ระบุ

นายเทพไทระบุด้วยว่า "ผมอยากจะให้สังคมจับตาดูว่า ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ ครบ 120 วันที่คุณทักษิณพักอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ อยากจะรู้ว่ากรมราชทัณฑ์จะดำเนินการอย่างไร มีมาตรการใดนำตัวคุณทักษิณกลับเข้าสู่เรือนจำ และในขณะเดียวกันประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องการคุมขังนอกเรือนจำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2566 คุณทักษิณจะได้สิทธิ์ตามประกาศฉบับนี้หรือไม่"

นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน  เปิดเผยว่า วันอังคารที่ 19 ธ.ค. 66 เวลา 10.00 น.องค์กรฯ จะเดินทางไปยื่นฟ้องอธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวก และนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ต่อศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ฐานใช้อำนาจหรือดุลยพินิจโดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าการให้ น.ช.ไปรักษาตัวนอกคุกเป็นไปโดยมิชอบ และใครบ้างที่ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้ น.ช.ทักษิณ และสั่งให้ น.ช.ทักษิณกลับมารับโทษในคุกตามคำพิพากษาให้ครบ นอกจากนั้นยังขอให้ศาลวินิจฉัย และสั่งให้กรมราชทัณฑ์เพิกถอนระเบียบให้ผู้ต้องขังไปคุมตัวนอกเรือนจำ 2566 อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ น.ช.ทักษิณ โดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วย เพื่อให้คำพิพากษาของศาลมีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม

ชทพ.หนุน พ.ร.บ.สร้างเสริมฯ

ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี  พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. ... ว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่จะสร้างเสริมให้สังคมไทยมีความสมัครสมานสามัคคี โดยจะเว้นโทษทางการเมืองให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่จะไม่งดเว้นให้กลุ่มผู้ที่ละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เรื่องการทำร้ายร่างกายจนทำให้ถึงเสียชีวิต และไม่งดเว้นโทษในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติ

 “โดยขณะนี้จะมีการหารือกันในวิปรัฐบาลว่าจะมีการนำเสนอเมื่อไหร่ และต้องมีการหารือกับพรรคอื่นว่าจะมีการเสนอร่างประกบหรือไม่ เพราะคิดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งสามารถรวมพิจารณาเป็น พ.ร.บ.เดียวกันได้” นายอัครเดชระบุ

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ระบุกรณีพรรค รทสช.จะเสนอร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. ... ต่อสภาสัปดาห์นี้  ประกบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล ว่าในส่วนของพรรค ชทพ. ในเมื่อเป็นแนวทางที่สอดคล้องกัน ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการลงคะแนนให้กัน พรรค ชทพ.จะหารือกันในที่ประชุมพรรคที่จะมีขึ้นในช่วงบ่ายวันที่ 19 ธ.ค. แต่แนวทางไม่ได้ขัดแย้งกันแต่อย่างใด 

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ระบุถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญคาดว่าจะทำได้ตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่ว่า ตนยังไม่เห็นไทม์ไลน์ที่ชัดเจน มีแต่การแสดงเจตนารมณ์ของฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ที่บางครั้งมีประเด็นเกี่ยวกับการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการร่างกฎหมายเอง ก็ต้องค่อยๆ ดูไป แต่คาดว่าจะมีการพิจารณาในเวลาไม่นานนี้ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะแก้กรณีใดก็ตาม  คาดว่าจะได้ข้อยุติว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่พูดไปเรื่อยๆ

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สว. กล่าวยอมรับว่า โดยเงื่อนไขของกฎหมายแล้วการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก คือ 1.ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องสอบถามประชาชน ซึ่งตามกฎหมายต้องทำอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง หลังครั้งแรกผ่าน ครั้งที่สองจะเกิดขึ้น ในการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่เปิดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อฉบับนี้แล้วเสร็จจะต้องมีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง และการทำประชามติทั้ง 3 ครั้งตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องมีผู้ออกเสียงออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ และผลของประชามติก็ต้องเกินกึ่งหนึ่งเช่นกัน

 “ได้ยินมาว่ามี สส.บางพรรคเสนอให้แก้ไขกฎหมายการทำประชามติ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังไม่เคยใช้กฎหมายฉบับนี้เลยตั้งแต่ปี 2564 หากจะไปสรุปว่าทำแล้วไม่สำเร็จ เหตุผลไม่เพียงพอ แต่หากจะแก้ไขต้องใช้ทั้งสองสภารวมกัน ซึ่งวาระของ สว.ก็จะหมดแล้ว ดังนั้นการจะทำประชามติให้ผ่านทั้ง 3 ครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งการจะแก้ไขกฎหมายการทำประชามติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย" นายคำนูณกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง