‘นิด’เช็กฝุ่นกทม. งัดมาตรการภาษี ขึงขังปราบมลพิษ

“เศรษฐา” ยันไม่ได้นิ่งนอนใจแก้ปัญหา PM 2.5 รุนแรง พร้อมเจรจาเพื่อนบ้านลดการเผาซากพืชผลการเกษตร ยื่นคำขาดเอกชนนำเข้าสินค้าที่มีการจำกัดซากต้องเสียภาษี ขณะที่ “ก้าวไกล” ยื่นร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษฯ ชี้ผู้ประกอบการต้องทำรายงานสิ่งแวดล้อมคลุมทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพว่า  ทราบดีอยู่และเป็นห่วงอยู่ ได้เรียกเจ้าหน้าที่มาสั่งการว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป แต่ปัญหานี้ก็เป็นทุกปี ซึ่งเราเองไม่ได้นิ่งนอนใจ น่าจะทราบว่าเราได้มีการคิกออฟไปแล้ว โดยเฉพาะการรณรงค์ไม่เผาป่า  เราทราบดีว่าค่าฝุ่นจะต้องขึ้นมาสูง ซึ่งเราไม่ได้ยอมแพ้หรือนิ่งนอนใจ จะพยายามที่จะจัดการต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการคิกออฟไปแล้วในพื้นที่ต่างจังหวัดอย่าง จ.เชียงใหม่ แต่ที่ กทม.มีความแตกต่างกัน จะมีแนวทางหรือเรียกหน่วยงานมาสั่งการเรื่องนี้อย่างไร นายเศรษฐากล่าวว่า จริงๆ เกิดจากการเผาด้วย ภาคกลางก็มีการเผาซากของพืชผลผลิตต่างๆ เหมือนกัน ตอนนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปดูแลอยู่ด้วย

  เมื่อถามว่า นายกฯ เคยระบุว่าจะให้ทางกองทัพเข้ามาช่วยเหลือ ตอนนี้ทางกองทัพได้เข้ามาดำเนินการอย่างไรบ้าง  นายเศรษฐากล่าวว่า กองทัพช่วยเหลือตลอด ทางภาคเหนือตนได้คุยกับแม่ทัพภาคที่ 3 และทางผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อให้ช่วยดูแลเฝ้าระวังเรื่องการเผาป่า

ส่วนได้รับรายงานเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือประสานเพื่อให้มีการลดการเผาหรือไม่นั้น นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ทั้งเมียนมาและ สปป.ลาวก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเราก็พูดมาทุกปี ซ้ำแล้วซ้ำอีก เจอแล้วเจออีก แต่ทาง สปป.ลาวเราคุยกันดีมาตลอดเวลา ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวเฉพาะ สปป.ลาวอย่างเดียว ยังมีภาคเอกชนไปจ้างให้มีการปลูกพืชผลในที่นั้นด้วยเช่นกัน จึงมีการพูดว่าถ้าอย่างนั้นถ้าจะนำพืชผลเข้ามาขายในประเทศไทย ถ้ามีการเผาที่เป็นซากอยู่ที่ สปป.ลาวก็ต้องเสียภาษี เพราะฉะนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการตรงนี้ให้ได้ และต้องพูดคุย ถือเป็นเรื่องที่รุนแรงพอสมควร ส่วนที่เมียนมาต้องให้ฝ่ายทหารเข้าไปพูดคุยด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเขาเผาป่า แต่สร้างปัญหาในบ้านเรา

เมื่อถามถึงมาตรการภาษีที่จะเก็บจากผู้ประกอบการ นายเศรษฐากล่าวว่า  สมมติว่ามีการไปปลูกข้าวโพดที่ สปป.ลาว และมีการนำกลับเข้ามา แล้วถ้าเราพิสูจน์ได้ว่ามีการเผา ก็จะมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มกับผู้ประกอบการ และนำเงินดังกล่าวมาช่วยในการหยุดไฟป่าหรือการบำบัดซากพืชผลการเกษตรไปพัฒนาทำอย่างอื่นได้ เช่น เรื่องของการขนส่ง และเชื่อว่าทุกคนจะขานรับในข้อเสนอดังกล่าว เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ทั้งเจ้าของกิจการ ลูกหลาน ต่างได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น เชื่อว่าทุกคนพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้กันอยู่

ต่อมานายกฯ พร้อมด้วย น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ได้เดินลงพื้นที่สังเกตการณ์ปริมาณฝุ่นละอองที่บริเวณแยกราชประสงค์ ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจที่โรงแรมโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล นายเศรษฐากล่าวถึงปัญหาในพื้นที่ กทม. จะแก้ไขปัญหาควันดำจากรถยนต์ได้อย่างไร เนื่องจากหลายพื้นที่ของ กทม. มีสถานการณ์ PM 2.5 เข้าขั้นวิกฤต ว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่เราต้องดูแล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกำกับดูแล  โดยเฉพาะการตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์

เมื่อถามย้ำว่า บทลงโทษในปัจจุบันอาจจะเบาไป ทำให้ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย นายเศรษฐากล่าวว่า ความจริงไม่ใช่ปัญหาเรื่องของควันดำหรือควันขาวอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการตรวจสภาพเครื่องยนต์รถยนต์ต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนถ่ายมาเป็นรถอีวีถือเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทุกที่ ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องของการเผาป่า เผาอ้อย เผาตอ ซังข้าวโพด ต้องดูแลทั้งหมด

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลกว่า 3 เดือน ได้พยายามวางแผนรับมือสถานการณ์ฝุ่น ในระยะสั้น กลาง ยาว ให้ครบถ้วนที่สุด ทั้งเพิ่มมาตรการทางภาษีสำหรับผู้ที่ก่อมลพิษ การเชิญชวนให้เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า และรถที่ใช้เครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5 โดยสิ่งเหล่านี้จะสร้างความตระหนักให้กับภาคสังคม ภาคเกษตรกร เอกชน ร่วมกันแก้ปัญหาให้ยั่งยืน

“นายกฯ มีความร้อนใจเรื่องนี้ เพราะรู้ว่าภาวะฝุ่น PM 2.5 จะรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี จนถึงช่วงต้นปี 2567 โดยย้ำว่ารัฐบาลจะทำทุกทางเพื่อให้ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) สูง และเป็นปีสุดท้ายที่ประชาชนจะเจอปัญหาฝุ่น" นายจักรพลระบุ

นายจักรพลกล่าวว่า นายกฯ ยังได้คุยกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถึงค่าฝุ่น PM 2.5 ที่สูงขึ้น เกิดจากสาเหตุการเผาอ้อยในพื้นที่ปริมณฑล และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหา ทั้งนี้ วันที่ 14 ธ.ค.นี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกฯ จะลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ผลักดันต้นแบบจากการเผา เป็นนวัตกรรมการเกษตรอย่างอื่นแทน โดยรัฐบาลมีมาตรการที่จะให้เงินทุนอุดหนุนกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ใช้วิธีการอื่นแทนการเผา ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติโดยพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดจะพยายามขับเคลื่อนการออกร่าง พ.ร.บ.กฎหมายสะอาดเข้าสภา

ด้าน น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เหตุที่ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นมากในขณะนี้ เกิดจากความกดอากาศต่ำ และสภาพอากาศนิ่ง ส่งผลให้ฝุ่นจากแหล่งกำเนิดไม่สามารถระบายได้ จนถูกกดทับอยู่ในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะวันที่ 14-15 ธ.ค. จะมีค่าฝุ่นหนาแน่นเป็นพิเศษ แต่จากการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นช่วงวันที่ 17 ธ.ค.นี้ เพราะจะมีลมพัดแรงขึ้น ช่วยให้อากาศระบายฝุ่นที่สะสมและพัดออกจากพื้นที่

“ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.…. นั้น คณะรัฐมนตรีได้มติให้ส่งร่างดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยเนื้อหาสาระที่สำคัญก็คือ การแก้ปัญหาเชิงรุก ครอบคลุมทุกมิติ เป็นกฎหมายใหม่ที่มีความเฉพาะ ทำให้สามารถบริหารจัดการอากาศสะอาดได้อย่างแท้จริง ป้องกันปัญหาด้านอากาศที่จะเกิดขึ้น และแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศที่มีอยู่ให้ลดลงและหมดไป” รองโฆษกรัฐบาลระบุ

ที่รัฐสภา นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พร้อมด้วย สส.ภาคเหนือพรรคก้าวไกล แถลงว่า วันนี้เราได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ให้สภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีการระบุชัดเจนว่าผู้ประกอบการต้องทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทั้งระบบและชัดเจน โดยจะสามารถตรวจสอบผู้ที่ทำผิดได้และสอดคล้องกับข้อตกลงของสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะมีการทำข้อตกลงกันปีหน้า และข้อตกลงดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่า หลังจากที่อียูได้ทำข้อตกลงแล้วภายใน 2 ปี ประเทศที่จะทำการค้าขายกับอียูต้องทำรายงานดังกล่าวด้วย ฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้นอกจากจะช่วยเรื่องฝุ่นพิษแล้ว ยังช่วยในการส่งออกให้กับประเทศฝั่งอียูด้วย

นายภัทรพงษ์กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการรายงานไปแล้ว จะมีระบบตรวจสอบย้อนกลับว่าการทำรายงานถูกต้องหรือไม่ และหากมีการพบกระทำความผิดผู้ใดที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดนต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา รวมถึงโทษทางสังคมด้วย โดยในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่าผู้ประกอบกิจการที่ถูกตัดสินว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษต้องมีการเปิดเผยชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อผู้ประกอบการให้สังคมรู้ และนอกจากนี้ยังมีการอำนาจกับท้องถิ่นในการประกาศเขตฝุ่นพิษอันตรายได้ ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุกจะเข้าไปดูเรื่องการบริหารจัดการของรัฐบาลด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ