ชงประชามติหลังปีใหม่ ภาคปชช.แนะเปิดกว้าง

แกนนำ 3 นิ้ว จำเลยคดี ม.112 บุกทำเนียบฯ เปลือยความคิด การตั้งคำถามประชามติในการร่างรัฐรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมีข้อจำกัดหมวด 1 หมวด 2 เกรงการแก้ รธน.ไม่สามารถเดินหน้าได้ ส่วน "ภูมิธรรม" ยืนยันรัฐบาลไม่แตะหมวด 1 และ 2 แน่นอน กลัวขัดแย้งไม่จบสิ้น เผยชงแนวทางทำประชามติให้ ครม.หลังปีใหม่

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวภายหลังรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ว่า การรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่กรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในวันที่ 20 พ.ย. จะเดินทางไปรับฟังความเห็นในพื้นที่ภาคอีสาน วันที่ 23 พ.ย. จะรับฟังในพื้นที่ภาคตะวันออก ในวันที่ 28 พ.ย. จะเดินทางไปรับฟังในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และวันที่ 7 ธ.ค. จะเดินทางไปจ.สงขลา

โดยการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้มีกลุ่มตัวแทนสลัมสี่ภาค กลุ่มพีมูฟ กลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มไอลอว์ เป็นต้น ซึ่งเราได้ยืนยันหลักการว่ารัฐบาลแน่วแน่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายลูกให้เสร็จสิ้นภายใน 4 ปีตามอายุรัฐบาลและเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่

ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เข้าร่วมถือเป็นสิทธิ แต่เราอยากให้การพิจารณาครบถ้วน แม้ไม่เข้าร่วม แต่เราก็มีกระบวนการเข้าไปหารือ และคณะอนุกรรมการฯ ได้ไปรับฟังความเห็นของพรรคก้าวไกลมาแล้ว และได้เจอนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะ กรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ และได้ทำแบบสอบถามของ สส.และ สว. โดยจะมีความชัดเจนเมื่อเปิดสภาเพื่อนำข้อเสนอกลับมาพิจารณาในคณะกรรมการฯ

นายภูมิธรรมกล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นวันนี้ เท่าที่ได้คุย ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่การแลกเปลี่ยนบรรยากาศเป็นไปด้วยดี ซึ่งคณะกรรมการฯ เปิดให้เสนอเต็มที่ ความเห็นหลักที่มีการเสนอคือแก้ทั้งฉบับไม่มีข้อจำกัด จำกัดหมวด 1 หมวด 2 ตนได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงและอธิบายเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเมือง และเรื่องนี้กระเทือนพระราชอำนาจ และไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ต้องนำมาพูด เพราะจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งไม่จบสิ้น และทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ยาก ถือเป็นประเด็นที่เห็นต่างกันอย่างชัดเจน

ซึ่งขณะนี้ต้องยืนยันหลักการของรัฐบาลที่เสนอต่อรัฐสภา คือไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 และไม่กระทบกับพระราชอำนาจ แต่ต้องไปดูว่ามีเงื่อนไขทางออกอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นตรงกันคือรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน และการรักษาสิทธิ์ของประชาชน

นายภูมิธรรมกล่าวต่อว่า หลังได้รับฟังการรายงานจากประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ  มีความคืบหน้าเป็นไปด้วยดี และคาดว่าภายในเดือน ธ.ค.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอเกี่ยวกับการศึกษาต่างๆ จะได้ข้อยุติ นอกจากนี้ในต้นเดือน ม.ค.ปี 67 จะเสนอเข้า ครม.พิจารณา

ส่วนการลงประชามติกี่ครั้งยังเป็นประเด็นอยู่ ซึ่งหลังจากเชิญ กกต.มาก็ ยังต้องคำนึงถึงข้อกฎหมาย และเราก็กังวลใจถ้าใช้ข้อกฎหมายที่ทำประชามติหลายครั้ง และการใช้เงินครั้งหนึ่งประมาณ 3-4 พันล้านบาท เราไม่อยากเสียหายตรงนี้ไปเยอะ ซึ่งเราจะต้องหารือเพื่อให้เซฟเงินของประชาชนให้ได้

ทั้งนี้ ภาคประชาชนที่นายภูมิธรรมกล่าวถึงหนึ่งในนั้นคือ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือน้องมายด์ นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อต้าน ม.112 และยังเป็นจำเลยในคดีม.112 โดยเธอเปิดเผยว่า มาเสนอความเห็นในฐานะคนที่ทำแคมเปญเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหวังว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะคำถามประชามติถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการกำหนดทั้งกระบวนการ และอาจจะส่งผลถึงเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย  และหากมีการล็อกมากเกินไป สุดท้ายกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อาจจะไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชนจริงๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นก็หวังว่าจะได้เกิดการพูดคุยกันว่าเจตจำนงของประชาชนเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า เข้ามาทำเนียบรัฐบาลครั้งแรกมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า แตกต่างจากที่อยู่ข้างนอกอย่างสิ้นเชิง ปกติถูกกันอยู่แต่ข้างนอก วันนี้มีโอกาสได้เข้ามาในทำเนียบรัฐบาลก็ดี จริงๆ แล้วพื้นที่ส่วนราชการแบบนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร หรือตัดสินใจทิศทางของประเทศย่อมเป็นสิ่งที่ดีมากเพราะสถานที่ราชการไม่ควรจะเข้ายากควรจะเข้าให้ง่ายกว่านี้แล้วหวังว่ากลุ่มอื่นๆ และทีมอื่นๆ จะได้เข้ามาพูดคุยเข้ามาเหมือนกับแบบที่ตนได้เข้ามา

น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า การตั้งคำถามประชามติในการร่างรัฐรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าจะให้ดีต้องสามารถเขียนใหม่ทั้งฉบับ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มันถึงจะตอบโจทย์ว่าคืนอำนาจกลับมาให้ประชาชนอย่างแท้จริง และให้ประชาชนเป็นผู้กำหนด จัดสรรอำนาจใหม่ แต่ถ้าไม่ได้ตามแนวทางที่ตนเสนอ เราก็ต้องมารับฟังว่าคณะกรรมการฯ มีความคิดเห็นอย่างไรจากที่ไปสำรวจความคิดเห็นของแต่ละภาคส่วนมาแล้ว และสุดท้ายคำถามประชามติ จะตอบเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ หรือเป็นการสร้างความขัดแย้งมากกว่าเดิมตาม

"จริงๆ แล้วหมวด 1 และหมวด 2 ไม่จำเป็นต้องใส่ไว้ในคำถามประชามติ เพราะการทำประชามติครั้งแรกที่เริ่มต้นว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อที่จะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมาถกเถียงกันเรื่องหมวด 1 หมวด 2 มานานแล้ว และยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะแก้หรือไม่แก้ ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวนี้ควรจะไปคุยในชั้น ส.ส.ร. หรือในเวทีรัฐสภาน่าจะดีกว่า เพราะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การทำประชามติของการแก้ไขและรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถเดินไปได้ ดังนั้นในส่วนตัวควรหยุดพูดเรื่องนี้ก็ได้แล้ว" น.ส.ภัสราวลีกล่าว

นายวันชัย สอนศิริ สว. ฐานะประธานคณะทำงานติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เชื่อว่า การตั้งคำถามประชามติต้องมาจาก ครม. ซึ่งหารือร่วมกับ กกต. ต้องเป็นคำถามแบบง่าย และไม่จำเป็นต้องมีประเด็นหรือคำถามพ่วง เช่น เห็นด้วยหรือไม่ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับโดย ส.ส.ร. ส่วนประเด็นย่อยที่เกิดขึ้นนั้น คือรูปแบบของการรับฟังความเห็นของอนุกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อนำไปประกอบการศึกษาแนวทางการทำประชามติเท่านั้น

นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวว่า ตอนนี้ที่หนักใจคือเรื่องของการทำประชามติ เพราะมีกฎหมายประชามติเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดเรื่องของการรณรงค์ให้มีการโนโหวต นั่นคือการให้อยู่บ้าน ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ ทำให้เสียงประชามติไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และตกม้าตายไปตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลย มันมีโอกาสเป็นไปได้ แต่ถ้าเสียงขั้นตอนแรกเกินกึ่งหนึ่ง ขั้นตอนที่สองก็เกินกึ่งหนึ่งอีกกระบวนการทำประชามติก็จะได้รับความเห็นชอบต่อไป

ที่รัฐสภา วันเดียวกันนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการจัดกิจกรรมวันรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ว่า ทุกๆ ปีทางรัฐสภาจะจัดงานรำลึกวันรัฐธรรมนูญ โดยในปีนี้พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ยังไม่แล้วเสร็จที่จะไปติดตั้งบริเวณหน้ารัฐสภา ดังนั้น พระราชพิธีถวายบังคมและการวางพวงมาลาถวายสักการะของหน่วยงานราชการต่างๆ น่าจะยังไม่สะดวก จึงต้องจัดพิธีเป็นการภายในสมาชิกรัฐสภา พรรคการเมือง รวมถึงหน่วยงานในรัฐสภาเท่านั้น หากพระบรมรูปฯ ติดตั้งแล้วเสร็จ ก็น่าจะจัดงานได้อย่างยิ่งใหญ่ต่อไป

นอกจากนี้ รัฐสภา โดยรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง รับเป็นแม่งานในการจัดงานเสวนา โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ในด้านการร่างรัฐธรรมนูญมาเข้าร่วมบริเวณลานประชาชน รัฐสภา ตั้งแต่เวลา 13.30 น.เป็นต้นไป เพื่อเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับความรู้ความคิดเห็นต่างๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง

'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.