ศาลชี้ชะตารักชนก29พย. ตีตกปมแถลงนโยบายรบ.

"เศรษฐา" มองเป็นเรื่องสามัคคี ไม่สื่อสารด้อยค่า "ธนาธร"  ประกาศสัมพันธ์ "เพื่อไทย-ทักษิณ" เป็นมิตรกัน จับตาคดีหุ้นพิธา-ก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง นัดไต่สวนพยานเดือน ธ.ค. ขณะที่มติศาล รธน.ตีตกคำร้อง ป.ป.ช. ปมขอวินิจฉัยไม่เปิดเอกสารตาม  พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร คาดเกี่ยวกับผลสอบนาฬิกาหรู "บิ๊กป้อม" พิษบ่อขยะรัดคอ กมธ.อุตฯ ฮึ่ม ยื่น ป.ป.ช.แน่หากพบหลักฐานมัดตัวเด็กเบญจาเอี่ยวส่วย

เมื่อวันพุธ เวลา 09.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายธนาธร  จึงรุ่งเรืองกิจ  ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่าตนเองกับพรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นมิตรกัน ว่า “ผมเน้นคำว่าเป็นมิตร ผมเน้นเรื่องความสมัครสมานสามัคคี ผมเน้นเรื่องการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่เป็นการด้อยค่า  ใช้คำพูดใช้คำแนะนำในเชิงสร้างสรรค์   ผมจึงพยายามจำคำว่าเป็นมิตร”

วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่าการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีโดยผู้ถูกร้องต่อรัฐสภา มิได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย   เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องในการได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 (1) การแถลงนโยบายดังกล่าวใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เป็นการใช้อำนาจในทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับรัฐสภา อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล ประกอบกับนายเรืองไกรไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของคณะรัฐมนตรี

จับตาคดีหุ้นพิธา-ม.112

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง  และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปราย และเห็นควรไต่สวนพยานบุคคลต่อไป จึงกำหนดวันนัดไต่สวนพยานบุคคลในวันที่ 25 ธ.ค. เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6)ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)​ ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ

ซึ่งคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา และสั่งให้นายพิธาผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.นับแต่วันที่ 19 ก.ค.2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ต่อมานายพิธายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชีระบุพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ ฉบับลงวันที่ 2 ต.ค. 2566 และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 ต.ค.2566 ศาลได้มีการอภิปรายและเห็นควรไต่สวนพยานบุคคลต่อไป จึงกำหนดวันนัดไต่สวนพยานบุคคลในวันพุธที่ 20 ธ.ค.2566 เวลา 09.30 น.

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550  มาตรา 14 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่ โดยศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของจำเลย น.ส.รักชนก ศรีนอก ในคดีอาญา หมายเลขดำที่  อ 683/2565 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 29 พ.ย.66 เวลา 09.30 น.

ตีตก ป.ป.ช.ไม่เปิดนาฬิกาหรู

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป ป.ช.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีมีมติมิให้เปิดเผย ข้อมูลข่าวสาร โดยอาศัยบทบัญญัติของพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นหน้าที่และอำนาจ เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 และมาตรา 63 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 36 และมาตรา 180 ที่กฎหมายบัญญัติไว้ เป็นการเฉพาะ

ต่อมามีการโต้แย้งอำนาจดังกล่าว ป.ป.ช.จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้องค์กรอิสระมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจระหว่างองค์กรอิสระตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ซึ่งการยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรง หรือมีการกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) และ (4) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28 กรณีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งมิใช่หน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช.ผู้ร้อง ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรง บุคคลใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ย่อมมีสิทธิขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการดังกล่าว หากมีข้อโต้แย้งประการใด ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา  กรณีตามข้อกล่าวอ้างของ ป.ป.ช. จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำร้องของ ป.ป.ช.ดังกล่าว คาดว่าน่าจะมาจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ ป. ป.ช.เปิดเผยรายงานผลการสอบสวนคดี นาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหาว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 333/2562 แก่นายวีระ สมความคิด  ประธานเครือข่ายต้านคอร์รัปชัน ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษา

ซึ่งต่อมา ป.ป.ช.ได้มีการยื่นคำฟ้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นไม่รับพิจารณาคดีใหม่ โดยเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีมติ 4 ต่อ 1 ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ปฏิบัติ ว่าขัดหรือแย้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 36 และมาตรา 180 หรือไม่

คอพาดเขียงพิษบ่อขยะ

ที่รัฐสภา นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี อดีตสมาชิกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) อุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่ออกมาระบุว่าผู้ช่วยของ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับสินบนบ่อขยะในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ว่าหลักฐานที่เตรียมมานั้นชัดเจน ทั้งเรื่องของรูปแบบกิจการบ่อขยะที่ก่อมลพิษต่อชุมชน ซึ่งต้องชี้แจงต่อ กมธ.ให้ทราบข้อมูลในบางส่วน

ทั้งนี้ นายวุฒิพงศ์กล่าวถึงการหาพรรคเข้าสังกัดใหม่ว่า ตนเหลือเวลาอีกประมาณ 1 สัปดาห์ที่จะหาพรรคสังกัด  เบื้องต้นมีการสกัดตนให้หาพรรคอยู่ไม่ได้  แต่ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกับพรรคการเมือง และตอนนี้มีติดต่อเข้ามามากกว่า 1 พรรค ทั้งที่อยู่ในสภาและไม่ได้อยู่ในสภา  ตนจะตัดสินใจเร็วๆ นี้ เดดไลน์สุดท้ายน่าจะระหว่างวันที่ 26-27 พ.ย. ก็จะสมัครเข้าสมาชิกพรรคเลย

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ทาง กมธ.ตั้งข้อสงสัยว่า ที่มีการพิจารณาเรื่องการคุกคามทางเพศ มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ทางพรรคก้าวไกลมองว่าเป็นคนละเรื่องกันอยู่แล้ว ต้องตัดสินทั้ง 2 เรื่องโดยกรรมการคนละชุด ส่วนเรื่องของผู้ช่วย สส.เรียกรับผลประโยชน์จริงหรือไม่ ขณะนี้กำลังพิจารณาสอบสวนกันอยู่ เป็นการตรวจสอบภายในจากข้อมูลหลักฐานยังไม่ใช่ความผิดที่จะเอาผิดทางกฎหมายได้

นายจิรัฏฐ์ระบุด้วยว่า ซึ่งข้ออ้างของนายวุฒิพงศ์ คือทางผู้ช่วย สส.ไปเรียกค่าที่ดินของตัวเองให้สูงขึ้นกว่าปกติ จากบริษัทบ่อขยะ หากจะผิดจริงก็ผิดในเรื่องจริยธรรมตามที่พรรคได้ระบุไว้ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนที่นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวก่อนจะมีปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศ อาจจะเป็นการกลั่นแกล้งจนทำให้ถูกขับออกจากพรรคนั้น ไม่เป็นความจริง เราอยากให้ความมั่นใจกับนายวุฒิพงศ์ว่าเราไม่มีการกลั่นแกล้งแน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่ทางพรรคจะปกป้องผู้ช่วย สส.ด้วยการขับ สส.ออกจากพรรค

 “หาก น.ส.เบญจาจะกลั่นแกล้งนายวุฒิพงศ์ในเรื่องของการคุกคามทางเพศ เพื่อกลบเรื่องบ่อขยะ น.ส.เบญจาต้องรู้เรื่องการคุกคามทางเพศก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่ๆ อยากให้สบายใจว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้” นายจิรัฏฐ์กล่าว

 ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าว ระบุว่า ยังไม่ทราบว่าโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตนั้นชื่ออะไร หรือบ่อขยะชื่ออะไร หากพบว่ามีหลักฐานหรือมีข้อมูลเรื่องทุจริต ก็จะส่งหลักฐานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อ.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน. แพร่ 'คำวินิจฉัยกลาง' พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง เรื่อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์

นายใหญ่เมินห่วงปมเศรษฐา

“ทักษิณ” ไม่ห่วง “เศรษฐา”  ปมศาล รธน. มั่นใจพา พท.กลับมาผงาดได้ ไม่ขอแตะ “ลุงตู่” หลังมีกระแสคิดถึง