“กก.ไตรภาคี” ตอก "เศรษฐา" สูตรคำนวณค่าจ้างชงเข้า ครม. “เพื่อทราบ” ไม่ใช่ “เพื่อพิจารณา” ระบุ “นายกฯ” ปากไว ซัดการเมืองแทรกแซง ขู่ระวัง “นักร้อง” เยอะ ขณะที่ "พิพัฒน์" ยันเข้า ครม.แน่ 12 ธ.ค. ถ้ามีปัญหาก็กลับไตรภาคี
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง สัดส่วนลูกจ้าง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เห็นว่าควรมีการทบทวนมติการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (คณะกรรมการไตรภาคี) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าอัตราที่ปรับเพิ่มนั้นต่ำเกินไปว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับจดหมาย หรืออีเมลเรียกให้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจากกระทรวงแรงงานแต่อย่างใด รวมถึงยังไม่มีการต่อสายมาคุยอะไร
อย่างไรก็ตาม กฎหมายระบุว่าถ้ากรรมการไตรภาคีมีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงานมีหน้าที่เสนอมตินั้นต่อ รมว.แรงงาน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อทราบ ย้ำว่า “เพื่อทราบ” ไม่ใช่ “เพื่อพิจารณาอนุมัติ” และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่กรรมการไตรภาคีประกาศว่าจะให้มีผลบังคับใช้เมื่อใด
เมื่อถามว่า มีคนส่วนหนึ่งมองว่าการที่นายกฯ ออกมาแสดงความเห็นดังกล่าว เป็นการเมืองแทรกแซงแต่กลับเห็นด้วย เพราะเห็นว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มน้อย ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน นายวีรสุข ตอบว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่ท่านนายกฯ พูดก็ไม่ผิด ท่านก็พูดถูกในฐานะที่ท่านเป็นฝ่ายบริหาร แต่ขอติงนิดนึงว่า การที่จะเอาประเทศเราไปเปรียบกับประเทศสิงคโปร์หรือเกาหลีใต้นั้น มันคนละเรื่องกัน เขามีดีมานด์ ซัพพลาย มีจีดีพีที่ดีกว่าประเทศไทยเยอะมาก
"อย่าลืมว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่มีกสิกรรม และไม่มีอุตสาหกรรมใหญ่ๆ อย่างไทย แต่เขาเป็นเมืองฮับ เก็บค่าต๋งจากการขนถ่ายสินค้าก็รวยแล้ว จะเอาไปเทียบกับเขาไม่ได้ ยิ่งเกาหลีใต้มีอุตสาหกรรมใหญ่โต เราเอาไปเทียบกับเขาไม่ได้ ตรงนี้นายกฯ พูดไวไปหน่อย"
เมื่อถามย้ำว่า หาก รมว.แรงงานเสนอมติเข้า ครม.ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้แล้วสุดท้ายถูกตีตก สามารถเป็นไปได้หรือไม่ นายวีรสุขกล่าวว่า คำถามจะไปถึงฝ่ายกฎหมายแล้วว่า เมื่อกรรมการไตรภาคีมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์แล้ว ผู้ที่ตีกลับมานั้นเขามีอำนาจในการทบทวนหรือไม่ หากมีอำนาจบอกหรือสั่งให้คณะกรรมการไตรภาคีทบทวนใหม่มันก็ได้ แต่ถ้ากฎหมายให้ถือมติกรรมการไตรภาคีเป็นเด็ดขาด มันก็จบ ดังนั้นอาจจะต้องถามทางฝ่ายกฎหมายกระทรวงแรงงาน แต่ถ้าด้านบริหารจะรอมชอมกันก็น่าจะทบทวนได้หรือไม่ นี่เป็นความเห็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย แต่หากกฎหมายไม่ให้อำนาจ ครม.สั่งทบทวน แต่ให้เป็นไปตามมติกรรมการไตรภาคี ก็ต้องเป็นไปตามนั้นหรือไม่ จะกลายเป็นฝ่ายการเมืองแทรกแซงไตรภาคีหรือไม่ อันนี้ต้องระวัง
"นักร้องมีเยอะ ฝ่ายการเมืองเขาทำตามอำนาจหน้าที่ของเขา บางทีอาจจะไม่ได้มองว่าถูกกฎหมายหรือไม่ แต่เขาจะเอาแบบนี้ หากเราไปทำตามที่ฝ่ายการเมืองสั่งมา หรือจะไปทำตามนโยบายฝ่ายการเมืองโดยไม่ดูกฎหมาย คนที่ทำผิดไม่ใช่เขานะ แต่เป็นเราต่างหาก ที่ไปทำตามคำสั่งที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ" นายวีรสุขกล่าว
ด้านนายอรรถยุทธ ลียะวณิช คณะกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่า ครม.มีอำนาจตามกฎหมายในการปัดตกมติคณะกรรมการไตรภาคีหรือไม่ หรือสามารถสั่งให้มีการทบทวนได้หรือไม่ เพราะตนเป็นแค่กรรมการไตรภาคีเท่านั้น ทราบเพียงว่ามติของคณะกรรมการไตรภาคีเสนอไปที่ ครม.เพื่อทราบเท่านั้น ส่วนตัวเป็นกรรมการไตรภาคีมา 20 กว่าปี ไม่เคยเห็นมีอะไรแบบนี้มาก่อน พอ รมว.แรงงานส่งเข้า ครม.ก็เพื่อทราบ และประกาศใช้ตามที่ระบุไว้ในมติทุกครั้ง แต่จากประเด็นที่มีการทักท้วงมานั้น ตอนนี้ไม่มีการนัดประชุมหรืออะไรกันแต่อย่างใด ซึ่งในการประชุมต้องมีรอบ มีการนัดหมายล่วงหน้า ถ้าจะนัดด่วนอะไรก็ต้องมีสาเหตุ แต่ตอนนี้กรรมการหลายคนก็ไม่อยู่ ส่วนตัวก็กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศเช่นกัน องค์ประชุมก็ไม่ครบ
เมื่อถามว่า หาก ครม.ให้มีการทบทวน แต่ที่สำคัญคือ กรรมการไตรภาคีไม่ครบองค์ประชุม การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่น่าจะทันเป็นของขวัญปีใหม่นี้หรือไม่ นายอรรถยุทธกล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำมีเครื่องมืออะไรในการคำนวณ แล้วเครื่องมือเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งเครื่องมือที่กรรมการไตรภาคีใช้คือ อัตราเงินเฟ้อ สภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน เครื่องมือเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันสั้น
ถามต่อว่า ขณะนี้กรรมการไตรภาคีกำลังตกเป็นจำเลยของสังคมจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำน้อยเกินไป ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจปัจจุบัน นายอรรถยุทธกล่าวว่า ไม่เป็นไร คนที่พูดเพราะเขาไม่รู้รายละเอียดว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งตนยืนยันว่าการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ กรรมการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ และเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานสำหรับการพิจารณามาตลอด และทุกๆ ปีก็ไม่เคยมีปัญหา ครั้งนี้ก็เป็นมติเอกฉันท์ การคำนวณเรามีสูตรหมด ซึ่งถอดมาจากมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541
“ครม.มีอำนาจสั่งทบทวนมติกรรมการไตรภาคีหรือไม่ อันนี้ผมไม่ทราบ ผมไม่ได้อยู่ฝ่ายการเมือง ไม่ทราบว่าเขามีระเบียบอย่างไรบ้าง แต่ผมทราบแต่ว่าการเมืองไม่ควรมาแทรกแซง ควรให้อิสระกับคณะกรรมการค่าจ้างในการพิจารณา กฎหมายมอบหมายให้เราแล้ว ก็น่าที่จะเคารพมติ” นายอรรถยุทธกล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการไตรภาคีมีมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ อัตราวันละ 2-16 บาท เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 แต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง แสดงความไม่พอใจหลังการปรับค่าแรงขั้นต่ำตัวเลขไม่ถึง 400 บาท มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวและให้สัมภาษณ์ในวันที่ 9 ธ.ค.ว่า ค่าแรงต้องแฟร์กว่านี้ ต้องขอหารือร่วมกันกับคณะกรรมการไตรภาคีถึงความเหมาะสม ให้กับภาคแรงงาน เราต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด ตนไม่ได้จะมาขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการเพิ่มรายได้ให้จากการเปิดตลาดที่มากขึ้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ได้ประโยชน์กันไปบ้างแล้ว ก็ขอความเห็นใจให้กับกำลังสำคัญอย่างแรงงานในภาคการผลิตด้วย เพราะสุดท้ายหากภาคการผลิตมีกำลังซื้อ เศรษฐกิจภาพรวมก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่า ตนในฐานะ รมว.แรงงานมีหน้าที่ในการนำมติในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่ได้รับพิจารณาเห็นชอบร่วมกันของทั้งสามฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งได้ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งตนยืนยันว่าจะนำมติดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เพื่อรับทราบ ส่วน ครม.จะมีความเห็นอย่างไรนั้นก็ต้องนำมาหารือกันภายในไตรภาคี
ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า หลังจากมีการประชุมไตรภาคีทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ว่าสถานการณ์ขณะนี้ควรจะค่อยๆ กระตุ้นเศรษฐกิจ ตัวเลขระดับนี้นับเป็นเรื่องที่ดี การปรับจะเปรียบเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง ฝั่งนายจ้างต้องไปปรับ การขึ้น 10 บาท ผู้ประกอบการจะต้องแบกภาระหลายเรื่อง เพราะหลังจากเกิดผลกระทบเรื่องโรคระบาดโควิด-19 เขาเพิ่งฟื้นมา ถ้ามีการขึ้นค่าแรงจะเป็นการกระทบในวงกว้าง ทั้ง SME ทั้งในสังคม ภาคเกษตร
ผศ.ดร.ศุภชัยกล่าวว่า ปกตินายจ้างทุกสิ้นปีก็มีการขึ้นเงินเดือนอยู่แล้ว ถ้าทางรัฐบอกว่าขึ้น 400 บาท อาจเกิดการจ้างแรงงานน้อยลง ลูกจ้างบางกลุ่มก็ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าจะมีการนำหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานคน การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เมื่อกลุ่มนายจ้างรู้ว่าค่าต้นทุนของคนมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลง นำเข้าเทคโนโลยี หรือจะมีการย้ายฐานลงทุนไปประเทศที่มีทางเลือกมากกว่า
“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในเวลานี้ไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจเท่าไหร่ วันนี้ถ้าเราขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภาคเอกชนก็ต้องไปปรับระดับพื้นฐาน ปรับค่า OT ปรับสวัสดิการหลายอย่าง ปรับจากฐานที่ต่ำสุดก็จะปรับใหม่ เกิดการปรับทั้งระบบ ราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้น ต้องพิจารณาหลายอย่างมาประกอบ” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์แรงงานกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง
แจง4คนไทยติดขั้นตอน เย้ยรบ.-ทหารมีไว้ทำไม
กต.แจงลูกเรือประมงไทย 4 คนยังติดขั้นตอนปล่อยตัวจากเมียนมา
ขู่แก้รธน.ก่อนโดนสอยยกสภา
"เพื่อไทย" แทงกั๊กร่วมสังฆกรรมแก้ รธน.กับพรรคส้ม
เอาแน่‘กาสิโน’ขึ้นบนดิน
“ทักษิณ” สวมบทนายกฯ ตัวจริง ลุยหาเสียง อบจ.เชียงราย 3 แห่งรวด
ไม่กล้าเขี่ยพีระพันธ์ แม้วเกทับไฟฟ้าเหลือ3.70 จะทุบทุนผูกขาดทุกชนิด!
"พ่อนายกฯ" โชว์เหนือ จะทุบค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 ต่อหน่วย เ
‘อ้วน’ ยันปล่อย 4 คนไทยเร็วๆนี้
ครบรอบวันชาติเมียนมา 4 ลูกเรือประมงไทยรอเก้อ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่อภัยโทษ 151 คนไทยถูกหลอกทำงานคอลเซ็นเตอร์