นายกฯบินญี่ปุ่นถกบิ๊กธุรกิจ หวังไทยเป็นฮับบริษัทชั้นนำ

"เศรษฐา" นำทีมบินไปโตเกียวประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น   ถกบิ๊กธุรกิจค่ายรถยนต์ ก่อนพบหารือนายกฯ ญี่ปุ่น และเข้าเฝ้าฯ “สมเด็จพระจักรพรรดิ-สมเด็จพระจักรพรรดินี” ด้าน "เลขาฯ บีโอไอ" ตั้งเป้าไทยเป็นฮับสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคของบริษัทชั้นนำโลก  จับเข่า 40 นักธุรกิจญี่ปุ่น ชวนลงทุนโปรเจกต์แลนด์บริดจ์

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคาดหวังในการปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้ว่า   เป็นการเยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก มีเรื่องที่ต้องพูดคุยกันเยอะ และจะมีการพบปะกับฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา   เจ้าชายอับดุล มาทีน มกุฎราชกุมารลำดับที่ 4 ของราชวงศ์บรูไน ที่จะอภิเษกสมรสในเดือนหน้านี้ การเดินทางเป็นการไปล่วงหน้าก่อน 2 วัน ไปเจรจาเรื่องการค้าญี่ปุ่น ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับยานยนต์ที่จะมีการพูดคุยกัน จะเจอรายใหญ่หลายราย เช่น พานาโซนิค และมีอีกหลายนัด และพยายามให้บริษัทยานยนต์ของญี่ปุ่นมาพบมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายกฯ  ระบุว่าการเดินทางไปต่างประเทศจะชักชวนนักธุรกิจไทยไปด้วย เพื่อพูดคุยถึงการลงทุนที่จะดึงต่างประเทศเข้ามาในไทย รอบนี้มีนักธุรกิจกลุ่มไหนบ้างที่ไปด้วย นายเศรษฐาตอบว่า คราวนี้มี แต่เขาเดินทางไปเอง นายพรวุฒิ สารสิน ประธานบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะไปช่วยเจรจาให้ และนายกลินท์ สารสิน ประธานบริษัท โตโยต้าฯ ที่จะเดินทางไปด้วย และยังมีอีกหลายท่านที่จะไปช่วยเจรจาเพื่อนำผลประโยชน์กลับมาสู่ประเทศ

เมื่อถามว่า จะทำให้เกิดความมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจและมีแสงสว่างมากขึ้นใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า อย่างไรแสงสว่างก็มีอยู่แล้ว แต่เรื่องความหนักใจ การแบกความหวังเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน 68 ล้านคน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำต่อไป คงจะไม่เพียงพอ ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ  

ต่อมา เวลา 17.10 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง) นายเศรษฐาพร้อมคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (ฮานาดะ) โดยมีนายโคมูระ มาซาฮิโร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น, นางปรางทิพย์ กาญจนหัตถกิจ อุปทูตรักษาการชั่วคราวสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ร่วมให้การต้อนรับด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของนายเศรษฐา ซึ่งเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนญี่ปุ่นสมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียนญี่ปุ่นของนายเศรษฐา ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีรัฐมนตรีร่วมเดินทางไปด้วยประกอบด้วย นายนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นต้น

โดยนายเศรษฐาพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น พร้อมกล่าวปาฐกถาในงาน Thailand-Japan Investment Forum จากนั้นนายกฯ พบหารือบริษัทเอกชนรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น 8 บริษัท อาทิ บริษัท Toyota Motor Corporation, บริษัท Honda Motor  จำกัด, บริษัท Suzuki, บริษัท Nissan, บริษัท Mitsubishi, บริษัท Mitsui, บริษัท Isuzu และบริษัท Kubota เป็นต้น

ขณะที่วันที่ 16 ธ.ค. นายกฯ พบหารือกับประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ก่อนที่ช่วงค่ำ  นายกฯ เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและภริยาเป็นเจ้าภาพ ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค. นายกฯ พบหารือทวิภาคีกับนายกฯ ญี่ปุ่น จากนั้นในช่วงเย็น นายกฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50  ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (The Commemorative Summit for

the 50th Year of ASEAN-Japan Friendship and Cooperation) โดยนายกฯ จะกล่าวถ้อยแถลงและร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม และจะร่วมประชุมหารือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ในวันที่ 18 ธ.ค.

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันที่ 18 ธ.ค. นายกฯ มีกำหนดการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ที่พระราชวังอิมพีเรียล ก่อนเดินทางกลับช่วงดึกคืนวันที่ 18 ธ.ค.นี้

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นของนายเศรษฐา  ว่า การไปญี่ปุ่นครั้งนี้ บีโอไอเตรียม 3 ภารกิจหลักให้นายกฯ คือการร่วมสัมมนากับภาคการค้าการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เป็นงานใหญ่ที่สุดหลังมีโควิด-19 มีนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 500 คน นายเศรษฐา จะกล่าวถึงทิศทางและมาตรการด้านเศรษฐกิจ จะสื่อสารให้เห็นถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย ว่ามุ่งเน้นใน 5 สาขาหลัก คืออุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ อุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของบริษัทต่างๆ  เพราะญี่ปุ่นลงทุนในไทยมานาน 40-50 ปี มีฐานการผลิตในประเทศไทย

แต่สิ่งที่เราอยากเชิญชวนให้มาลงทุนมากกว่าการเป็นฐานการผลิตนั้น   คือการวิจัยและพัฒนา และการตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย โดยช่วง 4 ปีจากนี้ตั้งเป้าว่าจะมีบริษัทชั้นนำของโลกกว่า 100 บริษัทให้เขามาตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคในไทย เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูงไม่ต่ำกว่า 10,000 อัตรา และต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่างๆ ต่อไป ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็จะพูดเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์และรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน

นายนฤตม์กล่าวต่อว่า นายกฯ จะพบปะกับ 7 บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ส่วนนี้จะพูดคุยถึงแผนการลงทุนและสื่อสารมาตรการในการสนับสนุนของรัฐบาลไทย เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งเขาอยากให้เราสนับสนุนการทำรถยนต์อีวี รถไฮบริด และอีโคคาร์ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมาในอนาคต ทั้งเรื่องพลังงานสะอาด และการประหยัดพลังงาน การใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ พร้อมกันนี้ยังจะพบกับภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เช่น พานาโซนิค ที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีและแบตเตอรี่ระดับโลก รวมถึงคูโบต้า ผู้ผลิตเครื่องมือการเกษตรรายใหญ่ในประเทศไทย และบริษัท มิตซุย ที่มีความสนใจเรื่องของพลังงานและเคมี ซึ่งการพบบริษัทพานาโซนิค ที่ลงทุนในไทยมายาวนาน และปัจจุบันมีโครงงานในไทยกว่า 10 แห่งนั้น เขาเพิ่มการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี และระบบกักเก็บพลังงานรายใหญ่ของโลก เราก็อยากเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีกระแสข่าวพานาโซนิคจะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยไปประเทศอื่น นายนฤตม์ กล่าวว่า เป็นเพียงการปิดโรงงานลักษณะเดียวกันขนาดเล็กๆ เพื่อรวมเป็นโรงงานใหญ่ ในประเทศไทยพานาโซนิคมีทั้งหมด 11 โรงงาน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 4 โรงงาน ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุปกรณ์อัตโนมัติในรถยนต์ และเทคโนโลยีที่ซับซ้อนในรถยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้ซับซ้อนก็ไปรวมกับประเทศอื่น ทั้งนี้ 4 โรงงานมียอดถึง 80% ของยอดขายทั้งหมด ขณะที่ส่วนที่ 3 นายเศรษฐา นายสุริยะ และบีโอไอ จะนำเสนอโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐาภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ต่อบริษัทเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ลงชื่อเข้าร่วมแล้วกว่า 40 คน อาทิ บริษัทที่เกี่ยวกับการสร้างท่าเรือ การเดินเรือ การประกันภัย การธนาคาร เป็นต้น โดยจะร่วมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ การพูดคุยกับบรรดาบริษัทเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการร่างทีโออาร์ในอนาคตด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ