กรุงเทพฯ ๐ จับตา "ทักษิณ" ไม่ติดคุกเลยแม้วันเดียว รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์เผยระเบียบย้ายไปขังนอกเรือนจำ กำหนดคุณสมบัติผู้ต้องขังเสร็จในธันวาคมนี้ บังคับใช้จริงปีหน้า คดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง คดีค้ามนุษย์ ฆ่าข่มขืน ยาเสพติด อด แต่คดีทุจริตคอร์รัปชัน ยังไม่ได้มีการลงลึกในรายละเอียด ยืดหยุ่นได้
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ สถานที่พักรักษาอาการป่วยของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังกรมราชทัณฑ์ส่งตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้ามารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่นายทักษิณเดินทางกลับมามอบตัวที่ประเทศไทย และใกล้จะครบ 120 วัน ที่รักษาตัวนอกเรือนจำ พบว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นายประจำการอยู่เวรประจำบริเวณทางเข้าเท่านั้น
สำหรับนายทักษิณ อยู่ในเกณฑ์ได้พักโทษจากเงื่อนไข 3 ข้อคือ จะต้องเป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป, มีภาวะป่วยชราภาพ และต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก ทั้งนี้ นายทักษิณได้รับการอภัยลดโทษเหลือจำคุกเพียง 1 ปี ซึ่งใกล้ครบรับโทษ 1 ใน 3 หรือ 4 เดือน หรือ 120 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้
และจากการที่กรมราชทัณฑ์ได้ส่งหนังสือเวียนแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่อง ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 คือ การกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.นั้น ยิ่งทำให้โอกาสที่นายทักษิณจะกลับไปติดคุกแทบเป็นศูนย์ เพราะประกาศฉบับดังกล่าวเปิดทางให้คุมขังผู้ต้องขังในสถานที่สำหรับอยู่อาศัย หรือสถานพยาบาลได้
นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงระเบียบแนวทางปฏิบัติคุณสมบัติผู้ต้องขังผ่านเกณฑ์จำคุกนอกเรือนจำว่า จากกรณีที่ตัวกฎหมายได้กำหนดชัดเจนให้กรมราชทัณฑ์จะต้องไปออกระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง จึงหมายความว่า ผู้ต้องขังที่จะผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิประโยชน์จากระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 นั้น จะเป็นผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง จากรายคดีใด คดีใดได้รับการยกเว้นหรือไม่ หรือต้องรับโทษจำคุกมานานเท่าไรแล้ว และหากต้องไปคุมขังที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ จะต้องปฏิบัติตนอย่างไร มีกิจกรรมประจำวันเช่นอะไรบ้าง
รวมถึงจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่คุมขัง และบทบาทในการรับผิดชอบ ต้องควบคุมอย่างไร ดูแลผู้ต้องขังอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยงกระทำความผิดซ้ำ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องควบคุมดูแลผู้ต้องขังอย่างไร ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดที่เหลือนี้เราจะต้องไปยกร่างออกเป็นระเบียบอีก 1 ฉบับ เพื่อส่งต่อไปยังเรือนจำ ทัณฑสถานทุกแห่งทั่วประเทศในการคัดกรองผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติตามที่ระเบียบกำหนดไว้ และเสนอต่อคณะทำงาน (คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง) ตามระเบียบเพื่อคัดครองพิจารณาอีกชั้น
ส่วนสิ่งสำคัญอีกประการที่กรมราชทัณฑ์จะต้องดำเนินการคือ ระยะเวลาปลอดภัย เช่น ผู้ต้องขังรายดังกล่าวจะต้องจำคุกมาแล้วเท่าไร บางประเทศอาจกำหนดให้รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 4 หรือบางประเทศอาจ 1 ใน 3 เป็นต้น ซึ่งเราก็จะต้องทำเรื่องนี้เช่นกัน เพราะในงานวิจัยได้ระบุว่า การที่ผู้ต้องขังใดได้รับโทษจำคุกมาสักระยะหนึ่งแล้ว มักจะไม่มีปัญหาต่อพฤติกรรมหรือมีความเสี่ยง
คดีโกงยืดหยุ่นได้
"จึงสรุปได้ว่าแม้จะมีการบังคับใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำทันที แต่ก็ยังต้องรอระเบียบอีกฉบับที่ตนได้เรียนไปข้างตนก่อน เพราะระเบียบคุมขังนอกเรือนจำนั้น รูปธรรมในการนำไปปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ส่วนระยะเวลาที่คาดการณ์กันไว้ว่าอยากให้ระเบียบแนวทางการปฏิบัติ การกำหนดคุณสมบัติผู้ต้องขังแล้วเสร็จก็คือภายในเดือนธันวาคมนี้ แต่จะบังคับใช้ได้จริง คาดว่าจะอยู่ในช่วงปี 2567"
รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ยังกล่าวว่า เรายังต้องพิจารณาถึงการติดกำไล EM สำหรับผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิคุมขังนอกเรือนจำ ว่าจะมีผู้ต้องขังรายใดบ้างที่ต้องใช้กำไล และยังต้องกำหนดอาณาเขตพื้นที่บริเวณว่ากี่กิโลเมตรจึงจะมีความปลอดภัย และอาจต้องเพิ่มในส่วนของกล้องวงจรปิดที่จะเชื่อมกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อการจับตาสอดส่องดูแล เพราะเราให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยภายในสังคมเป็นอันดับสูงสุด รองลงมาคือเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่จะต้องควบคู่ไปด้วยกัน
ส่วนคดีของผู้ต้องขังที่อาจมีการพิจารณายกเว้นไม่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากระเบียบคุมขังภายนอกเรือนจำ อาทิ คดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง คดีค้ามนุษย์ คดีที่เกี่ยวกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน คดีทางเพศ (ฆ่าข่มขืน) คดียาเสพติด และคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเป็นภัยร้ายแรงของประเทศ
"อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีทุจริตคอร์รัปชัน เรายังไม่ได้มีการลงลึกในรายละเอียด จะต้องมีการไปหารืออีกครั้ง มองว่าการออกระเบียบแนวทางปฏิบัติมันสามารถยืดหยุ่นได้ เพราะเราต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เช่น ในคดียาเสพติด จากเดิมที่มีการลงโทษที่เข้มข้นมาก แต่พอในปี 2564 มีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ความเข้มข้นในส่วนของโทษก็ลดลง เราจึงต้องใช้ความยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องไปกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป"
นายสหการณ์เผยว่า สำหรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ยืนยันว่าขั้นตอนจะเริ่มต้นจากทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เท่านั้น ผู้ต้องขังไม่มีสิทธิในการยื่นขอเข้าพิจารณาว่าจะเข้าเกณฑ์หรือไม่ เพราะคณะทำงานจะเป็นผู้พิจารณาเองทั้งหมด และการพิจารณาจะเกิดจากการดูภาพรวมทั้งหมดแล้ว อาทิ พฤติกรรมระหว่างการต้องโทษ ความเสี่ยงการกระทำความผิดซ้ำ ความพร้อมของสถานที่คุมขัง เป็นต้น
ไม่เกี่ยวกับ 'ทักษิณ'
เขากล่าวว่า ขั้นตอนการพิจารณาจะจบที่ชั้นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไม่ต้องเสนอเรื่องขึ้นไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้อำนาจของอธิบดีสามารถดำเนินการได้ จะไม่เหมือนกับขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ การขอลดวันต้องโทษ หรือการขอพักการลงโทษที่ต้องเสนอเรื่องไปยังชั้นกระทรวง ในบรรดาทั้งหมดทั้งมวล
"ผมพร้อมรับฟังความเห็นที่หลากหลายภายในสังคม สิ่งสำคัญคืออยากให้ข้อมูลกับสังคม และเรียนรู้ไปด้วยกัน ว่าระเบียบนี้ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่การประกาศใช้นั้นมีความล่าช้าไปกว่ากรอบกฎหมายที่ได้กำหนดไว้จากกฎหมายหลัก คือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งจริงๆ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำนี้จะต้องแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2561 แต่ที่ผ่านมาอาจติดขัดในหลายประการ"
นายสหการณ์ยืนวันว่า กรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะไม่เป็นข้อจำกัดให้กรมราชทัณฑ์จะต้องหยุดดำเนินการออกระเบียบ หรือต้องออกระเบียบบังคับใช้แต่อย่างใด เป็นเรื่องที่กรมราชทัณฑ์จะต้องดำเนินการอยู่แล้ว และตนไม่มีใครมาคอยสั่งการ ยืนยันพร้อมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ควบคู่ไปกับการบริหารโทษที่เป็นหลักตามสากล เราคำนึงถึงผู้ต้องขังทุกรายที่ควรได้รับสิทธิในการคุมขังนอกเรือนจำ
สำหรับคณะทำงานที่นายสหการณ์ อ้างถึงนั้น ปรากฏในหมวด 2 ของ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่กำหนดให้เป็นผู้พิจารณา การคุมขังนอกเรือนจำ จำแนกลักษณะของผู้ต้องขัง ดำเนินการคัดกรองแล้วเสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณา
ระเบียบฉบับนี้บัญญัติให้ "คณะทำงาน หมายความว่า คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง ประกอบด้วย รองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยาเป็นประธาน ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์ และผู้อำนวยการกองกฎหมายและบุคคลภายนอกซึ่งอธิบดีแต่งตั้งจากบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข 1 คน และด้านสังคมสงเคราะห์หรืออุตสาหกรรม 2 คน โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรการควบคุมผู้ต้องขัง สังกัดกองทัณฑวิทยา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และข้าราชการสังกัดกองทัณฑวิทยาที่ได้รับมอบหมายอีกไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ปชป.ยันค้านนิรโทษฯ ม.112
วันเดียวกันนี้ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกลว่า ในส่วนหลักการของพรรค ปชป. เคยย้ำจุดยืนหลายครั้งแล้วว่า หากเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายมีผลกระทบต่อคดีความผิดมาตรา 112 ด้วย พรรคไม่เห็นด้วย รวมถึงคดีทุจริต ที่คดีเหล่านี้หากมีการนิรโทษกรรมย่อมมีผลกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เพราะต้นเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของคน ไม่ใช่เป็นคดีทางการเมืองที่เกิดจากการชุมนุม และข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งเป็นเจตนารมณ์ชัดของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ซึ่งนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้เป็นเจ้าของร่างกฎหมายก็ยืนยันแล้วว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้จะครอบคลุมถึงผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย
"พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันหลักการนี้ชัดเจนตลอดมาว่า ไม่เห็นด้วย หากมีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา จุดยืนของพรรคก็ไม่เห็นด้วย และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก็ไม่เห็นด้วยถึง 71% เสียงสะท้อนจากประชาชนเหล่านี้ สส.ที่ทำหน้าที่ในสภาจำเป็นต้องนำมาประกอบในการพิจารณา
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า การนิรโทษกรรมต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง และเมื่อผู้ที่ยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมยอมรับว่า ให้รวมถึงผู้ที่มีคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ก็ชัดเจนว่าเขาเห็นถึงประโยชน์ที่พรรคและพวกของเขาจะได้รับอยู่แล้ว สุดท้ายประเด็นเหล่านี้ก็จะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดักคอ ‘พ่อนายกฯ’ รีดไขมันค่าไฟเหลือ 3.70 บ./หน่วย อย่าเอาเงินภาษีไปอุ้ม
เรื่องลดไฟฟ้าเหลือ 3.70บาท ถ้าคุณไม่ได้โม้ โฆษณาชวนเชื่อ ให้คุณรีบทำ รีบลดราคาเลย แต่ต้องลดตลอดไป และห้ามเอาภาษีมาอุ้ม
'ทักษิณ' ฟังทางนี้! ลืมหรือเปล่า 4.7 หมื่นล้าน รวยเพราะอะไร
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ *คุณ(มึง) รวยจริง" โดยระบุว่า ระยะหลังคุณทักษิณ ชินวัตร ปราศรัยดุเดือด ทั้งหมา ทั้งควาย พรั่งพรูออกมาจากปากคุณทักษิณเป็นฝูงๆ
เลิกเหนียม! ท่าที ‘ทักษิณ’ ชัด สะกิด ‘แพทองโพย’ ตั้งเป็น ‘นายกรัฐมนตรีอาวุโส’ เลย
จากคำปราศรัยและการตอบคำถามของผู้สื่อข่าว จะเห็นได้ว่านายทักษิณ ชินวัตร คือนายกรัฐมนตรีตัวจริง จึงไม่จำเป็นต้องเหนียมอายอะไรอีกแล้ว
วีระ ข้องใจทักษิณประกาศไฟฟ้าปีนี้ต้องเห็นเลข 3 ถาม ลูกหรือพ่อเป็นนายกฯกันแน่?
วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน แชร์โพสต์ของ Suthichai Yoon นำคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บนเวทีปราศรัย
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง
แจง4คนไทยติดขั้นตอน เย้ยรบ.-ทหารมีไว้ทำไม
กต.แจงลูกเรือประมงไทย 4 คนยังติดขั้นตอนปล่อยตัวจากเมียนมา