"วิษณุ" แจงผลหารือ "พรรคร่วมรัฐบาล-กกต." ยังมีบางประเด็นไม่ลงตัวในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และพรรคการเมือง เผยไทม์ไลน์ร่าง รบ.ชงเข้า ครม. 28 ธ.ค.นี้ ประธานวิปรัฐบาลเหน็บสภาล่มเพราะมีเงาดำทับหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหมอสูตินรีฯ รองประธานสภาหนักใจ วอนฝ่ายค้านอย่าเล่นเกมทุกเรื่อง
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคร่วมรัฐบาล เกี่ยวกับการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองว่า ได้เห็นความแตกต่างระหว่างร่างของ กกต.และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ยังไม่สามารถทำให้สามารถกลมกลืนกันในเวลานี้ได้ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลขอให้ร่างของรัฐบาลเขียนหลักการที่กว้างไว้ เพื่อสามารถนำไปถกเถียงในชั้นกรรมาธิการได้ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นชอบและมีการตั้งคำถามว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ เนื่องจากการแก้ไขในหลายมาตราที่ต้องเพิ่มงบประมาณ เช่น การเพิ่มหน่วยเลือกตั้ง
"ผมรับจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ขณะที่ประเด็นที่ยังเห็นต่างกันอยู่นั้น กกต.เขาแก้ไขเฉพาะที่เขียนกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ถือว่าเมื่อจะแก้แล้วอะไรที่แม้จะไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแต่ที่เป็นปัญหาก็อยากจะแก้ไปด้วย เช่น ค่าสมัครสมาชิกพรรค เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นไรต่างคนต่างเสนอและไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการ ส่วนประเด็นเรื่องเบอร์ที่ใช้ในบัตรเลือกตั้งที่จะมีความเห็นต่างกันนั้นก็ให้ว่ากันในสภา"
นายวิษณุกล่าวว่า ในที่หารือยังได้พูดถึงไทม์ไลน์คร่าวๆ ว่า กกต.จะนำร่างของ กกต.เสนอต่อที่ประชุม กกต.ชุดใหญ่ในช่วงบ่ายวันที่ 20 ธ.ค.นี้ และจะเสนออย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ธ.ค.เพื่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 ธ.ค. โดยระหว่างนี้จะนำร่างของ กกต.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานจะได้ไม่เสียเวลา และไทม์ไลน์ที่ชัดเจนจะออกมาหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าจะเข้าสภาวันไหนอย่างไรและน่าจะเสร็จเมื่อไหร่ แต่ที่สุดแล้วน่าจะมีผลประกาศใช้ไม่เกินเดือน ก.ค.65
นายวิเชียร ชวลิต รองประธานวิปรัฐบาลและ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป กกต.จะพิจารณารับรองและนำร่างส่งรัฐบาลเพื่อให้ ครม.เห็นชอบ จากนั้นส่งไปสภาต่อไป โดยวันพฤหัสบดีนี้จะยื่นต่อประธานสภาเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาในนามของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนช่วงเวลาในการพิจารณา พ.ร.ป.นั้น สภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 6 เดือน หรือ 180 วัน ถ้าเกินจากนี้ก็ต้องกลับไปใช้ร่างที่เสนอ แต่ถ้าผ่านต้องส่งไปให้ศาลฎีกา, ศาล รธน.หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณา คาดว่าใช้เวลา 25 วัน รวมแล้วก็คงประมาณ 2 เดือน กฎหมายกำหนดช่วงเวลาไว้ยาวสุดไม่เกิน 8 เดือน
ทั้งนี้ คาดว่าประมาณ ก.ค.น่าจะเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน ดังนั้นการพิจารณาจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสภา ส่วนที่เกรงว่าระหว่างนี้จะเกิดอุบัติเหตุรัฐบาลคว่ำกระดานนั้น ตนตอบแทนรัฐบาลไม่ได้ แต่ในกระบวนการบัญญัติกฎหมายมีกรอบเวลาอย่างนั้น และเชื่อว่า ส.ส.คงไม่ประสงค์ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น และที่สภาล่มบ่อยก็เป็นเรื่องเกมการเมืองของสมาชิก ไม่ใช่ว่าสภาล่มแล้วจะทำให้ยุบสภาเพราะเป็นคนละเรื่องกัน
เมื่อถามว่า แต่การแก้ไขปัญหาสภาล่มก็ทำลำบากเพราะเสียงเหลื่อมกันไม่มากนัก นายวิเชียรกล่าวว่า ต้องนับว่าเสียงข้างมากเป็นผู้รักษาองค์ประชุม ซึ่ง ส.ส.รัฐบาลมีเกินกว่าองค์ประชุมกึ่งหนึ่งเพียง 29 เสียง เพราะฉะนั้นมีตัวเลขเหลื่อมอยู่ 29 ถ้าฝ่ายค้านไม่มาร่วมประชุม หรือใช้เกมการเมืองไม่แสดงตน สิ่งที่ตามมาคือการลาป่วย ขาดประชุม ของฝั่งรัฐบาลก็เป็นภาระมากพอสมควร แต่ต้องเข้าใจว่าการเสนอกฎหมายเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล หรือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล แต่การประชุมสภาทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่หน้าที่ฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้นจะมีฝ่ายค้านไว้ทำไม บางอย่างเป็นสิ่งต้องทำงานร่วมกัน ถือเป็นภาระหน้าที่ของ ส.ส.ทุกคน ส่วน กม.รัฐบาลเสนอในนามวิปฯ เรารักษาองค์ประชุมแน่นอน
ด้านนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่สภาล่มเมื่อวันพุธที่ 15 ธ.ค.เนื่องจากมีปัญหาทางเทคนิค ส่วนการประชุมในศุกร์ที่ 17 ธ.ค.เป็นความคิดของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่มีความคิดให้ประชุมเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ขัดข้องแต่เกรงจะมีปัญหาเรื่องการประชุม ซึ่งนายชวนบอกว่าไม่ต้องกังวลเพราะเป็นเรื่องของสภา และให้ตนไปคุยกับฝ่ายค้าน ซึ่งได้หารือกับนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเห็นด้วยกับการประชุมในวันศุกร์ เพื่อพิจารณาเรื่องของกรรมาธิการที่พิจารณาเสร็จแล้วเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และได้มีการประชุม แต่เหตุการณ์สภาล่มวันศุกร์ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ยืนยันรัฐบาลเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ขณะที่ฝ่ายค้านมี 14 เสียง
"ผมไม่ขอถกเถียงเรื่ององค์ประชุมว่าควรจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพราะไม่แน่ใจว่าชุดความคิดแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ และไม่ทราบว่ามีเงาของใครทอดยาวมาถึงหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะปกติหมอชลน่านเป็นคนอ่อนโยน จิตใจละมุน เพราะเป็นสูตินรีแพทย์ มีความละเอียดอ่อน ทั้งนี้คำว่ามีเงาทอดยาวมาทับหมอชลน่านหลายครั้ง ซึ่งล่าสุดหมอชลน่านได้ออกมาแถลงข่าว เพราะคงนึกได้ว่าเคยพูดคุยกับผมไว้อย่างไร"
นายนิโรธยังยืนยันว่า ปัญหาสภาล่มไม่ทำให้เกิดการยุบสภาเพราะเสถียรภาพรัฐบาลยังดีอยู่ และการยุบสภาเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร แต่การประชุมสภาเป็นอำนาจนิติบัญญัติซึ่งเป็นบ้านของ ส.ส.ทุกคน ไม่แน่ใจว่าคิดถูกหรือผิดที่พูดเช่นนั้น
ขณะที่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย คนที่ 2 กล่าวถึงปัญหาองค์ประชุมล่มว่า เป็นเรื่องปกติของสภาผู้แทนราษฎร ทุกยุคทุกสมัย ไม่ได้เป็นเฉพาะสภานี้ ส่วนการประชุมวันศุกร์ที่ล่มเป็นเพราะ ส.ส.หลายคนติดภารกิจในพื้นที่ เนื่องจากปกติแล้วจะมีการประชุมสภา 2 วัน คือวันพุธและพฤหัสบดี แต่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องการให้สภาชุดนี้มีผลงาน จึงเพิ่มประชุมวันศุกร์อีก 1 วัน แต่ไม่ได้นัดหมายวางวาระล่วงหน้า ทำให้สมาชิกบางคนติดภารกิจนัดหมายกับชาวบ้านไว้แล้ว และสำหรับ ส.ส.ต้องไม่ผิดคำสัญญากับชาวบ้าน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้วันศุกร์ที่ผ่านมาสภาล่ม ต่างจากวันพุธหรือพฤหัสฯ ที่ไม่เคยมีปัญหา แต่สัปดาห์นี้คิดว่าคงไม่มีปัญหาแล้ว เนื่องจากประธานสภาได้ลงวาระนัดหมายล่วงหน้าไว้แล้ว
ส่วนที่ประชุมสภาล่ม 4 ครั้งในสมัยเดียวนั้น นายศุภชัยกล่าวว่า ส่วนตัวมองเป็นเรื่องธรรมดา แม้ฝ่ายค้านจะอ้างว่าหน้าที่รักษาองค์ประชุมเป็นของรัฐบาล แต่โดยหลักการหน้าที่ในการรักษาองค์ประชุมเป็นของ ส.ส.ทุกคน ซึ่งตนก็เข้าใจฝ่ายค้านที่ในสมัยก่อนไม่ยอมแสดงตน ทำให้องค์ประชุมล่ม มาจากความไม่พอใจในกฎหมาย หรือเรื่องของรัฐบาลที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย แต่โหวตอย่างไรก็แพ้ ฝ่ายค้านก็จะใช้วิธีการวอล์กเอาต์บ้าง ไม่แสดงตนบ้าง แต่ช่วงนี้ค่อนข้างถี่เล่นกันทุกเรื่อง ซึ่งตนยอมรับว่าหนักใจ
"ความจริงแล้วหากจะเล่นเกมนี้ต้องเอาไว้วาระสำคัญของรัฐบาล จึงจะเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ แต่หากเล่นทุกเรื่องก็หนักใจว่าจะทำงานต่อไปได้อย่างไร"
นายศุภชัยยังกล่าวต่อด้วยว่า ฝ่ายรัฐบาลต้องมีหน้าที่ในการรักษาองค์ประชุม เพราะขณะนี้เสียงของรัฐบาลก็เกินกึ่งหนึ่งไปมากพอสมควร หากมาประชุมอย่างพร้อมเพรียงไม่มีทางทำให้สภาล่ม และวิปรัฐบาลควรจะทำงานอย่างเข้มแข็ง พูดคุยกัน หากเรื่องใดฝ่ายค้านขอ ให้ได้ก็ควรจะให้ พึ่งพาอาศัยกันโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมเชื่อว่ามันแก้ไขได้
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าตอนนี้รัฐบาลยังทำงานไม่เข้มแข็งพอใช่หรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่าตนรู้สึกแบบนั้น การประสานงานยังไม่ค่อยดีพอ ถ้าประสานกันดีพอองค์ประชุมคงไม่ล่ม เมื่อถามย้ำว่าเป็นเพราะนายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่หรือไม่ นายศุภชัยไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ ก่อนจะตัดบทจบการสัมภาษณ์
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงเหตุการณ์สภาผู้แทนราษฎรล่มอยู่บ่อยครั้งว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุองค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ครบ ทำให้ต้องมีการปิดประชุมอย่างกะทันหันหลายครั้งหรือสภาล่มซ้ำซาก หากนับรวมระยะเวลา 2 ปีของรัฐบาลนี้ มีเหตุการณ์สภาล่มมาแล้ว 12 ครั้ง ตั้งแต่การเปิดสมัยประชุมสภามา 2 เดือน สภาล่มมาแล้วถึง 4 ครั้ง ซึ่งมักจะเป็นในการพิจารณาวาระสำคัญเกี่ยวกับประชาชนทั้งสิ้น การที่องค์ประชุมไม่ครบแล้วทำให้สภาล่ม เป็นปัญหาอย่างมีนัยสำคัญของสภา เพราะแสดงให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล ถ้า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถทำหน้าที่รักษาองค์ประชุมได้ ก็ไม่ควรอยู่เป็นรัฐบาลรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอีก
“อยากเตือนให้รัฐบาลทราบว่า การเป็นรัฐบาลไม่ใช่แค่การรวบรวม ส.ส.เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วได้นายกรัฐมนตรีเป็น พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่ต้องทำหน้าที่ที่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญด้วย ระวังทำแบบนี้บ่อยๆ ประชาชนจะไม่ให้โอกาสท่านอีกในการเลือกตั้งครั้งหน้า” นางสาวธีรรัตน์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ