แห่แก้หนี้นอกระบบ วันแรกลงทะเบียน2.2หมื่นยอดเฉียดพันล้านบาท

วันแรกแห่ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบคึกคักทั่ว ปท. "กทม." พ่อค้าแม่ขายเป็นหนี้มากสุดถึง 5 แสน "โคราช" แค่ ชม.เดียวสมัครผ่านออนไลน์ 60 ราย ยอดหนี้กว่า 2 ล้านบาท "อนุทิน" ย้ำแก้หนี้ไม่ใช่ยกหนี้ เน้นให้ความเป็นธรรมทั้งลูกหนี้-เจ้าหนี้ ยึดดอกเบี้ยตาม กม. "เศรษฐา" ลงพื้นที่ภูเก็ตดูซ้อมแผนช่วยผู้ประสบภัยทางทะเล สร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว คิว "นายกฯ" 3-4 ธ.ค.ประชุม ครม.สัญจร ครั้งแรก จ.หนองบัวลำภู วางยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดอีสานเหนือ

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดให้ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบทั่วประเทศ ผ่านที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต และช่องทางออนไลน์ ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ ปรากฏว่าทั่วประเทศมีประชาชนต่างมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกันอย่างคึกคัก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันแรกที่ กทม.ได้เปิดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐในการแก้หนี้นอกระบบ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ยกให้ปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนให้ทำการบันทึกข้อมูลทั้งหมดในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้เป็นการง่ายในการเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูล ซึ่ง กทม.ได้ใช้สำนักงานเขตเป็นที่รับแจ้งการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบและจัดทำข้อมูลที่เป็นระบบดิจิทัล เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูลเข้ามาได้ง่าย

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กทม.จะเก็บข้อมูลของผู้แจ้งหรือผู้ลงทะเบียนไว้เป็นความลับ เพื่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูล รวมทั้ง กทม.มีศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอยู่แล้วประจำสำนักงานเขต คงต้องดูว่าปริมาณมีมากน้อยขนาดไหน สุดท้ายแล้วคงต้องมีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในปัญหาดังกล่าว เพราะอาจนำไปสู่คดีฉ้อโกงได้ ซึ่งต้องมีคำแนะนำทางกฎหมายที่ถูกต้องด้วย

 “คนที่มีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบคงจะเป็นคนที่จวนตัวเต็มที่แล้ว เลยไปกู้ยืมหนี้นอกระบบมา ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่เราแก้ได้ยาก ถ้าแก้ได้คงแก้ไปนานแล้ว ไม่ต้องไปหาดอกเบี้ยที่แพงๆ ร้อยละแพงๆ ต่อเดือน เราต้องมาช่วยกัน ทางรัฐบาลก็ดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ ก็ขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีปัญหาหรือได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบร่วมลงทะเบียน เพื่อขอรับการช่วยเหลือจากกลไกของภาครัฐได้ทั้งทางเว็บไซต์ debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนด้วยตนเองได้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อให้ปัญหาความเดือดร้อนได้รับการแก้ไขต่อไป” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบในพื้นที่ กทม. ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าแม่ค้า เนื่องจากรายรับไม่พอรายจ่าย และไม่สามารถกู้หนี้ในระบบได้ บางรายเคยกู้ในระบบแต่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ เพราะเมื่อชำระไปแล้วเงินต้นไม่ลดจึงงดชำระ และถูกขึ้นแบล็กลิสต์ไม่สามารถกูเงินในระบบได้อีกจึงต้องยอมมากู้นอกระบบแม้ดอกเบี้ยจะสูงก็ตาม

นายไพฑูรย์ งามมุข ผอ.เขตห้วยขวาง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยระบุว่า นอกจากการเปิดลงทะเบียน แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่มีประชาชนทยอยเดินทางมาลงทะเบียนในวันนี้แล้ว เขตห้วยขวางก่อนหน้านี้ยังมีโครงการช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งมีประชาชนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบในเขตห้วยขวาง เข้ามาเข้าร่วมโครงการประมาณ 50 ราย ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้า โดยเป็นหนี้ตั้งแต่ 5,000 บาท และมากสุด 500,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยรายวันจากการกู้ยืมนอกระบบร้อยละ 20

คึกคักแห่แก้หนี้นอกระบบ

จ.สมุทรสาคร ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอำเภอเมืองสมุทรสาคร ร.ต.ประพันธ์ ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร พร้อมนายภัคศุก จรูญศักดิ์ ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองสมุทรสาคร นำเจ้าหน้าที่อำเภอเมืองสมุทรสาครมาเปิดลงทะเบียนช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบ โดยมีประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาครต่างทยอยมาลงทะเบียน

จ.นครราชสีมา หน้าที่ว่าการอำเภอเมือง เปิดจุดลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวันแรก โดยมีปลัดอำเภอ และเจ้าหน้าที่ คอยให้บริการรับลงทะเบียน พร้อมมีป้ายประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการลงทะเบียนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ปรากฏว่าชั่วโมงแรกมีประชาชนเดินทางมาสอบถามรายละเอียดและกรอกข้อมูลเอกสารลงทะเบียนเพียง 2 ราย แต่มีรายงานว่ามีประชาชนลงทะเบียนออนไลน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ 1 ชั่วโมงแรก มีประชาชนลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ 60 ราย ยอดหนี้กว่า 2 ล้านบาท

จ.พิษณุโลก ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองพิษณุโลกเริ่ม Kick Off รับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ บรรยากาศคึกคักตั้งแต่เช้า มีประชาชนชาวพิษณุโลกที่เป็นหนี้นอกระบบมารอขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยมารอก่อนเวลาเปิดทำการตั้งแต่ประมาณ 08.00 น. กว่า 30 ราย ซึ่งต่างเป็นหนี้ทั้งหลักหมื่น หลักแสน ไปถึงหลักล้าน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาดอกเบี้ยเงินต้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีความสามารถใช้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย บางรายก็ไม่โดนข่มขู่ บางรายก็โดนเจ้าหนี้หมวกกันน็อกตามข่มขู่

จ.ขอนแก่น ที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่น มีประชาชนเดินทางเข้ามาลงทะเบียนเพื่อต้องการที่จะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ หลังจากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหนี้ที่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเกินกฎหมายกันอย่างคึกคัก

จ.ตรัง บรรดาลูกหนี้ทยอยลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองตรังคึกคัก โดยอำเภอเมืองตรังจัดห้องประชุม และเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำขั้นตอนการกรอกเอกสารลงทะเบียน และวิธีลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ลูกหนี้ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายรายหนึ่ง ระบุว่า ตนเป็นหนี้นอกระบบที่มีทั้งชำระเป็นรายเดือนและรายวัน รวม 60,000 บาท โดยเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือน ซึ่งในหนึ่งเดือนต้องชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้น จำนวน 10,000 บาท ส่วนหนี้รายวันต้องชำระวันละ 600 บาท ถือเป็นภาระที่หนัก พอรัฐบาลมีโครงการแก้หนี้ก็รีบมาลงทะเบียน หวังว่าจะได้ลืมตาอ้าปาก

จ.ยะลา ที่ห้องศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเบตง นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง สั่งการให้นายฐิศิรักน์ ห่อหุ้ม ปลัดอำเภองานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ/เลขานุการศูนย์ฯ ดำเนินการรับลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ให้กับประชาชนที่เดินทางมาลงทะเบียนโดยการกรอกข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่อำเภอเบตง ซึ่งในช่วงเช้านี้มีประชาชนทยอยเดินทางมาเรื่อยๆ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการเปิดลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบว่า ประชาชนสามารถลงทะเบียนได้ 3 ช่องทาง คือลงทะเบียนด้วยระบบออนไลน์ เดินทางมาลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงค์ธรรม ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต นอกจากนี้ตนยังได้กำชับไปยังอำเภอให้ออกสำรวจป้องกันการลงทะเบียนขาดตกบกพร่อง

อนุทินย้ำแก้หนี้ไม่ใช่ยกหนี้

"ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าไม่ใช่การลดหนี้  ไม่ได้เป็นการยกหนี้ พักหนี้ แต่ต้องการสร้างความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ หากเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเป็นธรรม ลูกหนี้ก็จะต้องจ่าย เจ้าหนี้ก็จะไม่ถูกเบี้ยวหนี้ จนต้องไปข่มเหงใครหรือทวงหนี้ผิดกฎหมาย ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความเป็นธรรมและไม่ต้องการสร้างความเสียหายแก้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ขอย้ำว่าลูกหนี้ก็ยังต้องใช้หนี้ในอัตราที่เขาสามารถหามาได้ ซึ่งตอนนี้ขอใช้คำว่าไกล่เกลี่ยยังไม่ถึงกับบังคับและไม่มีเจตนาจะดำเนินดคี หรือไปคุ้ยแคะ สไตล์การทำงานของรัฐบาลชุดนี้โดยกระทรวงมหาดไทยต้องการแก้ปัญหาตรงไหนก็จะไปโฟกัสจุดนั้นไม่ต้องกังวล” นายอนุทินกล่าว

ถามว่าขั้นตอนการไกล่เกลี่ยจะเป็นอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า รายละเอียดผู้ปฏิบัติการแต่ละคนต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ ไกล่เกลี่ยและประนีประนอม ไม่ได้มีขั้นตอนทางการหนึ่ง  สอง สาม เมื่อถามอีกว่าถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยจะดำเนินการอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า ต้องเอาสัญญามาดู สัญญาตรงไหนที่ขัดต่อกฎหมายก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม และจะมีการคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรม

ซักว่าลูกหนี้บางคนเข้าใจว่ารัฐบาลจะใช้หนี้แทน นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ใช่เลย แต่รัฐบาลจะช่วยลดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม เพราะหนี้ใครหนี้มัน

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายพายัพ ปั้นเกตุ ที่ปรึกษานายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง มีความห่วงใยประชาชนเรื่องหนี้สินนอกระบบเป็นอย่างมาก เพราะความยากจนจากวิกฤตเศรษฐกิจ บางรายแม้กระทั่งข้าวสารก็ไม่มีจะกิน ต้องกู้หนี้ยืมสินหาเงินจ่ายดอกเบี้ยรายวัน บางรายร้อยละ 10-20 บาท วันไหนไม่มีก็ถูกเจ้าหนี้ข่มขู่บังคับ มีแก๊งหมวกกันน็อกเดินสายเก็บรายวันรายเดือน รังแกทำร้ายร่างกายยึดข้าวของ สร้างระบบทาสยุคใหม่ เป็นเครือข่ายอันตรายต่อพี่น้องประชาชนและสังคม อีกประเภทคือพวกบริษัทไฟแนนซ์มาเอาเปรียบทั้งต้นทั้งดอก ซึ่งเป็นปัญหาจะต้องแก้ไข รัฐบาลประกาศให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นวาระแห่งชาติ

 “ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ผู้การตำรวจทุกจังหวัด จะต้องทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบอย่างจริงจัง ต้องมีบัญชีรายชื่อ คนปล่อยกู้ มีหน่วยงานเข้ามาดูแลให้ความเป็นธรรมทั้งคนกู้และคนให้กู้ จัดชุดเจรจาไกล่เกลี่ยอย่างจริงจังให้เป็นรูปธรรม หาหนทางเอาหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบเงินกู้ของธนาคารรัฐ ทั้งธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาประชาชน” นายพายัพกล่าว

ต่อมาในช่วงเย็น น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมการปกครองได้รายงานให้นายอนุทินถึงการเปิดให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่านทั้งระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th และวอล์กอินไปลงทะเบียน ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง และสำนักงานเขตทุกแห่งสำหรับผู้อาศัยในกรุงเทพมหานคร ในวันแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีประชาชนทั่วประเทศให้ความสนใจลงทะเบียนรวม 22,090 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 21,001 ราย วอล์กอิน 1,089 ราย จำนวนเจ้าหนี้ 11,539 ราย ยอดหนี้รวม 935.31 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนสูงที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,529 ราย เจ้าหนี้ 879 ราย ยอดหนี้รวม 78.48 ล้านบาท, สงขลา 959 ราย เจ้าหนี้ 507 ราย ยอดหนี้รวม 55.36 ล้านบาท, นครศรีธรรมราช 910 ราย เจ้าหนี้ 557 ราย ยอดหนี้รวม 27.64 ล้านบาท, นครราชสีมา 822 ราย เจ้าหนี้ 351 ราย ยอดหนี้รวม 23.53 ล้านบาท และสมุทรปราการ 572 ราย เจ้าหนี้ 293 ราย ยอดหนี้รวม 23.70 ล้านบาท

"นายอนุทินให้ความสำคัญและติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด พร้อมให้คำปรึกษาและให้การสนับสนุนทางนโยบาย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้" น.ส.ไตรศุลีระบุ

วันเดียวกัน ที่บริเวณโรงแรม Kudo Hotel and Beach Club ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต นายเศรษฐา ลงพื้นที่ติดตามการฝึกซ้อมแผนการบริหารจัดการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล สถานการณ์กรณีนักท่องเที่ยวฝ่าฝืนจุดห้ามเล่นน้ำ จมน้ำ เกิดเหตุสภาพอากาศแปรปรวน คลื่นสูง เรือโดยสารโดนกัน มีผู้บาดเจ็บและลอยคอในทะเล โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าฯ ภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปแผนการบริหารจัดการฯ ซึ่งจากการมีแผนการบริหารช่วยเหลือฯ ทำให้นักท่องเที่ยวประสบภัยทางทะเลเป็นศูนย์

นอกจากนี้ นายกฯ ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ CCTV หาดบางลา ซึ่งได้ประยุกต์ใช้ระบบ AI เสริมประสิทธิภาพการทำงาน สามารถตรวจสอบบุคคล ตรวจสอบการเดินทางและยานพาหนะ โดยเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหาดบางลา หากพบบุคคลมีหมายจับ หรือรถต้องสงสัย ระบบจะแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปยังจุดหมายเพื่อทำการตรวจค้นจับกุม รวมถึงระบบสามารถสืบค้นหานักท่องเที่ยวที่หลงทางได้อีกด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการทั้งจังหวัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง  กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 1/2566 จังหวัดหนองบัวลำภู และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ( บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.ว่า นายกฯ

ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละท่านกระจายตัวลงพื้นที่ในกลุ่มจังหวัด  เพื่อรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน และตรวจราชการในส่วนงานที่กำกับดูแล โดยให้ความสำคัญกับปัญหาหลัก 4 ด้าน ได้แก่ ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ปัญหาด้านการเกษตร และปัญหาที่ดินทำกินของประชาชน

”นายกฯ มีความตั้งใจจะลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นจังหวัดแรก เพราะหนองบัวลำภูเป็นจังหวัดเล็ก และรายได้ของประชาชนต่อคนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น การลงไปของรัฐมนตรีในพื้นที่ต่างๆ จะช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเร่งขับเคลื่อนแก้ปัญหาให้ในพื้นที่ ตลอดจนวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมากขึ้นต่อไป" รองเลขาฯ นายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง