“เศรษฐา” เตรียมแถลงใหญ่ 28 พ.ย.แก้หนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ส่วนหนี้ในระบบแถลง 12 ธ.ค. ฝันลดหนี้ครัวเรือนจาก 90% ต่อจีดีพีเหลือ 80% พาณิชย์เปิดตัวเลขส่งออกเดือนตุลาคม ยิ้มโตต่อเนื่อง 8% สูงสุดรอบ 13 เดือน ฝันลากยาวจนถึงปีหน้า “ดนุชา” ปูดปรับเงินเดือนข้าราชการไม่ทำทั้งระบบ เน้นเฉพาะผู้มาใหม่ที่ได้เฮใกล้เคียงเอกชน “องอาจ” ซัดดิจิทัล วอลเล็ตสะท้อนความไม่พร้อมรัฐบาล หมอวรงค์ชี้มีสัญญาณล่มปากอ่าว หลังให้สาวกสวมเสื้อเรียกร้องเงินหมื่น
เมื่อวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจประเทศไทย 2567” ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ประมาณการไว้ที่ 3.2% แต่ยังไม่รวมมาตรการอื่นๆ ที่ภาครัฐพยายามทยอยออกมา ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้เบื้องต้นประเมินไว้ที่ 2.7% แต่หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2566 ที่ออกมาล่าสุดนั้นคงต้องปรับประมาณการใหม่อีกครั้ง
“จีดีพีปีหน้าที่ 3.2% ยังไม่รวมมาตรการที่จะออกมา โดยนายกรัฐมนตรีระบุอยากให้เติบโตได้ 5% เป็นสิ่งที่ต้องมาคิดและทำเพิ่มเติมว่าจะมีมาตรการอะไรบ้าง หลายมาตรการอยู่ระหว่างการออกแบบ ต้องดูประสิทธิภาพของมาตรการจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และต้องดูเครื่องจักรอื่นๆ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐจากงบประมาณปี 2567 ที่ออกมาล่าช้า คาดว่าจะได้ เม.ย.-ต้น พ.ค. ต้องมาติดตามการเร่งการใช้จ่ายด้วย” นายกฤษฎากล่าว
สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะมาจากการท่องเที่ยว แม้ปัจจุบันยังฟื้นตัวช้าและอาจปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาไทย 27-28 ล้านคน และปี 2567 ที่ 34 ล้านคน ส่วนเสถียรภาพภายในประเทศยืนยันว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งในปี 2567 คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.5% ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยหากราคาพลังงานมีแนวโน้มในระดับปัจจุบันหรืออ่อนตัวลง แรงกดดันต่อเงินเฟ้อน่าจะลดลงด้วย
นายกฤษฎากล่าวต่อว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อ ทั้งภูมิอากาศ ภัยพิบัติ ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องต่ออุปทาน ราคาสินค้าเกษตร รวมถึงต้องติดตามเงินเฟ้อจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค ด้านเสถียรภาพด้านการคลังยืนยันว่า เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบการเงินแข็งแกร่ง สิ้นไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 19.9% สูงกว่าที่เกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดที่ต้องดำรงไม่น้อยกว่า 8.5% ส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปัจจุบันอยู่ที่ 62% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่น่าห่วง
“ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนมาก โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกยังเติบโตไม่สม่ำเสมอ ดอกเบี้ยยังสูง ทำให้ตลาดการเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุนผันผวนสูง ขณะที่ในประเทศยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงการผลิต ความเสี่ยงเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ 20% ของประชากรเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจะนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะเกษตรและบริการ ภาคเกษตรอายุเฉลี่ยเกิน 50 ปี และเมื่อจำนวนแรงงานลดลง ฐานรายได้ซึ่งเป็นประเด็นในเรื่องการจัดเก็บรายได้จะลดลง” นายกฤษฎากล่าวและว่า การลงทุนภาครัฐของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่า 25% ต่อจีดีพีมานานกว่า 20 ปี ก็เป็นความเสี่ยงโครงสร้างของไทย
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90% ต่อจีดีพี ทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนไม่สะดวก ทั้งการออม การลงทุน การจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นในวันที่ 28 พ.ย.นี้ รัฐบาลจะออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และในวันที่ 12 ธ.ค.จะมีมาตรการสำหรับในระบบออกมาด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้หนี้นอกระบบของไทยปรับลดลง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้หนี้ครัวเรือนเหลือไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี ส่วนนโยบายตั้ง AMC แก้หนี้ครัวเรือนนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินงาน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะร่วมกันดำเนินการ ซึ่งต้องรอติดตาม โดยคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในเร็วๆ นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง จะเป็นประธานการแถลงข่าวเรื่องแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เวลา 11.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงด้วย โดยประเด็นการแถลงข่าวนั้นคาดเป็นการนำเสนอแนวทางการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ และมาตรการของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน โดยกำหนดให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ
ขรก.ใหม่มีเฮเงินเดือนใหม่
ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวตอนหนึ่งในการรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2566 ถึงการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการว่า ต้องรอติดตามว่าจะนำเสนอเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 พ.ย.หรือในสัปดาห์หน้าหรือไม่ โดยเชื่อว่าการปรับอัตราเงินเดือนรอบใหม่จะไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ แต่อาจดูไปที่ระดับข้าราชการเข้าใหม่แรกบรรจุ ที่มีฐานเงินเดือนอาจจะต่ำเมื่อเทียบกับเงินเดือนภาคเอกชน แต่ทั้งหมดคงต้องรอรายละเอียดและวิธีการเข้า ครม.ก่อน แต่ในแง่การช่วยยืนยันว่าจะไม่ได้ทำทั้งระบบ
“การทำช่องว่างทางการคลังเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งถือเป็นการจัดลำดับการใช้จ่าย ขยายฐานรายได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ ซึ่งต้องทำให้ช่องว่างทางการคลังขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่รายจ่ายสวัสดิการต่างๆ พบว่ามีรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการของรัฐที่ออกมาในช่วงที่แล้ว โดยมาตรการบางตัวอาจต้องทำควบคู่กันไปกับการสร้างความสามารถรายได้ของบุคคลให้มีรายได้มากขึ้นด้วย” นายดนุชาระบุ
นายดนุชายังกล่าวถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ว่า สถานการณ์การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน 40.1 ล้านคน ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัว 2% ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1% โดยเฉพาะสาขาโรงแรม/ภัตตาคารที่ขยายตัว 8.3% ส่วนชั่วโมงการทำงานของแรงงานปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 42.4 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 0.2% และชั่วโมงการทำงานในภาคเอกชนอยู่ที่ 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 1.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาที่ลดลงมาอยู่ที่ 6.6 ล้านคน หรือลดลง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีผู้เสมือนว่างงาน 2.2 ล้านคน แต่เพิ่มขึ้น 24.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้เสมือนว่างงาน 1.9 ล้านคน และผู้ทำงานต่ำระดับมีจำนวน 2 แสนคน ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ด้านค่าจ้างแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 ค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมอยู่ที่ 15,367 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3 อยู่ที่ 0.99% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 โดยมีผู้ว่างงาน 4.01 แสนคน ทั้งนี้แม้จำนวนผู้ว่างงานจะลดลง ทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนและกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และการว่างงานลดลงเกือบทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มอายุน้อยยังคงมีอัตราการว่างงานสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น และผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่มที่มีผู้ว่างงานสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในขณะที่จำนวนผู้ว่างงานระยะยาวลดลงต่อเนื่อง
“ประเด็นแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ คือ 1.การยกระดับผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรกรรม เนื่องจากภาคเกษตรกรรมของไทยรองรับแรงงาน 1 ใน 3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด แต่มีสัดส่วนจีดีพีเพียง 6.3% และอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นต่ำที่สุดในอาเซียน 2.การหดตัวของการส่งออกที่อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิต และ 3.ระดับราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ”
ส่งออกโต 3 เดือนติด!
ขณะเดียวกัน นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) แถลงตัวเลขการส่งออกเดือน ต.ค. 2566 ว่ามีมูลค่า 23,578.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8% เป็นบวกต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกันและสูงสุดในรอบ 13 เดือน นับจากเดือน ก.ย. 2565 และเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 841,365.8 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 24,411.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.2% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 881,124.2 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 832.3 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 39,758.4 ล้านบาท รวมการส่งออก 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 236,648.2 ล้านดอลลาร์ ลดลง 2.7% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 8,109,765.6 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 243,313.2 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.6% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 8,439267.8 ล้านบาท ทำให้ขาดดุลการค้ามูลค่า 6,665.0 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 329,502.1 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 9.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยสินค้าเกษตรเพิ่ม 12.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่ม 5.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน แต่เมื่อรวม 10 เดือนปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลง 1% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 5.4% แต่ 10 เดือนของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังลด 2.8%
ด้านการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญมีสัญญาณการฟื้นตัว โดยตลาดหลักเพิ่ม 5.1% โดยตลาดสหรัฐฯ เพิ่ม 13.8% จีนเพิ่ม 3.4% และอาเซียนเพิ่ม 16.5% ส่วนญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และ CLMV ลด 1.1%, 1.4% และ 9.7% ตามลำดับ ตลาดรองเพิ่ม 10.6% โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ 7.2% ทวีปออสเตรเลีย 13.7% แอฟริกา 24.5% ลาตินอเมริกา 8.6% และรัสเซียและกลุ่ม CIS 77.2% ส่วนตะวันออกกลางและสหราชอาณาจักรลด 3% และ 11.4% ขณะที่ตลาดอื่นๆ เพิ่ม 109.6% เช่น สวิตเซอร์แลนด์เพิ่ม 135.1%
นายกีรติกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือน คือ พ.ย.-ธ.ค. 2566 คาดว่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ และทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้ติดลบน้อยลง จากปัจจุบันที่ 10 เดือน ติดลบ 2.7% โดยคาดว่าจะติดลบประมาณ 1% หรือ 1% นิดๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่หลายสำนักได้คาดการณ์เอาไว้ แต่จะให้กลับมาเป็นบวกคงยากเพราะได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะการร่วมมือกับภาคเอกชนในการบุกเจาะตลาด การแก้ไขปัญหาทางการค้า ทำให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นมาได้ต่อเนื่อง
“เป้าหมายการส่งออกปี 2567 เบื้องต้นได้กำหนดไว้ที่ประมาณ 2% หลังจากที่ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนและผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้ว แต่ตัวเลขที่เป็นเป้าหมายจริง ต้องรอผลการส่งออกที่เหลืออีก 2 เดือนก่อน โดยจะประกาศได้ประมาณเดือน ม.ค. 2567”
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนส่งผลต่อการส่งออกอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การส่งออกเป็นบวกมาได้ 3 เดือนติดต่อกัน และมั่นใจว่าการส่งออกอีก 2 เดือนที่เหลือจะเป็นบวกต่อเนื่อง และดีขึ้นไปจนถึงปีหน้า โดยคาดว่าการส่งออกไตรมาส 4 น่าจะบวกได้ถึง 7% ทำให้ยอดทั้งปีเหลือติดลบ 1%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกเดือน ต.ค. 2566 ที่เพิ่มขึ้น 8% เป็นการกลับมาเป็นบวกต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน หลังจากที่ก่อนหน้านี้การส่งออกติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 10 เดือนติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 ที่ลดลง 4.2%, พ.ย. 2565 ลดลง 5.6%, ธ.ค. 2565 ลด 14.3%, ม.ค. 2566 ลด 4.6%, ก.พ. 2566 ลด 4.8%, มี.ค. ลด 4.2%, เม.ย. 2566 ลด 7.7%, พ.ค.ลด 4.6%, มิ.ย.ลด 6.5% ก.ค.ลด 6.2% และกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในเดือนส.ค. 2566 ที่ 2.6% ก.ย. เพิ่ม 2.1%
‘องอาจ-วรงค์’ ซัดเงินดิจิทัล
วันเดียวกัน ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 10,000 บาท โดยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ระบุว่าการยื่นร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาทให้กฤษฎีกาล่าช้า เป็นเพราะรัฐบาลรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายว่า การรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่กระทำได้ แต่ความล่าช้าในเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย แต่เพราะรัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมศึกษามาอย่างละเอียดรอบคอบ ตั้งแต่ประกาศเป็นนโยบายสำคัญใช้หาเสียงเลือกตั้ง พอมาเป็นรัฐบาลจึงไม่สามารถลงมือทำทันที รัฐบาลยังมะงุมมะงาหราไม่รู้จะเดินหน้ายังไง ทั้งเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะกู้เงินหรือใช้งบประมาณปกติ หรือใช้เงินจากออมสิน รวมไปถึงวิธีการดำเนินงานก็ไม่ชัดเจนว่าจะใช้แบบไหน การแจกเงินดิจิทัลจะผิดกฎหมายหรือไม่
“เมื่อล่าช้ามาถึงขนาดนี้แล้ว ยังไม่รู้ว่าจะแจกได้เมื่อไหร่ ก็ขอฝากนายกฯ เศรษฐา ทำให้รอบคอบ โดยยึดหลัก 1.ไม่มีเรื่องทุจริต 2.ไม่ทำผิดกฎหมาย และ 3.ไม่ทำลายหลักการและวิธีการที่ถูกต้อง จะมีส่วนช่วยทำให้นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเดินหน้าได้ในที่สุด” นายองอาจระบุ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ภาพที่มวลชนใส่เสื้อยืดขาว สกรีนแดง ข้อความเรียกร้องเงินดิจิทัล 10,000 บาท คือสัญญาณบ่งบอกว่าโครงการนี้กำลังไปไม่รอด โดยสิ่งที่จะคว่ำนโยบายนี้คือ 1.การแจกเงินดิจิทัลไม่ตอบโจทย์ประชาชน เพราะประชาชนต้องการเงินสด (เงินชั้นหนึ่ง) แต่ท่านแจกเป็นเงินชั้นสอง (เงินดิจิทัล) ไม่ตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย เพราะแม้ขายได้ก็ขึ้นเงินไม่ได้ หรือถ้าขึ้นเงินได้ก็ต้องรอนานถึง6 เดือนถึงขึ้นเป็นเงินสด แบบนี้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยลำบาก เท่ากับว่าท่านกำลังช่วยนายทุนใหญ่ แต่เอาประชาชนคนจนมาอ้าง ไม่ต่างจากโครงการจำนำข้าว 2.ขัดหลักกฎหมายที่กำลังถกเถียงเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้ง พ.ร.บ.เงินตราที่ท่านจะกู้เงินชั้นหนึ่ง แต่มาแจกเป็นเงินชั้นสอง (เงินดิจิทัล) ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก หรืออาจตกตั้งแต่ชั้นกฤษฎีกา และ 3.ปัญหาทางเทคโนโลยี ในขณะที่ ธปท.ได้ทดลองใช้เงินดิจิทัล (CBDC) และศึกษากับการใช้ในรายย่อยมานับปีแล้ว มีบทสรุปว่าไม่ควรนำมาใช้วงกว้าง เพราะอาจมีความเสี่ยง แล้วรัฐบาลเพิ่งจะมามีประสบการณ์ทดสอบหรือยัง และจะใช้ทันที 50 ล้านคน มันจึงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการที่มีมวลชนออกมาเรียกร้องต้องการเงินดิจิทัล จึงเป็นลูกไม้ตื้นๆ ของพรรคเพื่อไทยในการเล่นละครตบตาประชาชน เพราะรู้ว่าโครงการนี้ใกล้ถึงจุดจบและไปไม่รอดแน่ๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท