โทษคุกไร้ความหมาย ฉะระเบียบใหม่ราชทัณฑ์/นายกฯหนุนนิรโทษ

"นายกฯ" ชู "นิรโทษกรรม-ปรองดอง" เรื่องสำคัญ ทำประเทศปลอดภัยมีเสถียรภาพ "กมธ.ตำรวจ" นัดกรมราชทัณฑ์-รพ.ตร. แจงเหตุ น.ช.ทักษิณรักษาตัวใน รพ.ใกล้ครบ 120 วัน   "อดีตผู้พิพากษา" ชี้ระเบียบราชทัณฑ์คุมขังนอกเรือนจำ ทำคำพิพากษาศาลสั่งลงโทษจำคุกไม่มีความหมาย "ทนายแจม" ข้องใจสัดส่วนคณะพิจารณาคุมขังมี ขรก.ถึง 80% ถามจะตรวจสอบถ่วงดุลอย่างไร  "คปท." บุก รพ.ตำรวจ จี้หมอยึดจรรยาบรรณอย่าเอื้อแม้ว

ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล วันที่ 13 ธ.ค. เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการนิรโทษกรรมระหว่างไปร่วมงานเสวนาหัวข้อ “คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ” ว่า การนิรโทษกรรม การปรองดองระหว่างประชาชนทั้งประเทศ ตนเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทำให้ถ้าเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลชุดนี้ ก็จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัยและมีเสถียรภาพ

"รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มี สส. ฉะนั้นเรื่องการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของรัฐสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ" นายเศรษฐากล่าว

ถามว่า เคยมีความพยายามนิรโทษกรรมมาแล้วหนึ่งครั้ง ความแตกต่างระหว่างครั้งนั้นกับครั้งนี้เป็นอย่างไร นายเศรษฐากล่าวว่า แต่ละกรรมก็ต่างวาระกันไป เรามีการเรียนรู้ว่าเรื่องอะไรที่สังคมรับได้และรับไม่ได้ ฉะนั้นตนเชื่อว่าด้านรัฐสภา ฝ่ายนิติบัญญัติเองทราบดีอยู่ว่าทุกท่านมาจากการเลือกตั้ง และทุกคนฟังเสียงประชาชน ฉะนั้นตรงนี้ตนเชื่อว่าทุกคนมีการเรียนรู้มาแล้ว

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ภท.มีจุดยืนชัดเจนว่าเราไม่แตะ 112 ซึ่งเรารอว่าจะมีการหารือในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่จุดยืนพรรค ภท.เหมือนเดิม คือเราไม่มีปัญหากับกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบัน 

ถามว่าสำหรับคดีความต่างๆ  สามารถพูดคุยกันได้ใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ขอหารือกันก่อนแก้ 112 หรือไม่ ถ้าแก้ก็ไม่ได้ เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือไม่ที่เสนอตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษา นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่ได้คิดเรื่องนี้

ส่วนนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงจุดยืนของพรรคเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า รทสช.มีจุดยืนชัดเจนอยู่แล้วไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรม แต่พรรคเห็นด้วยหากจะให้ประชาชนที่มีเจตนาบริสุทธิ์ในการใช้สิทธิ์เคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-2565 ไม่ต้องรับผิด โดยยกเว้น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ผู้ที่มีความผิดในมาตรา 112, ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกลุ่มที่กระทำผิดต่อชีวิตผู้อื่นจนทำให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งขณะนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช.เป็นผู้ร่างกฎหมายดังกล่าว ใช้ชื่อว่าพ.ร.บ.สร้างสรรค์สังคมสันติสุข เพื่อนำเสนอประกบไปด้วย โดยเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดได้ดำเนินการภายใต้จุดยืนหลักของพรรคคือ การสร้างความสามัคคีปรองดอง

 “เรายืนยันจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมความผิดกับผู้ที่กระทำผิดในมาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน, ผู้กระทำผิดในข้อหาทุจริตและประพฤติมิชอบ  และผู้ที่กระทำผิดที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่เราต้องการให้ยกเว้นโทษกับประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อสร้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสร้างสังคมที่สันติสุข” รองโฆากพรรค รทสช.กล่าว

ที่รัฐสภา นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมคณะกมธ.การตำรวจในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ว่า ที่ประชุมจะพิจารณาเรื่องร้องเรียนตรวจสอบการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาลและพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยได้เชิญผู้แทนจากกรมราชทัณฑ์ รพ.ตำรวจ เข้าชี้แจง

นายชัยชนะกล่าวว่า กมธ.จะสอบถามระเบียบปฏิบัติต่อนักโทษ ว่ากรมราชทัณฑ์และ รพ.ตำรวจมีระเบียบอย่างไร รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจริงหรือไม่  และนักโทษได้รับการปฏิบัติจาก รพ.อย่างไร เหนือจากนักโทษคนอื่นหรือไม่ หรือมีความเสมอภาคกับนักโทษคนอื่นหรือไม่   และนักโทษจะอยู่รักษาตัวที่ รพ.อีกนานเท่าใด สำหรับระเบียบกรมราชทัณฑ์เดิมให้ 90 วัน และเมื่อครบ 120 วันแล้วการปฏิบัติกับนายทักษิณเป็นอย่างไร

"วันนี้ต้องยอมรับภาคประชาชนเคลื่อนไหวอยู่ทุกสัปดาห์ แต่ผมในฐานะประธาน กมธ.ตำรวจ ก็ต้องสอบถามเรื่องนี้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เนื่องจากมีผู้ร้อง โดยไม่มีธงเอาผิดผู้ใด" นายชัยชนะกล่าว

ชี้โทษจำคุกไร้ความหมาย

ถามถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาล่าสุดเป็นการเอื้อประโยชน์นายทักษิณหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ต้องมองเป็นกลางว่าเรื่องนี้เอื้อให้นายทักษิณไม่ได้  เพราะกฎระเบียบออกเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2563 จากนั้นมีการแก้ไขระเบียบลดโทษ 1 ใน 3 เมื่อปี 64 แต่ระเบียบประกาศใช้ในปี 66 ดังนั้นหากมองว่าการทำเรื่องนี้เพื่อเอื้อนักโทษคนใดคนหนึ่งเมื่อปี 63 ก็ไม่จริง เพราะไม่มีใครทราบว่านายทักษิณจะกลับมามอบตัวในปี 66

"การออกระเบียบดังกล่าวเป็นการมองถ้าใครเข้าไปในคุกแล้วกลับตัวได้เร็ว อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่คณะกรรมการดูแลก็สามารถออกมาติดคุกด้านนอกได้ ส่วนตัวคิดว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้บ้านพักอาศัยเป็นที่จำคุกด้านนอก เช่น นาย ก. เป็นบุคคลที่มีฐานะ แล้วให้ญาตินำเสนอบ้านพักอาศัยที่มีความพร้อมแล้วผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมราชทัณฑ์ นาย ก. ก็มาอาศัยอยู่บ้านหลังนี้ แต่หากนาย ข. มาขออยู่บ้านหลังนี้ด้วย แล้วนาย ข. จะได้รับการปฏิบัติตนเหมือนนาย ก. หรือไม่" นายชัยชนะกล่าว

ประธาน กมธ.การตำรวจเสนอว่า ควรใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่จำคุกด้านนอก เพื่อลดความแออัดในเรือนจำจะดีกว่า เพราะในค่ายทหารมีโรงนอนว่างอยู่จำนวนมาก ไม่ต้องปรับปรุงติดแอร์อะไรใหม่ เมื่อนำนักโทษมาอยู่ในค่ายทหารก็สามารถฝึกระเบียบแบบทหาร ซึ่งจะทำให้มีสุขภาพที่ดีได้ด้วย

นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ว่า ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบกำหนดให้กรมราชทัณฑ์มีอำนาจส่งตัวจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปคุมขังในสถานที่อื่นๆ นอกเรือนจำได้ เช่น บ้าน เป็นต้น คำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยแทนที่จำเลยจะถูกคุมขังในเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์สามารถส่งตัวไปคุมขังในบ้านก็ได้ ดังนั้นคำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยจึงไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป รวมทั้งบุคคลที่ช่วยกันทำงานนับสิบนับร้อยคนเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษก็ต้องเหนื่อยเปล่า โดยไม่มีผลใดๆ เลย

นายชูชาติได้ระบุขั้นตอนเมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นโดยสรุปคร่าวๆ คือ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจได้ตัวผู้กระทำความผิดมาแล้ว สอบปากรวบรวมพยานสั่งฟ้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนสอบสวนให้พนักงานอัยการ เมื่้ออัยการหากเห็นด้วยกับพนักงานสอบสวนก็ฟ้องคดีต่อศาล เมื่อคดีถึงศาลแล้ว ศาลชั้นต้น ต้องทำการสืบพยาน โจทก์ จำเลย ตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมด จึงมีคำพิพากษา เมื่อศาลชั้นมีคำพิพากษาแล้ว หากคดีไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาเสร็จก็ส่งสำนวนและคำพิพากษาคืนศาลชั้นต้นเพื่ออ่านให้คู่ความฟัง

ถ้าคู่ความยังไม่พอใจและคดีไม่ต้องห้ามฎีกา ก็มีสิทธิฎีกาต่อศาลฎีกาได้อีก  เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกาก็ต้องอ่านคำพยาน ตรวจพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ในสำนวนอย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง ปรึกษากันในองค์แล้วจึงเขียนคำพิพากษา ซึ่งในแต่ละคดีมีผู้พิพากษาที่มีส่วนในการพิจารณาพิพากษาคดีในแต่ละคดีรวม 13 ท่าน

อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีการะบุว่า เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว และออกหมายขังส่งตัวจำเลยไปให้เรือนจำคุมขังจำเลยไว้ตามคำพิพากษาของศาล ก่อนหน้านี้กรมราชทัณฑ์ใช้วิธีลดโทษให้จำเลยทุกปี โดยถ้าเป็นจำเลยที่ศาลลงโทษจำคุกในระยะยาวไม่มีจำเลยคนใดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำครบตามกำหนดเวลาที่ศาลมีคำพิพากษาเลย ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบกำหนดให้กรมราชทัณฑ์มีอำนาจส่งตัวจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปคุมขังในสถานที่อื่นๆ นอกเรือนจำได้ เช่น บ้าน เป็นต้น คำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยแทนที่จำเลยจะถูกคุมขังในเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์สามารถส่งตัวไปคุมขังในบ้านก็ได้

"ดังนั้นคำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยจึงไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป รวมทั้งบุคคลที่ช่วยกันทำงานนับสิบนับร้อยคนเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษก็ต้องเหนื่อยเปล่าโดยไม่มีผลใดๆ เลย" อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีการะบุ

จวกระเบียบคุกเอื้อทักษิณ

ด้าน น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือทนายแจม สส.กทม.พรรคก้าวไกล (ก.ก.)  กล่าวว่า ได้อ่านระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับนี้อย่างถี่ถ้วนทุกบรรทัด และกังวลใจอย่างยิ่งต่อวิธีการสรรหาคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขังว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่สัดส่วนคณะทำงานกว่าร้อยละ 80 นั้น เป็นข้าราชการ ขณะที่สัดส่วนจากบุคคลภายนอกก็ยังเป็นบุคคลที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์แต่งตั้ง  โดยมีรองอธิบดีนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานคณะทำงาน

น.ส.ศศินันท์กล่าวว่า ทราบดีถึงปัญหานักโทษล้นเรือนจำ และเห็นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไข แต่สิ่งที่สังคมตั้งคำถามคงไม่พ้นเรื่องการจะบังคับใช้อย่างไรให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะนักโทษคดีการเมือง นักการเมือง นักกิจกรรม ผู้มีอำนาจ และคนรวยมีเส้นสาย ก็คงไม่พ้นการถูกจับตามอง

 “ต้องยอมรับว่าความยุติธรรมในประเทศเรานั้นล่าช้า แต่กับบางคนมันก็มาถึงก่อนเสมอ นั่นเป็นข้อบ่งชี้ว่าในสายตาของประชาชน กระบวนการยุติธรรมในประเทศเรายังคงอ่อนแอ จึงยิ่งมีความกังวลต่อสัดส่วนของคณะทำงาน เมื่อกรมราชทัณฑ์เองก็มีอำนาจในการชี้ขาดตามระเบียบคุ้มครองอยู่แล้ว การที่ให้คณะทำงานเกือบทั้งหมดเป็นสัดส่วนข้าราชการจะทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างไร หากเกิดกรณีที่ไม่เป็นธรรม” น.ส.ศศินันท์กล่าว

ที่โรงพยาบาลตำรวจ นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำพร้อมด้วยกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ทำกิจกรรมสัปดาห์ตามหาความยุติธรรมหายไป โดยเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ กรณีเมื่อคณะแพทย์รักษานายทักษิณไม่ยอมหาย จึงให้รักษาจรรยาบรรณแพทย์ และขอให้รักษาความยุติธรรม เนื่องจากนายทักษิณเข้ามาพักรักษาอาการป่วยและผ่าตัดที่โรงพยาบาลตำรวจใกล้ครบ 120 วันแล้ว

นายพิชิตกล่าวว่า การรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจของนายทักษิณ เกิดคำถามในกระบวนการยุติธรรมว่า นายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ และป่วยหนักขนาดไหนที่ต้องนอนรักษาตัวเป็นเวลานานขนาดนี้ ประกอบกับที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าอาการของพ่ออยู่ระหว่างการพักฟื้น ดังนั้นทางกลุ่ม คปท. เห็นว่าหากอยู่ในอาการพักฟื้นก็สามารถนำกลับไปพักรักษาตัวที่ รพ.ราชทัณฑ์ได้ เพราะมีอุปกรณ์ในการรักษาค่อนข้างสมบูรณ์ และมีห้องพิเศษ (VIP) ห้องปลอดเชื้อ 5 ห้อง

"คณะแพทย์ รพ.ตำรวจต้องทำความเห็นให้กับกรมราชทัณฑ์ ควรจะยึดหลักจรรยาบรรณของแพทย์ในการให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา เพราะนายทักษิณพักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจนานมาก" นายพิชิตกล่าว

ถามถึงระเบียบราชทัณฑ์ใหม่ แกนนำ คปท.กล่าวว่า หากมองในทางการเมืองน่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณโดยตรง เพราะมีการร่างกฎกระทรวงนี้มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.ยุติธรรม แต่ทำไมมาประกาศในตอนนี้ ในวาระที่นายทักษิณจะครบ 120 วัน การประกาศแบบนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการเอื้อให้นายทักษิณ เพราะคนที่ได้ประโยชน์จากประกาศฉบับนี้โดยตรงคือนายทักษิณ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ตอนหนึ่งถึงระเบียบราชทัณฑ์ให้คุมขังนักโทษที่บ้านว่า หากไม่เกี่ยวข้องกับนักโทษทักษิณ ชั้น 14 แล้ว คงไม่มีใครขัดข้องกับระเบียบนี้ เพราะส่วนหนึ่งนักโทษล้นคุก และบางส่วนเป็นนักโทษที่ไร้สภาพแล้ว หากคุมขังต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ควรระบายออกจากเรือนจำกลับไปอยู่บ้าน เพราะไม่เป็นพิษเป็นภัยกับสังคมนอกเรือนจำได้อีก

"เมื่อคนชั้น 14 ได้ประโยชน์ด้วย จึงเป็นปัญหากับการออกระเบียบมาเพื่อช่วยเหลือกัน เมื่อประชาชนสงสัย ถามนายกฯ ก็โยนให้กระทรวงยุติธรรม  รัฐมนตรียังปัดแสดงความเห็น อีกอย่าง ถ้าคนชั้น 14 นอน รพ.ครบ 120 วัน จึงเข้าข่ายได้ประโยชน์ตามระเบียบนี้ ได้กลับไปคุมขังที่บ้านของตัวเอง ไม่ได้เข้าคุกเลยสักวัน ถ้าระเบียบราชทัณฑ์ออกมาเพื่อคนชั้น 14 อย่างจริงจังแล้ว ก็อยากดูคนในสังคมนี้จะรู้สึกอะไรหรือไม่ หากไม่รู้สึกอะไรเลย เราจะอยู่กันแบบนี้ใช่หรือไม่ ถ้านายกฯ ไม่เกี่ยว แล้วใครเกี่ยว รัฐมนตรียุติธรรมบอกเป็นหน้าที่ของราชทัณฑ์ ไม่รู้เรื่อง แต่ราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตัวเอง” นายจตุพรกล่าว

นอกจากนี้ นักโทษทักษิณ ชั้น 14 ได้โอกาสมามากมายแล้ว หนีคดีได้กลับไทยยังไม่ติดคุกสักวัน แล้วได้ลดโทษในคดีที่สิ้นสุดแล้วจากติดคุก 8 ปีเหลือ 1 ปี ยังไม่ติดคุกอีก รวมทั้งยังออกระเบียบมารองรับให้ไปคุมขังตัวเองที่บ้านได้ ระบบยุติธรรมไทยจะเอากันแบบนี้เลยหรือ

 “เมื่อเป็นนักโทษต้องรับโทษ และควรให้เกียรติผู้ต้องขังคนอื่นอย่างเท่าเทียมด้วยกัน เพราะมีนักโทษจำนวนมากที่คุมขังอยู่แออัดในเรือนจำ แต่กลับออกระเบียบมาเพื่อเอื้อนักโทษบางคนได้ประโยชน์ไม่ต้องติดคุก ได้กลับไปอยู่บ้าน โดยเอานักโทษคนอื่นมาอ้างว่าเป็นการทำดีเท่านั้น” นายจตุพรระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ