แจกดิจิทัลไม่ตรงปก ตัดสิทธิ์รายได้7หมื่นเงินเก็บ5แสนจ่อออกพรบ.กู้/เจ๊ไหมฟันธงอดหมดแน่!

"เศรษฐา" แถลงยิบเงื่อนไขใหม่ "ดิจิทัลวอลเล็ต" แจก 1 หมื่น ปรับผู้ได้สิทธิ์ต้องมีเงินเดือนน้อยกว่า 7 หมื่น  เงินฝากไม่เกิน 5 แสน คาดอยู่ในเกณฑ์ 50 ล้านคน เริ่ม พ.ค.67 ขยับพื้นที่ใช้ในรัศมีอำเภอ ซื้อได้เฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น พร้อมเปิด e-refund 5 หมื่น คืนภาษีให้ผู้ไม่เข้าเกณฑ์ เตรียมออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน "ศิริกัญญา" ชี้ถึงทางตันชงออก พ.ร.บ.กู้เงินหาทางลงมากกว่าทำจริง แนะกฤษฎีกาทำแท้งร่าง กม.เงินกู้ตั้งแต่ต้น "ธีระชัย-คำนูณ"   ประสานเสียง "ไม่ตรงปก" เสี่ยงขัด พ.ร.บ.วินัยทางการเงิน "นักวิชาการทีดีอาร์ไอ" ห่วงใช้เงินสูง

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 10 พ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2566

จากนั้นเวลา 14.00 น. นายเศรษฐา แถลงผลสรุปการประชุมว่า ขอบอกข่าวดีกับพี่น้องประชาชน โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่แค่ความฝัน แต่กำลังเป็นความจริง รัฐบาลได้หาข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 1 แสนล้านบาท ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และทุกอย่างที่แถลงในวันนี้จะยังต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมาย และต้องมีมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปเป็น Final อีกครั้ง

 นายเศรษฐากล่าวว่า ตัวเลขที่ได้กล่าวไปเกิดจากการที่รัฐบาลรับฟังความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์  และหน่วยงานอื่นๆ ทำงานร่วมกัน และปรับเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้รัดกุมขึ้น โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท เพื่อความชัดเจนประโยคนี้แปลว่าถ้ารายได้เกิน 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือถ้ารายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน  

"โดยให้สิทธิใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือนหลังจากโครงการเริ่ม และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ ตามที่ได้รับฟังความเห็นมา พร้อมๆ กันนั้นเราจะใช้เงินในการเพิ่มขีดความสามารถภายใต้งบ 1 แสนล้านบาท และส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น ซึ่งกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป" นายเศรษฐากล่าว 

นายกฯ กล่าวว่า คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ เพราะรัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้ใบกำกับภาษีมาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ท่าน เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ตก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นด้วย

 นายเศรษฐากล่าวว่า เงินทั้งหมดในโครงการนี้จะถูกส่งตรงไปให้กับประชาชนทุกคนที่ผ่านเงื่อนไขเข้าไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัล ขอบเขตการใช้งานจะใช้ได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชนของท่าน โดยเงื่อนไขซื้ออะไรได้-ไม่ได้ ขอพูดตรงนี้ให้ชัด ประชาชนจะสามารถจะใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับบริการได้ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้ ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอมได้ ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้

สำหรับประเภทร้านค้าซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี ไม่จำเป็นต้องจด VAT ร้านค้ารถเข็น ร้านโชห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอพเป๋าตังใช้ได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น

จ่อออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล.

 "นับจากตอนหาเสียงจนวันที่จัดตั้งรัฐบาล ผมกล่าวไว้ว่าเราจะให้ประชาชนทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปอย่างเท่าเทียมกัน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 54.8 ล้านคน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ประชาชนเป็นหัวใจหลัก เป็นกลไกที่สำคัญการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้จำเป็นต้องมีการปรับเงื่อนไขต่างๆ โดยเป็นข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของประชาชน นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ และอีกหลายหน่วยงาน ที่รัฐบาลนำมาปรับปรุงเป็นเงื่อนไขใหม่" นายเศรษฐากล่าว

 นายกฯ กล่าวว่า จากเงื่อนไขและการศึกษาทั้งหมดทำให้กลั่นกรองผู้ได้รับสิทธิในโครงการดิจิทัล เหลือประมาณ 50 ล้านคน และจะใช้วงเงินในโครงการนี้เหลือเพียงประมาณ 5 แสนล้านบาท และเงินอีก 100,000 ล้านบาท จะสามารถนำใช้ในการผลักดันต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ๆ  โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของประเทศได้ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นต้น

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องของแหล่งเงินทุนในโครงการทั้งหมดนี้ เราได้พิจารณาแหล่งเงินทุนที่เป็นไปได้อย่างรอบคอบ ซึ่งเราไม่ได้มองแค่การใช้ตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่ง เราดูถึง Hybrid option ที่ผสมผสานหลายๆ แนวทางด้วย ในวันนี้คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การออก พ.ร.บ.จะมีความโปร่งใสภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา

"ผมมั่นใจว่าในที่สุดแล้วจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พระราชบัญญัติการกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet ให้เป็นไปด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และรัฐบาลจะทำการกู้เงินก็ต่อเมื่อมีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า 500,000 ล้าน ซึ่งจะหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัย ผสมกับงบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการที่กล่าวไปทั้งหมด" นายเศรษฐากล่าว

 นายกฯ กล่าวว่า ในเรื่องของการใช้เงินคืนรัฐบาล จะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี นโยบายดิจิทัลนี้เป็นเพียงนโยบายเริ่มต้นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และขอยืนยันว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน ยังมีอีกหลายนโยบายหลายโครงการที่จะเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคม Empower ภาคประชาชนให้เข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวดังกล่าวไม่เปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถาม โดยอ้างว่าแจกเป็นเอกสารข่าวให้ไปทำความเข้าใจ ขณะที่นายกฯ กล่าวตอนท้ายของการแถลงข่าวว่า เดี๋ยวเราจะจัดอีกเซกชันหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการถามตอบ

ต่อมาเวลา 14.30 น. ภายหลังแถลงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายกฯ ได้เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า โดยผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็นที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าจะนำมาจากไหน นายกฯ กล่าวว่า ถ้าฟังให้ดีมันจะอยู่ในพรีเซนเทชัน มีทั้งหมดแล้ว ขอให้ไปดูให้ดี ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้

เมื่อถามต่อว่า จะต้องกู้เงินหรือไม่ นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การออก พ.ร.บ.เงินกู้วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาลนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อระดับเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของจีดีพี โดย ณ สิ้นงบประมาณ 2566 ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ประมาณ 62%  ต่อจีดีพี ยังเหลือช่องว่างที่จะกู้ได้อีก 8%  หรือราว 1.3 ล้านล้านบาท

"การออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว จะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจรายละเอียดของร่างกฎหมายก่อน หลังจากนั้นสำนักงบประมาณจะหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมต่อไป" ปลัดกระทรวงการคลังระบุ

โวยลั่น 'ดิจิทัล' ไม่ตรงปก

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงการแถลงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ขณะนี้ความชัดเจนเริ่มปรากฏแล้ว แต่เป็นความชัดเจนที่ไม่มีเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งนายกฯ เลือกเส้นทางที่ยากที่สุด คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้าน เพื่อระดมทุนมาแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แม้วันนี้หลักเกณฑ์จะมีการพูดถึงคนที่รายได้ต่ำกว่า 7 หมื่นบาท แต่ท้ายที่สุดอาจไม่มีใครได้เงินจากโครงการนี้เลย เพราะเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 ที่มีการระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร เราไม่ได้อยากกดดันให้มีการร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริงที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้เด็ดขาด ว่ารัฐบาลจะออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทได้หรือไม่ โดยไม่ต้องไปถึงมือขององค์กรอิสระที่ไม่เป็นวิถีทางประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

 “รัฐบาลเองน่าจะเห็นแล้วว่าไม่มีทางที่จะไปได้จริงๆ ทางเลือกนี้เป็นการหาทางลงมากกว่าที่จะเดินหน้าโครงการนี้จริงๆ ถ้ากฤษฎีกาตีความเข้าข้างให้ผ่าน และสส.ในสภาก็ให้ผ่าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือภาระหนี้ในแต่ละปีงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของงบรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณอย่างใหญ่หลวง สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้จะทำภาระดอกเบี้ยเกิน 10% ในงบประมาณปี 68 ทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้พูดถึงทั้งเรื่องภาระหนี้ และภาระดอกเบี้ย ความเสี่ยงนี้จะไม่เกิดขึ้นหาก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทถูกทำแท้งตั้งแต่ต้นโดยกฤษฎีกา” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

เช่นเดียวกับ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า แจกเงินดิจิทัลไม่ตรงปก โดยได้ตังข้อสังเกต 4 ประการ คือ 1.อาจฝ่าฝืน พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ มาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า "คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว" เนื่องจากสถานะตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เลวร้าย 2.ไม่ได้พัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โครงการนี้ที่เดิมโปรโมตว่าจะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ให้แก่ประเทศ อันจะทำให้พัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแบบก้าวกระโดด โปรโมชั่นดังกล่าว จึงไม่เป็นความจริง แต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท มีสภาพเป็นเพียงการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคแบบพื้นๆ เท่านั้น

3.เปิดตลาดส่วนลด เนื่องจากรัฐบาลยังกำหนดเงื่อนไขที่ฝืนธรรมชาติความเดือดร้อนระดับครัวเรือนของประชาชน เช่น ห้ามเอาไปชำระหนี้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ห้ามเอาไปซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ห้ามเอาไปจ่ายค่าเทอมค่าเรียนของลูก 4.เอื้อประโยชน์แก่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากกว่า

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ที่มาของเงินก็คือการตรากฎหมายพิเศษกู้เงิน 5 แสนล้านบาท หาใช่การบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษีตามที่แจ้ง กกต. ไว้เมื่อปลายเดือนเม.ย.2566 แต่ประการใด ปัญหาต่อไปก็ต้องดูว่ากฎหมายพิเศษที่ว่านี้จะเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังมาตรา 53 หรือไม่อย่างไร  เบื้องต้นก็ต้องดูว่ากฤษฎีกาจะให้ความเห็นอย่างไร

"มาตรา 53 บัญญัติไว้ว่า จะออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้นั้นต้อง… เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน” สว.คำนูณระบุ

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การแถลงของนายกฯ ทำให้รู้แหล่งที่มาของการใช้งบประมาณทำดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ทำให้เข้าสู่ระบบรัฐสภา เกิดการตรวจสอบและพิจารณาของรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ข้อที่น่าเป็นห่วงคือ พบว่าหลักการและรายละเอียดหลายอย่างที่นายกฯ แถลง วิธีการยังอยู่ในประเด็นที่กลุ่ม 99 นักเศรษฐศาสตร์ เคยออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับดิจิทัลวอลเล็ตที่ก็พบว่าเนื้อหาที่นายกฯ แถลงในการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อจากนี้ยังอยู่ในข้อห่วงใยดังกล่าวของนักเศรษฐศาสตร์

"การที่ยังคงจะใช้งบประมาณในการทำนโยบายถึง 5 แสนล้านบาท ยังถือว่าสูงอยู่มาก ตัวเลขการใช้งบประมาณแม้ลดลงจากเดิม แต่ก็ไม่แตกต่างกันมาก เพราะอย่างคนไทยที่จะมีเงินเดือนเกิน 7 หมื่นบาท ก็มีไม่มาก ยังถือว่าเป็นการให้แบบค่อนข้างถ้วนหน้าอยู่ ยังมีการกันคนที่จะได้รับสิทธิ์ออกไปน้อยอยู่ ทั้งที่ควรกันออกได้มากกว่านี้ ทำให้ยังใช้งบสูง 5 แสนล้านบาท ทั้งที่ลักษณะนโยบายน่าจะไม่เกิน 1-2 แสนล้านบาทก็น่าจะเพียงพอแล้ว" นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง