โวญี่ปุ่นลุยแลนด์บริดจ์

"เศรษฐา" ขายฝัน โวมีแนวโน้มนักลงทุนญี่ปุ่นลุยแลนด์บริดจ์ “สุริยะ” เปิดแผนสร้างโครงการ 4 ระยะ  2025-2045 ให้สัมปทานต่างชาติยาว 50 ปี คืนทุนใน 24 ปี นายกฯ คุย "พานาโซนิค" เล็งใช้พื้นที่ไทย 600  ไร่สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เผย "ฮุน มาเนต" เยือนไทย  ก.พ. 67

เมื่อเวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว  ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) วันที่  18 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการเปิดสัมมนางานภาพรวมของโครงการแลนด์บริดจ์ และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจร่วมเข้ารับฟัง โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม  นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมงาน  "Thailand Landbridge Roadshow" ในวันนี้ ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มขึ้น จากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค และในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก

นายกฯ ยังได้นำเสนอข้อมูลของโครงการว่า ทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ  40% รองลงมาเป็นทวีปยุโรปที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 38% ซึ่งการค้าขายส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก เนื่องจากขนส่งได้ในปริมาณมากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้นส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งช่องแคบมะละกาจัดได้ว่าเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลักในภูมิภาค โดยตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนร้อยละ 25 ของจำนวนตู้สินค้าที่ขนส่งทั่วโลก และการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก ซึ่งช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่งและแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ทำให้ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นในท่าเรือต่างๆ ที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกามีอยู่ประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี และจำนวนเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกามีประมาณ 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030  ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือเพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น, จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เอเชียกลาง และตะวันออกกลางนั้น ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ (Feeder) ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder  แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่ แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 5 วัน

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในกลุ่มสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย, ลาว, กัมพูชา, เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกที่แลนด์บริดจ์ด้วยเรือ Feeder  ไปยังประเทศผู้บริโภคต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง โดยโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วัน ดังนั้นเฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าวผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของโครงการแลนด์บริดจ์ จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือต่างๆ ในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ และพิจารณาการเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่ หรือ Mainline จะเข้ามาเทียบท่าในโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต ทั้งนี้ในส่วนของการขนส่งน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลาง พบว่าในปัจจุบันมีการขนส่งน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวันจะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้ แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6% อีกทั้งในการลงทุนโครงการดังกล่าว นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร โดยผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคเกษตรกรรม และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม โดยคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

"ผมเชื่อมั่นและเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุน ในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงยุทธศาสตร์ ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตในเศรษฐกิจร่วมกัน“ นายกฯ กล่าว

ด้านนายสุริยะกล่าวว่า แผนการดำเนินโครงการได้มีการวางแผนการพัฒนาทั้งโครงการเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2025 ถึง ค.ศ. 2045 รูปแบบการหาผู้มาลงทุนและดำเนินการจะเป็นการประมูลแบบนานาชาติ (International Biding) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เป็นสัญญาเดียว ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่มาดำเนินการโครงการ ต้องเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ  ประกอบด้วย สายการเดินเรือ, ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์,  ผู้ประกอบการและบริหารท่าเรือ, ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์  และนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม โดยไทยจะออกกฎหมายใหม่เพื่อพัฒนาโครงการและพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะ การอำนวยความสะดวกจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และจากการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนโครงการดังกล่าว ผู้ลงทุนจะคืนทุนใน 24 ปี

ต่อมานายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงการได้พบกับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่า ในเดือน ก.พ. 2567 สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต จะมาเยือนประเทศไทย ส่วนการพูดคุยกับบริษัทพานาโซนิค ซึ่งเขาเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่และทำเรื่องของแบตเตอรี่ให้บริษัทเทสลาด้วย ซึ่งขณะนี้เขากำลังดูสถานที่ที่จะทำโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในพื้นที่ 600 ไร่ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ในเป้าหมายซึ่งเขายังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะต้องดูแผนระยะยาว แต่เขาลงทุนที่ประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 1961 ก่อนที่ตนจะเกิดอีก จึงถือว่ามีความผูกพันกับประเทศไทย ซึ่งผู้บริหารเบอร์สองของเขาก็อยู่ในเมืองไทยมาตลอด

เมื่อถามว่า จากที่พูดคุยกับหลายบริษัทมีทิศทางบวกหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า บวกมากๆ และจากที่ตนได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เชื่อว่าท่านรู้อยู่แล้วว่าคุยกันแล้วเป็นอย่างไร ตนได้บอกไปว่าการเดินทางมาครั้งนี้ให้คะแนนความพึงพอใจที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีกับไทย 8-9 จาก 10 คะแนน โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยิ้มและมีท่าทีไม่ได้แปลกใจอะไร ตนยังเชื่อว่าทุกบริษัทที่มาก็มีความสบายใจ  ที่ระดับผู้นำประเทศได้คุยกันอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงให้คำตอบที่ชัดเจนด้วย ให้ได้ก็บอกให้ได้ ให้ไม่ได้ก็บอกคงให้ไม่ได้ แต่มีทางเลือกอื่นให้เลือก และเชื่อว่าทุกหน่วยงานที่มาทำการบ้านมาอย่างดีมาก ตนเพียงมาให้คำยืนยันกับนักลงทุนญี่ปุ่นว่าทำเต็มที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ