‘เดียร์’ไม่ร่วมกก.บห./รทสช.ระส่ำ

“เศรษฐา” ปัดเสริมทัพรัฐบาล ย้ำอีกรอบ 314 เสียง ช่วยกันทำงานเต็มที่ ปัดก้าวก่ายหลังสภาล่ม เชื่อ สส.ทุกคนรู้หน้าที่ดี สุดท้ายสภาตีตกร่างข้อบังคับก้าวไกล "พีระพันธุ์" ยัน รทสช. "อนุรักษนิยมก้าวหน้า" งง "รองโฆษก" ไขก๊อกทิ้งบอมบ์พรรค "มาดามเดียร์"  ประกาศไม่สังฆกรรม "กก.บห.ชุดใหม่"  ยังไม่ผลีผลามลาออก ขอรอดูทิศทางในอนาคต

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม เวลา 08.20 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงเรื่องการเมืองว่ามีความเป็นห่วงอะไรหรือไม่ ว่า “ไม่มีครับ 314 เสียง” 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังเหนียวแน่นดี ไม่มีอะไรใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มี เราพูดจากันด้วยดี ทุกๆ ท่านช่วยทำงานกันอย่างเต็มที่ ทุกท่านทราบดีว่าความคาดหวังของพี่น้องประชาชนคืออะไร เรามีปัญหาเยอะในตอนนี้ ไม่มีเวลามาเล่นการเมืองหรอก

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องเสริมทัพเพิ่มหรือไม่ นายกฯ กล่าวย้ำว่า “314 เสียงครับ”

ส่วนกรณีสภาล่มตั้งแต่วันแรก ได้กำชับ สส.ในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไรนั้น นายเศรษฐากล่าวว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทย เข้าใจว่าทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองดี และคงไม่ไปก้าวก่าย เพราะตนอยู่ฝ่ายบริหาร

ที่รัฐสภา น.ส.วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีข้อความไลน์ที่ถูกเผยแพร่ ไม่โหวตงดเว้นคุณสมบัติชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า รายชื่อผู้ส่งมีอยู่ชัดเจน มีบางสื่อเปิดเผยแล้วว่า คนส่งคือใคร ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีเจตนารมณ์ตั้งใจสกัดกั้น และกีดกันการแข่งขัน เป็นที่ประจักษ์ว่ามีความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนตัวไม่ประสงค์ที่จะร้องเรียน เพราะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ข้อยุติแล้ว

 “เดียร์ไม่ศรัทธาในวิถีการเมืองแบบนั้น โดยเฉพาะการมีแชตไลน์หลุด หรือจงใจกีดกันสกัดกั้น แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม และข้อกังขาในความสง่างามของผู้บริหารชุดใหม่ จึงประกาศขอยุติบทบาท หรือกิจกรรมทางการเมืองที่จะขับเคลื่อนภายใต้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่" น.ส.วทันยากล่าว และว่า สามารถทำงานได้หลายบทบาทโดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาตำแหน่งหรืออำนาจ อยู่ที่ความตั้งมั่นในการทำงาน แม้ไม่ได้เป็น สส. แต่เราเดินหน้าผลักดันแก้กฎหมายฉบับต่างๆ ได้

น.ส.วทันยายังกล่าวถึงเหตุผลที่ยังจะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อ ในขณะที่สมาชิกที่อยู่มาหลายสิบปีเริ่มทยอยลาออกว่า ขอรอดูทิศทางของพรรคให้ชัดเจน ให้ความเป็นธรรมกับคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แม้ว่าจะไม่ศรัทธากับแนวทางของคณะกรรมการบริหารพรรค แต่จะไม่ผลีผลาม เพราะการทำงานการเมืองต้องอดทนและไม่ย่อท้อ ขอเดินหน้าทำงานต่อโดยไม่ข้องเกี่ยวกับพรรค

เมื่อถามว่า หากในอนาคตคณะกรรมการบริหารพรรคชุดนี้นำพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาล จะเป็นจุดทบทวนสำคัญหรือไม่ น.ส.วทันยากล่าวว่า สมาชิกพรรคทุกคนและประชาชนที่ให้การสนับสนุน เชื่อมั่นในการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจน ไม่ได้ทำการเมือง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจ แต่หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ถึงวันนั้นพวกเราคงได้รับคำตอบชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นเช่นนั้นหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.วทันยาได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมรสเท่าเทียม ในนามส่วนตัว ต่อนายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายสรรเพชรระบุว่า จะนำร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ทางด้านนายชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และอดีตผู้สมัคร สส.เชียงใหม่ เขต 1 โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งลาออกจากสมาชิกพรรคตั้งแต่ 14 ธ.ค.2566 โดยระบุตอนหนึ่งว่า ประชาชนไม่ต้องการการเมืองเดิมๆ นักการเมืองรุ่นเก่าเดิมๆ ชุดความคิดเดิมๆ อีกต่อไป ผมอยู่สังกัดพรรค รทสช.มา 10 เดือน บินไปเข้าประชุมพรรคจากเชียงใหม่ทุกสัปดาห์ ทุ่มเทพลังกายและพลังใจทํางานกับพรรคมาตลอด ผมจึงกล้าพูดได้ว่า รทสช.ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้ ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนระบบภายใน และยังทํางานเเบบเดิม ผู้บริหารพรรคในอุดมคติของผมต้องกล้าชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เข้าถึงง่าย ฟังความคิดเห็นของสมาชิกพรรค ใจถึง ทํางานเชิงรุก ทำงานมีระบบ และกล้าเปลี่ยนแปลง หากฝ่ายอนุรักษ์ไม่ปฏิรูปตัวเอง ฝ่ายอนุรักษ์จะไม่มีพื้นที่เหลือในอนาคต ส่วนสถาบันกษัตริย์ยังคงต้องมีอยู่ จุดยืนข้อนี้ของผมชัดเจน เเต่ฝ่ายอนุรักษ์ต้องมีมากกว่า ‘ปกป้องสถาบัน’ และ ‘ห้ามเเตะ 112’ ไปวันๆ"

ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีที่นายชินภัสร์ลาออกว่า ยังไม่เห็นหนังสือลาออก แต่รู้สึกแปลกใจ เพราะสิ่งที่นายชินภัสร์สื่อสารคือสิ่งที่ตนพูดในห้องประชุมพรรควันที่ 12 ธ.ค.ว่าเวลานี้ประชาชนเบื่อการเมืองแบบนี้ การเมืองที่มีแต่การเมือง โดย รทสช.จะต้องไม่เป็นพรรคการเมืองเพื่อการเมือง ต้องเป็นพรรคการเมืองที่ทำงานเพื่อประชาชน ซึ่ง รทสช.เป็นพรรคอนุรักษนิยมก้าวหน้า อะไรที่จำเป็นต้องปรับ แต่อะไรที่เป็นเสาหลักของประเทศ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราจะต้องเก็บในสิ่งที่ดี รักษาสิ่งที่เป็นแบบไทย ส่วนอะไรต้องปรับเปลี่ยนให้ประเทศเดินหน้า สังคมเดินหน้า ประชาชนอยู่แล้วมีความสุข ต้องเปลี่ยนหมด กฎเกณฑ์กติกาใช้ไม่ได้ต้องรื้อทิ้ง ทั้งนี้ นายชินภัสร์เองนั่งฟังในห้องประชุม โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาตนได้เจอกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค ซึ่งได้คุยกับนายชินภัสร์ก็ไม่ได้มีอะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกของการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ปรากฏว่ามีปัญหาสภาล่ม ในระหว่างการลงมติว่าจะรับหลักการของร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลเสนอ ซึ่งเป็นร่างแก้ไขเพื่อปรับปรุงการทำงานของสภาฯ ที่สำคัญ เช่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเปิดเผยรายงานหรือรายละเอียดของการประชุม, ให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 5,000 คน เข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาฯ พิจารณาได้, กำหนดสัดส่วนประธานกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบต้องสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการอภิปราย สส.พรรครัฐบาลไม่เห็นด้วย ทางพรรคก้าวไกลจึงเสนอญัตติขอให้ส่งร่างข้อบังคับดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาฯ พิจารณาแทนการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ แต่ปรากฏว่าญัตติดังกล่าวโหวตแพ้ และเมื่อเข้าสู่การลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ พบว่า มีผู้แสดงตน 332 คน ส่วนการลงมติ มีผู้ลงมติเพียง 228 คน เห็นชอบ 1 เสียง ไม่เห็นชอบ 223 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง ซึ่งถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม สั่งปิดการประชุม

โดยเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 ธ.ค. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาวาระที่ค้างจากการประชุมสภาฯ วันที่ 13 ธ.ค. โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธาน ทั้งนี้ มีผู้ลงชื่อเป็นองค์ประชุมจำนวน 364 คน และลงมติเสียงไม่รับหลักการ 233 เสียง รับหลักการ 158 เสียง ถือว่าร่างข้อบังคับดังกล่าวต้องตกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาร่างข้อบังคับดังกล่าวถือว่าเป็นร่างกฎหมายของสภาฯ ที่เข้าสู่วาระการพิจารณาสภาฯ ชุดที่ 26 เป็นฉบับแรก และต้องตกไปด้วยมติข้างมากของที่ประชุมสภาฯ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี