โต้ธปท.ค้านจ่ายไร่ละ1พัน เคาะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ12ธค.

"โฆษกรัฐบาล" โต้ "แบงก์ชาติ" ทุกเม็ด ปมค้านแจกชาวนาไร่ละ 1 พัน ข้องใจปีก่อนทำไมไม่ท้วงติง ไล่ดูแลเฉพาะการเงิน ให้หน่วยงานที่รู้ลึกซึ้งตัดสินใจดีกว่า นายกฯ สั่งเร่งเอาข้าวสายพันธุ์ดีในสต๊อกออกมา ทนไม่ไหวผลผลิตต่อไร่ไทยรั้งบ๊วยอาเซียน แรงงานจ่อเฮ!   ชง ครม.ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 12 ธ.ค.

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21   พฤศจิกายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันที่ 20 พ.ย. ได้หารือกับผู้ประกอบการค้าข้าวรายใหญ่ของประเทศไทย พบปัญหาข้าวไทยผลผลิตต่อไร่ของเราต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่เยอะมาก หนึ่งในเหตุผลคือ ข้าวไทยที่มีการพัฒนาช้า ได้รับการรับรองพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าวที่ล่าช้า ทำให้นำข้าวมาปลูกได้ช้า จึงได้สั่งการ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง รมว.เกษตรฯ ขานรับอย่างดีว่าจะไปดูแลในเรื่องขั้นตอนในการขอพันธุ์ข้าว เพื่อให้ไทยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลข้าวที่ดีและสูงขึ้น ทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน

ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกฯ ได้มีข้อสั่งการในที่ประชุม ครม.ว่า เนื่องจากตัวเลขผลผลิตข้าวเปลือกของไทยเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในเอเชียและอาเซียนด้วยกันแทบจะบ๊วยรั้งท้าย ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัสรายงานว่า ได้เตรียมการแล้วว่าฤดูกาลหน้าจะมีข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่จะตอบสนองต่อการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และคุณภาพข้าวมาแนะนำให้ชาวนาปลูกกัน

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหนังสือให้ความเห็นกลับมายังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่าไม่จำเป็นต้องออกมาตรการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาทว่า เข้าใจว่าเป็นหนังสือจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสอบถามความเห็นไปยัง ธปท. เกี่ยวกับกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 พ.ย.  มีมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้วยการแทรกแซงโดยการซื้อราคานำ และวันที่ 14 พ.ย. มีมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้วยการให้เงินไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งหนังสือเปิดผนึกที่ ธปท. ให้ความเห็นมาว่าเนื่องจากราคาข้าวเปลือกในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ธปท.จึงเห็นว่าการให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาทอาจไม่จำเป็นแล้ว ไม่เหมือนก่อนหน้านี้นั้น

ขอชี้แจงว่า หนังสือที่ ธปท.บอกว่าความจำเป็นน้อยลงแล้ว ความหมายนัยคือ เมื่อเทียบกับเมื่อปีที่แล้ว ฤดูกาลผลิตข้าวนาปี 2565 ในส่วนราคาข้าวเปลือกจ้าว ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว รัฐบาลที่แล้วใช้เงินอุดหนุนช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการต่างๆ ทั้งหมดเกือบ 1.5 แสนล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมีอยู่กว่า 8.6 หมื่นล้านบาท ใช้เพื่อประกันราคาข้าวเปลือก ซึ่งปีที่แล้วราคาไม่ดีเท่าไหร่ โดยรัฐบาลที่แล้วใช้การประกันราคา ซึ่งถ้าราคาต่ำให้มารับส่วนต่างจากรัฐบาล อีกทั้งยังมีการให้เงินสนับสนุนการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าวเช่นเดียวกับรัฐบาลนี้ 

ส่วนที่ ธปท.ระบุความจำเป็นน้อยเพราะปีนี้ข้าวราคาดีนั้น นายชัยกล่าวว่า เงินที่ชาวนาได้จากการขายข้าวเปลือกในปีนี้แม้จะสูงกว่าปีที่แล้ว แต่ปีที่แล้วชาวนาได้เงินอุดหนุนที่มาจากการประกันราคา ซึ่งเมื่อบวกเงินอุดหนุนจากการประกันราคาแล้ว เงินที่ชาวนาขายข้าวได้ ฤดูกาลผลิตปีที่แล้วกับฤดูกาลปีนี้พอๆ กัน แทบไม่ต่างกันเลย เพราะปีนี้ราคาข้าวเปลือกขึ้นรัฐบาลก็ไม่ได้ประกัน เงินที่ได้เพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับปีที่แล้วที่ขายแล้วได้น้อยหน่อย แต่รัฐบาลควักมากว่า 8.6 หมื่นล้านบาท ฉะนั้น รายได้ชาวนาจากการขายข้าว 2 ปีไม่ต่างกันเท่าไหร่             ขณะเดียวกันสิ่งที่แย่กว่าปีที่แล้วคือ ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. จนถึงต้นเดือน พ.ย. ที่รัฐบาลได้มีมติ ครม. 2 มาตรการออกมาช่วยเหลือชาวนา เป็นช่วงเวลาที่ข้าวเปลือกหอมมะลิกำลังจะออกตลาด และราคาข้าวเปลือกหอมมะลิแม้จะมีการประกาศราคาพอๆ กับปีที่แล้ว ตันละ 14,500-15,000 บาท แต่เวลารับซื้อจริง ราคาตันละ 14,500-15,000 บาท คือความชื้นที่ 15% แต่ในภาคปฏิบัติ เวลาเก็บข้าวมาแล้ว ความชื้นคือ 25% เวลาส่งไปขาย เขารับซื้อแค่ตันละ 10,800 บาท ทำให้ชาวนาขายได้น้อยลงกว่าเดิมและไม่มีเงินประกัน รอบนี้รัฐบาลจึงไม่จ่ายเงินประกันให้ เพราะราคาข้าวเปลือกอย่างอื่นดี เพียงแค่อุดหนุนในเรื่องของการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าวเท่าๆ กับปีที่แล้วคือ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งใช้เงินอุดหนุนน้อยกว่าปีที่แล้วเกินกว่าครึ่ง และราคาข้าวเปลือกถึงแม้จะขึ้นบางตัว แต่ข้าวเปลือกหอมมะลิไม่ได้ขึ้น

นอกจากนี้ เรื่องต้นทุนการผลิตที่ ธปท.ระบุว่าไม่น่าจำเป็นเพราะต้นทุนต่ำนั้น ข้อเท็จจริงไม่ใช่ เพราะปุ๋ยที่ราคาลงมีตัวเดียว แต่อีก 3 ตัวแพงกว่าปีที่แล้ว ต้นทุนปีนี้เทียบกับปีที่แล้วไม่ได้ถูกลง แต่สูงขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นหนังสือแสดงความเห็นของ ธปท.ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง  จึงขอเรียนว่าข้อมูลที่เกี่ยวกับเกษตรกร เกี่ยวกับชาวนา ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรโดยตรง จะมีความละเอียดลึกซึ้งกว่าข้อมูลของ ธปท. เพราะ ธปท.จะดูรายงานกว้างๆ ไม่ได้เจาะลึกเหมือนกับหน่วยงานที่เขาดูโดยตรง

"ข้อเท็จจริงไม่ใช่ตามที่ ธปท.ชี้ ยิ่งไปกว่านั้นที่ผมแปลกใจมากๆ คือ เมื่อปีที่แล้วรัฐอุดหนุนช่วยชาวนาใช้เงินเกือบ 1.5 แสนล้านบาท และชาวนาได้เงินพอๆ กับปีนี้ และก็มีโครงการให้ไร่ละ 1 พันบาท เหมือนกับปีนี้ แต่ปีที่แล้ว ธปท.ไม่มีความเห็น ไม่ได้มีหนังสือเปิดผนึกโต้แย้งว่าไม่ควรทำ อันนี้เป็นเรื่องที่ผมค่อนข้างแปลกใจ เรื่องแบบเดียวกัน ตัวหนังสือแทบจะลอกกันมา แต่ปีที่แล้วไม่ท้วงติง ไม่แสดงความเห็น ไม่ปรากฏในรายงานการประชุม แต่ปีนี้มีและเป็นข่าวด้วย" นายชัย ระบุ 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นโยบายทางการคลัง เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ทางเศรษฐกิจของชาวนา ส่วนความเห็นของ ธปท. เราพร้อมรับฟัง แต่บทบาทหน้าที่แบ่งกันทำ ธปท.ดูแลด้านการเงิน ถ้าจะมีหนังสือท้วงติงหรือแสดงความเห็น เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ควรคิดควรจะเป็นเท่าไหร่ ระยะเวลาคืนเงินต้นควรจะเป็นเท่าไหร่ หลักประกันเรื่องความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อให้ชาวนาควรจะเป็นอย่างไร อย่างนี้เป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของ ธปท. แต่โครงการควรจะช่วยชาวนาหรือไม่ ช่วยในหลักเกณฑ์เท่าไหร่ อย่างไร ต้นทุนแพงขึ้นหรือถูกลง ราคาข้าวเปลือกเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่รัฐบาลมีรายละเอียดอยู่ในมือ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ดังนั้นเรื่องอื่นนอกเหนือจากประเด็นทางการเงิน ขอให้หน่วยงานของภาครัฐที่มีความข้อมูลลึกซึ้งแม่นยำกว่าเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ น่าจะดีกว่า

นายชัยยังเปิดเผยด้วยว่า ในที่ประชุม ครม. นายกฯ ได้ขอว่า ภายใน 2 สัปดาห์จากนี้ ขอให้กระทรวงแรงงานนำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำนำมาเสนอให้ ครม.พิจารณา 

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.รับทราบความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานทั่วประเทศ คาดว่าจะสรุปรายละเอียดเข้ามาเสนอให้ที่ประชุม ครม. ภายในวันที่ 12 ธ.ค.นี้

สำหรับไทม์ไลน์เบื้องต้นของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่นั้น นายพิพัฒน์ สรุประยะเวลาไว้ดังนี้ วันที่ 27 พ.ย. สรุปรายละเอียดอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานใน 77 จังหวัด ส่วนวันที่ 30 พ.ย. กระทรวงแรงงานหารือภายในถึงการพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานใน 77 จังหวัด ขณะที่วันที่ 8 ธ.ค. นัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้างหรือคณะกรรมการไตรภาคี พิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ จากนั้นวันที่ 12 ธ.ค. กระทรวงแรงงานเสนอ ครม.พิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังไม่ได้พิจารณาโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2565/2566 ซึ่งเป็นการจ่ายเงินชดเชยตัดอ้อยสด 120 บาท/ตัน ภายใต้กรอบวงเงิน 8,000 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเข้ามาไม่ทัน เพราะต้องให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาก่อน ทั้งกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ เชื่อว่าจะเสนอทันการประชุม ครม.ครั้งหน้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ