นายกฯฟุ้ง‘แดนปลาดิบ’ ช่วยสร้างศก.ไทยเติบโต

ไหนบอกเศรษฐกิจไทยวิกฤตต้องแจกเงินหมื่น "เศรษฐา" ไปพูดที่ญี่ปุ่น เศรษฐกิจไทยคึกคัก ช่วง 10 ปีมานี้บริษัทญี่ปุ่นแห่ลงทุนในไทยเพียบ  แค่ปี 2566 มากว่า 180 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 180,000 ล้านเยน ช่วยยกระดับการแข่งขันในเวทีโลก มาอีกแล้ว!มุกงานวัด สร้าง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ 

วันที่ 15 ธันวาคม เวลา 09.00 น.    (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Imperial Hotel Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือกับนายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economic, Trade and Industry: METI) ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น

โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง METI ต่างยินดีต่อความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยภาคเอกชนญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางการค้าและลงทุนกับญี่ปุ่น จึงได้จัดสัมมนา Investment Forum เพื่อนำเสนอนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุนในไทยให้ญี่ปุ่นได้รับทราบ

นายกรัฐมนตรียังใช้โอกาสนี้เชิญชวนมาร่วมมือในโครงการ Landbridge  เพื่อเพิ่มทางเลือกในการขนส่งให้แก่ภูมิภาค ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค รวมถึงเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นให้มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงความร่วมมือด้านยานยนต์ โดยนายกรัฐมนตรีจะพบปะกับผู้ประกอบการยานยนต์ของญี่ปุ่น 7 ราย เพื่อให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลพร้อมดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปของญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนา EV และยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งไทยออกมาตรการใหม่เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสาขายานยนต์ หวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ICE ของญี่ปุ่นในไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะเปลี่ยนผ่าน

ด้านนายไซโตชื่นชมในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย และขอบคุณที่ไทยดูแลเอกชนญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และยินดีร่วมมือกันในกรอบ Asia Zero-Emission Community (AZEC) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงยังได้เสนอข้อริเริ่มในการจัดตั้งกลไก energy and industrial dialogue เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียวกับไทย

ต่อมานายเศรษฐากล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Thailand-Japan Investment Forum ในช่วงสัปดาห์การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN-Japan Commemorative Summit) พร้อมด้วยนายนิชิมุระ ยาสึโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และนายอิชิกุโระ โนริฮิโกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าญี่ปุ่น (JETRO) เข้าร่วม

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณและถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาที่รัฐบาลไทยเร่งดําเนินการ เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก โดยไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีและยาวนานกว่า 136 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสังคม โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงประเด็นหลักที่สำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า 1.ด้านความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ญี่ปุ่นเป็นมิตรแท้ของไทยที่มีความผูกพันกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับราชวงศ์ รัฐบาล ภาคธุรกิจ ไปจนถึงประชาชน เห็นได้จากจำนวนบริษัทญี่ปุ่นกว่า 6,000 บริษัท และชาวญี่ปุ่นที่กว่า 80,000 คนที่อยู่ในไทย ซึ่งล้วนเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยมาโดยตลอด รวมทั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในช่วงระหว่างการประชุม APEC ซึ่งเห็นพ้องร่วมกันว่า ทั้งสองประเทศทควรขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น

2.ด้านโอกาสและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายมิติ ซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือความท้าทายดังกล่าว โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง AI การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนา Startup ให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยความแข็งแกร่งนี้ เห็นได้ชัดจากความสามารถของบริษัทใหญ่ ไปจนถึงบริษัทระดับท้องถิ่น ซึ่งมี Know how และมีศักยภาพพร้อมเติบโตไปยังต่างประเทศได้ โดยหวังว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของญี่ปุ่น

ด้านเศรษฐกิจและการค้า รัฐบาลมีมาตรการหลายอย่างที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบ การดึงดูดการท่องเที่ยว การเร่งดึงการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยด้านการค้า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 8.7 ล้านล้านเยน คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ซึ่งเชื่อในศักยภาพว่า จะสามารถขยายมูลค่าได้มากยิ่งขึ้น และครอบคลุมสินค้าได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่างๆ

ด้านการลงทุน นักลงทุนญี่ปุ่นมีบทบาทอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งญี่ปุ่นเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุดติดต่อกันอย่างยาวนาน โดยช่วง 10 ปีหลัง มีโครงการที่ BOI ส่งเสริมกว่า 4,000 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 6 ล้านล้านเยน ซึ่งของปี 2566 นี้ มีกว่า 180 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 180,000 ล้านเยน ซึ่งการลงทุนจากญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร และอาหารแปรรูป โดยเป็นเวลากว่า 50 ปี ที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พวกเราไม่ลืม และรัฐบาลไทยพร้อมที่จะช่วยดูแลและสนับสนุนบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นให้แข่งขันและเติบโตได้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุน Soft Power เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยต่อเวทีโลก ซึ่งไทยกำลังผลักดัน Soft Power สู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม การยกระดับและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย สร้าง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ พัฒนาคอนเทนต์ผ่านหลากหลายอุตสาหกรรม และส่งเสริมการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยไปต่อยอดให้แพร่หลาย จึงถือเป็นโอกาสใหม่สำหรับญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุน ต่อยอดทรัพยากรของไทยในการพัฒนา เกม ภาพยนตร์ หรือแอนิเมชัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าความพร้อมด้าน Creative Industry ของไทยไม่เป็นรองใคร พิสูจน์ได้โดยรางวัลต่างๆ ทั่วโลกที่สร้างด้วยฝีมือคนไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ข้อ 3 ด้านแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของไทย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของ โดยมีหลายภาคส่วนที่มีความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC แล้ว ขณะนี้รัฐบาลยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มูลค่าเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 4 ล้านล้านเยน เพื่อสร้างเส้นทางการค้าการขนส่งใหม่ของโลกที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ด้วยท่าเรือ ระบบราง และระบบถนน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก จึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมศึกษาและลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เสริมสร้างความเชื่อมโยงและ supply chain ในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่โรงแรมอิมพีเรียลโตเกียวในช่วงเย็น นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการเดินทางเยือนญี่ปุ่นวันแรก  ว่าได้พบกับบริษัท มิตชูบิชิกรุ๊ป ที่เป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่สุดของญี่ปุ่น ได้พูดคุยถึงการสำรวจและขุดเจาะแหล่งก๊าชธรรมชาติ ที่เขาสนใจและชำนาญ และทั้งวันก็ได้พูดคุยกับ 7 บริษัทยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น คือ บริษัทฮอนด้า ที่เขาลงทุนในไทยเยอะมาก และมีแผนลงทุนในไทย 5 หมื่นล้าน ในอีก 5 ปี อีกบริษัทคือนิสสัน ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ เขาเข้ามาในรถอีวีก่อนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาคือ นิสสัน ลีฟ ก็ยืนยันว่าจะทำต่อเนื่องในเมืองไทย ต่อมาคือมิตซูบิชิ ที่ทำรถกระบะเขาก็จะพัฒนารถกระบะอีวี ยังได้คุยกับบริษัทซูซูกิ แม้เป็นบริษัทเล็กแต่อยู่ในไทยมานาน เขาทำอีโคคาร์คือซูซูกิสวิฟต์ เขาขอให้เราส่งเสริมต่อ จากการได้หารือกับมาสด้า ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งรถไปขายประเทศต่างๆ เขามั่นใจว่ารถเอสยูวีของเรามีสมรรถนะที่ดีส่งขายยังต่างประเทศได้ บริษัทเหล่านี้พยายามลงทุนเพิ่มในไทย แรงงานของไทยพึ่งบริษัทเหล่านี้เยอะ และบริษัทสุดท้ายที่เจอคือโตโยต้า  คือบริษัทที่ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่เมืองไทยมา 60 ปีแล้ว ประธานของบริษัทมาพูดคุยเอง และเขาก็เคยอยู่เมืองไทยมาก่อน ถือว่าเข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ