"บัวแก้ว" เผย 266 คนไทยจากเล่าก์ก่ายอยู่ระหว่างคัดกรองตาม กม. ใครเป็นเหยื่อค้ามนุษย์หรือมีส่วนกับอาชญากรรมหรือไม่ ยันพร้อมช่วยเหลือคนไทยที่ยังติดอยู่อีกไม่ถึงร้อยคน นายกฯ ระบุคนที่เอี่ยวคอลเซ็นเตอร์ต้องแยกระหว่างเหยื่อกับผู้ทำผิด ชี้ต้นตออาจอยู่ในไทย ยังไม่ได้รับรายงานหลังมีภาพข่าว "ฮามาส" นำตัวประกันส่ง รพ. อาจเป็นคนไทยสั่ง "หมอมิ้ง" ติดตาม
ที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการอพยพคนไทยออกจากเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ว่าคนไทยที่มาจากเมืองเล่าก์ก่าย 266 คน ได้รับการช่วยเหลือและเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วเมื่อคืนวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปฏิบัติการช่วยเหลือที่ไม่ง่าย และเราก็รู้สึกดีใจที่คนไทยได้เดินทางกลับมาถึงไทยแล้ว โดยคนไทยกลุ่มดังกล่าวขณะนี้อยู่ในกระบวนการคัดกรองว่ามีผู้ที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์หรือไม่ หรือใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหรือไม่ ซึ่งกระบวนการคัดกรองและกระบวนการทางกฎหมายก็ดำเนินการต่อไป คงต้องใช้เวลาสักเล็กน้อย
"ยังมีคนไทยในเมียนมาอีกจำนวนหนึ่งที่รอรับการช่วยเหลือ ซึ่งต้องใช้กระบวนการช่วยเหลือใกล้เคียงกับกรณีของคนไทยที่ได้รับการพากลับออกมาแล้ว เพื่อพาคนไทยกลับมา อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยไม่ปลอดภัยในชีวิต รัฐบาลก็ต้องหาทางช่วยเหลืออพยพคนไทยออกมา ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นเหยื่อหรือไม่ใช่เหยื่อ จะเป็นการไปทำงานในเมียนมาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย หรือไปทำงานอะไรก็ตาม"
เมื่อถามว่า คนไทยที่รอรับการช่วยเหลืออยู่ในเมียนมามีจำนวนมากน้อยเพียงใด นางกาญจนากล่าวว่า จากตัวเลขของคนไทยที่เคยมีการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง พบว่าขณะนี้เหลือไม่ถึงหลักร้อย แต่จากกรณีของคนไทย 266 คนที่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้วนั้น ก็มีบางคนที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อของผู้ที่ติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งไว้ก่อนหน้านี้ แต่ปรากฏชื่อในภายหลัง ทั้งนี้ที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูตจะรับการติดต่อจากคนไทย ผ่านมูลนิธิอิมมานูเอล โดยสถานเอกอัครราชทูตจะออกค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนค่าอาหารและสิ่งของที่จำเป็นแก่คนไทยในเมียนมา ซึ่งประสบความยากลำบากเนื่องจากสถานการณ์การสู้รบ
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือ 226 คนไทยจากเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ว่าได้รับรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศ ขณะนี้ได้ช่วยเหลือออกมาแล้ว ซึ่งในนั้นมีผู้กระทำความผิดที่อยู่ในกระบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย แต่ไม่แน่ใจว่ามี 3 คนหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในจำนวนนี้ต้องมีการแยกระหว่างผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกับผู้ที่กระทำผิดด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แน่นอนต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนก่อน ซึ่งในส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทำงานร่วมกัน
เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะต้องประสานไปยังทางการจีนและเมียนมาในการปราบปรามหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอให้ดำเนินการตรงนี้ก่อน เอาคนกลับมาก่อนดีกว่า เพื่อเป็นการตั้งต้นในการสืบสวนต่อไป บางทีต้นตออาจจะอยู่ในประเทศไทยก็ได้ ขอดูและพูดคุยสืบสวนก่อน อย่าเพิ่งกระจายไปที่ต่างประเทศ
ทั้งนี้ นายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สื่ออิสราเอลโชว์ภาพวงจรปิดตัวประกัน ซึ่งอาจเป็นคนไทยถูกฮามาสนำตัวไปส่งโรงพยาบาลว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ แต่แน่นอนจะให้กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบเรื่องนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ขอให้รอมีข่าวชัดเจนก่อน เชื่อว่าทุกคนก็ติดตามข่าวอยู่ แต่เมื่อเช้าตนมีประชุมทั้งเช้าจึงยังไม่มีโอกาสได้ติดตามเรื่องนี้ เรามีนโยบายหลักอยู่แล้วในการช่วยเหลือคนไทย ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยติดตามเรื่องการช่วยเหลือตัวประกันที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะถูกปล่อยตัวออกมา
วันเดียวกัน เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลกประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-24 พ.ย. 2566 โดยมีนายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ รวมถึงคณะที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี และคณะเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทยที่ประจำการในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง สำหรับการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การหารือร่วมกับผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์และการลงทุน การหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน การระดมสมองในนโยบายการต่างประเทศของไทย การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดตลาดต่างแดน การส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ของไทยในต่างประเทศ
โดยนายปานปรีย์กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้มีขึ้นเพื่อร่วมกันวางตำแหน่งของประเทศไทย และกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายการต่างประเทศยุคใหม่ และการทูตเชิงรุกของไทยในโลกที่มีการแบ่งขั้ว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างประโยชน์แก่ประเทศ การต่างประเทศของไทยในปัจจุบันจะต้องดำเนินการในเชิงรุก และสามารถตอบโจทย์เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมถึงตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศและของคนไทยให้เป็นที่ประจักษ์
"สำหรับการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างความกินดีอยู่ดีแก่ประชาชน พร้อมกับขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ผ่านการดำเนินนโยบายต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะที่การทำงานของเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทยต้องมีความรวดเร็ว คล่องตัว และต้องผนึกกำลังให้มากขึ้น ซึ่งตนเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถ และความเป็นมืออาชีพของเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย ในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนทางการทูตยุคใหม่ของไทย".
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"