ดันรธน.ฉบับประชาชน

สภาคึกคัก! ฉลอง "91 ปีรัฐธรรมนูญไทย" ตัวแทนพรรค-วุฒิสภา ร่วมพิธีวางพานพุ่ม ไร้เงาก้าวไกล "ชวน"  ลั่นอย่าหวังแค่ รธน.ดี แต่ทั้งคนและพรรคต้องดีไม่โกง "ทายาทปรีดี" วอนเคารพเจตจำนงปฐมรัฐธรรมนูญ ผลักดันให้เกิดฉบับประชาชนแท้จริง "โภคิน"   แนะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐประหารเป็นกบฏ นิรโทษกรรมไม่ได้ "พงศ์เทพ" ดึงทุกเสื้อสีร่วมออกแบบ  "นิกร" กางไทม์ไลน์ฟังความเห็นทำประชามติ คาดได้ข้อสรุปชงเข้าสภาก่อนสิ้นปี

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม เวลา 08.30 น. มีพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย   มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา   เป็นประธานในพิธี

จากนั้นในเวลา 10.00 น. มีพิธีวางพานประดับพุ่มดอกไม้ ที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์รัฐสภา ชั้น MB1 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้มอบหมายให้นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทน รวมทั้งบรรดาตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ   อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ มีเพียงพรรคก้าวไกลที่ไม่ได้มาร่วมพิธี

ต่อมาเวลา 13.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน กล่าวเปิดงานในพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย   และงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจําปี 2566 “ร่วมก้าวย่างบนเส้นทางประชาธิปไตย สู่เส้นชัยแห่งรัฐธรรมนูญ”   ว่า ข้อเท็จจริงตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน  เราไม่ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับเดียวถาวร   แต่มีการร่างและประกาศใช้ใหม่หลายครั้ง เป็นปรากฏการณ์สะท้อนถึงการแย่งชิงอำนาจ สลายอำนาจ และการสืบทอดอำนาจ โดยการยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มักเกิดจากการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครอง และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ตั้งโดยคณะของตนขึ้นมาเพื่อบริหารประเทศ เหตุต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ศักดิ์ศรีความเชื่อมั่น ความศรัทธาต่อรัฐธรรมนูญ รัฐสภา เสื่อมถอยลงอย่างน่าเสียดาย ศักดิ์ของคณะปฏิวัติสูงกว่ารัฐธรรมนูญ ดังนั้นวันนี้เราต้องอาลัยถึงการสูญเสียรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ตามมาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจให้องค์กรปกครองสูงสุดของประเทศมี 3 องค์กร คือ รัฐสภา รัฐบาล ศาล โดยรัฐสภาต้องเป็นองค์กรของสมาชิกที่เป็นตัวแทนของประชาชน มีหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์ กฎหมาย ทำให้ศาลใช้ไปพิจารณาตัดสินคดี แต่กฎหมายที่ผ่านมามักเป็นการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐ มากกว่าพิทักษ์อำนาจของประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ปัญหายาเสพติด ฯลฯ เราต้องรำลึกถึงความสำคัญของรัฐสภา เพราะรัฐธรรมนูญต้องคงอยู่กับรัฐสภาเสมอ วันนี้เป็นวันที่ช่วยกัน ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะทำให้รัฐสภาอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ดำรงความยุติธรรม ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้อยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยปราศจากความขัดแย้งและความแตกแยก

คนและพรรคต้องไม่โกง

จากนั้น นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา  ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ" โดยกล่าวย้อนถึงวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้ง 20 ฉบับ ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก จนถึงฉบับปัจจุบัน  พร้อมกล่าวว่า การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบ 90 ปี ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก ทำให้คนที่รังเกียจการเมือง แต่รู้ว่าการเมืองมีประโยชน์ต่อธุรกิจเปลี่ยนไป รัฐธรรมนูญสมัยนี้เปลี่ยนไป  คนเข้ามามีอำนาจ บันดาลได้ สามารถรู้ว่างบประมาณปีนี้มีเท่าไหร่ ถ้ายิ่งเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้างจะรู้ได้เลยว่ามีเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ตนเข้ามาในระบบไม่ใช้เงิน ตนรับไม่ได้ เพราะเห็นความจริงว่า การเมืองของเราถ้าใช้เงินต้องโกง

 “ไม่มีหรอกลงทุน 50 ล้าน แล้วเอาคืนเดือนละแสน ตัวเองไม่โกง พรรคก็ต้องโกง อย่าไปคิดว่าต้องเป็นรัฐบาลแล้วโกง ฝ่ายค้านก็โกงได้ เพราะมีการประสานผลประโยชน์กัน ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายหลักของประเทศสำคัญก็จริง แต่เหนือสิ่งอื่นใด คนก็ต้องดีด้วย ไม่ใช่ดีแต่คำพูด ไม่ใช่ดีแต่บอกว่าปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่ดีแต่บอกว่าทำให้การเมืองซื่อสัตย์ กฎหมายดี คนก็ต้องดีด้วย ผมหวังว่าทุกคนจะได้มีส่วนสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงสืบไป” นายชวน ระบุ

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์  ปัญญาชนสยาม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์ของวันรัฐธรรมนูญ" ว่า การร่างรัฐธรรมนูญของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนขึ้น ในมาตรา 1 กำหนดไว้ว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย" ข้อความดังกล่าวปรากฏขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญไทย รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการประกาศสิทธิมนุษยชน สำหรับทุกคนในประเทศ มิใช่สงวนแค่กับราษฎรสยามเท่านั้น เพราะรัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศให้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

"มีสมาชิกรัฐสภาหลายคนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่มีการซื้อเสียง พร้อมออกนโยบายที่น่าชื่นชม แม้สมาชิกที่มีจุดยืนดังกล่าว ยังเป็นน้ำน้อยที่แพ้ไฟอยู่ ก็หวังว่าน้ำนิ่งจะไหลลึก ให้ใช้สติวิจารณญาณประกอบสันติประชาธรรม ไปในที่สุดเราจะมีรัฐสภาที่แท้จริง" ส.ศิวรักษ์กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ทายาทของนายปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า ขอยกคำสอนของนายปรีดี ที่กล่าวว่า ชนรุ่นใหม่ที่สนใจระบบรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ควรนำรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาเทียบกันดูให้ถี่ถ้วน ว่าระบบรัฐธรรมนูญฉบับใดมีความเป็นประชาธิปไตยในความหมายของคำว่าประชาธิปไตย อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปัจจุบัน เคารพเจตจำนงของปฐมรัฐธรรมนูญในการสถาปนากฎหมายสูงสุดที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างเท่าเทียมกัน และผลักดันให้เกิดการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

ห้ามนิรโทษคณะรัฐประหาร

ต่อมาเวลา 15.10 น. ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “พัฒนาการของรัฐธรรมนูญ" โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ ศ.พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.), นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต ส.ส.ร., นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

โดย ศ.พิเศษนรนิติกล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้ง 20 ฉบับ มีการพัฒนามาโดยตลอด แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงร่างการเมืองใหญ่เลย และเป็นระบบรัฐสภาตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้  อย่างไรก็ตาม ไม่มีหรอกรัฐธรรมนูญออกมาแล้วพอใจทั้งประเทศ คนร่างยังไม่พอใจเลย เพราะไม่ได้ร่างคนเดียว ถ้าเขียนคนเดียวจะเอาแบบใดก็ได้ แต่มันต้องเอาใจคนอื่น

นายโภคินกล่าวว่า เราต้องดูจากรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับว่ามีกระบวนการจัดทำโดยใคร อย่างไร โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.คณะราษฎร ซึ่งจุดสำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนอำนาจเป็นของราษฎรหรือของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ แม้อำนาจจะเป็นของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้น ผ่านทางคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล 2.คณะรัฐประหาร เพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งเราเห็นได้ชัดจากการให้มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง สิ่งที่คณะรัฐประหารทำไม่มีพัฒนาการ มีเรื่องเดียวที่พัฒนาสุดยอด คือการนิรโทษกรรมตัวเอง ทำให้เพี้ยนไปหมด และ 3.รัฐสภา และประชาชน

"เราต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดว่า การรัฐประหารเป็นกบฏ มีความผิดร้ายแรง จะนิรโทษกรรมไม่ได้ โดยบทบัญญัติเช่นนี้ให้ถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุด แม้ว่าไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นใหม่ๆ ต่อไปก็ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หากมีการยึดอำนาจเมื่อไหร่ พ้นจากอำนาจจะต้องติดคุก ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจบ ผมอยากเห็นพัฒนาการอย่างนี้ ส่วนการเมืองจะเดินแบบผิดบ้าง ถูกบ้าง ดีบ้าง ประชาชนก็เรียนรู้ไป แต่ถ้าปล่อยไว้ก็จะเละแบบนี้ ตอนนี้ 91 ปี ถึงปล่อยไป 100 ปี ก็จะเหมือนเดิม" นายโภคินระบุ

นายพงศ์เทพกล่าวว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการบอกว่าจะไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ถือเป็นกรณีพิเศษที่เราไม่เคยทำมาก่อน แต่การเขียนแบบนี้อาจทำให้มีปัญหาได้ เพราะรัฐธรรมนูญยึดโยงกันทั้งฉบับ และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ มีบทบัญญัติที่ว่าด้วยองคมนตรีจะต้องไม่เป็น สส. ไม่เป็น สว. ดังนั้น สมมติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บอกว่าไม่จำเป็นต้องมี สว.แล้ว หรือจะเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น ต้องแก้ในหมวด 2 ดังนั้นให้ยึดเฉพาะหลักการใหญ่ คือ รูปแบบของรัฐ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แค่นั้นก็กว้างพอสมควรแล้ว ประการที่สอง คิดว่าเป็นโอกาสดีที่สังคมไทยจะต้องยอมรับว่า เรามีความแตกแยก เรามีความเห็นต่าง โดยที่ไม่ฟังอีกฝ่ายเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี ประเทศอยู่ไม่สงบสุข พัฒนาไม่ได้ ดังนั้น การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นจังหวะดีที่คนในสังคมไทยจะเปิดใจฟังกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่คำนึงว่าเป็นใคร ใส่เสื้อสีอะไร ทำให้เรามีโอกาสที่จะช่วยกันคิด ช่วยกันทำ มีความปรองดองได้

ส่งศาลชี้ทำประชามติกี่ครั้ง

นายพงศ์เทพกล่าวว่า การทำประชามติต้องทำกี่ครั้ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณมากกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งเคยถามนายวันมูหะมัดนอร์ ขอให้ยื่นญัตติด่วนว่าบรรจุเข้าพิจารณาในสภาได้ แม้จะยังไม่มีการทำประชามติก็ตาม เพื่อส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยโดยใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน ศาลจะชี้ให้เราชัดเจนว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง ทำให้เรามีโอกาสไม่ต้องเสียเงินจำนวนมาก และประหยัดเวลาไปกว่า 4-5 เดือน

นายปริญญากล่าวว่า ระบบรัฐสภานั้นมีจุดอ่อนสำคัญ คือฝ่ายบริหารมาจากเสียงข้างมาก จึงทำให้คุมสภาผู้แทนราษฎรได้ และสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร มีแต่ฝ่ายค้านที่ตรวจสอบ ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยที่ยกมืออย่างไรก็แพ้ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สว.ที่มาจากรัฐประหารมีอำนาจเท่ากับ สว.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะให้ศาลรัฐธรรมนูญมาสรรหาองค์กรอิสระและ  สว. เปรียบเสมือนรัฐประหารธิปัตย์ คืออำนาจสูงสุดอยู่ที่คณะรัฐประหาร ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ใช่จิตวิญญาณของการฉลองรัฐธรรมนูญเลยแม้แต่น้อย

รศ.วรรณภากล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ระบุไว้ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย เรามักจะหลงลืมมาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นได้จริงในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา นอกจากนี้ การระบุเรื่องนิรโทษกรรมรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการนิรโทษกรรมแบบนี้จะยังดำรงอยู่ในอนาคต ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายในการร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต

วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ทวีตข้อความผ่าน X ว่า “10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีหน้าที่ทำให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจใหญ่ จะอาศัยเพียงพลังของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่ทุกๆ ภาคส่วนในสังคมจะต้องช่วยกันผลักดันเพื่อให้เราไปถึงเป้าหมาย นั่นคือการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครับ”

นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวถึงการรวบรวมความเห็นในการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญว่า ความเห็นที่สำคัญของพรรคการเมืองได้รวบรวมมาหมดแล้ว ยังเหลือการรับฟังความคิดเห็นที่สำคัญคือสมาชิกรัฐสภา ได้เรียนนายวันมูหะมัดนอร์แล้วว่า ในวันที่ 13-14 ธ.ค. จะรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนวุฒิสภา จะรับฟังความเห็น 18-19 ธ.ค. จากนั้น 20 ธ.ค. จะนำความเห็นไปวิเคราะห์ และ 22 ธ.ค. จะมีการนัดคณะอนุกรรมการฯ เพื่อสรุปเป็นรายงาน ซึ่งวันที่ 25 ธ.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีการนัดประชุมคณะคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อหาข้อสรุป แล้วหลังจากนั้น ในช่วงสิ้นปี จะนำเสนอสู่สภา นอกจากนี้ วันที่ 11 ธ.ค. ได้เชิญกรรมการกว่า 10 คนไปสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการทำประชามติ เราจะไปถามว่าการทำประชามติโดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเยอะทำอย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุยสอบนายกฯตัวจริง

"นายกรัฐมนตรี" อวยพรปีใหม่ 2568 ขอให้ปชช.มีความสุข ปราศจากอุปสรรค และเป็นปีแห่งโอกาสของทุกคน