กรุงเทพฯ ๐ ประชาธิปัตย์เลือกหัวหน้าพรรคใหม่ แต่ยังโงหัวไม่ขึ้น "ชวน" เสนอชื่อ "มาร์ค" ชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคกับ "เฉลิมชัย" ปิดห้องเคลียร์ใจ ก่อน "อภิสิทธิ์-สาธิต" ลาออกจากสมาชิกพรรค แต่ยืนยันกรีดเลือดยังเป็นสีฟ้าจนวันตาย เปิดทาง "เฉลิมชัย" นั่งหัวหน้าพรรค ตามคาด "เดชอิศม์" เป็นเลขาฯ พรรค
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นัดประชุมใหญ่วิสามัญ ปชป. แต่ปรากฏว่าเวลาล่วงเลยไปกว่าครึ่งชั่วโมงถึงสามารถเปิดประชุมได้ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคและรักษาการเลขาธิการพรรค เป็นประธานการประชุม แจ้งว่าองค์ประชุมครบแล้ว 260 คน และขอเปิดการประชุมในเวลา 10.08 น. ทั้งนี้ ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งที่ 3 สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 9 ก.ค. และวันที่ 6 ส.ค. ไม่สามารถดำเนินการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ 250 เสียงตามที่กฎหมายกำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก แกนนำของพรรคทุกฝ่ายมากันอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อและอดีตหัวหน้าพรรค, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อและอดีตหัวหน้าพรรค, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคและรักษาการเลขาธิการพรรค เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เตรียมองค์ประชุมสำรองจำนวน 150คนเพื่อป้องกันองค์ประชุมล่ม
จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่การเสนอชื่อหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายชวน กล่าวตอนหนึ่งว่า นี่คือเห็นช่วงปลายของชีวิต ตนได้เห็นการเติบโต เปลี่ยนแปลง ล้มลุกคลุกคลานของพรรค พรรคถูกฟ้องยุบพรรค 2 ครั้ง ตนเป็นหัวหน้าคณะทีมสู้ และเราก็สู้จนชนะคดี ทั้งนี้ อยากให้เรารำลึกถึงบุญคุณนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ และเล็ก นานา เจ้าของที่ดินของที่ตั้งพรรค วันนี้มีนายยุพ นานา ลูกของเล็ก นานา มาร่วมประชุม ตนหวังว่าพวกเราเรียนรู้ความผิดพลาด ตนไม่เคยคิดให้พรรคเป็นพรรคอะไหล่หรือพรรคประกอบ ไม่อยากให้ใครมองว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคสุดท้ายที่จะพิจารณา ดังนั้นในครั้งนี้ขอเสนอนายอภิสิทธิ์ เพราะเห็นว่าสถานการณ์การเมืองคนที่จะเลือกมาต้องไม่ด้อยกว่าพรรคอื่น และเชื่อว่าจะนำพรรคไปสู่แนวทางประชาธิปไตยและฟื้นฟูพรรคได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้รับรองชื่อนายอภิสิทธิ์ครบ 169 เสียง
ต่อมานายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เขาบอกการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งเขาเรียกฝ่ายอนุรักษ์ แต่ประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับเขา คำตอบเขาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี อดีตนายกฯ ส่วนฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คำตอบเขา เพราะเขาบอกว่าประชาธิปัตย์ไปร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ทางเดินไปข้างหน้าของพรรคจึงเป็นเรื่องของการค้นหาจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปัตย์ ว่าที่ยืนของเราจะเป็นความหวัง และตัวแทนของความคิดให้กับประชาชน ซึ่งความจริงไม่ได้ยาก สิ่งที่เรามีหรือเคยมี แล้วพรรคอื่นไม่มีมีหลายประการในอุดมการณ์ของพรรค คือองค์กรของเราใหญ่กว่าตัวบุคคลเสมอ อดีตหัวหน้าพรรคที่ผ่านมา 8 คนจะอยู่สั้นหรือยาวไม่เคยเป็นเจ้าของพรรค เพราะถ้าใช้คำว่าคนที่ทำให้พรรคเคลื่อนไหว ตนก็ต้องตอบว่าพรรคคืออุดมการณ์
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า อุดมการณ์ของพรรคที่เราเคยพูดว่าเราเป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เราต่อสู้มายาวนาน ที่เราต้องสู้กับพรรคเพื่อไทย หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ใช่เรื่องความแค้น แต่เป็นเรื่องการต่อสู้ทางความคิด ในสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องความถูกต้องของบ้านเมือง แต่ระยะหลังมีการประเมินว่าประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคประชาธิปไตยแล้ว ดังนั้นเราต้องฟื้นฟูพรรคถ้าเราคิดจะกลับมา เพราะเรามีความต่างจากพรรคการเมืองอื่น คือเราไม่เคยกลัวเป็นฝ่ายค้าน ทั้งที่หลายพรรคเป็นได้แค่พรรครัฐบาล กับพรรครอร่วมรัฐบาล แต่เราไม่ใช่ ถ้าเรารักษาแนวทางแบบนี้เราก็มีโอกาสกลับมา
กรีดเลือดเป็นสีฟ้าจนวันตาย
"ผมได้ข้อสรุปว่า วันนี้ไม่ใช่เรื่องใครแพ้หรือชนะ แต่วันนี้พรรคเดินต่อไม่ได้ ไม่มีความเป็นเอกภาพแท้จริง ผมลงแพ้ก็น่าจะมีปัญหา ผมชนะก็ยิ่งมีปัญหาเข้าไปใหญ่ เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อนในห้องนี้มาถามผมว่าทำไมไม่คุยกัน ต่อมาก็พาดพิงว่าผมไม่ยอมคุย ผมขอยืนยันว่าถ้าใครไปพูดอย่างนั้น ไม่จริง หลายคนพยายามพูดว่าให้คุยกัน แต่ได้รับการปฏิเสธ ผมก็ไม่กล้าสอบถามเหตุผลถึงการปฏิเสธไม่พูดคุย แต่คำตอบชัดคือไม่คุย ฉะนั้นวันนี้เมื่อท่านชวนเสนอชื่อผม ผมถามท่านรักษาการหัวหน้าพรรค พักการประชุมแล้วคุยกับผมหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ระบุ
ต่อมานายเฉลิมชัยกล่าวว่า คนที่นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงคือตน ก่อนหน้านี้เคยบอกไปว่าไม่มีอะไรจะคุย เพราะเคยประกาศว่าจะหยุดการเมือง นี่คือเหตุผล และขอกราบเรียนตรงนี้ คนเราอยู่ดีๆ ไม่มีใครพูดส่งเดช มีที่มาที่ไปทั้งหมด และที่มาที่ไปตนก็ไม่เคยพยายามที่จะไม่พูดตรงนั้น เพราะเป็นความรับผิดชอบของตน ตนอาจจะไม่ได้บอกว่ารักประชาธิปัตย์มากที่สุด แต่ก็ผูกพันมาตั้งแต่ปี 2518 ครอบครัวตนเป็นหัวคะแนนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ มันคือสายเลือด และก็ยึดมั่นในหลักการอุดมการณ์มาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องซื่อสัตย์สุจริต 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นอะไรที่จะทำให้พรรคเดินไปได้ตนจะทำ เป็นคนที่คุยกับคนเยอะ หลายๆ คนมันมีปมภายในที่ต้องคุยกัน ตนเรียนท่านหัวหน้าว่าพร้อมที่จะคุยกับท่านได้ จะได้คุยกันว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เราก็คุยกันตรงๆ แต่จะคุยกับตน 2 คนใช่หรือไม่ ขอให้ท่านเชื่อมั่นหลักการอุดมการณ์เต็มร้อย ไม่ต้องกังวล และตั้งแต่เข้ามาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ 22 ปี ยืนยันประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ใคร และจะไม่มีวันยอม เชื่อตนได้ แต่ไม่อยากพูดมาก ไม่อยากจะเป็นข่าว เพราะว่ารู้ตัวว่าตนต้องรับผิดชอบ
จากนั้นนายเฉลิมชัยสั่งพักการประชุม 10 นาที
ต่อมาเวลา 11.38 น. กลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวต่อที่ประชุมพร้อมกับน้ำตาคลอว่า จากการพูดคุยเข้าใจตรงกันทุกอย่าง ได้เรียนรักษาการหัวหน้าพรรคจะขอถอนตัวจากการสมัครเป็นหัวหน้าพรรค ด้วยเหตุผลที่แจ้งให้ตนทราบ ขอลาออกจากสมาชิกพรรค แต่ยืนยันไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดเป็นสีฟ้าจนวันตาย เป็นลูกพระแม่ธรณีฯ รับใช้บ้านเมืองวันข้างหน้า ถ้าช่วยพรรคในวันข้างหน้าได้ตนไม่ปฏิเสธ หวังว่าผู้บริหารชุดใหม่จะทำงานได้สำเร็จตามที่นายเฉลิมชัยได้กล่าวไว้กับตน
จากนั้นได้เข้าสู่กระบวนการเสนอชื่ออีกครั้ง โดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรค ภาคใต้ เสนอชื่อนายเฉลิมชัยเป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่นายขยัน วิพรหมชัย อดีต สส.ลำพูนของพรรค เสนอชื่อ น.ส.วทันยา บุนนาค มีเสียงรับรองเพียงพอ แต่เนื่องจากคุณสมบัติเป็นสมาชิกไม่ถึง 5 ปี และไม่เคยเป็น สส.ของพรรค ขัดกับข้อบังคับพรรค ข้อ 31 (6) และข้อ 32 (1 ) จึงต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของจำนวนผู้มาประชุม หรือ 195 เสียง เพื่อยกเว้นข้อบังคับดังกล่าว ปรากฏว่า น.ส.วทันยา ได้เพียง 139 เสียง เท่ากับที่ประชุมไม่อนุญาตให้ลงสมัคร
กรีดเลือดเป็นสีฟ้าเหมือนกัน
ด้านนายเฉลิมชัยลุกขึ้นกล่าวความในใจภายหลังเข้าเคลียร์ใจส่วนตัวกับนายอภิสิทธิ์ว่า การตัดสินใจของตนในวันนี้มันเจ็บ มันทำลายสิ่งที่ตนสร้างมาทั้งชีวิต ตนเข้าใจ ขอยืนยันว่าตนกรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้า ไม่เป็นสีอื่นเลย ตลอดเวลาที่ตนอยู่ในพรรค ก็เคร่งครัดยึดหลักการและอุดมการณ์ของพรรคไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งตนได้เรียนเรื่องนี้กับนายอภิสิทธิ์ด้วย ตนขอเรียนสั้นๆ ว่าตนมีความจำเป็น และอยากเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า ตนจะทำให้พรรคมีเอกภาพ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคที่มีอยู่แล้ว
“ที่สำคัญที่ผมได้คุยกับนายอภิสิทธิ์เมื่อซักครู่ที่ผ่านมา ผมได้ยืนยันกับนายอภิสิทธิ์ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เป็น แต่เราไม่เคยเป็นตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์มา 22 ปี หลายสิ่งที่ผ่านมาอาจทำให้พรรคสะดุด ผมก็จะพยายามทำทุกอย่าง ผมมาทำงานในภารกิจหนึ่ง ผมจะพยายามทำให้พรรคมีเอกภาพ ทำให้ดีที่สุด และไม่มีวันทำลายหลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์” นายเฉลิมชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายหลังนายอภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคกลางที่ประชุม ทำให้อดีต สส.และสมาชิกพรรคหลายคนถึงกับตกตะลึง น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล อดีต สส.กระบี่ และนางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ อดีต สส.พังงา ถึงกับน้ำตาซึม
ภายหลังขอถอนตัวจากการลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรค และขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ได้เดินทางกลับทันที โดยให้สัมภาษณ์เพียงว่า ได้พูดไปหมดแล้ว จากนี้ไม่มีอะไรค้างคาใจ ส่วนบทบาททางการเมืองจากนี้จะเป็นอย่างไรยังไม่ได้คิด
จากนั้นมีการดำเนินการเลือกหัวหน้าพรรค โดยที่ประชุมมีองค์ประชุม 260 คน ซึ่งเป็นการเข้าคูหาลงคะแนน กระทั่งเวลา 13.30 น. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ กกต.ประจำพรรคฯ ได้ประกาศผลลงคะแนนว่าที่ประชุมเลือกนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ด้วยคะแนน 88.5 เปอร์เซ็นต์ ถือว่านายเฉลิมชัยได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9
ต่อมาเข้าสู่การเลือกรองหัวหน้าพรรคประจำภาค 5 คน และรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ 8 คน ผลปรากฏว่า นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ, นายไชยยศ จิรเมธากร อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน, นายประมวล พงศ์ถารวาเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกลาง, นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นรองหัวหน้าพรรคภาค กทม.
'เดชอิศม์' นั่งเลขาฯ พรรค
ส่วนรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ 8 คน โดยนายเฉลิมชัยเป็นผู้เสนอ คือ 1.นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีต รมช.มหาดไทย 2.น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร อดีตรองเลขาธิการพรรค 3.พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาราเล่ สส.สงขลา 4.นายนราพัฒน์ แก้วทอง อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ 5. นายธารา ปิตุเตชะ อดีต สส.ระยอง 6.น.ต.สุธรรม ระหงษ์ 7.นายมนตรี ปาน้อยนนท์ อดีต สส.ประจวบฯ และ 8. นายอภิชาติ ศักดิเศรษฐ์
จากนั้นเป็นการเลือกเลขาธิการพรรค โดยนายเฉลิมชัยเสนอนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย 1.น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร สส.พัทลุง 2.นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ สส.ประจวบฯ 3.น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สส.ตรัง 4.นายชนินทร์ รุ่งแสง อดีต สส.กทม. 5.นายสมยศ พลายด้วง สส.สงขลา และ 6.นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ อดีต สส.พังงา สำหรับตำแหน่งเหรัญญิกพรรค คือนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ สส.กทม. นายทะเบียนพรรคคือ นายวิรัช ร่มเย็น อดีต สส.ระนอง ส่วนโฆษกพรรคยังคงเป็นนายราเมศ รัตนะเชวง เช่นเดิม ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารพรรคมีทั้งหมด 41 คน
นายเฉลิมชัยให้สัมภาษณ์ภายหลังรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคว่า แนวทางในการฟื้นฟูพรรคอันดับแรก ต้องสร้างความเป็นเอกภาพภายในพรรค โดยขอให้ทุกคนทุกรุ่นมาช่วยกัน เพราะประชาธิปัตย์มีผู้สนับสนุนทุกรุ่น ฉะนั้นทุกกลุุ่มวันนี้หากเรามาร่วมมือกันทำก็สามารถเริ่มต้นได้ และคณะทำงานต่างๆ ของคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ต้องพร้อมทำงานทันที และต้องมีการประเมินผลทุกๆ 3 เดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีการพูดคุยกันเมื่อคืนวันที่ 8 ธ.ค. และตนเพิ่งตัดสินใจรับที่จะเป็นหัวหน้าพรรคตอนเวลา 22.00 น.ในคืนดังกล่าว โดยการประเมินผลไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงื่อนไขข้อบังคับพรรค คุณสมบัติการเปิดกว้าง ยุทธศาสตร์พรรค นโยบายพรรค รวมทั้งการสื่อสารกับมวลชนตามโซเชียลต่างๆ
“3 เดือนแรกผมได้บอกแล้วว่าต้องมีอะไรที่เป็นรูปธรรมให้เห็นว่าประชาธิปัตย์มีการเปลี่ยนแปลงจริง ผมคิดว่าวันนี้คนประชาธิปัตย์ยังรักพรรค ผมหวังอย่างยิ่งว่าเราจะมาช่วยกันสร้างพรรค” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงลาออกจากสมาชิกพรรค ด้วยเหตุผลว่า สถานการณ์ของพรรคมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงอุดมการณ์เป็นอย่างมาก ตนเห็นว่าละทิ้งอุดมการณ์ของพรรค จะเห็นได้จากเหตุการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา มีการไปลงมติให้นายเศรษฐา เป็นนายกฯ ทั้งที่พรรคมีมติแล้วว่าให้งดออกเสียง นั่นคือความชัดเจนว่าทิศทางของพรรคในเชิงอุดมการณ์การเปลี่ยนแปลง
เมื่อถามว่า จากนี้จะไปทำงานการเมืองกับพรรคการเมืองไหน นายสาธิต กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะไปอยู่พรรคไหน แต่วันนี้ตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรค ซึ่งการลาออกครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของตนคนเดียว และคิดว่าจะมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่มีแนวความคิดตรงกัน ก็แล้วแต่จะตัดสินใจ ตนไม่ได้ชวนใคร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน