"เศรษฐา" ชี้ประเทศมีวิกฤตเศรษฐกิจจำเป็นต้องกู้ บอก ปชช.กังวลหากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด "กมธ.การเงินฯ" เชิญ "จุลพันธ์" แจงข้อสงสัย จ่อนัด "คนค้าน-ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" ให้ข้อมูลอีกด้าน "รมช.การคลัง" ยันออกพ.ร.บ.กู้เงินรอบคอบแล้ว ระบุไร้แผนสำรองหากไม่ผ่านสภา ย้ำ 1 หมื่นบาทแจกรวดเดียว ยินดีองค์อิสระตรวจสอบ "วันนอร์" พร้อมเปิดสมัยประชุมวิสามัญหากรัฐบาลร้องขอ "จุรินทร์" ข้องใจเหตุผลย้อนแย้ง ศก.วิกฤตทำไมไม่ออกพ.ร.ก.แจกได้ทันที "นักวิชาการ" ชี้หาก พ.ร.บ.กู้เงินไม่ผ่าน "สภา-ศาล รธน." นายกฯ ต้องรับผิดชอบ "ศรีสุวรรณ" ร้องกกต.ฟัน "เสี่ยนิด-พท." กู้มาแจก
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมเดอะริทซ์คาร์ลตัน เวลา 16.00 น. วันที่ 14 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.การคลัง) ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) จะเตรียมแผนสำรองหาก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ไม่ผ่านการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ว่า ไม่เฉพาะพรรค พท.อย่างเดียวที่กังวล แต่ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด ที่ประสบปัญหาสะสมมาโดยตลอดในเรื่องของจีดีพีที่ไม่เติบโตมานาน ทุกคนมีความเป็นห่วงว่านโยบายนี้จะเป็นอย่างไร
"ผมเคยพูดไปแล้วว่าประเทศไทยอยู่ในสภาพเศรษฐกิจวิกฤต และมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นนโยบายสำคัญที่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้น และมั่นใจว่าจะมีการผลักดันให้เกิดขึ้น" นายเศรษฐากล่าว
ถามถึงกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แสดงความเห็นว่าไม่ขัดขวางนโยบายแจกเงินดิจิทัล แต่หากรัฐบาลเดินหน้าต่อควรมีแผนเตรียม นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่อยากจะบอกว่ามีแผนสำรองอย่างไร แต่เราทำงานโดยมีหลายมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจออกมา วันนี้โฟกัสเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต และที่ผ่านมารัฐบาลแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีขั้นตอนชัดเจน อีกทั้งต้องคอยฟังทางคณะกรรมการกฤษฎีกา และขออนุมัติจากรัฐสภาที่ชัดเจนออกมาด้วย
ซักว่าพรรค ก.ก.ระบุว่าความเห็นที่พรรคได้สะท้อนออกมา ที่มีหลายเรื่องเห็นต่าง อยากให้รัฐบาลมองอย่างไม่มีอคติ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีอคติอยู่แล้ว ยืนยันน้อมรับทุกคำแนะนำ หากเกิดอะไรขึ้นเราแก้ไขปรับปรุงได้ และเชื่อมั่นว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมีความชัดเจนในการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ต้องขอบคุณความเห็นดีจากพรรค ก.ก.
ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส.น่าน พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวก่อนการประชุม กมธ. วาระพิจารณารายละเอียดของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า ที่ประชุมได้เรียนเชิญนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.การคลัง) เข้าชี้แจงในประเด็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจาก กมธ.มีความเป็นห่วงในหลายประเด็น เพราะนโยบายดังกล่าวมีทั้งผู้คัดค้านและเห็นด้วย ทั้งเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกู้เงิน และหลักเกณฑ์การแจกจ่ายเงิน รวมถึงกรอบเวลาที่ต้องมีการอธิบายและสื่อสารไปยังประชาชน โดย กมธ.จะได้สอบถามประเด็นเหล่านี้ ให้นโยบายนี้สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ถามว่า มีผู้ร้องเรียนไปยังองค์กรอิสระเรื่องแหล่งที่มาของงบประมาณ นายณัฐพงษ์กล่าวว่า กรณีนั้นถือเป็นประเด็นหลักที่ทาง กมธ.ต้องสอบถามว่าเหตุใดต้องออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ ทำไมไม่ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือแหล่งเงินอื่นๆ เช่น เงินในงบประมาณ หรือตามมาตรา 28
"เรื่องที่ฝ่ายค้านมองการออก พ.ร.บ.กู้เงินอาจถูกตีความว่าผิดกฎหมาย และอาจเป็นการหาทางลงของรัฐบาลหรือไม่ ก็น่าจะมีการสอบถามเช่นกัน แต่เชื่อว่ากว่ารัฐบาลจะออกโครงการนี้ออกมาได้ ทั้งเรื่องหลักเกณฑ์และแหล่งเงิน ต้องผ่านการพิจารณาข้อกฎหมายมาอย่างดีแล้ว และผ่านการพิจารณาตัวเลือกต่างๆ" นายณัฐพงษ์กล่าว
จุลพันธ์รับไร้แผนสำรอง
ปธ.กมธ.การเงินการคลังฯ ระบุว่า การกู้เงินสามารถทำได้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังบอกชัดเจนแล้วว่า หากเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือต้องการรักษาเสถียรภาพของการเงินก็สามารถกู้เงินได้ ทั้งนี้ ก็จะเป็นอีกคำถามทาง กมธ.ต้องถามว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ สามารถออกเป็น พ.ร.ก.แทนได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้
"ตอนนี้ออกงบประมาณขาดดุลทุกปีๆ 6-7 แสนล้านบาท อีกแค่ 2-3 ปี จะมีปัญหา ตัวผมมองว่าก็เหมือนเราเห็นปากเหวอยู่ข้างหน้า เราจะรอให้ตกเหวก่อนหรือไม่ถึงค่อยแก้ไข ดังนั้นส่วนตัวผมมองว่าเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ" ปธ.กมธ.การเงินการคลังฯ ระบุ
นายณัฐพงษ์ยืนยันว่า การดำเนินการของ กมธ.ไม่เป็นการเอื้อฝ่ายรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล เพราะกมธ.มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ศึกษาหาข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเรื่องนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล และ กมธ.มี สส.จากทุกพรรคการเมือง ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
เมื่อถามว่า จะมีการเรียกฝ่ายที่เห็นต่างมาหรือไม่ ปธ.กมธ.การเงินการคลังฯ กล่าวว่า ต้องเชิญฝ่ายที่คัดค้านมาด้วยแน่นอน ต้องรับฟังข้อมูลหลักเกณฑ์ของคนที่ทำนโยบายก่อน แล้วจึงค่อยฟังคนที่คัดค้าน ก่อนจะสรุปเป็นแนวทางให้รัฐบาล รวมทั้งอาจมีการเชิญผู้ว่าฯ ธปท.มาชี้แจงใน กมธ.ด้วย เพราะธปท.เป็นผู้ดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
ขณะที่นายจุลพันธ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าชี้แจง กมธ.การเงินฯ ถึงกรณีหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทว่า เป็นเรื่องที่ดี ช่วยกันเป็นห่วง เราจะได้ดำเนินการให้รอบคอบ รัดกุม เป็นไปตามข้อกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลมองว่าช่องทางนี้เป็นช่องทางที่มีความเหมาะสม มีความตรงไปตรงมา ได้รับการตรวจสอบจากรัฐสภา และเป็นเรื่องที่ดีหากมีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระก่อนที่จะดำเนินการเพื่อให้เราได้ดำเนินการได้อย่างสบายใจเพื่อให้ประชาชน
ถามว่ามีแผนสำรองหรือไม่ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านสภา นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่มี
เมื่อถามย้ำว่า หลายคนมองว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องจีดีพีในระยะยาวได้ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ อย่างแรกคือเรามีความเชื่อมั่นด้วยกลไกที่เป็นตัวเงินผ่านระบบดิจิทัล และมีเงื่อนไขกำหนด ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจที่มากกว่าแน่นอน ส่วนการเดินหน้าในเรื่องของ พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ต้องเป็นห่วง แต่อาจจะมีคนสงสัย และเป็นมุมมองทางข้อกฎหมายที่แตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับการตีความและรัฐบาลมีหน้าที่ในการชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงิน
"ปัญหาเศรษฐกิจรัฐบาลไม่ได้มองมิติเพียงแค่เฉพาะหน้า แต่รัฐบาลมองถึงทิศทางการพัฒนาประเทศที่เรารับทราบกันดีทุกฝ่ายว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ถดถอย ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไม่ได้ดูดีแบบในอดีตที่ผ่านมา เรามีความจำเป็นจะต้องพลิกฟื้นปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ให้มีความเข้มแข็งเพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไป" นายจุลพันธ์กล่าว
ถามว่า หาก พ.ร.บ.กู้เงินเข้าสู่สภา แล้วไม่ผ่าน จะเกิดความเสี่ยงทางการเมืองหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ ต้องยอมรับว่ากลไกนี้ตรงไปตรงมาที่สุด ถ้าเราใช้วิธีการอื่น เช่น มาตรา 22 ก็จะมีการครหาว่าจะเป็นการหลบเลี่ยงหรือไม่ วิธีการนี้ตรงไปตรงมา นำเข้ามาพูดคุยกันก่อนแล้วจึงบังคับใช้เป็นกฎหมายที่เป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุด
"ความเสี่ยงทางการเมืองเรามีความเชื่อมั่นเสียงของฝั่งรัฐบาล จริงๆ ฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้ปฏิเสธนโยบาย แต่อาจจะมีข้อสงสัยในกระบวนการ แต่ในข้อเท็จจริงทุกคนเห็นความเดือดร้อนของประชาชน เห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่มีความเปราะบาง" นายจุลพันธ์กล่าว
จุรินทร์ข้องใจ รบ.ย้อนแย้ง
ซักถึงกรณีนายกฯ ระบุผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แนะนำให้ออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้จริงหรือไม่ รมช.การคลังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่นายกฯพูดคุยกับผู้ว่าฯ ธปท. เมื่อถามถึงกรณีหากมีการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 245 ให้องค์กรอิสระมีส่วนในการตรวจสอบนโยบายรัฐบาล รมช.การคลัง กล่าวว่า ยินดี การตรวจสอบเป็นเรื่องดี ตนพร้อมที่จะไปชี้แจง วันนี้เราพร้อมแล้ว เพราะโครงใหญ่เริ่มชัดเจน และเราตอบได้ทุกประเด็น
"จะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ก็เป็นมุมมองของแต่ละคน ในขณะเดียวกันเราชี้แจงเพื่อคลายข้อสงสัยให้กับองค์กรอิสระที่มีการตั้งทีมขึ้นมาเพื่อตรวจสอบให้รัดกุม ทำให้เราไม่ได้อยู่ในความประมาท และดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เมื่อลดข้อกังวลแล้วอีกประการก็ต้องรับฟังข้อเสนอแนะ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม วันนี้เรามีการปรับเปลี่ยนในรูปแบบบางประเด็น ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเสนอแนะจากสังคมและนักวิชาการทั้งสิ้น เราพยายามปรับให้โครงการดิจิทัล 10,000 บาท ประสบความสำเร็จสูงสุด และมีความเหมาะสมกับสภาพสังคม ทั้งนี้ ไม่กังวลหากหลายคนมองว่าโครงการนี้เป็นการตั้งธงล้มรัฐบาล และยืนยันว่าไม่มีการทยอยจ่ายแน่นอน" รมช.การคลังกล่าว
ต่อมานายณัฐพงษ์กล่าวถึงผลการประชุม กมธ.ว่า นายจุลพันธ์ตอบข้อสงสัยกระจ่างทุกคำถาม เรื่องการออกพ.ร.บ.กู้เงินก็บอกถึงความจำเป็นเร่งด่วน แต่ กมธ.ได้มีข้อเสนอหลายเรื่องให้รมช.การคลังเช่นกัน
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเข้าสภาในช่วงปิดสมัยประชุมว่า ต้องขึ้นอยู่กับตัว พ.ร.บ.ของรัฐบาลที่เสนอมา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องด่วน ขอให้เปิดการประชุมสมัยวิสามัญรัฐบาลสามารถขอเปิดได้ และรัฐสภาก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงรัฐบาลเตรียมออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า สิ่งที่รัฐบาลชี้แจงว่าทำไมต้องออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ กับเหตุผลที่อ้างว่าจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังวิกฤตนั้น มันยังย้อนแย้งกันอยู่ ทำให้เกิดคำถามว่าถ้าโครงการนี้จำเป็นเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อ้างว่ากำลังวิกฤตหนักจริงๆ เหมือนที่นายกฯ และรัฐบาลกำลังพยายามอ้าง คำถามคือ ทำไมไม่ออกเป็นพระราชกำหนดหรือ พ.ร.ก.เสียเลย เพราะการออกเป็น พ.ร.ก.สามารถบังคับใช้ได้ทันที
"การออกเป็น พ.ร.บ.ยังต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน และยังต้องใช้เวลาอีกนาน เชื่อว่ายังจะมีปัญหาภาคปฏิบัติตามมาอีกมาก รัฐบาลจึงควรบอกประชาชนตรงๆ ว่าอะไรคือเหตุผลที่แท้จริง เพราะต้องการถ่วงเวลาหาเงิน เพราะเห็นบอกว่าเดือนพ.ค.อาจเลื่อนไปได้อีก หรือเพราะรู้ว่าเสนอเป็น พ.ร.ก.ก็อาจจะมีปัญหา เพราะไม่ได้จำเป็นเร่งด่วนจริง เป็นแค่เรื่องก่อหนี้สนองนโยบายหาเสียง หรือยังมีเหตุผลอื่นที่รับฟังได้ ทั้งนี้ หากช่องทางออกกฎหมายกู้เงินเกิดทำไม่ได้ขึ้นมา รัฐบาลจะต้องเตรียมช่องทางอื่นสำรองไว้ จะไปอ้างเหตุไม่ทำไม่ได้ เพราะไปหาเสียงไว้แล้ว” นายจุรินทร์กล่าว
ส่วนนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตพรรค พท.เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ดี เปรียบเป็นสภาวะทางสองแพร่งสำหรับรัฐบาลพอสมควร เพราะถือเป็นนโยบายหลักที่ใช้ในการหาเสียง ถ้าเกิดถอยกระบวนการตั้งคำถามจะเกิดขึ้น พรรค พท.เองไม่สามารถล้มเลิกนโยบายนี้ได้ และต้องยอมรับว่าในช่วงของการข้ามขั้วทางการเมือง เครดิตและความเชื่อมั่นของพรรคพท.ก็เป็นปัญหาใหญ่ ผลงานถือเป็นสิ่งสำคัญ
ถามว่า หากสุดท้ายกฎหมายไม่ผ่านทั้งชั้นสภาหรือศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบอย่างไร นักวิชาการรายนี้ระบุว่า ปกติตามธรรมเนียม นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบ แม้ว่ากฎหมายไม่ได้เขียนเอาไว้ว่าจะต้องทำอย่างไรในกรณีกฎหมายสำคัญไม่ผ่าน แต่คงต้องแสดงความรับผิดชอบ
ร้อง กกต.ฟัน พท.-เศรษฐา
วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่าเข้าข่ายหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามมาตรา 73 (5) (1) ประกอบมาตรา 159 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 หรือไม่ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด 20 ปี
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรค พท.และนายเศรษฐาพูดมาโดยตลอดว่าจะไม่มีการกู้เงินมาใช้กับโครงการนี้ แต่จะใช้การบริหารงบประมาณปกติ มีการทำหนังสือที่ลงนามโดยหัวหน้าพรรค พท.ชี้แจงมายัง กกต. ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองถึงที่มาของเงินที่จะใช้ ถือเป็นพยานหลักฐานชัดเจนว่าพรรคจะไม่ดำเนินการกู้เงินมาใช้กับโครงการนี้ แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลและนายเศรษฐา ในฐานะนายกฯ ได้แถลงเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะดำเนินการกู้เงินโดยออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จึงขัดแย้งกับสิ่งที่พรรค พท.ได้ชี้แจงมายัง กกต.ก่อนหน้านี้ จึงเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการหลอกลวง จูงใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนเสียงให้กับพรรคตนเองหรือไม่
"เรื่องนี้ท้าทายกับ กกต.อย่างมากว่ากกต.รับเรื่องนี้แล้วจะวินิจฉัยอย่างไร จะปัดตกเหมือนคำร้องก่อนหน้านี้ที่องค์กรเคยร้องเรียนเรื่องนี้มาหลายครั้ง ซึ่ง กกต.ต้องมีเหตุผลอธิบายต่อสังคมว่าเป็นเพราะอะไร แต่ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นการฝ่าฝืน ก็ต้องลงโทษพรรค พท.และนายเศรษฐา" นายศรีสุวรรณกล่าว
ถามว่า ก่อนหน้านี้ที่ กกต.พิจารณาไปแล้วหลังพรรคชี้แจง นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ใช่ว่า กกต.เป็นคนอนุมัติเรื่องนี้ แต่เมื่อนำมาปฏิบัติจริงไม่เป็นไปตามที่ กกต.อนุมัติ ก็ถือเป็นหลักฐานและเหตุให้ กกต.จะต้องหยิบเอาคำร้องนี้มาพิจารณาและดำเนินการลงโทษตามคำร้อง
เมื่อถามว่า รัฐบาลระบุจะมีการลดสัดส่วนคนที่ได้รับแจก และแนวทางการหาเงินมาใช้กับโครงงานนี้ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นายศรีสุวรรณกล่าวว่า คิดว่าในข้อกฎหมาย พ.ร.บ.การหาเสียงปี 2561 ในมาตรา 72 และมาตรา 5 เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า การหาเสียงคือ 1.จะต้องไม่ให้ ไม่เสนอให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด 2.ไม่ให้มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา ซึ่งข้อห้ามเขาก็ได้เขียนไว้ชัดเจน คือห้ามจูงใจที่จะทำให้ความนิยมในพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการกระทำเช่นนี้ก็มีกฎหมายควบคุมอยู่ ในเมื่อพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามที่ตนเองหาเสียงไว้ก็จะต้องมีความผิด โทษมีทั้งจำคุกและปรับ รวมถึงการตัดสิทธิ์ทางการเมืองไม่ต่ำกว่า 10 ปี
ซักว่าการที่ก่อนหน้านี้ กกต.ยกคำร้องนี้ไป แล้วระบุว่าไม่เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ นายศรีสุวรรณกล่าวว่า เขาอ้างว่าเป็นการใช้เงินงบประมาณตามปกติ แต่ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังระบุไว้ชัดเจนว่า การที่จะออกกฎหมายกู้เงินนั้น ต้องมีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน
"การร้องเรียนครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่แล้ว เพราะร้องครั้งที่แล้วไม่มีเรื่องการออก พ.ร.บ.เงินกู้ เราร้องเพียงว่าการออกนโยบายแบบนี้ไม่น่าเป็นไปได้ และเมื่อเข้าอ้างว่าเป็นการใช้เงินแผ่นดิน จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามที่เคยร้อง แต่ครั้งนี้เข้าข่ายความผิดแล้ว และวันที่ 17 พ.ย.นี้ ผมจะไปร้อง ป.ป.ช. เนื่องจากว่าเขาพูดมาตลอดว่าจะไม่กู้เงิน ทั้งนายกฯพูดผ่านสื่อและเวทีหาเสียง แต่มาวันนี้จะมากู้เงิน จึงถือว่าเป็นการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อประชาชน อาจเข้าข่ายความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง" นายศรีสุวรรณระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ