ไทยจี้ยุติความรุนแรงใน‘กาซา’

นายกฯ เรียกร้องให้หยุดยิงชั่วคราวใน "ฉนวนกาซา" หนุนแก้ความขัดแย้งโดยสันติ ก.ต่างประเทศ  ออกแถลงการณ์ ไทยห่วงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซา จี้ยุติความรุนแรง-ปล่อยตัวประกัน ทบ.เผยอพยพ 259 คนไทยใน "เล่าก์ก่าย" มาถึงพรมแดนเมียนมา-จีน อยู่ระหว่างข้ามแดน "ธนกร” แนะตำรวจใช้วิกฤตเป็นโอกาสถอนรากถอนโคนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หาตัวการรายใหญ่ หลังรวบเครือข่ายรายย่อยออกจากเล่าก์ก่าย

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้ทวีตข้อความผ่าน X ระบุว่า   ผมมีความกังวลต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาที่ย่ำแย่ลงจนส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องตอบสนองต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน  ประเทศไทยขอสนับสนุนการเรียกร้องให้มีการขยายเวลาการหยุดยิงชั่วคราวและจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมในฉนวนกาซา รวมทั้งสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ บนพื้นฐานของแนวทางสองรัฐที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศโดยด่วนครับ

ขณะเดียวกัน เพจกระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซา  ระบุว่า ประเทศไทยมีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อความรุนแรงและสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อพลเรือนในกาซา

ประเทศไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ยุติการกระทำที่มุ่งร้ายต่อกัน ปกป้องพลเรือน และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลเรือน ปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเคารพต่อสถานะของโรงพยาบาลที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ประเทศไทยเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข รวมถึงตัวประกันชาวไทย และเรียกร้องให้ดูแลความปลอดภัยและปฏิบัติต่อตัวประกันอย่างมีมนุษยธรรม และให้ตัวประกันสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมได้ ประเทศไทยเรียกร้องให้มีการจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมเพื่อให้สามารถขนส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากประเทศและองค์กรต่างๆ รวมถึงหน่วยงานด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติได้อย่างปลอดภัยและไม่ถูกขัดขวาง

ในการนี้ ประเทศไทยยินดีต่อการรับรองข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2712 (ค.ศ.2023) ซึ่งเรียกร้องให้มีการหยุดยิงชั่วคราวอย่างเร่งด่วน การขยายระเบียงมนุษยธรรม ในกาซาในช่วงเวลาที่เพียงพอ การปล่อยตัวประกันทั้งหมดทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดขัดขวางการเข้าถึงบริการที่จำเป็นและความช่วยเหลือของพลเรือน นอกจากนั้น ประเทศไทยสนับสนุนให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีบทบาทมากขึ้นในการป้องกันไม่ให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมแพร่ขยายเป็นวงกว้าง ประเทศไทยสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ เพื่อบรรลุแนวทางสองรัฐ ที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและข้อมติสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประสานงานกองทัพบกเปิดเผยความคืบหน้าการอพยพคนไทยในเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา หลังกองทัพเมียนมาปะทะกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ว่า ช่วงเช้า (19 พ.ย.) คนไทยประมาณ 259 คน เดินทางออกจากเมืองเล่าก์ก่าย มาถึง Yanlonkyine Gate ด่านพรมแดนเมียนมา-จีน ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างผ่านแดนมาฝั่งจีน โดยมีมูลนิธิอิมมานูเอลทำหน้าที่ประสานหน้างาน จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนจีนที่จะประสานกับกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในการนำคนไทยกลับมาทางอากาศยาน

นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวชื่นชมและส่งกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ทางการไทย และขอบคุณรัฐบาลที่สามารถนำคนไทยชุดแรก 41 คน จากเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา เดินทางกลับประเทศไทยผ่านทาง อ.แม่สาย จ.เชียงรายได้อย่างปลอดภัย หลังรัฐบาลไทยประสานช่วยเหลือมาเกือบครึ่งเดือน ซึ่งจากรายงานล่าสุดพบว่า ขณะนี้มีกลุ่มคนไทยที่อยู่ในพื้นที่เมืองเล่าก์ก่ายประมาณเกือบ 300 คน ซึ่งอยู่ในความดูแลของทางการประเทศเมียนมาบางส่วน รวมทั้งกลุ่มที่ทำงานที่สถานบันเทิง และแจ้งความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย และกลุ่มที่นายจ้างเพิ่งปล่อยตัวออกมาหลายสิบคน ซึ่ง 3 กลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่พร้อมได้รับการส่งกลับประเทศไทย

นายนพดลยังขอให้หน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องเพิ่มความพยายามและเร่งรัดการช่วยเหลือคนไทยที่เหลือผ่านช่องทางทางการทูตและการเจรจาในระดับต่างๆ เนื่องจากบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงและน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีปฏิบัติการทางทหารในเร็วๆ นี้ ที่จะส่งผลต่อการอพยพและชีวิตของประชาชน โดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศพร้อมสนับสนุนและช่วยประสานงานกับฝ่ายต่างๆ   เต็มที่ เพื่อนำพาคนไทยกลับไทยอย่างปลอดภัยโดยเร็ว

นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ ให้การช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่เล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ว่าขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โอกาสการช่วยเหลือคนไทย ที่มีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ว่าอาจถูกหลอกเป็นเหยื่อของกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไปทำงานในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสาวถึงตัวการรายใหญ่ที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน โดยพบว่ามีการว่าจ้างคนไทย หลอกคนไทยด้วยกันเองให้ไปทำงานกับขบวนการนี้และไม่เพียงเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์เท่านั้น ยังมีเหยื่อที่ถูกบังคับค้าประเวณี ค้ามนุษย์ และเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย

เมื่อถามว่า แต่ตัวการรายใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังส่วนมากจะอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน นายธนกรกล่าวว่า ขบวนการนี้ทำเป็นเครือข่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวนมีข้อมูลว่าผู้ต้องหามีทั้งคนไทยที่สมรู้ร่วมคิดหลอกคนในประเทศออกไปทำงานยังประเทศเพื่อนบ้าน หากติดตามสืบสวนสอบสวนแล้วจะสามารถสาวไปถึงตัวการที่อยู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเมียนมา กัมพูชา ไทย ได้ประสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยเฉพาะคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ผ่านมาในรัฐบาลชุดที่แล้ว ได้ประสานกัมพูชาเพื่อดำเนินการเข้าจับกุมตัวผู้ต้องหามาแล้วหลายราย

 “ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้โอกาสที่ช่วยเหลือคนไทยในเมียนมาออกมาได้ สืบสวนสอบสวนสาวให้ถึงต้นตอผู้บงการรายใหญ่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังจากที่ใช้เครือข่ายโทร.หลอกลวงประชาชนทำสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก บางคนถึงกับหมดเนื้อหมดตัวคิดสั้นก็มี ซึ่งเชื่อว่ามีคนไทยรู้เห็นสมคบคิดในขบวนการนี้ด้วย ทั้งนี้ หากตัวบงการรายใหญ่อยู่ต่างประเทศทั้งในเมียนมาและกัมพูชา ก็สามารถประสานความร่วมมือเข้าจับกุมผู้ต้องหาได้ ขอให้ใช้โอกาสนี้ถอนรากถอนโคน ใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการเร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชน” นายธนกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง