กู้มาแจกเพื่อปชช.! พท.อ้างทำตามสัญญา/พรรคร่วมรอฟังกฤษฎีกา

“เศรษฐา-เพื่อไทย” หลังพิงประชาชน ไม่สนไม่แคร์ใครมองไม่วิกฤต   แต่รัฐบาลเชื่อว่าวิกฤตแล้ว ยัน ปชช.เลือกมาแล้วเพราะนโยบายนี้ต้องเดินหน้า  “สหายอ้วน” รับตอนแรกไม่คิดกู้ แต่ติดขัดเลยต้องทำ จุลพันธ์ยันไม่มีทางใช้เร็วกว่า พ.ค.2567 แน่ “ชัยธวัช” คาดสะดุดขาตัวเอง แท้งตั้งแต่ขั้นตอนกฤษฎีกา “คำนูณ”  แนะใส่ไว้ในงบประมาณปี 2567  ปลอดภัยกว่า ชี้หากเดินหน้าอาจไม่เข้าข่าย 4 เงื่อนไขกฎหมายวินัยการเงินการคลัง

เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2566  ยังคงมีการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องในการออกพระราชบัญญัติกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ระหว่างปฏิบัติภารกิจที่สหรัฐอเมริกา กรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ออกมาตอบโต้นายเศรษฐา ที่ให้เหตุผลการกู้เงินทำโครงการดังกล่าวเนื่องจากประเทศกำลังมีวิกฤต  โดยไม่เห็นว่ามีวิกฤตว่า ไม่ได้เถียงกับใคร ทุกคนมีความประสงค์ดีกับประเทศชาติทั้งนั้น อย่างที่ได้แถลงว่าวิกฤตไม่วิกฤต   จำเป็นไม่จำเป็น ซึ่งมองเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น มองเห็นว่าเป็นเรื่องวิกฤต ก็แค่นั้น  ซึ่งประชาชนก็จะเป็นคนตัดสิน

เมื่อถามว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีรายงานเพิ่มเติมมาหรือไม่ เนื่องจากมีข่าวว่ากฤษฎีกาอาจจะเตือนเรื่องนี้เป็นพิเศษ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย ซึ่งกฤษฎีกาไม่มีคำว่าอาจจะเตือน แต่จะมีแค่คำว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ขอให้รอแล้วกัน แต่รัฐบาลยืนยันว่าเรื่องนี้จำเป็นและเร่งด่วน

ถามต่อว่า ได้ปรึกษาเรื่องนี้กับนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มี ต้องระมัดระวังในการที่จะคุยตรงนี้ เพราะไม่อยากให้เป็นการล็อบบี้หรือไปพูดคุย ซึ่งการที่ได้พูดคุยกับสาธารณชนในเรื่องนี้ก็ได้อธิบายไปแล้วว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน จีดีพีไทยเติบโตเท่าไหร่เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน และเราพูดคุยข้อมูลกันอย่างชัดเจนที่สุดแล้ว

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ  และ รมว.พาณิชย์ กล่าวในประเด็นนี้ว่า   ในการประชุมคณะกรรมการการดิจิทัล วอลเล็ต เลขาธิการกฤษฎีกาก็อยู่ในที่ประชุมด้วย และได้รับเรื่องไปแล้ว ส่วนจะใช้ระยะเวลานานหรือไม่ในการออก  พ.ร.บ. ต้องพูดคุยกับทางกฤษฎีกาอีกครั้ง แต่จะพยายามทำให้เร็วที่สุด ส่วนที่หลายภาคส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของการกู้เงินว่าจะผิดวินัยการเงินการคลังหรือไม่นั้น ความคิดเห็นมีทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วย แต่อยากให้พิจารณาว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เสนอเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสัญญาประชาคม และในเมื่อประชาชนตัดสินใจเลือกพรรค พท.เข้ามาได้เป็นรัฐบาลในการบริหารประเทศ ก็ต้องยอมรับว่าในกระบวนการประชาธิปไตย หากจะเดินหน้าไปได้ก็ต้องยอมรับสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องและตัดสินใจ

 “สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำในฐานะรัฐบาล หรือทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน ส่วนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างเราไม่ได้นิ่งนอนใจ รับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด และได้พูดย้ำหลายครั้ง อยากให้วิพากษ์วิจารณ์โดยคำนึงถึงสองเรื่อง  คือกระบวนการประชาธิปไตยที่ต้องเดินหน้า และเรื่องที่สองคือต้องมองว่ากำลังวิกฤต เราจึงต้องเดินหน้า” นายภูมิธรรมกล่าว

จี้เคารพเสียงประชาชน

นายภูมิธรรมย้ำว่า เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจไปการแจกเงิน ทั้งหมดเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงหวังว่ากระบวนการต่างๆ จะคืบหน้า ส่วนที่มีวิจารณ์ว่าขณะนี้มีวิกฤตมากเพียงพอหรือไม่ หรือวิกฤตอย่างไรนั้น ก็มีคนบอกว่าวิกฤตแล้วทำไมไม่ทำเลย เป็นการพูดแบบไม่คำนึงถึงกระบวนการปฏิบัติที่เป็นจริง พูดถึงแต่เอาอารมณ์ความรู้สึกความพึงพอใจส่วนตัวของตัวเอง เพราะวันนี้ถ้าเรากลับไปดูข้อมูลทางเศรษฐกิจจริงๆ  เศรษฐกิจมันไม่ได้ดีอย่างที่หลายคนพูด เศรษฐกิจติดลบ และลบกว่าทุกอย่างที่ผ่านมา จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชน และให้ความเป็นธรรมกับพรรคเพื่อไทย ที่ทุกคนอยากได้เงินในภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา มันมีปัญหาและประชาชนเองก็ยากลำบาก

“เดิมทีเราไม่คิดจะกู้ แต่เมื่อมีข้อติดขัดและคิดว่าเราคิดว่าต้องกู้ เราก็คำนึงถึงสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ผมอยากให้คนที่คัดค้านหรือพรรคการเมืองที่คัดค้านต้องเคารพในระบอบประชาธิปไตย เมื่อหาเสียงมาแล้วเราต้องทำตามสิ่งที่สัญญาไว้กับประชาชน ส่วนว่าถ้าทำแล้วไม่เป็นไปตามที่คิดล้มเหลวหรือมีปัญหา อันนั้นค่อยว่ากันตามกระบวนการประชาธิปไตย” นายภูมิธรรมระบุ

เมื่อถามว่า มั่นใจการโหวตของสภาหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดเห็นพ้องต้องกัน เราคิดว่าเรื่องกระบวนการรัฐสภา พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดจะเห็นพ้องต้องกันไม่มีปัญหา ส่วนด่าน สว.นั้น การเมืองเป็นเรื่องที่เราเสนอ และให้ทุกฝ่ายพิจารณา ซึ่ง สว.บางท่านที่ไปคุยก็ตอบว่า เป็นเจตนาของเราที่จะตั้งมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาบ้านเมือง จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องชี้แจงในเรื่องนี้ให้ชัดเจนและตอบคำถามทุกประเด็นเพื่อให้ สส.และ สว.พิจารณาเพื่อใช้ในการตัดสินใจ

ถามอีกว่า หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทราบแล้วหรือไม่เงินที่จะใช้ในโครงการมาจากการกู้เงิน นายภูมิธรรมกล่าวว่า พูดคุยกันมาตลอด และในวันที่ประชุมเรื่องนี้ตนและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ  และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็เข้าร่วม เราคุยกันมาตลอดในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นการแถลงร่วมกันของคณะรัฐมนตรี จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กล่าวถึงหลายฝ่ายเรียกร้องให้เปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีกระแสข่าวระบุว่ามีบางคนในการประชุมไม่เห็นด้วยนั้น ว่าถ้าถามมาก็ตอบได้ ไม่เป็นเรื่องอะไรที่ลึกลับซับซ้อน ซึ่งการมีความเห็นที่แตกต่างกันในแต่ละประเด็นถือเป็นเรื่องปกติ

เมื่อถามย้ำว่า พร้อมเปิดเผยบันทึกการประชุมใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะไม่แน่ใจในข้อกฎหมาย เพียงแค่ให้คำตอบได้ในแต่ละประเด็น

นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงกรณี น.ส.ศิริกัญญามองว่ายังไม่ใช่วิกฤต ว่าอาจเห็นถึงความจำเป็น และความหนักหน่วงของสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งรัฐบาลก็มีมิติของเรา ความเดือดร้อนของประชาชนมันถึงจุดแล้ว และเห็นทิศทางการเจริญเติบโตของประเทศเป็นปัญหา เราเองก็มีหน้าที่ในมุมของรัฐบาล ส่วนประเด็นที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้เริ่มใช้เงินดิจิทัลฯ ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.2567 ได้หรือไม่นั้น ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะยึดตามกรอบของกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งนี่คือกรณีที่ไม่มีอุปสรรคใดๆ และเร็วที่สุดคือเดือน พ.ค.2567

เมื่อถามว่า ประเด็นดังกล่าวเข้าสู่สภาจะสามารถผ่านได้ใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ต้องมั่นใจสิ ไม่งั้นคงไม่ออก แม้ไม่ได้เป็นผู้หารือ แต่ที่ได้รับฟังทุกคนก็เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงความจำเป็นของนโยบายในการมากระตุ้นเศรษฐกิจ และเชื่อว่าเสียงของ สว.จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการผ่านนโยบายดังกล่าว

อนุทินพร้อมหนุนดิจิทัล

ส่วนนายอนุทินกล่าวถึงกรณีนายเศรษฐาเหมือนมัดมือชกในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า ไม่มีใครจะมัดมือชก หากเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ประชาชน  เป็นไปตามนโยบายและชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พรรคร่วมมีหน้าที่สนับสนุน ตอนนี้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะคิดเป็นพรรคปัจเจกไม่ได้ ถือเป็นผลงานรัฐบาล เพราะต้องใช้เสียง 320 เสียง ถือเป็นผลงานทุกพรรคอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า หาก พ.ร.บ.กู้เงินไปถึงสภา พรรคภูมิใจไทยจะสนับสนุนหรือไม่  นายอนุทินกล่าวว่า หากผ่านไปถึงสภาได้แสดงว่าโดยพื้นฐานทุกอย่างต้องถูกต้องแล้ว เพราะต้องผ่านหน่วยราชการ ธนาคารแห่งประเทศไทย แม้แต่กระทรวงมหาดไทยก็มีความเห็น ก่อนนำเข้า ครม. และเป็น พ.ร.บ.การเงินด้วย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา  (ชทพ.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า นายกฯ ได้พูดถึงแนวทางในการดำเนินการ ซึ่งต้องขอความเห็นจากกฤษฎีกา รวมถึงกลไกของรัฐสภา คิดว่าทางที่ดีที่สุดให้รอความเห็นจากกฤษฎีกาก่อน ซึ่งเป็นความเห็นจากฝ่ายกฎหมายโดยตรง ดังนั้นขอฟังความเห็นจากกฤษฎีกาก่อน หลังจากนั้นจะเป็นไปตามขั้นตอนของสภา ในการเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่รัฐบาลได้วางไว้

เมื่อถามว่า ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ที่นายกฯ ระบุว่าจะยกมือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ได้ นายวราวุธกล่าวว่า เท่าที่ฟังมาจากหลายๆ ฝ่าย มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าการดำเนินการของโครงการนี้ต้องผ่านกฤษฎีกาเสียก่อน จึงคิดว่าให้เกียรติกฤษฎีกา รอฟังความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แล้วค่อยมาตีความ แบบนี้จะเป็นประโยชน์

ก.ก.เชื่อสะดุดในขั้นกฤษฎีกา

ส่วนนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ประเด็นหลักตอนนี้เรากังวลว่าการดำเนินนโยบายเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่สำเร็จ เพราะวิธีการที่จะเสนอการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่ง น.ส.ศิริกัญญาได้ให้ความเห็นไปแล้วว่า ถ้ารัฐบาลเลือกทางนี้ อาจมีข้อกังวลว่า รัฐบาลอาจสะดุดขาตัวเอง และทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายนี้ได้

เมื่อถามว่า หาก พ.ร.บ.ผ่านเข้ามาถึงสภาจะวางตัวคนอภิปรายเรื่องนี้หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น เพราะตอนนี้เข้าใจว่าอันดับแรกก่อนที่ ครม.จะเสนอได้ ต้องฟังความคิดเห็นของกฤษฎีกาก่อน เราคงต้องดูขั้นนั้นก่อน ยอมรับว่าเป็นความกังวลของพรรค ก.ก.เหมือนกันว่าร่าง พ.ร.บ.นี้จะถูกล้มโดยขั้นตอนของกฤษฎีกาเลยด้วยซ้ำ หากรัฐบาลจะผลักดันนโยบายนี้ต่อต้องคิดแผนสำรองไว้

เมื่อถามถึงกรณีที่มีคนในพรรคเพื่อไทยได้ตอบโต้ความเห็นของ น.ส.ศิริกัญญาว่าพรรคก้าวไกลเคยสนับสนุนนั้น  นายชัยธวัชกล่าวว่า ต้องเรียนว่าถ้าฟังเนื้อหาสาระของพรรค ก.ก.อย่างวางอคติ  ความเห็นทั้งหมดไม่ได้ขัดขวางนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพียงแต่เราวิพากษ์วิจารณ์มีความเห็นท้วงติงว่าด้วยความเป็นห่วงว่า จะไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ไม่สามารถตอบโจทย์เป้าหมายในทางนโยบายได้จริง

นายแทนคุณ จิตต์อิสระ รักษาการประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยให้พรรค ปชป.ไปเลือกหัวหน้าก่อนมายุ่งเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตว่า การออกมาเตือนสติรัฐบาลของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.นั้น เพราะเป็นห่วงเรื่องภาระหนี้สินที่พรรคเพื่อไทยจะก่อหนี้เพิ่มอีก ทั้งที่หนี้เก่าจากจำนำข้าวยังใช้ไม่หมด สร้างหนี้ใหม่เป็นมรดกหนี้ลูกหลานไปอีก 7 ชั่วโคตร นอกจากนี้ ยังทำเครดิตประเทศถดถอยสุ่มเสี่ยงสร้างวิกฤตค่าเงินกระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจากการเมือง

“การปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนไม่ให้รับฟังคำเตือนของนักการเมือง นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย องค์กรอิสระ สื่อมวลชนและผู้นำภาคสังคมต่างๆ ที่ประสานเสียงออกมาดึงสติแรงสุดในประวัติศาสตร์เหมือนกับตอนทำนโยบายจำนำข้าวเมื่อหลายปีก่อน และผลลัพธ์คือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศไทยและต้องสูญเสียชีวิตพี่น้องชาวนาไปมากมายจากโครงการนั้น” นายแทนคุณกล่าว

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สว. ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน  วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงินว่า มีความเป็นห่วงว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะการกู้เงิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 140 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 ระบุชัดเจนว่า การออกกฎหมายพิเศษกู้เงินนั้น จากกระทำได้เฉพาะกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้วิกฤตของประเทศ โดยไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน หากเข้า 4 เงื่อนไข จึงจะสามารถออกกฎหมายพิเศษกู้เงินได้

แนะบรรจุในงบปี 2667 ดีกว่า

นายคำนูณกล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจะเข้าสู่สภาในเดือน ธ.ค. ดังนั้น เบื้องต้นการบรรจุเงินที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตลงไปในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจะปลอดภัยกว่า และอยู่ในวิสัยที่ทำได้ทัน แต่การออก พ.ร.บ.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาทเห็นว่าเสี่ยงต่อการขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 ส่วนอีก 3 เงื่อนไข เรื่องความจำเป็นเร่งด่วน ถือเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะหากจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็เลือกออกพระราชกำหนด แต่การออก พ.ร.บ.ต้องใช้เวลา 2 สภา กว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ ของสภาก็ใช้เวลาไม่น่าจะเร็วกว่า 6 เดือน และโครงการดังกล่าวไม่ใช่โครงการที่ต้องใช้เงินอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการใช้เงินครั้งเดียวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ

 “จะเป็นการแก้ไขวิกฤตของประเทศหรือไม่นั้น ขอไม่ก้าวล่วง เพราะมีความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ ที่แตกต่างกันออกเป็นสองทาง และความเห็นของรัฐบาลที่มองว่าจีดีพีประเทศโตต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง ก็เคารพความเห็นของรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้รับการเลือกตั้งมา และเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ จึงมองว่าประเด็นนี้สามารถถกเถียงกันได้”

                    นายคำนูณยังกล่าวว่า เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลเคยชี้แจงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องที่มาของเงิน สรุปโดยรวมว่ามาจากเงินงบประมาณ แต่ล่าสุดระบุว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณด้วยการออกกฎหมายกู้เงิน ซึ่งหากเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนตัวก็ไม่ขัดข้อง แต่เป็นห่วงว่าจะไม่ตรงตามข้อกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 เป็นเรื่องใหม่ แตกต่างจากรัฐธรรมนูนฉบับก่อนที่เพิ่มการจ่ายเงินแผ่นดิน ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐเข้ามาฉบับหนึ่ง

เมื่อถามว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤตจนต้องออก พ.ร.บ.กู้เงินใช่หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า เรื่องนี้เถียงกันได้ นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่าขนาดนี้ยังไม่ใช่วิกฤตของประเทศ แต่รัฐบาลมองว่าการที่จีดีพีโตต่ำเป็นวิกฤต ดังนั้นไม่อาจก้าวล่วงว่าใครถูกใครผิด แต่สิ่งที่เห็นว่าเป็นปัญหา คือการเลือกแนวทางออก พ.ร.บ.กู้เงิน จะไม่เข้าตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ครบ 4 เงื่อนไข

นายคำนูณยังกล่าวถึงบทลงโทษหากการกระทำผิดตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 245 บัญญัติขั้นตอนไว้ว่า ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำรายงานเสนอต่อ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นด้วย ก็ให้จัดตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระสามหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), กกต. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากมีความเห็นสองในสามว่าเข้าข่ายกระทำผิด ก็ให้ส่งรายงานเสนอไปยัง ครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งไม่ได้บอกให้ยกเลิก แต่เป็นกลไกตามรัฐธรมมนูญ ที่จะทำให้กฎหมายวินัยการเงินการคลังศักดิ์สิทธิ์และปฏิบัติได้ เรื่องนี้จึงเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวที่ต้องติดตามกันต่อไป

ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน กล่าวว่า พรรค พท.มีหนังสือถึง กกต. เรื่องนโยบายที่ใช้หาเสียงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งนายเศรษฐาเคยยืนยันต่อสาธารณะและสื่อมวลชนมาโดยตลอดว่าไม่มีการกู้เงินมาใช้จ่าย แต่ล่าสุดกลับตั้งโต๊ะแถลงข่าวจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จึงเข้าข่ายเป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตาม ม.73 (5) (1) ประกอบ ม.159 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง สส.   พ.ศ.2561 หรือไม่ โดยในวันที่ 15 พ.ย.นี้จะเดินทางมาร้องเรียนต่อ กกต.เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานของการหาเสียงของทุกพรรคการเมืองในอนาคตว่าจะมามั่วเพื่อหลอกประชาชนเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงมิได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง