ศก.ฟื้นดัชนีผู้บริโภคพุ่งเงินเฟ้อลด

ไหนวิกฤต! เลขาธิการสภาพัฒน์เผยหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ประเมินปี 2567 โต 3.6%  "ธนวรรธน์" ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน พ.ย. ปรับตัวสูงสุดในรอบ 45 เดือน ขณะที่ "พาณิชย์" เปิดตัวเลขเงินเฟ้อ พ.ย. ติดลบ 0.44% ลดลงต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน

วันที่ 7 ธันวาคม 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)  จัดให้มีการประชุมหารือระดับสูงและนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในการเปิดการประชุม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำเสนอเกี่ยวกับข้อคิดเห็นต่อรายงานการสำรวจและประเมินสถานะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 2 รวมถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับผลการศึกษารายงานการสำรวจและประเมินสถานะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 2 โดย OECD สามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ขณะที่ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างและปฏิรูปในหลายประเด็นเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

ทั้งนี้ ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดและป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ซึ่งส่งผลให้หนี้สาธารณะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น ในระยะต่อไป แนวทางการดำเนินนโยบายจึงควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อปรับสถานะทางการคลังให้เข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น และเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง ขณะเดียวกันควรดำเนินการอย่างสอดรับควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ยังคงต้องมุ่งเน้นต่อการลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ รวมทั้งการทยอยยกเลิกมาตรการช่วยเหลือที่ดำเนินการในช่วงของการแพร่ระบาด โดยเห็นว่าควรเหลือไว้เฉพาะมาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่มีความจำเป็น

รายงานของ OECD ชี้ให้เห็นว่า ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพและระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

เช่นเดียวกับตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ดี แต่พบว่ากำลังแรงงานในวัยหนุ่มสาวยังไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานดังกล่าว ขณะที่อุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการรับมือกับประเด็นความท้าทายเชิงโครงสร้างต่างๆ  ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวนโยบายจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยยกระดับรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้นท่ามกลางการลดลงของกำลังแรงงาน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน พ.ย.66 อยู่ที่ระดับ 60.9 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือน ต.ค.ที่ 60.2 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และถือว่าดัชนีปรับตัวสูงสุดในรอบ 45 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 55.1 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 57.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 69.9 ซึ่งดัชนีทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

โดยปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน  โดยเฉพาะการปรับลดราคาพลังงาน และการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยว, จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้นหลังจากเปิดประเทศ, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีเกือบทุกรายการสำคัญ, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, การส่งออกของไทยเดือน ต.ค. และความคาดหวังของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และดูแลค่าครองชีพของรัฐบาลในช่วงปลายปี 66

ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ต่อปี และปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) โดยปี 66 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.4% จากประมาณการเดิมที่ 2.8% ส่วนปี 67 หากไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต GDP จะอยู่ที่ 3.2% และหากรวมดิจิทัลวอลเล็ต GDP จะอยู่ที่ 3.8% จากระดับเดิมที่ 4.4%, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 3/66 ขยายตัวได้ 1.5%, SET Index ในเดือน พ.ย.66 ปรับตัวลดลง 1.65 จุด, ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำ, ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายลดค่าครองชีพ ตลอดจนมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามที่อาจยืดเยื้อบานปลาย ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้ในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน พ.ย.2566 เท่ากับ 107.45 เทียบกับ ต.ค.2566 ลดลง 0.25% เทียบกับเดือน พ.ย.2565 ลดลง 0.44% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับจาก ก.พ.2564 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการมาตรการด้านพลังงานของภาครัฐ ที่ทำให้สินค้ากลุ่มพลังงานปรับลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 และยังมีสินค้ากลุ่มอาหารสำคัญที่ลดลง เช่น เนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืช ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่นๆ  ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ และรวมเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 1.41%.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง