ล้วงเงินคงคลังหมุน ‘จุลพันธ์’แบไต๋หากแม่ค้าขอนำดิจิทัลออกก่อนกู้ตามใช้จริง

"เศรษฐา" เมินถูกวิจารณ์  "ดิจิทัลวอลเล็ต" ลั่นไม่มีอะไรที่ทำแล้วทุกคนพอใจ โต้ไม่ตรงปก แค่ปรับปรุงแต่งเติมบ้าง "จุลพันธ์" ระบุร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านยังไม่เสร็จ กางไทม์ไลน์ ชง ครม.เคาะไม่เกินปีนี้ก่อนเข็นเข้าสภา  มั่นใจกฎหมายไปต่อได้ แจงงัดเงินคงคลังหมุนก่อนลุยออกบอนด์กู้ตามการใช้จริง "พรรคร่วม รบ." ยันพร้อมหนุน  "เกียรติ" จี้นายกฯ ชี้แจงในสภาให้ชัด กระตุก "กกต." ตอบนโยบายไม่ตรงตอนหาเสียงผิดหรือไม่ "ธนาธร" โวยไม่เห็นด้วยกู้มาแจก นัดเปิดเวทีชำแหละใหญ่ 17 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. เวลา 16.30 น.   (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก   สหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15   ชั่วโมง) ที่โรงแรมเดอะริทซ์คาร์ลตัน   นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.การคลัง) กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ไม่ตรงกับที่หาเสียงเอาไว้ว่า หากเรายึดมั่นกับสิ่งที่พูดไปโดยไม่ฟังความคิดเห็น ก็จะโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง  ซึ่งเราพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ต้องปรับปรุงแต่งเติมบ้างตามข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน และไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ พยายามรับฟังอยู่ วันนี้ก็รับฟัง อะไรที่ไม่ก้าวร้าวก็พร้อมจะรับฟัง

ถามว่า ที่มีการวิจารณ์ว่าการดำเนินการโครงการไม่ตรงกับที่หาเสียงเอาไว้ โดยอ้างว่าเป็นเพียงเทคนิคในการหาเสียง เช่นบอกว่าจะไม่กู้เงินแต่รัฐบาลก็กู้ นายเศรษฐากล่าวว่า ทุกสิ่งที่พูดไปนั้นพยายามทำให้ได้อย่างที่พูด แต่ต้องมีการปรับปรุงแต่งเติมกันบ้าง แล้วแต่จะคิด ไม่อยากไปตอบโต้

"คำพูดที่ว่าจะทำแล้วไม่ทำ อย่าเอาความคิดของท่านมาให้ผมเลย ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ มีหน้าที่ก็ทำไป  เป็นหน้าที่ของท่านที่ท่านจะพูด ส่วนผมก็เป็นหน้าที่ของผมที่ผมจะทำ" นายเศรษฐากล่าว

เมื่อถามว่า กรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการยังเหมือนเดิมหรือไม่  หรือต้องรอความชัดเจนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน นายกฯ กล่าวว่า เข้าใจว่าตอนที่เราดูเรื่องไทม์ไลน์ เราได้ดูเรื่องกฤษฎีกาแล้วว่าเราก็มีเวลาให้กฤษฎีกา ซึ่งไม่ต้องการไปกดดันว่าจะมีการประชุมเมื่อไหร่ อย่างไร แต่ขณะนี้ยืนยันว่ายังคงอยู่ในไทม์ไลน์ และตั้งใจจะดำเนินการโครงการนี้จริงๆ ไม่ใช่หาทางออก

"การที่หลายคนบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ อยากให้ทุกฝ่ายตรวจสอบได้ รัฐบาลจึงดำเนินการให้มี พ.ร.บ. ให้สภาสามารถตรวจสอบได้ ต้องให้เกียรติทุกภาคส่วน ไม่มีอะไรที่ทำแล้วทุกคนพอใจ แต่ต้องพยายามทำเพื่อประชาชน วันนี้เรื่องของการหาเสียงจบไปแล้ว ถึงเวลายกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และจะพยายามทำให้ดีที่สุด" นายกฯกล่าว

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่ได้มีการส่งให้กฤษฎีกาตีความแต่อย่างใด โดยตามไทม์ไลน์แล้วหลังจากกระทรวงการคลังร่างกฎหมายดังกล่าวเรียบร้อย ต้องส่งให้กฤษฎีกาตีความ หลังจากนั้นจึงส่งให้ ครม.พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้นส่งให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ แล้วส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ

 “ยืนยันว่าร่างกฎหมายยังไม่เสร็จจากคลัง ร่างกฎหมายตอนนี้ยังไม่มี ยังไม่ได้ร่างเลย เพิ่งมีการประชุมไปไม่นาน แต่ก็ไม่รู้สึกหนักใจ ไม่มีเรื่องเป็นห่วงอะไร เพียงแต่ทำทุกอย่างให้อยู่ในกรอบกฎหมายเท่านั้น” นายจุลพันธ์กล่าว

พท.มั่นใจดิจิทัลไปต่อได้

ถามว่า หลายฝ่ายระบุรัฐบาลเดินหน้าออก พ.ร.บ.ครั้งนี้เพื่อให้โครงการไปไม่ได้ รมช.การคลังกล่าวว่า ไม่มีใครคิดอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้ ไม่มีอยู่ในหัวอยู่แล้ว รัฐบาลมีหน้าที่เดินหน้าโครงการ  คณะทำงานมีโจทย์ชัดเจนที่ได้รับมาจากรัฐบาล ก็มีหน้าที่ทำให้สำเร็จเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

ซักว่าหลายฝ่ายมองว่ากฎหมายดังกล่าวอาจไม่ผ่านความเห็นชอบ รมช.การคลังระบุว่า เข้าใจว่าเป็นมุมมองด้านกฎหมายที่มองกันคนละมุม รัฐบาลมีหน้าที่ทำก็ต้องเดินหน้าให้ไปสู่สภา ไปสู่ขั้นตอนกฤษฎีกา หรือจะมีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญยังไงก็ต้องไป รัฐบาลและคณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีหน้าที่ชี้แจงและตอบประเด็นข้อสงสัยในมุมของรัฐบาล ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร อยากให้รอดู แต่ยังเชื่อมั่นว่าจะเดินไปต่อไป เพราะการที่รัฐบาลเลือกออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินนั้น มองแล้วว่าเป็นช่องทางที่ดีที่สุด และมีการรับฟังความเห็นมาเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆ จึงเปลี่ยนจากเดิมที่จะใช้งบประมาณปกติสำหรับดำเนินการ

 “ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน แต่เรายังเชื่อว่าเราจะต้องทำให้กฎหมายผ่านให้ได้ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลยอมรับความจริงคือการใช้งบประมาณ โดยการยัดเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทเข้าไปในปีเดียว ถือเป็นภาระที่สูง ทุกคนก็ต้องรู้สภาพอยู่แล้ว" รมช.การคลังกล่าว      

เมื่อถามว่า เหตุใดไม่ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฝ่ายบริหารใช้อำนาจออกกฎหมายใช้ก่อนแล้วจึงไปขออนุมัติ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ก็จะโดนอีกว่าวิธีนี้ไม่โปร่งใส จึงออกมาเป็น พ.ร.บ. เพื่อให้ทุกฝ่ายคุยกัน หากมีคนไม่เห็นด้วยก็ลงมติไม่เห็นชอบ เป็นสิทธิของทุกคนในสภาและวุฒิสภาในการที่จะคิดที่จะทำ สุดท้ายถ้ามีคนไปยื่นตีความที่ไหนก็ตาม ทั้ง ป.ป.ช.หรือศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็จะตามไปชี้แจง

นายจุลพันธ์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการกู้เงินนั้น จะออกเป็นตราสารหนี้ปกติ เพราะเชื่อว่าสภาพคล่องในระบบมีเพียงพอ จะไม่มีการกู้เงินมากองไว้ ซึ่งหลักการคือเมื่อเริ่มโครงการ และภายใน 6 เดือนมีการใช้จ่ายครั้งแรก หากมีร้านค้ามาขอนำเงินออกรัฐบาลจะใช้เงินคงคลังบริหารจัดการในส่วนนี้ไปก่อน ถือเป็นเรื่องปกติของรัฐอยู่แล้ว หลังจากนั้นจึงจะมีการกู้เงินตามที่เกิดขึ้นจริง แต่รัฐบาลก็จะสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อทำให้ดิจิทัลวอลเล็ตหมุนอยู่ในระบบให้นานขึ้น หมุนไปเรื่อยๆ ในระบบ 2-3 ปีตามเป้าหมายรัฐบาล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ก็หมายความว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นก่อน และหนี้สาธารณะจะดร็อปลงทันที แล้วจึงไปเกิดภาระหนี้สินทีหลัง ซึ่งรัฐบาลมองว่าหนี้สาธารณะน่าจะอยู่ในกรอบไม่เกินปัจจุบัน

 “กลไกที่จะกระตุ้นส่วนแรกจะเกิดจากภาคเอกชน หลายคนรู้แล้วว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบ กลไกในการลดแลกแจกแถมก็จะเกิด เช่น มาซื้อด้วยดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 1 หมื่นบาท ได้ของมูลค่า 1.1-1.2 หมื่นบาท ก็ทำได้ กลไกในภาครัฐเอง เรามีเครื่องมือทางการเงิน เช่น เรื่องภาษีเพื่อเป็นการจูงใจ ตรงนี้ยังเป็นเพียงการหารือ ยังไม่ได้มีการสรุป ยืนยันว่ายังอยู่ในกรอบ 5 แสนล้านบาท” นายจุลพันธ์กล่าว

รมช.การคลังกล่าวว่า ในหลักการผู้ได้สิทธิ์โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่กำหนดให้มีรายได้ไม่เกิน 70,000 ต่อเดือน และ/หรือมีเงินฝากทุกบัญชี ไม่เกิน 500,000 บาทนั้น ในส่วนของเงินฝาก จะนับแค่บัญชีเงินฝากเท่านั้น ไม่นับสลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. และ สลาก ธอส. หุ้น และเงินฝากในสหกรณ์

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีนายกฯ แสดงความกังวลโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท อาจจะสะดุดว่า ยังไม่ได้ยิน ยังเห็นความพยายาม เพราะทุกพรรคการเมืองที่เข้ามามีนโยบายอะไรเขาก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ที่ต้องทำให้นโยบายเกิดขึ้น หากจะไปไม่ได้ก็มีอยู่อย่างเดียวคือผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ และขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ หากพ้นเงื่อนไขเหล่านี้ไปคนที่ผลักดันนโยบายต้องพยายามทำให้ได้

พรรคร่วม รบ.พร้อมหนุน

ถามว่า พรรค ภท.จะเห็นชอบนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตโดยดูข้อกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญใช่หรือไม่นายอนุทินรับว่า ใช่ เพราะเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หากทุกอย่างมีความถูกต้องตามกฎหมาย เราก็ต้องสนับสนุนนโยบายซึ่งกันและกัน เพราะมิเช่นนั้นนโยบายจะไม่สามารถออกได้

เช่นเดียวกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว ยังไม่เห็นร่างพ.ร.บ.กู้เงินแต่อย่างใด

"เราก็คอยดู ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ต้องทำตามนโยบายรัฐบาล แต่ต้องดูแลไม่ให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบที่สังคมเป็นห่วง ซึ่งเชื่อว่านายกฯ เองก็ดูเรื่องเหล่านี้อยู่" นายพีระพันธุ์กล่าว

ถามว่า มองวิธีการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินเช่นนี้ถูกต้องตามช่องทางกฎหมายหรือไม่ หัวหน้าพรรค รทสช.กล่าวว่า จะถูกต้องหรือไม่ต้องดูกฎหมายอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่นเรื่องวินัยการเงินการคลัง  ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ดูอยู่ การจะออกกฎหมายอะไรคณะกรรมการกฤษฎีกาจะดูให้รอบคอบ

ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวสั้นๆ ถึงท่าทีของพรรค พปชร. ในการสนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า "ยังไม่รู้เหมือนกัน แล้วแต่หัวหน้าพรรค"

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ตั้งคำถามรัฐบาลหากเงินดิจิทัลจำเป็นจริงทำไมไม่ออกเป็น พ.ร.ก.แทน พ.ร.บ.ว่า ตนก็สงสัยถึงท่าทีของนายจุรินทร์กับกรณีเงินดิจิทัลอยู่เหมือนกัน คราวก่อนตัวท่านเองที่ออกมาบอกรัฐบาลว่าจะแจกเงินดิจิทัลก็แจก แต่อย่าเอาประชาชนเป็นโล่กำบัง พอรัฐบาลผ่านการหารือและกำหนดกรอบการดำเนินโครงการ โดยจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน นายจุรินทร์ก็ออกมาตั้งคำถามอีก

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า อยากให้นายจุรินทร์เก็บคำถามไว้ใช้ในกระบวนการรัฐสภาน่าจะดีกว่า ท่านเองจะได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ทำหน้าที่ฝ่ายแค้นประเภทติทุกดอก ถ้าติเพื่อก่อตนก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าติเพื่อหวังผลการเมืองอันนี้ตนรับไม่ได้

"ผมไม่อยากให้นายจุรินทร์ทำตัวเป็นหมอดู ทำนายทายทักคาดเดาปัญหาที่ยังไม่เกิดเพื่อเตะตัดขารัฐบาล รัฐบาลมาจากพี่น้องประชาชน หาเงินได้ใช้เงินเป็น ท่านควรจะรอทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาน่าจะดีกว่าการออกมากวนน้ำให้ขุ่น แล้วอีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากถึงนักร้องทั้งหลายที่ดาหน้าออกมาทำงานกันในช่วงนี้ด้วยว่าอยากให้ท่านทั้งหลาย ช่วยเห็นใจพี่น้องตาดำๆ หรือผู้ประกอบการที่เขารอเงินดิจิทัลกันด้วย นโยบายเงินดิจิทัลเป็นนโยบายที่ดี ออกมาเพื่อสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ท่านควรจะส่งเสริมหรือสนับสนุนถึงจะถูก" นายพร้อมพงศ์กล่าว

วันเดียวกัน นายเกียรติ สิทธีอมร คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีต สส.ปชป. กล่าวถึงกรณีนายจุลพันธ์ระบุหาก พ.ร.บ.เงินกู้ไม่ผ่านยังไม่มีแผนสำรอง แต่นายกฯ เศรษฐาบอกว่ามีแผนสำรอง แต่ยังไม่บอกว่าเรื่องนี้สะท้อนว่าการให้ข้อมูลของนายกฯ และคนใน ครม.ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทำให้กระทบต่อความน่าเชื่อถือ และแม้ว่าวิธีออกกฎหมายจะเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุด แต่กฎหมายนั้นก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย ก็คือต้องเข้าข่ายกรณีจำเป็นเร่งด่วนเมื่อมีวิกฤต และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้อย่างชัดเจนใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

'เกียรติ' ชี้ต้องแจงสภาให้ชัด

"รัฐบาลจะต้องชี้แจงในสภาให้ชัดเจนว่าประเทศมีวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร และเหตุใดออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีไม่ได้ เพราะการจะออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้นั้น จะต้องพิจารณาในเงื่อนไขของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่ระบุไว้ชัดเจนเช่นกันว่าต้องเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณประจำปีได้ และมาตรา 57 ซึ่งผูกโยงไปถึงมาตรา 53 และมาตรา 56 ที่ระบุว่าการกู้เงินนั้นจะทำได้เฉพาะ เพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคมเท่านั้น ดังนั้นการพิจารณา พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าวจะผ่านหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคำชี้แจงของรัฐบาล แต่จนถึงวันนี้ยังคงเป็นคำถามเดิมที่มีตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว และรัฐบาลก็ยังมีคำตอบที่ไม่ชัดเจน" นายเกียรติกล่าว

คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรค ปชป. กล่าวว่า ที่สำคัญเมื่อกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ กฤษฎีกาก็จะตีความเช่นเดียวกันว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องอธิบายถึงความคุ้มค่า  ความจำเป็นเร่งด่วน และชี้แจงว่าประเทศมีวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างไร  ทั้งๆ ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้หยุดชะงัก ไม่ได้ติดลบ ตามการวิเคราะห์ของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ที่เห็นตรงกันว่าประเทศไทยไม่ได้กำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

"จริงอยู่ที่ไทยจำเป็นต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ต้องโตด้วยการปรับโครงสร้าง ไม่ใช่โตด้วยการกระตุ้นให้ใช้เงิน และควรเริ่มจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ตั้งแต่ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ เพราะเห็นได้ชัดว่าขณะนี้เป็นโครงสร้างที่บิดเบือนมาก ทำให้ประชาชนต้องแบกภาระ แต่ผู้ประกอบการบางรายได้กำไรเกินควร ซึ่งการปรับโครงสร้างพลังงานเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลย แต่ได้ผลทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 แสนล้าน" คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรค ปชป.ระบุ

นายเกียรติยังชี้ให้เห็นว่า นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงนั้น จะต้องมีการยื่นต่อ กกต. รวมถึงจะต้องระบุให้ชัดเจนถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในนโยบายที่ใช้หาเสียงด้วย แต่สิ่งที่พรรค พท.กำลังทำนั้น ไม่ตรงกับสิ่งที่ได้ยื่นไว้ต่อ กกต. ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า เมื่อพรรคการเมืองใดมาเป็นรัฐบาลแล้วหากสามารถทำเช่นนี้ได้ ก็จะทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคหมดความน่าเชื่อถือ เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วสามารถทำในสิ่งที่ไม่ตรงกับที่เคยยื่นไว้ต่อ กกต.ได้ไม่เป็นไร

"เรื่องนี้ กกต.จึงควรต้องออกมาชี้แจงด้วยว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าพอเป็นรัฐบาลก็จะเปลี่ยนเงื่อนไขอะไรก็ได้ อย่างนี้จะกระทบต่อความเชื่อถือของพรรคการเมืองอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ" นายเกียรติกล่าว

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิวภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ด่านแรก โดยเป็นรายชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ซึ่งประกอบด้วย นายพนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการ, นายบดี จุณณานนท์ กรรมการ, นายสมชัย ฤชุพันธุ์ กรรมการ, นายปัญญา ถนอมรอด กรรมการ, นายธานิศ เกศวพิทักษ์กรรมการ, นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล กรรมการ, นายเข็มชัย ชุติวงศ์ กรรมการ, นายนนทิกร กาญจนะจิตรากรรมการ, นางสาวจารุวรรณ เฮงตระกูล กรรมการ และนายศักดา ธนิตกุล กรรมการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นโพสต์ดังกล่าว อาทิ เรื่องเข้าคณะนี้หรือคะ นายคำนูณได้ตอบกลับว่า เป็นคณะที่รับผิดชอบเรื่องการเงินการคลังโดยตรง ถ้าไม่ตั้งคณะพิเศษ ก็ต้องเข้าคณะนี้ครับ สุดแท้แต่วิจารณญาณของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีรัฐบาลใช้วิธีการกู้เงิน 5 แสนล้านมาแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า  ผมขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมรับฟังการบรรยายสาธารณะ หัวข้อ “ประเทศไทยควรได้อะไร หากต้องใช้ 5 แสนล้าน” ซึ่งผมจะเสนอแนะแนวทางที่แตกต่าง ในการสร้างศักยภาพการแข่งขัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ พร้อมๆ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง

นายธนาธรกล่าวว่า จัดบรรยายสาธารณะนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1.ผมหวังว่าการบรรยายสาธารณะนี้ จะเป็นอาหารสมองให้กับสังคม เชิญชวนทุกท่านร่วมขบคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของอนาคตประเทศ 2.ผมหวังว่าความเห็นของผม จะเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลรับฟังและนำไปปรับใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป 3.ผมหวังว่า ประชาชนคนไทย เมื่อได้ฟังแล้ว จะเห็นถึงความหวังว่าอนาคตของประเทศไทยที่ดีกว่านี้ได้

"ผมขอแถลงจุดยืนไว้ก่อนว่าผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินมหาศาล มากระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ งบประมาณประจำปีที่มีอยู่ หากจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เพียงพอที่จะทำได้ ที่สำคัญที่สุดผมมองว่าปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องการบริโภคน้อยเกินไป จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนผ่านการให้เงิน การที่เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าเพื่อนบ้านมานับทศวรรษ ไม่ได้เป็นเพราะเราบริโภคน้อย แต่เป็นเพราะเราขาดศักยภาพในการแข่งขัน จึงเชิญชวนร่วมรับฟังข้อเสนอของผม และแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ย. ที่อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 7 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป" นายธนาธรระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์