อุ้ม‘แม้ว’หนักกว่าพรบ.สุดซอย

"พิธา" ไม่รู้ "ทักษิณ" นอนรักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ บอกระเบียบใหม่คุมขังนอกเรือนจำไม่น่าเกี่ยวแม้ว  แค่หวั่น กก.ราชทัณฑ์พิจารณาเหลื่อมล้ำเอื้อคนรวย "กสม." โอ่ระเบียบใหม่กรมคุกออกตามที่เสนอความเท่าเทียม "คปท." ซัดอุ้ม "น.ช.ทักษิณ" หนักกว่า  พ.ร.บ.สุดซอย

ที่ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงการออกระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ ที่อาจจะเอื้อประโยชน์นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนักโทษชาย ในการคุมขังนอกเรือนจำว่า ในภาพกว้างต้องลงในรายละเอียด ตนเข้าใจว่ากระบวนการความคิดแบบนี้มีตั้งแต่ปี 2563 และที่ฟังจากประธานกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง ก็มีความคิดในเรื่องนี้ล่วงหน้า คงจะไม่มีใครรู้ว่านายทักษิณจะกลับมาเมื่อไหร่   ต้องให้ความยุติธรรมกัน

"ผมมีข้อกังวลคือ สถานที่ที่จะนำมาคุมขังนอกเรือนจำ เป็นการตัดสินใจที่รวมศูนย์อยู่ที่คณะกรรมการ ซึ่งผู้ต้องขังเองไม่สามารถร้องขอได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่อนุญาต เช่น บ้าน โรงงาน รวมถึงสถานที่ราชการที่กำหนดไว้ จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะเอื้อให้กับผู้ที่มีฐานะในระดับหนึ่งในการเข้าถึงสิทธิ์ดังกล่าว" นายพิธากล่าว

ปธ.ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกต 3 ข้อในเรื่องนี้ คือ 1.มีแนวคิดระเบียบนี้คิดตั้งแต่ปี 2563 ตามที่สภาได้เสนอมาในปี 2560 หรือไม่ 2.เรื่องของสถานที่ที่ผู้ต้องขังหรือครอบครัวไม่สามารถร้องขอได้ เนื่องจากเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ที่เกรงว่าจะมีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง และ 3.เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ที่จะต้องมีระบบสถานที่เอื้ออำนวย ทำให้คนที่ออกมาได้ต้องเป็นคนที่มีฐานะในระดับหนึ่ง จึงเกรงว่าจะไม่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งตนไม่ด่วนสรุปว่าเป็นเรื่องของการใช้อภิสิทธิ์ แต่เป็นการตั้งข้อสังเกตจากข่าวไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว

ถามถึงกรณีนายทักษิณก็ยังอยู่ชั้น 14 นายพิธากล่าวว่า “ผมยังไม่ได้ตามเรื่องนี้เลย”

ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ ชี้แจงกรณีกรมราชทัณฑ์ระบุถึงที่มาของการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 และอ้างว่าส่วนหนึ่งมาข้อเสนอแนะของ กสม.ว่า เรื่องดังกล่าว กสม.พบจากการดำเนินโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือนจำ กสม.จึงเสนอแนะเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 ให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือนจำ โดย 1.ใช้นโยบายกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เช่น การเบี่ยงเบนคดีอาญาออกจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก 2.การแยกสถานที่คุมขังระหว่างผู้ต้องขังเด็ดขาดกับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา และ 3.กำหนดสถานที่ควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีและผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับ  โดยกำหนดสถานที่อื่นเพื่อการควบคุมตัวนอกเหนือจากการควบคุมตัวในเรือนจำ  

เอกสารชี้แจง กสม.ระบุว่า ต่อมา กสม.ได้มีหนังสือลงวันที่ 25 ก.พ.2565  เรียนนายกฯ เพื่อเน้นย้ำให้กรมราชทัณฑ์กำหนดสถานที่ที่เหมาะสมกับผู้ต้องขังแต่ละประเภท เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือนจำอันเนื่องมาจากการไม่แยกประเภทผู้ต้องขัง ซึ่ง กสม.ยังได้ประชุมหารือกับ รมว.ยุติธรรมเมื่อเดือน ก.พ.และ มี.ค.2566 ที่ผ่านมา    เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีตามหลักสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรคสอง การแยกคุมขังผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังเด็ดขาด การแก้ไขกฎกระทรวงออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 การติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไลอีเอ็ม และการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นสำหรับผู้ต้องขังในคดีความแตกต่างทางความคิดหรือความเห็นต่าง ซึ่งยังไม่มีการพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด

"กสม.ขอเน้นย้ำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ข้อ 10 ที่กำหนดให้ผู้ต้องหาต้องได้รับการจำแนกออกจากผู้ต้องโทษ และต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปให้เหมาะสมกับสถานะที่ไม่ใช่ผู้ต้องโทษ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญและกติกา ICCPR ยังกำหนดไว้ว่า บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันในกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ ดังนั้นสิทธิของผู้ต้องขังทุกคนต้องเสมอภาค เท่าเทียม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะมีสถานะใดๆ" เอกสาร กสม.ระบุ

วันเดียวกัน นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ยิ่งกว่า พ.ร.บ.สุดซอย เป็นไปได้มากที่ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร จะไม่ได้เข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียว กระบวนการอุ้มหนีเรือนจำด้วยระเบียบราชทัณฑ์ กำลังทำงานตามเงื่อนเวลาที่ลงตัว ทักษิณหนีคดีไปต่างประเทศ ปัจจุบันทักษิณก็หนีคดีอยู่เช่นเดิม ที่มันย่ำแย่คือการหนีในขณะสำนึกว่าตนเองทำผิดกฎหมายนั้น มันเป็นทำลายความสำนึกตัวเองที่บอกกระบวนการยุติธรรม หนีด้วยกระบวนการราชการที่เอาระเบียบเป็นเกราะกำบัง เช่นนี้ มันเลวร้ายกว่า พ.ร.บ.สุดซอย ในอดีต

"ครั้งนี้ น.ช.ทักษิณได้ประโยชน์คนเดียว ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อปรองดองที่ยอมกับคนทุจริตแบบไม่มีทางเลือกให้ประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เราว่า พ.ร.บ.สุดซอย ว่าเอื้อประโยชน์ระเบียบอุ้มทักษิณ โคตรเอื้อไม่ให้ทักษิณติดคุกมากกว่า นี่คือการฟอกขาวให้ทักษิณชัดๆ" แกนนำ คปท.ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ