กกต.แจงคดีเลือกตั้ง ส.ส.จาก 360 เรื่อง เหลือต้องลุ้นอีก 80 ยันให้ความเป็นธรรม เปิดโอกาสทุกฝ่ายยื่นหลักฐานชี้แจงข้อเท็จจริง "เทพไท" อนาถใจการทำงาน กกต.ทั้งที่การเลือกตั้ง สส.มีการซื้อเสียงอื้อ แต่กลับปล่อยผีไม่ฟันผู้ได้รับเลือกเป็น สส.แม้แต่คนเดียว ชี้ขัดหลักการสกัดคนซื้อเสียงไม่ให้เข้าสภา "นิกร" จ่อชงปมแก้ พ.ร.บ.ประชามติให้ กก.ชุดใหญ่ 24 พ.ย.นี้ ยันแก้ประเด็นเดียวกระทบไทม์ไลน์เดิม "อุ๊งอิ๊ง" บุกบ้านริมคลอง เคลียร์ "เหลิม- วัน" หลังประกาศตัดขาด "ทักษิณ"
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้อง สำนวน การวินิจฉัย และการดำเนินคดีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 โดยข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ย.66 มีคำร้อง ความปรากฏข้อมูลเบาะแสจำนวน 360 เรื่อง แบ่งเป็น คำร้อง 280 เรื่อง, ความปรากฏ 39 เรื่อง, ข้อมูลเบาะแส 41 เรื่อง, ดำเนินการเสร็จแล้ว 280 เรื่อง ประกอบด้วย พิจารณาคำร้อง 239 เรื่อง, สั่งไม่รับ 158 เรื่อง, สั่งยุติเรื่อง 81 เรื่อง, การวินิจฉัยชี้ขาดสำนวน 41 สำนวน, ยกคำร้อง 37 สำนวน, ดำเนินคดีอาญา 3 สำนวน, ยื่นคำร้องต่อศาล 1 สำนวน และอยู่ระหว่างดำเนินการ 80 เรื่อง
อย่างไรก็ตาม ในการสืบสวน ไต่สวน กกต.ต้องให้โอกาสผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานให้ครบถ้วน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สำหรับเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ขอทวงถาม การแจกใบแดงของ กกต." มีใจความว่า ผมเห็นข่าวที่ กกต.ประกาศให้ใบแดง กับผู้สมัคร สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ กทม.แล้ว รู้สึกอนาถใจกับการทำงานของ กกต.ชุดนี้ เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา มีการซื้อเสียงกันอย่างเปิดเผย เป็นที่รับรู้ของประชาชน ในเขตเลือกตั้งทุกคน น่าจะมีแต่ กกต.เท่านั้น ที่ไม่ได้รับรู้ว่ามีการซื้อเสียงกันอย่างมโหฬาร และไม่สามารถจับการซื้อเสียงแบบคาหนังคาเขาได้เลยแม้แต่เขตเลือกตั้งเดียว มิหนำซ้ำหลังจากการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว คนไทยทั้งประเทศ คาดหวังว่า กกต.จะแจกใบเหลือง, ใบแดง, ใบส้ม ให้กับผู้สมัคร สส.ที่ซื้อเสียงให้เห็นบ้างไม่มากก็น้อย
แต่ในที่สุด กกต.กลับปล่อยผี ไม่มีการแจกใบแดง, ใบส้ม, ใบเหลืองให้กับผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.คนใดเลยแม้แต่คนเดียว โดยอ้างเหตุผลว่า รับรองไปก่อนค่อยสอยทีหลัง ซึ่งขัดกับหลักการของการมี กกต. เพื่อสกัดไม่ให้คนชื้อเสียงเข้าสู่สภาแม้แต่วันเดียว เพราะการปล่อยให้คนซื้อเสียงเข้าไปในสภาได้ อย่างน้อยเวลา 1 ปี ก็ทำความเสียหายให้กับการเมืองระบบรัฐสภาได้มากพอสมควร เพราะคนเหล่านี้เมื่อได้รับการรับรองจาก กกต.ให้เป็น สส.แล้ว ก็จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา โหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และไปเป็นประธานคณะกรรมาธิการบ้าง หรือตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าหากคนเหล่านี้ถูกสอย หรือได้ใบแดงจากการซื้อเสียงในภายหลัง
อยากจะถามว่า การปฏิบัติหน้าที่ หรือการลงมติใดๆ ที่ผ่านมาของคนที่ทุจริตจากการซื้อเสียง ใครจะรับผิดชอบผมไม่ขัดข้องที่ กกต.จะแจกใบแดงให้กับผู้สมัคร สส.คนใดก็ตาม แต่ผมแปลกใจว่าทำไม กกต.ไม่เรียงลำดับความสำคัญในการแจกใบแดง ทำไมไม่มุ่งไปที่ สส.ที่ได้รับการเลือกตั้งจากการซื้อเสียงก่อน ผู้สมัคร สส.สอบตก ซึ่งไม่ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรเลย ผมอยากให้ กกต.เร่งรัดการแจกใบแดงให้กับผู้ได้รับเลือกตั้ง สส.ก่อน ก่อนแจกใบแดงให้แก่ผู้สมัครสอบตก
"ผมไม่เข้าใจการทำงานของ กกต. ชุดนี้จริงๆ เพราะสิ่งที่ควรทำกลับไม่ทำ สิ่งที่ก็ไม่ควรเร่งกลับเร่งทำ อย่าให้คนสิ้นหวังกับการทำงานของ กกต.ไปมากกว่านี้เลย" นายเทพไทระบุ
นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กล่าวถึงการริเริ่มแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 หลังจากที่พรรคก้าวไกลแสดงความเห็นสนับสนุนว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นของอนุกรรมการที่รับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ต้องนำเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานกรรมการอีกครั้ง ซึ่งต้องฟังและพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีความเห็นอย่างไร
นายนิกรกล่าวว่า สำหรับการเสนอแก้ พ.ร.บ.ประชามตินั้น ในชั้นนิติบัญญัติ พรรคการเมืองสามารถเสนอร่างแก้ไขให้สภาพิจารณาได้ ไม่จำเป็นที่รัฐบาลต้องนำเสนอเอง ส่วนวิธีการนั้น เบื้องต้นเห็นว่าต้องเข้าสู่วาระพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เนื่องจาก พ.ร.บ.ประชามตินั้นถือว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ และใช้กลไกของที่ประชุมร่วมรัฐสภาและกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาพิจารณา ดังนั้นหากจะแก้ไข ต้องใช้กระบวนการของที่ประชุมร่วมกัน ซึ่งจะไม่ใช้เวลานาน
เมื่อถามว่า หากการแก้ พ.ร.บ.ประชามติเกิดขึ้น จะทำให้ยืดเวลาแก้รัฐธรรมนูญตามไทม์ไลน์ของรัฐบาลหรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติเป็นการแก้ไขเพียงประเด็นเดียว คือมาตรา 13 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ที่จะเป็นเงื่อนไขของการผ่านประชามติ คือต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน แต่จะไม่ถึงขั้นต้องใช้การพิจารณา 3วาระรวด เนื่องจากขณะนี้มีประเด็นพิจารณาที่อยากให้แก้ไข คือแก้ไขให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของเสียงที่เห็นชอบหรือมีเงื่อนไข เช่น 25% ของผู้ลงคะแนน เป็นต้น ดังนั้นต้องใช้เวลาพิจารณาให้รอบคอบ
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาแนวทางปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 โดยมีนายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. เข้าชี้แจง
ทั้งนี้ ในการพิจารณาวาระดังกล่าว กมธ.ได้มีการซักถาม กกต.ถึงข้อติดขัด หรือข้อขัดข้องของการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 มาตรา 13 ว่า ด้วยเกณฑ์ที่เรื่องซึ่งนำมาออกเสียงประชามติจะผ่าน คือต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ โดยนายพริษฐ์กล่าวตอนหนึ่งว่า มาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติต้องใช้เสียงข้างมากถึง 2 ชั้น ซึ่งกังวลว่าจะกระทบต่อการออกเสียงประชามติทุกเรื่องในอนาคต ไม่เฉพาะเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น อีกทั้งข้อกำหนดดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการได้เปรียบจากฝ่ายที่ไม่อยากให้เรื่องที่ออกเสียงประชามตินั้นได้รับความเห็นชอบ เพราะไม่ต้องรณรงค์ใดๆ เพียงแค่ให้ผู้มีสิทธินอนอยู่บ้าน ไม่ออกไปใช้สิทธิ เท่ากับเพิ่มโอกาสคว่ำประชามติได้
นายพริษฐ์กล่าวด้วยว่า สำหรับการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ขณะนี้มี 4 ทางเลือก คือ 1.คงไว้ตามกฎหมายเดิม 2.ปรับปรุงโดยใช้เกณฑ์ 25% ผู้มีสิทธิที่มาออกเสียงและเสียงเห็นชอบ 3.ตัดออกทั้งหมด หรือ 4.ตามข้อเสนอของอนุกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ที่ระบุว่าให้ใช้เกณฑ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ ขณะที่เสียงเห็นชอบนั้นให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก
ขณะที่นายกิตติพงษ์ชี้แจงว่า หลักเกณฑ์ของมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติปัจจุบัน มีเนื้อหาที่ปรับมาจากกฎหมายประชามติปี 52 ที่ระบุว่าให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของผู้มาลงคะแนน ซึ่งถูกแปรว่าต้องเกินกึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในการปรับแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ กกต.ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เพราะเป็นฝ่ายปฏิบัติ ทั้งนี้ ต้องคำนึงสิ่งที่จะกลายเป็นข้อโต้แย้งในอนาคตในประเด็นของฉันทามติหรือไม่ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมยังได้ซักถามต่อประเด็นคำนิยามของคำว่า “เสียงข้างมาก” ของคะแนนประชามติตามที่ผู้มีสิทธิมาลงคะแนน ซึ่งในอนาคตการตั้งคำถามประชามติ อาจไม่มีเฉพาะทางเลือกว่าเห็นชอบหรือไม่เท่านั้น โดยนายพริษฐ์ตั้งคำถามว่า ในอนาคตหากจะทำประชามติเลือกเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีมากกว่า 3 ทางเลือก ดังนั้นคำนิยามของเสียงข้างมากจะขึ้นอยู่กับเสียงสนับสนุนที่มากกว่าทางเลือกอื่นหรือไม่ อย่างไรก็ดี กกต.ยอมรับว่าต้องปรับปรุงระเบียบของ กกต.ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติ เพราะขณะนี้ตามระเบียบของ กกต. กำหนดหลักปฏิบัติเพียงแค่เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงเท่านั้น ขณะที่พ.ร.บ.ประชามติไม่ได้กำหนดวิธีการหรือรายละเอียดไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับแนวคิดต่อการปรับแก้ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 นั้น ทาง กมธ.จากพรรคก้าวไกล ได้แก่ นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ และนายฉัตร สุภัทรวณิชย์ กล่าวสนับสนุนพร้อมมองว่าควรใช้เกณฑ์ 25% ขณะที่ กมธ.ที่มาจากต่างพรรคคือ นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวสนับสนุน เพราะมองว่าหากไม่แก้ พ.ร.บ.ประชามติ อาจจะทำการแก้รัฐธรรมนูญเป็นปัญหาได้ เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติหรือไม่ ขณะที่ทุกพรรคการเมืองล้วนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายพริษฐ์ได้กล่าวว่า การแก้พ.ร.บ.ประชามติ ต้องละจุดยืนของการแก้รัฐธรรมนูญไว้ก่อน เพราะเมื่อมีปัญหาทางในทางปฏิบัติต้องหาทางแก้ไข ซึ่งเป็นความร่วมมือของฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ต้องร่วมมือกัน ขณะที่การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามตินั้น เข้าใจว่าจะใช้การประชุมร่วมกันของรัฐสภาดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กมธ.ยังตั้งประเด็นต่อการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ซึ่งมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.ประชามติเปิดโอกาสให้องค์กรและพรรคการเมืองดำเนินการได้ ซึ่งนักการเมืองหรือพรรคการเมืองสามารถแสดงจุดยืนส่วนตัวได้หรือไม่ โดยนายกิตติพงษ์กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์องค์กรและพรรคการเมืองสามารถจัดเวทีได้ ซึ่งสามารถแสดงความเห็นได้อย่างมีเหตุมีผลเพื่อประกอบให้ประชาชนได้ตัดสินใจได้
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีถูกมองว่าเป็นคนไม่ค่อยพูด เนื่องจากไม่ค่อยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตนเป็นคนไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว “ประเภทมองตารู้ใจ” พร้อมยิ้ม
ส่วนสถานการณ์ในพรรค พปชร.เป็นอย่างไร และพร้อมจะรับไม้ต่อจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคหรือไม่ พล.ต.อ.พัชรวาทระบุว่า ท่านยังแข็งแรง และไม่ได้มีการฝากฝังอะไร เพราะท่านดูแลอยู่แล้ว พร้อมปฏิเสธว่าท่านจะไม่ได้ลาออกตามที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ เพราะท่านยังแข็งแรง พร้อมย้ำว่า "ท่านยังเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐต่อ"
เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตรจะลาออกทางการเมืองหรือไม่ พล.ต.อ.พัชรวาท ตอบว่า ไม่หรอก แกชอบ
วันเดียวกัน นายวัน อยู่บำรุง อดีต สส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย โพสต์รูปภาพ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายอาชวิน อยู่บำรุง
น.ส.แพทองธารเข้าไปแสดงความคิดเห็นว่า "ดีใจได้เจอลุงเหลิมค่ะ" ขณะที่ น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานสาวนายทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า "1 ภาพ กับล้านความปลาบปลื้มใจ"
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิม บิดาของนายวัน ประกาศตัดสัมพันธ์กับนายทักษิณ โดยระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พูดแบบใหญ่โตว่าตนเป็นคนกวนโอ๊ยทั้งพ่อทั้งลูก เลยไม่ให้ตำแหน่งว่า “นายทักษิณคุณเข้าใจผิด ผมไม่ได้ร่วมรัฐบาลกับคุณ ผมมีความสุข พูดอะไรระมัดระวังบ้าง คุณใหญ่โตได้ในพรรคของคุณ คุณไล่ผมออกสิ นึกถึงแก้คดี 8 คดีให้คุณแล้ว ผมคิดว่าคุณจะเปลี่ยนนิสัย แล้วเวลาใช้คำพูดถึงผม อย่าเอ่ยมือเอ่ยเท้ามันไม่สุภาพ และผมก็มีมือมีเท้าที่จะเอ่ยถึงเหมือนกัน ผมจะหันหลังให้คุณตลอดชีวิต”
“ที่พูดมาทั้งหมดถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดในชีวิต ที่ผ่านมาผมไม่ได้สนิทกับครอบครัวนายทักษิณ ผมสนิทเพียงนายทักษิณและคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เท่านั้น แต่หลังจากนี้คงไม่มีอะไรต้องพูดกันอีก มันสายเกินไปแล้ว” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'วรงค์' มึน 'กกต.' ปล่อยผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง มีบทบาทเหนือหัวหน้าพรรค
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ผมรู้สึกมึนกับกกต. ที่ปล่อยให้ผู้ถูกตัดสิทธิ์ทา
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้
กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี
"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว
ชทพ.ย้ำห้ามแตะสถาบัน สว.ค้านหั่นเสียง‘สภาสูง’
ชาติไทยพัฒนายันแก้รัฐธรรมนูญห้ามแตะต้องหมวด 1 และ 2 เด็ดขาด “สว.” ย้ำไม่เอาแน่หากเสนอตัดเสียงสภาสูงออก
นายกฯสั่งดูแล คนไทยในสหรัฐ เหตุไฟป่า‘L.A.’
“แพทองธาร” บอกเช็กแล้วไม่มีคนไทยในสหรัฐบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากไฟป่า
คึกคักจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
หลายจังหวัดคึกคัก จัดงานวันเด็กแห่งชาติ เหล่าทัพจัดเต็มแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์