อึ้ง!เศรษฐาดี๊ด๊าเซลฟี‘ไบเดน’

“เศรษฐา” หารือทวิภาคี 2 ผู้นำโลก “จัสติน ทรูโด” หวังกระชับความร่วมมือไทย-แคนาดาให้ลึกซึ้ง นายกฯ ไทยตอบรับประชุมสุดยอดอาเซียนปี 67 กระชับสัมพันธ์ 50 ปีออสเตรเลีย ด้านโฆษกรัฐบาล เผย เร่งผลักดันเจรจา FTA ลุยตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. เวลา 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ที่ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ ฝั่งทิศใต้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง หารือทวิภาคีกับนายจัสติน ทรูโด นายกฯ แคนาดา ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30

นายเศรษฐากล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มาเพื่อประกาศให้ทราบว่า ประเทศไทยเปิดแล้วและพร้อมรับการลงทุน การเกิดสถานการณ์ระหว่างประเทศทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาภูมิภาคอาเซียน อาทิ ไทยและเวียดนามมากขึ้น โดยมีภาคเอกชนชั้นนำต่างประเทศเข้ามาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมากขึ้น ในครั้งนี้มีโอกาสได้พบหารือกับภาคเอกชนชั้นนำหลายรายที่กำลังพิจารณาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งไทยมีสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคเอกชนจำนวนมาก สอดคล้องกับสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ

ด้าน นายจัสติน ทรูโด กล่าวว่า แคนาดาพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลของไทย ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค เพื่อสานต่อพลวัตความสัมพันธ์ และความร่วมมือสาขาต่างๆ ทั้งนี้ แคนาดามียุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกที่หวังจะร่วมมือกับไทย ซึ่งด้วยสถานการณ์ระหว่างประเทศทำให้ภาคเอกชนจะต้องเพิ่มศักยภาพความยืดหยุ่นในภาคการผลิตมากขึ้น รวมทั้งกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นด้วย ไทยถือเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของแคนาดา อย่างไรก็ดี ไทยและแคนาดายังไม่มี FTA ระหว่างกัน ซึ่งทั้ง 2 เห็นพ้องว่าหากดำเนินการได้จะเป็นประโยชน์ต่อไทยและแคนาดามาก ความตกลง FTA ระหว่าง ASEAN-Canada ซึ่งกำลังเจรจากันอยู่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีให้ทั้ง 2 ฝ่ายใช้ประโยชน์จาก FTA ดังกล่าว

ต่อมาเวลา 11.35 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก นายเศรษฐาได้หารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกฯ เครือรัฐออสเตรเลีย ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30

โดยนายกฯ ของไทยได้ยืนยันความพร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ในเดือน มี.ค.67 โดยจะนำภาคเอกชนร่วมคณะ ทั้งนี้ ไทยและออสเตรเลียมีความคืบหน้าเขตการค้าเสรีที่มีความก้าวหน้า รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน เช่น การท่องเที่ยวที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย โดยชาวออสเตรเลียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวนมาก เช่นเดียวกับชาวไทยที่นิยมท่องเที่ยวออสเตรเลีย เนื่องจากมีความปลอดภัย ขณะที่บริษัทชั้นนำด้านรถยนต์ไฟฟ้า การตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นต้น ได้ย้ายฐานการผลิตมาไทยเป็นจำนวนมาก และจะมาลงทุนในไทยด้วย

ขณะที่นายกฯ ออสเตรเลียระบุว่า เชื่อมั่นว่าทั้ง 2 ประเทศ เป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยไทยเป็นหุ้นส่วนสำคัญของออสเตรเลีย ทั้งระดับทวิภาคีและในกรอบอาเซียน ยินดีที่ไทยตอบรับเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ ทั้งนี้ ออสเตรเลียมีคนไทย ทั้งภาคธุรกิจ อาหาร อาศัยอยู่จำนวนมาก และมีความร่วมมือสถาบันการศึกษาระหว่างกันอย่างดี ทั้งนี้ ปัจจุบันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก เนื่องจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ จึงทำให้สินค้าในประเทศราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย และยินดีที่ผู้นำอาเซียนทุกคนตอบรับเข้าร่วมการประชุม และชื่นชมการจัดการประชุมเอเปก ปี 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ กำหนดนโยบายเดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยหนึ่งในปัจจัยผลักดันคือ ขยายตลาดการส่งเสริมการส่งออก คาดสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 66 จะมีอัตราการเติบโตในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 67 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่ 1.99% คิดเป็นมูลค่า 287,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายชัยกล่าวว่า รัฐบาลได้จัดทำแผนเร่งผลักดันการส่งออกในการสนับสนุนภาคการส่งออกของไทย ด้วยการดำเนินการของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ประกาศแผนการทำงาน quick win ซึ่งจะดำเนินงานผ่านการสร้างโอกาสทางการค้าสู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น จีน ตะวันออกกลาง พร้อมรักษาตลาดเดิมด้วยการผลักดันการเจรจา FTA กับคู่เจรจา พร้อมขยายความร่วมมือทางการค้ากับเมืองรองต่าง ๆ รวมถึงการบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำงานเชิงรุกในการเชื่อมสินค้าท้องถิ่นไทยสู่ตลาดโลกทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังส่งเสริมการส่งออก Soft Power ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของไทยในกลุ่มต่างๆ เช่น อาหาร มวยไทย ท่องเที่ยว ด้วยนวัตกรรม พร้อมทั้งผนวกการค้าและการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ได้แก่ การนำสินค้าไทยไปให้บริการบนเครื่องบินการบินไทย การขับเคลื่อนให้ภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล และปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น อุตสาหกรรมสีเขียว และการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลยังได้จัดทำแผนยกระดับด่านการค้าชายแดน โดยจะขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพของด่านชายแดนและการจัดตั้งศูนย์บริการการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service : OSS) ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกต่อการส่งออกสินค้า ซึ่งเมื่อการดำเนินการทุกปัจจัยเป็นไปตามแผนที่กำหนด กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า จะทำให้ไทยส่งออกในไตรมาสสุดท้ายปี 2566 ได้เฉลี่ยเดือนละ 25,743 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 2567 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 1.99% คิดเป็นมูลค่า 287,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายชัยระบุว่า นอกจากการขยายตลาด นายกฯ ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกด้านการส่งออกให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าได้สะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุน รวมทั้งสนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออก ส่งเสริมสินค้า บริการไทยสู่ตลาดใหม่ ขยายตลาดการค้าการลงทุนผ่านการเจรจาเชิงรุก พร้อมรักษาตลาดเดิมด้วยการยกระดับความร่วมมือ ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากเป็นไปตามการดำเนินการทุกทางที่รัฐบาลกำหนดนี้ ตัวเลขการค้าจะเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์อย่างแน่นอน ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างงาน เพิ่มรายได้ให้แก่พี่น้องคนไทยมากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์

นายใหญ่เมินห่วงปมเศรษฐา

“ทักษิณ” ไม่ห่วง “เศรษฐา”  ปมศาล รธน. มั่นใจพา พท.กลับมาผงาดได้ ไม่ขอแตะ “ลุงตู่” หลังมีกระแสคิดถึง