"ก้าวไกล-ชัยธวัช" บุกถ้ำเสือเปิดโต๊ะเจรจา "พุทธะอิสระ-อดีตแนวร่วม กปปส." ถึงวัดอ้อน้อย ขอเสียงหนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เปิดบทสนทนาลับ "พุทธะอิสระ" เดือดไม่เห็นด้วยพ่วงทำผิด ม.112 พ้นผิด ระบุเป็นพระบรมราชวินิจฉัย ไล่ไปคุยกับ "แกนนำ-ธนาธร" ให้เลิกจาบจ้วงสถาบันก่อนมาคุยเรื่องปรองดอง "ภูมิธรรม" รอถก คกก.ประชามติ 24 พ.ย. ย้ำสิ้นเดือน ธ.ค.จบกระบวนการแน่ "นิกร” เปิดเวทีฟังความเห็น ปชช.ภาคอีสาน พร้อมหนุนตั้ง ส.ส.ร.ร่าง รธน.-ประชามติ
เมื่อวันจันทร์ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม อดีตแนวร่วม กปปส. เปิดเผยว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมผู้ติดตามส่วนหนึ่ง ได้เดินทางมาพบและพูดคุยกับตนที่วัดอ้อน้อย เป็นเวลาร่วมหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ เพื่อขอหารือและสอบถามความเห็น รวมถึงขอเสียงสนับสนุนในการที่พรรคก้าวไกลได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างสภาฯ กำลังรับฟังความคิดเห็นประชาชนอยู่
พุทธะอิสระเปิดเผยรายละเอียดการพูดคุยกันดังกล่าว ว่า หัวหน้าพรรค ก.ก.ได้เริ่มต้นด้วยการเล่าให้ฟังว่า ขณะนี้สส.พรรคได้ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภาฯ แล้ว ซึ่งในร่างดังกล่าวมีการให้นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย ระหว่างพูดคุยกันนายชัยธวัชกล่าวว่า คนที่โดนคดี 112 ตอนนี้ที่อยู่ฝ่ายเขามีเยอะมาก ก็เลยอยากปลดเปลื้องคดีให้คนเหล่านั้น โดยมีการยกเคสนายอานนท์ นำภา อดีตแกนนำม็อบราษฎร อดีตทนายความ ที่ตอนนี้โดนศาลตัดสินและไม่ได้รับการประกันตัว พอฟังแบบนี้เราก็เลยบอกเขาไปว่า การนิรโทษกรรมคดี 112 เป็นพระบรมราชวินิจฉัยของพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้เป็นอำนาจของ ครม.หรือรัฐสภา และยิ่งหากจะไปแก้ไขหรือไปขอยกเลิกมาตรา 112 ก็คือเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ซึ่งตอนนี้ก็มีคดีอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญที่พรรค ก.ก.โดนยื่นคำร้องไป
พุทธะอิสระกล่าวต่อว่า ก็บอกเขาว่าถ้าเป็นไปได้อย่าไปแตะเรื่อง 112 ในการนิรโทษกรรมได้ไหม แต่หัวหน้าพรรค ก.ก.ค้านว่า ถ้าไม่นิรโทษพวกโดนคดี 112 ด้วย ก็เหมือนกับไม่ได้ทำกฎหมายปรองดอง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่โดนคดี 112 เราก็บอกไปว่า ก็เห็นมีแต่พวกคุณที่มีกิริยาก้าวร้าวห่ามๆ โดยหากเทียบกับคดีการเมืองต่างๆ เช่นของพันธมิตรฯ, กปปส., นปช.ที่ยังมีคดีค้างตอนนี้ กลุ่มนี้มีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว หัวหน้าพรรค ก.ก.ก็บอกว่า หากไม่แตะ 112 ก็เกรงว่าต่อไปคนโดนดำเนินคดี 112 จะมากขึ้น
"เขาพูดเหมือนประมาณข่มขู่ ว่าหากไม่แก้ไขมาตรา 112 ไม่นิรโทษกรรมคนโดนคดี 112 ต่อจากนี้ไปจะมีคนโดนดำเนินคดี 112 มากขึ้น ผมก็สวนกลับไปว่า แล้วคุณมีอะไรยืนยันว่าหากนิรโทษกรรมพวก 112 รอบนี้ แล้วต่อไปจะไม่เกิดคนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง จาบจ้วงสถาบัน แบบที่เป็นมาอีก เขาก็ตอบกลับว่าถ้าแบบนั้นก็ต้องมาคุยกัน ผมก็เลยบอกกลับไปอีก ถ้าอย่างนั้นคุณก็ไปคุยกันในกลุ่มพวกคุณให้จบก่อน และทำให้ชัดเจน จนคนในประเทศที่เขาเคารพศรัทธาต่อสถาบันเขามั่นใจได้ว่า หากมีการนิรโทษคดี 112 แล้ว ในอนาคตจะมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องมีหลักประกันว่า คนที่ได้รับการนิรโทษกรรมคดี 112 ต้องไม่ทำผิดซ้ำซากอีกหลังได้รับการนิรโทษกรรม และหากทำซ้ำอีกจะมีกระบวนการอย่างไรที่ทำให้ได้รับโทษแรงขึ้น เขาก็บอกว่าจะเอาที่เสนอไปคุยกับพวกเขาอีกที" พุทธะอิส ระระบุ
อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ที่เป็นอดีตแนวร่วม กปปส.เล่าอีกว่า หัวหน้าพรรค ก.ก.พยายามพูดว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ได้บอกเขาไปว่าตนไม่ได้สนใจเรื่องนี้ แม้หากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสำเร็จจะได้ประโยชน์ด้วย แต่ไม่ได้รู้สึกยินดีอะไร แต่พวกคุณต่างหากที่ดูจะเร่งรัดเร่าร้อนในการจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะอย่างอดีตพันธมิตรฯ อดีต กปปส. เขาไม่ได้จะอะไร เพราะทั้งหมดล้วนยอมรับกฎหมาย เมื่อกล้าออกมาสู้ก็พร้อมยอมรับความจริงที่จะตามมา ดังนั้นไม่ว่าจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ออก เราก็เฉยๆ เพราะที่ผ่านมาเราสู้เพื่อความถูกต้อง
"เขาคงคิดว่าเราจะมีส่วนได้ส่วนเสียหากออกกฎหมายนิรโทษกรรมสำเร็จ เลยคิดจะมาเจรจาพูดคุยด้วย เพราะหวังให้เราออกมาให้การสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของเขา ซึ่งจริงๆ เรื่องปรองดองเราก็เห็นด้วย เพราะหากไม่เห็นด้วยคงไม่อยู่เฉยๆ ปล่อยให้ทักษิณนอนอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ แต่ต้องปรองดองแบบเท่าเทียม ไม่ใช่ปรองดองแค่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเราก็ถามถึงพวกด้อมส้ม เด็กๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา หัวหน้าพรรค ก.ก.ก็อ้างว่าเขาไม่สามารถไปควบคุมพฤติกรรมอะไรได้ เราก็แย้งไปว่ามันใช่จริงหรือ และบอกไปว่าคุณต้องไปคุยกับแกนนำพวกคุณโดยเฉพาะธนาธร ว่าจะมีความคิดล้มเลิกยุติการเคลื่อนไหวจาบจ้วงสถาบันได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ก่อนจะมาคุยเรื่องปรองดองนิรโทษกรรม เขาก็บอกว่าแล้วจะกลับไปคุย"
พุทธะอิสระกล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นการโยนหินถามทางเรา เขาก็บอกว่าจะนำสิ่งที่คุยกันไปพูดคุยกันในกลุ่มเขาอีกทีหนึ่ง แต่ตอนท้ายเราก็ถามเขาว่า ที่พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญมาผลักดันเรื่องนี้ เพราะคนก่อตั้งพรรคกับผู้ร่วมอุดมการณ์ของพวกคุณโดนคดีมาตรา 112 กับ 116 ใช่ไหม เขาก็ตอบกลับมาว่า ถึงตอนนั้นพวกนั้นคงไม่รับสิทธิ์ในการนิรโทษกรรม ผมยังถามกลับไปว่ากล้าขนาดนั้นเลยหรือ ก็จะขอรอดูคำยืนยันที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่รับสิทธิ์จริงหรือไม่
ปัจจุบันนักการเมืองในปีกพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้าที่ถูกดำเนินคดี 112 มีอาทิ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ในคดีไลฟ์สดวัคซีนพระราชทาน นายปิยบุตร แสงกนกกุล, นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ สส.กทม., น.ส.รัชนก ศรีนอก หรือไอซ์ สส.กทม.เป็นต้น
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ วันที่ 24 พ.ย.ว่า รอการประชุมชุดใหญ่ที่จะได้ข้อสรุปทั้งหมด ตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังทำการบ้านอยู่
เมื่อถามว่า กฎหมายประชามติฉบับเดิมมีอุปสรรคใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องรอดูการประชุมวันที่ 24 พ.ย. และจะฟังความคืบหน้ากันวันนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผลสรุปจะเป็นอย่างไร แต่ยืนยันไปแล้วว่าภายในสิ้นเดือน ธ.ค.เราน่าจะจบกระบวนการทุกอย่าง และสามารถรวบรวมผลสรุปเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในไตรมาสแรกของปีหน้า
ที่ จ.สกลนคร นายนิกร จำนง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ลงพื้นที่ อ.วานรนิวาส เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้แทนประชาชนในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีนายกนก วงษ์ตระหง่าน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประชาธิปไตย ร่วมเป็นวิทยากร ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
โดยมีคําถามในการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของประชาชนที่เกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คือ 1.ต้องการให้มีการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ หรือไม่ 2.เห็นว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีปัญหาประการใด ที่จําเป็นต้องแก้ไข 3.ในการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับนั้น เห็นว่าสมควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกต้ังของประชาชนหรือไม่ 4.หากมีการจัดทําประชามติเรื่องการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไม่
นายนิกรให้สัมภาษณ์ว่า การเปิดรับฟังความเห็นวันนี้มีประชาชนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งเกษตรกร อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน นักธุรกิจรายย่อย ตัวแทนผู้สูงอายุ ข้าราชการเกษียณ ได้รับเสียงสะท้อนคือต้องอธิบายเรื่องรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น เพราะประชาชนยังรู้สึกว่าไกลตัว ต้องทำให้รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญมีผลกระทบอย่างไร และจากการให้ทดลองตอบคำถาม ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มี ส.ส.ร. มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่สะท้อนมาคือเหมืองโพแทช ซึ่งคณะอนุกรรมการได้อธิบายไปว่า รัฐธรรมนูญจะสามารถตอบโจทย์ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ได้ เพราะเกี่ยวกับความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่กับประชาชน เช่นอาจต้องแสดงความคิดเห็นด้วยการทำประชามติในเรื่องนั้นๆ
"นอกจากนั้นประชาชนยังสะท้อนด้วยว่า หากมีการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญจะออกมาใช้สิทธิออกเสียง ขอย้ำว่ารัฐบาลจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมในเชิงลึกและเชิงกว้าง ให้ประชาชนเข้าใจว่าประชาชนมีส่วนร่วมและมีความจำเป็น ที่จะต้องมาร่วมออกเสียงทำประชามติเพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" นายนิกรกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน