อิ๊งค์ยัน‘ลุงเหลิม’ซี้ปึ้กพท. ไอติมชงแก้กม.ประชามติ

กกต.ปูด 80 เรื่องร้องเรียนพัวพันทั้ง สส.และผู้สมัคร รวมถึงทีมงาน  “ภูมิธรรม” ยันอุ๊งอิ๊งไปเยี่ยม ดร.เหลิมเป็นเรื่องเคารพผู้อาวุโส ไม่ใช่เคลียร์ใจ เพราะความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ “ชัยชนะ” มั่นใจ 9 ธ.ค.ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่แน่ “พริษฐ์” ขยันชงเสนอแก้ไขกฎหมายประชามติ ปลดล็อกด่านแรกใช้แค่ 25%

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พ.ย.2566 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งถึงความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้อง สำนวน การวินิจฉัยและการดำเนินคดีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ที่มีเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ 80 เรื่องว่า เป็นกรณีคำร้อง ความปรากฏและข้อมูลเบาะแสที่ได้รับแจ้งมา ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.และไม่ได้รับเลือกตั้ง รวมทั้งผู้ช่วยและทีมงานผู้สมัคร สส. โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนพยานและเร่งหาข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องของอนุกรรมการวินิจฉัยและ กกต.จังหวัด ก่อนเสนอเรื่องให้ที่ประชุม กกต.เพื่อวินิจฉัย

สำหรับความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ นั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. เดินทางไปเยี่ยม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ที่บ้านพักริมคลอง เป็นการเข้าไปเพื่อทำความเข้าใจหรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีกระแสข่าว ร.ต.อ.เฉลิมประกาศตัดขาดกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า น.ส.แพทองธารให้ความเคารพผู้อาวุโส ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ไปพบผู้อาวุโสภายในพรรคเพื่อรับฟังความคิดเห็น เพราะในที่ประชุมใหญ่หลายคนป่วยหรือติดขัดในภารกิจ ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุม รวมถึง ร.ต.อ.เฉลิมก็เป็นหนึ่งในนั้น น.ส.แพทองธารจึงเดินทางไปเยี่ยมและขอคำแนะนำ บรรยากาศก็เป็นไปด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร และ ร.ต.อ.เฉลิมก็เป็นผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถืออยู่แล้ว

“การที่ น.ส.แพทองธารเดินทางไปถือว่าเป็นการทำหน้าที่หัวหน้าพรรค น้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกส่วน โดยภารกิจอีกอย่างคือการพยายามเชื่อมต่อ สื่อสารคนหลายรุ่นภายในพรรค ถือเป็นเรื่องปกติของ น.ส.แพทองธารอยู่แล้ว” นายภูมิธรรมกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการเคลียร์ใจหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ต้องเคลียร์ใจ ความไม่พอใจหรือเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ เมื่อวันเวลาผ่านไปก็เคลียร์ได้ เข้าใจได้  และหากมีโอกาสจะเข้าไปกราบ ร.ต.อ.เฉลิม

เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิมยังเป็นกำลังหลักของพรรค พท.หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยืนยันว่าสมาชิกพรรคทุกคนถือเป็นกำลังหลัก ร.ต.อ.เฉลิมก็ใช้ประสบการณ์ให้คำแนะนำ ขณะนี้ยังช่วยงานพรรค ซึ่งได้นำมาปรับใช้กับความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่

ขณะที่ นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการเปิดประชุมวิสามัญพรรคในวันที่ 9 ธ.ค. ที่จะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ว่า เท่าที่ทราบตอนนี้ยังเป็นเพียงข่าวว่าใครจะลงบ้าง แต่คนที่แน่ชัด และยืนยันกับสื่อมวลชนไปในวันประชุมกรรมการบริหารพรรค คือนายนราพัฒน์ แก้วทอง ส่วนท่านอื่นๆ ที่ปรากฏเป็นข่าว ก็คิดว่าต้องให้เจ้าตัวเป็นผู้ยืนยันก่อนว่าจะลงชิงจริงหรือไม่

 “มั่นใจว่าการประชุมวิสามัญครั้งนี้จะได้หัวหน้าพรรค เพราะองค์ประชุมก็ปรับปรุงแล้ว 9 ธ.ค.นี้ ได้หัวหน้าพรรคแน่นอน แต่จะเป็นใครนั้นคงต้องรอสัปดาห์สุดท้ายว่าใครจะประกาศชิงหัวหน้าพรรค ณ วันนี้รายชื่อยังไม่ชัดเจน และสถานการณ์ยังเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา” นายชัยชนะกล่าว

ส่วนนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาการจัดทำข้อเสนอระบบการเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในคณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขในพระราชบัญญัติประชามติ ว่าทั้งรัฐบาลฝ่ายค้านและภาคส่วนอื่นๆ มีข้อห่วงใยเกี่ยวกับกฎหมายประชามติ ที่ต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ที่บัญญัติในมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ที่อาจไม่เป็นธรรมต่อการทำประชามติในทุกหัวข้อ ซึ่งควรทบทวนตัวกติกานี้ โดยเฉพาะชั้นแรก ที่มีทางเลือกในการแก้ไข 2 ประเด็นคือ ยกเลิกเกณฑ์ชั้นที่ 1 ไม่ต้องกำหนดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งบางประเทศไม่มีเกณฑ์ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น และประชามติ 2 ครั้งของไทยในการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ก็ไม่ได้กำหนดเกณฑ์สัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ส่วนอีกหนึ่งทางคือ ให้เขียนว่าคนออกมาใช้สิทธิ์และลงคะแนนเห็นชอบเกิน 25% หรือ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งจะสามารถป้องกันยุทธศาสตร์การนอนอยู่บ้านเพื่อคว่ำประชามติได้ โดยการแก้ไขนั้น รัฐบาลและฝ่ายค้านสามารถร่วมกันยื่นแก้ไขมาตรา 13 ในช่วงสภาเปิดสมัยประชุมเดือน ธ.ค. และเชื่อว่าจะผ่าน 3 วาระไปได้ โดยไม่กระทบต่อกรอบเวลาจัดทำประชามติ เพราะแก้ไขแค่มาตราเดียว

ด้าน น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าเรื่องนี้เป็นภารกิจของผู้แทนราษฎรพรรค ก.ก. ในการหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย และกลไกรัฐสภา ซึ่งร่างกฎหมายที่พรรคเสนอเข้าสู่สภาแล้ว คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นในเว็บไซต์ของสภา และติดตามให้ร่างผ่านการพิจารณาสภา แม้ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการทำงานทางความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมือง ไปจนถึงการพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม แต่นี่คือประตูบานแรกที่จำเป็นต้องเปิดออกให้ได้ หากสังคมเราต้องการยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมายาวนาน

 “การผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมประชาชนจากคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายที่เคยขัดแย้งกัน มีพื้นที่ปลอดภัย ใช้กระบวนการประชาธิปไตยแสวงหาฉันทามติใหม่ของสังคม และยังเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุดในการคืนความยุติธรรมให้ประชาชน ไม่ว่าใครจะมีความคิด ความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างไร การสร้างระบบการเมืองที่ดี มีนิติรัฐ รวมถึงการนิรโทษกรรมให้ประชาชน ไม่ได้เป็นแค่เรื่องการเมืองและสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตด้วย” น.ส.เบญจากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต. เตือนข้อพึงระวังหาเสียงและยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง อบจ.

สำนักงานคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.) ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ข้อพึงระวังในการหาเสียง การรายงานค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้