ช่วยอีก254คน เล่าก์ก่ายเดือด

41 คนไทยในเล่าก์ก่ายถึงไทยแล้ว คัดแยกคนมีคดี-เหยื่อค้ามนุษย์-คอลเซ็นเตอร์ พร้อมเยียวยา กต.เร่งช่วยเหลือกว่า 200 คนไทยที่ยังติดค้าง เผยมีความซับซ้อนละเอียดอ่อน ด้านเหยื่อเล่านาทีหนีตาย

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 เวลาประมาณ 12.40 น. ที่จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 1 ไทย-เมียนมา มีการรับส่งคนไทย 41 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากเมืองเล่าก์ก่าย ฝ่ายไทยนำโดย  พล.ท.อานุภาพ ศิริมณฑล เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก พล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง และ พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก ในฐานะประธาน TBC ผ่านสั่งการ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก ส่วนฝั่งเมียนมามี พ.อ.ตู่ล่า ส่อ วิน โซ ผู้บังคับกองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก ในฐานะประธาน TBC ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองท่าขี้เหล็ก และเจ้าหน้าที่ TBC ฝ่ายเมียนมา

โดยคนไทยทั้ง 41 คนออกเดินทางจากจังหวัดเชียงตุง ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย  ประมาณ 160 กิโลเมตร โดยข้ามจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 1 ก่อนขึ้นรถบัสเดินทางไปยังมณฑลทหารบก 37 ค่ายเม็งรายมหาราช เข้าสู่ขั้นตอนการตรวจคัดโรคโดย รพ.ค่ายเม็งรายมหาราช รวมทั้งดำเนินกรรมวิธีของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ กองกำลังผาเมือง กองทัพภาคที่ 3 ได้เตรียมที่พักสามารถรองรับได้ถึง 200 คน พร้อมจัดจุดพักคอยให้ญาติที่มารอรับ

ที่ค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมืองเชียงราย พล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมแถลงข่าวว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเมียนมา บริเวณเมืองเล่าก์ก่ายและเมืองหนานเติ้ง ส่งผลให้คนไทยที่เดินทางไปทำงานได้รับผลกระทบและเกิดความไม่ปลอดภัย 305 คน แบ่งเป็นพื้นที่เมืองเล่าก์ก่ายประมาณ 264 คน และพื้นที่เมืองหนานเติ้งจำนวน 41 คน

ส่วนคนไทยอีกกว่า 200 คนที่อยู่ในค่ายทหารที่เป็นที่พักพิงในเมืองเล่าก์ก่าย จะได้เดินทางออกมาเมื่อใดนั้น  รัฐบาลเมียนมากำลังพิจารณาและกำหนดเส้นทาง เพราะรอบเมืองเล่าก์ก่ายมีการสู้รบกันอยู่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมาได้พาเจ้าหน้าที่กงสุลของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในกรุงย่างกุ้งไปจำแนกสัญชาติของแต่ละกลุ่มและจำนวน เบื้องต้นพบว่าคนไทย 164 คนไม่มีหนังสือเดินทาง เพราะนายจ้างยึดหนังสือเดินทางไว้ ดังนั้นกระทรวงต้องไปออกหนังสือเดินทางชั่วคราวเพื่อให้ได้เดินทางออกมา ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนไม่สามารถอพยพได้ทันที

รวมถึงเส้นทางที่จะเดินทางออกมาขึ้นอยู่กับทหารเมียนมาจะพิจารณาโยกย้าย ต้องมีการขอวีซ่าผ่านทางจีน  ซึ่งห่างจากชายแดน 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างไทย จีน และเมียนมา ซึ่งการจะนำคนไทยออกมาขณะนี้ได้มีการประสานงานกับหลายฝ่าย ทั้ง สถานทูต ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และ NGO ที่ค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมืองเชียงราย

พล.ต.ประพัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับคนไทยที่ยังตกค้างอยู่ในเมืองเล่าก์ก่ายนั้น กระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกได้ประสานกับประเทศเมียนมา เพื่อเตรียมการนำคนไทยเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดเพื่อส่งกลับประเทศไทยต่อไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งทุกฝ่ายพยายามจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ตอนนี้มีการเตรียมการอยู่ และได้ประสานงานกับเมียนมาให้ดูแลเรื่องความปลอดภัย ส่วนแนวทางการป้องกันไม่ให้คนไทยข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายไปทำงานเป็นกระบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำเรื่องนี้มาเป็นบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีก รวมถึงหาแนวทางป้องกันกรณีที่จะมีคนไทยลักลอบไปทำงานผิดกฎหมาย ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการ TBC จะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 30 พ.ย.นี้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สำหรับกระบวนการคัดแยก เรามีข้อมูลแล้วว่าใคร เป็นผู้ต้องหาหรือเป็นผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจมีข้อมูลหมดแล้ว ในส่วนของทหารเพียงแค่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและก็ดูแล แล้วก็จะเป็นเรื่องของกระบวนการคัดแยก ใครที่ต้องเยียวยา พม.ดำเนินการ ส่วนใครที่มีความผิด ตำรวจก็ดำเนินการ

ทั้งนี้ 1 ใน 41 คนไทยที่เดินทางกลับมาจากเมืองเล่าก์ก่ายได้เล่าให้ฟังว่า ตนได้หางานในเว็บไซต์ จนไปเจองานในตำแหน่งการตลาด แต่ต้องไปทำที่ประเทศเมียนมา จึงได้สมัครไปและทำวีซ่าอย่างถูกต้อง และเดินทางไปที่เมืองมัณฑะเลย์ แต่เมื่อไปถึงมีรถมารับในเวลา 04.00 น. ซึ่งตนรู้สึกแปลกใจว่างานไม่ตรงกับที่คุยกันไว้ ก่อนที่จะพาตัวไปที่เล่าก์ก่าย แต่ให้ไปทำ Call Center และมีการยึดพาสปอร์ต และแยกตนกับแฟนออกจากกัน สำหรับเหตุการณ์ในการหนีออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว หลังจากมีกระแสข่าวว่าทางการจีนจะเข้ามาปราบปรามกลุ่มทุนจีนสีเทาในเมืองเล่าก์ก่าย จึงมีการส่งข่าวกันในกลุ่มคนไทย ตนได้เก็บสัมภาระเพื่อเตรียมหนีตึกเบอร์ 9 จากนั้นมีการเปิดประตูในตึกเบอร์ 9 ในช่วงเช้าตนและพวกอีก 41 คนจึงได้หลบหนีขึ้นรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีคนจีนที่เราเรียกกันว่าบอสได้มาตาม จึงตัดสินใจโบกมอเตอร์ไซค์วินวิ่งกันเป็นขบวนไปจนถึงจุดที่มีการปะทะกัน จนพบกับทหารโกก้างบอกว่าไม่ให้ไปบริเวณเส้นทางนี้ และห้ามกลับเข้าเมือง จึงไปยังจุดที่มีคนออกมาจากเล่าก์ก่ายมารวมตัวกัน แล้วทหารโกก้างก็รวมคนไทยไปอยู่เมืองหนานเติ้งที่ได้รับการดูแลอย่างดี และมีการนำตัวคนไทยทั้ง 41 คนไปอยู่ที่เมืองว้า ที่ได้รับการดูแลอย่างดีมาก เพื่อรอทางการไทยมาช่วยเหลือ ก่อนจะกลับมาส่งตัวที่เชียงตุง เพื่อให้ทหารเมียนมานำมาส่งให้ทหารไทยที่ชายแดน

นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยว่าบอสที่เป็นชาวจีนบางคนก็ถูกหลอกมาดูแลคนไทยที่ถูกหลอกมาทำงาน ซึ่งมีทั้งคนดีและไม่ดี ทั้งนี้หากทางจีนสีเทาที่อยู่ในประเทศจีนทราบว่า มีการโทรศัพท์เพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือคนที่อยู่ในเล่าก์ก่ายก็จะถูกลงโทษทันที

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่า ขั้นตอนในการช่วยเหลือกลุ่มคนไทยจากเมืองเล่าก์ก่าย ทั้งที่กลับมาแล้วและกลุ่ม 200 กว่าคนที่กำลังดำเนินการอยู่ มีความซับซ้อนและมีกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ

1.คนต่างชาติที่จะเข้าไปยังบริเวณเล่าก์ก่าย ล่าเซี่ยว  และบริเวณดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตก่อนเข้าพื้นที่ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการเข้าเมืองผิดกฎหมายของเมียนมา ดังนั้นจึงมีกระบวนการศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งใช้เวลานานในการพิจารณา และทางการเมียนมาต้องยกเว้นการดำเนินคดีโดยอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

2.นอกจากนี้ กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ทำงานที่เล่าก์ก่าย โดยมากเป็นกลุ่ม call center หรือ scam center ทำให้กลุ่มคนไทยอาจเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิด หรือมีส่วนรู้เห็นในการหลอกลวง ฉ้อฉล เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อโอนเงินให้ มีความผิด แต่มีเหตุยกเว้นโทษหากถูกบังคับ ถูกทำร้ายร่างกาย  ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว จึงต้องกระทำความผิด

ด้านนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายเร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือคนไทยให้มาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พยายามเจรจาผลักดันและหารือกับทางการเมียนมาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อให้ถือว่ากลุ่มคนไทยดังกล่าวเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบ จึงสามารถทำให้ทางการเมียนมาเข้าใจและอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับให้คนไทยเหล่านี้ กระทรวงการต่างประเทศจึงขอขอบคุณรัฐบาลเมียนมา หน่วยงานและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยทั้ง 41 คนให้ได้กลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย

สำหรับคนไทยกลุ่มกว่า 200 คนนั้นยังอยู่ในกระบวนการอพยพอยู่ ซึ่งมีความซับซ้อนและความละเอียดอ่อนในด้านต่างๆ จึงยังขอไม่แจ้งรายละเอียดในชั้นนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อร้องยุบรัฐบาล! ‘วีระ’ อ้างเป็นกบฏทำ เสียดินแดน / ‘ผบ.ทร.’ ลงพื้นที่เกาะกูด

ผบ.ทร.ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กำชับกำลังพลหากมีเรื่องใดขัดข้องให้รีบแจ้งเพื่อแก้ไข ขณะที่นายอำเภอเกาะกูดลั่นเป็นของไทยมากว่า

ฮือ! ขวาง ‘โต้ง’ ยึดธปท.

นักวิชาการ-กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ย้ำหากฝ่ายการเมืองเข้าไปเป็นบอร์ด ธปท. สุ่มเสี่ยงเกิดการกินรวบ เป็นหายนะต่อประเทศ “กองทัพธรรม” ขยับล่าชื่อต้าน

ปลื้ม ‘UN’ ชม แจก ‘สัญชาติ’ ยันไม่มี ‘สีเทา’

รัฐบาลปลื้มยูเอ็น ยกย่องไทยยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โฆษกรัฐบาลยัน กลุ่มคนสีเทา หรือแรงงานต่างด้าว หรือผู้หลบหนีเข้าเมือง ไม่ได้สัญชาติไทย เผยเหตุให้รวดเดียว 4.8 แสนคน

นพดลวอนหยุดปั่นเกาะกูด ‘คำนูณ’ แนะชั่งข้อ ‘ดี-เสีย’

“นพดล” ย้ำ “เกาะกูด” เป็นของไทย เอ็มโอยู 44 ไม่ได้ทำให้เสียดินแดน วอนเลิกบิดเบือนหวังผลการเมือง “คำนูณ” ชำแหละบันทึกความตกลง เป็นคุณกับกัมพูชามากกว่า

อดีตคนธปท.ต้านแทรกแซง

แรงต้านแทรกแซงแบงก์ชาติขยายวง อดีตพนักงาน ธปท.อีก 416 คน ร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึก ยกจรรยาบรรณประธานบอร์ดห้ามเอี่ยวการเมือง เรียกร้องคณะกรรมการสรรหาฯ