"เศรษฐา" มัดมือ ธปท.อ้างไฟเขียวให้กู้มาแจก ประกาศลั่น "ผมมาจากพรรคเพื่อไทย" มั่นใจ 320 เสียงพรรคร่วม ขณะที่ "หมอมิ้ง” สยบข่าวเลขาฯ กฤษฎีกาเบรกหนัก ฟุ้งไม่ซ้ำรอย พรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านยุคยิ่งลักษณ์ “คลัง” ตีปี๊บไทม์ไลน์เปิดยืนยันรับสิทธิ์เติมเงินหมื่น 50 ล้านคน สแกนผ่านแอปเป๋าตังเหมือนเดิม มีหนาว! ผู้ว่าฯ สตง.ผุดคณะทำงานตามประกบ “ศิริกัญญา” ตามจิกเปิดรายงาน "กฤษฎีกา-ธปท.” ทุบโต๊ะโชว์หลักฐานตัวเลขเงินกู้
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 10,000 บาท ที่กระแสสังคมมีทั้งคนสนับสนุนและเห็นต่างว่า ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน และไม่อยากให้สังคมไทยทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายตรงข้าม หรือพวกเดียวกัน ไม่อยากให้มีธง อยากให้รับฟังความคิดเห็นว่าข้อดีข้อเสียคืออะไร แล้วหยิบยกมาพูดคุยกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุโครงการดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นจริงและอาจไม่ผ่านสภา ประชาชนจะไม่มีโอกาสได้รับเงินจริง นายเศรษฐากล่าวว่า “ผมมั่นใจว่าเสียงของผม อย่างพรรคร่วมรัฐบาลมี 320 เสียง ผมว่าเสียงของผมมั่นคง และเราทำงานเป็นทีม เชื่อว่าผ่าน”
เมื่อถามย้ำว่า คนไทยจะมีโอกาสได้ใช้เงิน 10,000 บาทหรือไม่ นายกฯ กล่าวย้ำว่า มั่นใจ เป็นหน้าที่ผู้นำรัฐบาลต้องรับฟังเสียงประชาชน โครงการดีเลย์จากที่ประกาศไว้เพราะทีมงานของเราต้องรับฟังความเห็นทั้งหมด ทั้งเรื่องการออก พ.ร.บ.กำหนดเกณฑ์คนรวย การจำกัดรายได้ที่พูดคุยและถกเถียงกัน
เมื่อถามว่า โครงการนี้จะมีอุบัติเหตุทำให้สะดุดหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า มั่นใจว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี เหมาะสม และไม่เกี่ยวกับเรื่องเทคนิคหรือกฎหมาย รัฐบาลยืนยันว่าทำถูกต้องทั้งหมด และคณะกรรมการกฤษฎีกาคงจะให้ข้อคิดเห็นในเชิงที่เป็นบวก และเราสามารถทำโครงการนี้ได้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย มีความชัดเจนไม่ให้แจกคนรวย และมีการสอบถามถึงกำหนดเกณฑ์คนรวย
“โดยจะต้องกำหนดตัวเลขให้ชัดเมื่อถึงจุดหนึ่ง โดยคนที่มีรายได้เกิน 7 หมื่นบาท และเงินเก็บเกิน 5 แสนบาท รัฐบาลได้ออกโครงการอีรีฟันด์ หากมีการใช้จ่ายจะได้เงินคืนประมาณ 1 หมื่นบาท เทียบเท่ากับเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ทีมงานคิดมาแล้ว รวมถึงโครงการระยะยาวในกองทุนส่งเสริมการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมใหม่ เป้าหมายเช่น รถอีวี, ไมโครชิป จำนวน 1 แสนล้านบาท ที่จะเริ่มใช้ในเดือน มิ.ย. 2567 ที่ต้องทำเร่งด่วน” นายกรัฐมนตรีระบุ
เมื่อถามว่า กรณีที่ประชาชนมีข้อสงสัยว่าเงินฝาก 5 แสนบาท รวมไปถึงสลากออมสิน หุ้นกู้ กองทุนรวม และเงินเกษียณด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า นับเฉพาะเงินฝากอย่างเดียว ไม่นับกองทุนรวมเพราะตรวจสอบไม่ได้ ส่วนเงินเกษียณถ้าไปในบัญชีก็นับรวมด้วย ส่วนเงินสดที่เก็บอยู่ที่บ้านไม่นับ โดยจะเริ่มตรวจสอบว่ามีเงินในบัญชีตั้งแต่เดือน ก.ย.66 ทั้งนี้เมื่อครั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เติมเงินในแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พบว่า 15% ไม่มีการใช้จ่ายเพราะคนไม่ได้ใช้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีเงินพอที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประชาชนเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยหาเงินได้ใช้เงินเป็น นายกฯ กล่าวว่า “ผมเป็นนายกฯ ที่มาจากพรรคอะไร พรรคเพื่อไทย สื่อก็บอกว่าหาเงินได้ใช้เงินเป็น ผมก็มั่นใจว่าผมหาเงินได้ใช้เงินเป็น ส่วนเรื่องที่มาของการออกจะเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ ทางผู้ว่าฯ ธปท.ได้บอกเองว่า นายกฯ กู้ดีกว่า ตอนนี้จาก 61% เป็น 64% เพราะเพดานเงินกู้อยู่ที่ 70% ให้กู้เลย ถ้านำมาใส่โครงการบวกกับโครงการอื่น และหากยกระดับจีดีพีขึ้นไป สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดตามไป แม้หนี้จะเพิ่ม แต่ถ้าจีดีพีมากกว่าหนี้ก็จะลดลง”
หมอมิ้งชี้ไม่ซ้ำรอยยุคปู
ด้าน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ระบุว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วยแล้วขอให้บันทึกการประชุม แต่พูดตอนท้ายการประชุมว่ามีหน้าที่ดูแลทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และปกป้องทุกคนในที่ประชุม โดยจะนำเรื่องไปหารือในคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้เราต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน
“ส่วนเรื่องการกู้เงินนั้น นายกรัฐมนตรีได้หารือผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ว่าฯ ธปท.ให้ข้อคิดว่าเพื่อให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.เงินตรา ต้องมีเงินมาสำรองโครงการ เราเลยแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินมาวางไว้ให้เห็น แล้วเราค่อยๆ ใช้ และจากการที่นายกฯ หารือกับผู้ว่าฯ ธปท.ก็ยังมีข้อเสนอเห็นด้วยกับการขอกู้ เพราะสะอาดดี โดยการขอกู้นั้นต้องดูว่ากฎหมายให้ช่องทางอะไรไว้บ้าง ที่สุดแล้วเราคิดว่าวิธีการนี้เหมาะสมที่สุด” นพ.พรหมินทร์ระบุ
เมื่อถามว่า มีรายงานข่าวระบุว่าในที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 พ.ย. เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ว่าฯ ธปท.ติงการกู้เงินแล้วมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจก นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า เลขาธิการสภาพัฒน์ไม่ได้ให้ความเห็นอะไร มีเพียงผู้ว่าฯ ธปท.ที่ให้ความเห็นว่าเรื่องการกู้เงินนายกฯ ต้องระวัง และระบุให้บันทึกการประชุมว่าท่านได้ให้ความเห็นว่า ป.ป.ช.มีความเห็นมาอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ประชุมรับทราบ และเป็นข้อพึงสังวรให้ทำทุกอย่างถูกต้อง ครบถ้วน
เมื่อถามย้ำว่า ผู้ว่าฯ ธปท.ไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินใช่หรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ตนตอบแทนไม่ได้ เพียงแต่บอกว่ามีหน้าที่ดูแล พ.ร.บ.เงินตรา ส่วนด้านการคลัง การบริหาร เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คงต้องไปถามผู้ว่าฯ ธปท. แต่ตนยืนยันโครงการของเราไม่ได้เอาเงินไปแจก แต่เอาไปกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อถามว่า ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เห็นด้วย มีข้อติติง มีความเสี่ยงทางกฎหมายมาก รัฐบาลจะหยุดหรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า เชื่อว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาคงต้องให้ความเห็นว่าควรจะทำอย่างไร เพราะเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย ให้ข้อแนะนำว่าควรจะเดินอย่างไร และรัฐบาลมีหน้าที่ต้องเดิน
เมื่อถามย้ำว่า ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำว่ามีความเสี่ยง อาจจะไม่เข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และกฎหมายต่างๆ รัฐบาลจะทำอย่างไร นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ถ้าชี้มาว่ามีข้อห่วงใยตรงไหนก็พยายามจะแก้ตรงนั้น
“เราบอกว่าจะบริหารโดยการใช้งบประมาณ แต่ประโยคสุดท้ายได้ระบุว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศ หมายความว่าเราปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตามตอนคิดโครงการ เราคิดหลักการใหญ่และมาดูของจริงว่าเป็นอย่างไร เราก็ต้องแก้ปัญหา ที่สำคัญเรายืนยันว่าจะต้องทำให้ได้และให้สำเร็จ” นพ.พรหมินทร์ระบุ
เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงินครั้งนี้จะซ้ำรอย พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นจุดกำหนดเกมการเมือง นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า เราเรียนรู้จากของเก่า ความตั้งใจเรามองอนาคต เห็นโอกาสของประเทศ พอถูกเบรกเราก็เรียนรู้ว่าบทเรียนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จึงปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานต่างๆ ให้รอบคอบ เมื่อถามย้ำว่า เมื่อจะถอดบทเรียนแสดงว่าหากคณะกรรมการกฤษฎีกาติติงมา จะหยุดใช่หรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า เราก็แก้ไขไปตามข้อแนะนำ และข้อแนะนำคงจะต้องบอกว่ามีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง
ตีปี๊บเปิดรับสิทธิ์เป๋าตัง
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ภายในไตรมาส 1/2567 กระทรวงการคลังจะเปิดให้มีการยืนยันตัวตนรับสิทธิ์มาตรการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ 50 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้ว 40 ล้านคน ก็จะต้องมีการกดปุ่มในแอปพลิเคชันเพื่อยืนยันรับสิทธิ์ และอีก 10 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีสิทธิ์อายุตั้งแต่ 16-18 ปี ต้องมีการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (KYC) เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ทั้งนี้ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทจะใช้ได้ภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่เริ่มมาตรการ และคาดว่าจะหมุนเวียนอยู่ในระบบอีก 3 ปี มีการใช้จ่ายทวีคูณ กระตุ้นกลไกทางเศรษฐกิจ ซึ่งคลังมั่นใจว่าเมื่อมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัล เปลี่ยนจากคนแรกไปยังร้านค้า จะยังไม่มีการมาขอขึ้นเงินสดทันที เพราะหลังจากมาตรการมีผลก็จะมีมาตรการจูงใจอื่นๆ ให้สิทธิประโยชน์จากการใช้เงินดิจิทัลด้วย ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกที่มีการใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เงินดิจิทัลยังคงหมุนอยู่ในระบบต่อไป
“ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น ขั้นตอนการใช้จ่ายต้องไม่ยุ่งยาก วิธีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง สแกนกับร้านค้าเหมือนเดิม แต่จะอยู่ในรูปแบบสิทธิการใช้จ่ายเงินดิจิทัล โดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้าไปกำกับดูแล เพื่อให้ระบบมีความมั่นคง ปลอดภัย ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้จงใจทุจริตรับเงินดิจิทัล แปลงเป็นเงินสด ก็จะสามารถตรวจสอบได้ กดปุ่มเดียวก็จะพบความผิดปกติเกิดขึ้นที่ไหน ต่างจากโครงการในอดีต ซึ่งครั้งนี้จะเข้มงวดกว่าเดิม” นายจุลพันธ์กล่าว
วันเดียวกัน ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จนถึงตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีคำตอบใดๆ ออกมาว่าเหตุใดจึงยังเดินหน้าโครงการต่อ ในเมื่อการออก พ.ร.บ.กู้เงินอาจขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ทำไมพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจึงคิดจะทำต่อ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่ได้รับเหตุผลใดๆ กลับมา มีเพียงการขุดอดีตไล่ความชอบธรรมว่าตนเองเคยเห็นด้วย ขอให้รัฐบาลช่วยตอบให้ตรงประเด็นว่าจะไม่ผิดกฎหมายได้อย่างไร เพียงเปิดความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยรายงานการประชุม ทั้งในชั้นคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ออกมา ว่าไม่ผิดกฎหมายอย่างไรก็จบแล้ว ตนก็จะเป็นคนหน้าแตกไปเอง
ส่วนกรณีที่อ้างว่า ธปท.เสนอให้ออก พ.ร.บ.เงินกู้ ด้วย น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ยิ่งต้องไปดูรายงานของคณะกรรมการชุดใหญ่ว่ามีมติอย่างไรถึงให้ออก เพราะตนไม่เชื่อว่าผู้ว่าฯ ธปท.จะเสนอแนวทางนี้ เพราะทุกครั้งก็คัดค้านมาโดยตลอด
"ดังนั้นเราคาดหวังว่า วันที่ประกาศต่อประชาชนว่า จะออก พ.ร.บ.เงินกู้นั้น ได้ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าทำได้ ซึ่งหากไม่ผิดกฎหมายก็จะไม่มีช่องให้นักร้องไปร้องเรียนได้ แต่การพูดลอยๆ แบบนี้สุดท้ายต้องมากลับคำกันอีก ทำให้เสียความเชื่อมั่นต่อประชาชน"
สำหรับกรณีที่มีนักร้องเริ่มไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นไปตามเกมของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนได้แต่ดักคอเพราะเราไม่อยากให้มาถึงวันนี้ นักร้องไม่สมควรเข้ามามีส่วนร่วมกับการกำหนดนโยบายของรัฐบาล พอสบช่องให้ร้องแบบนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องจะทำให้ล่าช้าออกไปอีก มองว่าเป็นกับดักที่รัฐบาลคิดเอาไว้แล้วหรือไม่
น.ส.ศิริกัญญายังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า ข้าราชการกระทรวงการคลังไม่มีใครท้วงติงรัฐบาลเลยหรือ จะถือว่าทำผิดกฎหมายกันหมด หากนโยบายนี้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และใช้กลไกเสียงข้างมากให้ผ่านความเห็นชอบไปได้ ก้าวไกลก็คงต้องยอมรับความจริง แต่ขั้นต่อไปจะทำให้มีปัญหาเรื่องการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี
"นายกรัฐมนตรีพูดว่า จะชดใช้เงินกู้ให้หมดภายใน 4 ปี ปีแรกมาแล้วแสนกว่าล้านบาท ดอกเบี้ยอีกหมื่นล้าน มาแน่นอน ในการพิจารณางบประมาณปี 2568 ดิฉันคิดว่าการใช้คืนหนี้สูงมาก มีทั้งดอกเบี้ยเดิมและดอกเบี้ยใหม่ ภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้ 20% ก็ต้องไปใช้หนี้ ทำให้จัดงบประมาณปี 2568 ได้ยากลำบาก รวมถึงรายได้ที่คิดว่าจะมาจากดิจิทัลวอลเล็ตก็จะไม่ทัน ประชาชนเดือดร้อนแน่ๆ" น.ส.ศิริกัญญากล่าว
เธอกล่าวยอมรับว่า ตนได้เทียบกรณีดังกล่าวกับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าผิดกฎหมาย รัฐบาลปัจจุบันจึงไม่สามารถอ้างว่าไม่รู้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลปี 2557 ก็เป็นกรณีแบบเดียวกัน ที่ผ่านมายังไม่มีการถกเถียงกันเลยว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร นายกรัฐมนตรีก็เพียงยกตัวเลข GDP ย้อนหลัง 10 ปีขึ้นมา ระบุว่าเป็นปัญหาเรื้อรังเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการระยะสั้น
ก.ก.ฟาดหาช่องทางลง
เมื่อถามว่า หากไม่ผิดกฎหมายจะเห็นด้วยหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า หากไม่ผิดกฎหมายการกู้เงินในระดับนี้มีปัญหาแน่ๆ เพราะหนี้สาธารณะแน่นอนว่ายังไม่ถึงกรอบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยขยายไว้ที่ 70% ของ GDP แต่ที่ไม่รอดแน่คือภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณ แต่เป็นสิ่งที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติงที่จะจัดอันดับ เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องชี้แจงงบประมาณ ปีแรกจะต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยซึ่งเกิน 10% ของงบประมาณแผ่นดิน ถ้าสุดท้าย พ.ร.บ.นี้ ผ่านสภาฯ และบังคับใช้ได้จริง และดิจิทัลวอลเล็ตเกิดขึ้นจริง
"ต้องขอร้องว่าอย่าใช้ความรู้สึกในการบริหารประเทศ ต้องใช้ตัวเลขข้อมูลข้อเท็จจริงในการบริหารประเทศ ว่า สรุปแล้วปัญหาคืออะไร ที่บอกว่าเกิดวิกฤตหนักสาหัส ขอดูตัวเลขหน่อยว่ากำลังพูดถึงตัวเลขไหน จะได้คลายกังวลว่าใช้เครื่องมือที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาประเทศ ตอนคิดโครงการยังคิดมาไม่ถี่ถ้วน เนื่องจากตอนคิดยังบอกว่า ใช้เงินจากงบประมาณ ซึ่งเห็นว่าไม่มีทางเป็นไปได้ และพอหลังพิงฝาแล้วไม่มีทางออก จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้ว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหาทางลง" น.ส.ศิริกัญญากล่าว
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า นโยบายที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้ในระยะสั้น ทั้งยังช่วยในการอัดฉีดเม็ดเงินให้เข้าถึงทุกพื้นที่ แต่ยังต้องมีความชัดเจนในการออกมาตรการและเงื่อนไขมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจให้ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อย ร้านสตรีทฟู้ด โชว์ห่วย หาบเร่ แผงลอย
“รวมถึงคำนึงถึงการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์อย่างรัดกุมให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับความต้องการ ความสะดวกในการใช้งาน และเอื้อประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชนและผู้ประกอบการ โดยขอเสนอแนะให้ขยับเวลาประกาศใช้ในเดือนเมษายนแทนพฤษภาคม จะทำให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา” นายญนน์ระบุ
สตง.ผุดชุดทำงานตามติด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ลงนามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 305/2566 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ลงวันที่ 15 ก.ย. 2566 โดยมีอำนาจหน้าที่ศึกษาข้อมูล ข้อกฎหมาย วิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และเสนอต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 53 มาตรา 54 (9) ประกอบมาตรา 59 (10) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ประกอบด้วย 1.นางสาวน้อมจิตร์ สังข์ด่านจาก (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการตรวจเงินแผ่นดิน) ประธานคณะทำงาน 2.นายชิราวุธ ยอดกุล คณะทำงาน 3.นายคมกฤช ชัยวงค์ คณะทำงาน 4.นายกนต์ธร แก้วไพฑูรย์ คณะทำงาน 5.นายปิยชาญ ตาลอำไพ คณะทำงาน 6.นายวุฒิอานันท์ ปิ่นมิ่งนิมิต คณะทำงาน
“ในกรณีที่ข้อบกพร่องที่ตรวจพบมีลักษณะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือหน่วยรับตรวจ หรือมีลักษณะเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการแจ้งให้ผู้รับตรวจพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อรัฐหรือหน่วยรับตรวจต่อไป หรือดำเนินการทางวินัยแล้วแต่กรณี และเมื่อผู้รับตรวจดำเนินการแล้วให้แจ้งให้ผู้ว่าการทราบ ในกรณีที่ผู้รับตรวจไม่ดำเนินการตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคสามภายในเวลาอันสมควร ผู้ว่าการจะแจ้งให้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้” คำสั่งระบุ
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรัฐบาลตรา พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2560 มาตรา 53 หรือไม่ และในวันพุธที่ 15 พ.ย.นี้ ตนจะไปยื่นเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย ซึ่งอาจขัดกับมาตรา 57 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ตามด้วยการยื่น ป.ป.ช.ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ย.นี้
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือต่อ กกต.เพื่อทวงถามกรณีที่ กกต.อนุมัตินโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นการเสนอนโยบายไปแล้วทำไม่ได้ เป็นการแจ้งเอกสารอันเป็นเท็จให้แก่เจ้าพนักงานหรือไม่ อีกทั้งกรณีการแจ้งนโยบายแล้วไม่ตรงตามปก มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 57 (1) (2) มาตรา 72 ที่ระบุเรื่องแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมาตรา 92 ที่ระบุเรื่องการยุบพรรคการเมือง
เมื่อถามถึงการกำหนดระยะเวลาให้ กกต.ตอบคำร้อง นายสนธิญากล่าวว่า น่าจะต้นเดือน ธ.ค.ถึงเรียบร้อย แต่หากตอบแล้วไม่ตรงกับข้อมูลความเป็นจริง เรื่องนี้ก็จะถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
นายกฯ สั่งเกาะติด 7จังหวัดภาคใต้ที่เจอฝนถล่มหนัก
นายกฯ กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงจากฝนตกหนักในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้