เล็งชงศาลรธน. เคาะประชามติ จำนวนเท่าไหร่!

กกต.โนคอมเมนต์ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายประชามติ บอกเป็นแค่ผู้ปฏิบัติการ เผยงวดใหม่อาจใช้งบถึง 3 พันล้านบาทจัดทำ “ภูมิธรรม” แพลมอาจต้องชงศาลรัฐธรรมนูญตีความปมประชามติว่าต้องทำกี่ครั้งแน่ “รังสิมันต์” ชี้เรื่องนิรโทษกรรมต้องให้ทุกฝ่ายหนุน “ครป.” แนะทำพร้อมรื้อรัฐธรรมนูญ เชื่อไม่ซ้ำรอยเหมาเข่ง

เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พ.ย.2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงข้อเสนอการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 13 เกี่ยวกับจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงต้องออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง และต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากผู้มาใช้สิทธิ ว่า การทำประชามติ สำนักงาน กกต.ได้ติดตามเชิงคู่ขนาน เพราะบางครั้งต้องไปชี้แจงประเด็นต่างๆ ส่วนการแก้กฎหมายประชามติเรื่องจำนวนผู้มาใช้สิทธิและจำนวนเสียงนั้น กกต.ไม่มีความเห็น เพียงแต่ติดตามความเคลื่อนไหวว่าจะมีประชามติหรือไม่ หรือให้มีประชามติช่วงใด ในฐานะฝ่ายปฏิบัติ เรามีความพร้อมไม่ว่าจะมีประชามติเมื่อใด 

“งบประมาณที่ใช้จัดทำประชามติจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยการทำประชามติครั้งที่ผ่านมาใช้งบประมาณ 2,700 ล้านบาท แต่ประชามติครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คาดว่าจะใช้ 3,000 ล้านบาท”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 กล่าวภายหลังการประชุมว่า ได้มีการรายงานความคืบหน้า โดยเริ่มจากคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ที่มีนายนิกร จำนง เป็นประธาน ซึ่งได้ดำเนินการไปพอสมควร โดยจะเร่งสรุปความคิดเห็นทั้งหมด ส่วนความเห็นต่างจะบันทึกข้อคิดเห็นนั้นด้วย เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลทั้งหมดเพื่อตัดสินใจ ส่วนคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ที่มีนายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธาน ที่ได้ศึกษาว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง จะเลือกทางเดินในการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เกี่ยวกับวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกันมาก โดยจะให้อนุกรรมการฯ ชุดนายวุฒิสารไปศึกษาให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติให้ทำจดหมายไปยัง กกต.ชุดใหญ่ เพื่อสอบถามความเห็นเรื่องเกี่ยวกับการทำประชามติ เพราะก่อนหน้านี้คุยกับเลขาธิการ กกต.ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปในทางกฎหมาย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังต้องการทราบว่าองค์กรใดมีอำนาจยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับการทำประชามติ เพราะหากไม่ชัดเจนอาจทำให้ศาลไม่สามารถตีความได้ จึงมีความเห็นอยากให้สภาเสนอตีความตรงนี้ โดยปรึกษาประธานสภาฯ ให้ใช้เป็นเงื่อนไข ซึ่งเราจะเสนอผ่านพรรคการเมืองที่อยู่ในที่ประชุมของเราไปปรึกษาหารือกัน

เมื่อถามว่า ที่เสนอให้สภาเสนอศาลรัฐธรรมนูญนั้นคือประเด็นอะไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับความชัดเจนในการทำประชามติ และกฎหมายประชามติต้องทำกี่ครั้ง และทำอย่างไร รวมถึงทำกับกฎหมายเลือกตั้งอื่นได้หรือไม่ และทำประชามติผ่านเทคโนโลยีได้หรือไม่

“ประเด็นสำคัญคืออยู่ที่ว่าถ้าจะทำรัฐธรรมนูญต้องถามองค์ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก่อน ซึ่งนำมาสู่จะต้องทำประชามติ 2-3 ครั้ง ถือเป็นประเด็นสำคัญ”

เมื่อถามย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาให้หรือไม่ เพราะไม่ได้มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา นายภูมิธรรมกล่าวว่า ถ้ามีความขัดแย้งในสภาว่าจะทำ 2 หรือ 3 ครั้ง แล้วยังไม่ได้ข้อยุติ เป็นอำนาจหน้าที่ที่สภาต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เราไม่ได้คิดว่าท่านเป็นที่ปรึกษา แต่หากเป็นข้อขัดแย้งที่หาข้อยุติไม่ได้ก็ต้องเสนอ

เมื่อถามต่อว่า กระบวนการต่างๆ ที่ตั้งเพิ่มขึ้น จะกระทบไทม์ไลน์ที่จะสรุปข้อเสนอให้ ครม.ในต้นปีหน้าหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า คณะกรรมการฯ มุ่งมั่นตามไทม์ไลน์เดิมที่เราประกาศ และพยายามทำให้ถึงเงื่อนไขตรงนั้นให้ได้ แต่ถ้าถึงจุดสุดท้ายแล้ว ถ้ามีปัญหาอะไรเราก็จะชี้แจงให้ทราบ

วันเดียวกัน นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมคณะได้เดินทางไปพบกับนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม และอดีตแนวร่วมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อหารือและขอเสียงสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองของพรรค ก.ก.ว่า ถามนายชัยธวัชได้ไหม หรือถามโฆษกพรรคได้ไหม ยังไม่ได้ดูในรายละเอียดข้อเท็จจริง อันไหนที่ตอบได้ก็จะตอบ

“เราอยากให้ร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา เราคงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนตั้งแต่ในชั้นสภา การรณรงค์ทางความคิด เพื่อให้สังคมทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกก้อน ช่วยกันสนับสนุนร่างนี้ ก็มีความจำเป็นอยู่แล้ว วันนี้ถ้าสังคมไทยจะเดินหน้า คุณต้องนิรโทษกรรม คุณจะปล่อยให้เด็ก เยาวชน ที่ถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะมาตรา 112 มาตรา 116 ต่อไปเรื่อยๆ เหรอ” นายรังสิมันต์กล่าว

ส่วนที่มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม และเครือข่าย มีการประชุมสานเสวนาสมานไมตรีเพื่อการปรองดองและลดความขัดแย้งทางสังคม โดยมีแกนนำภาคประชาชนและผู้แทนพรรคการเมืองเข้าร่วม โดยเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เสนอต่อที่ประชุมเพื่อผลักดันการนิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อการปรองดองแห่งชาติ โดยระบุว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว คู่ขนานไปกับการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จในวาระของรัฐบาลนี้

“รัฐบาลไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดการต่อต้านเหมือนในสมัย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เพราะเงื่อนไขของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ พ้นไปแล้ว เหลือแต่การนิรโทษกรรมคดีการเมืองแก่ประชาชนเท่านั้น ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมสนับสนุนเต็มที่” นายเมธากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา

กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ

เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่

"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน

‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’

ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ