เคาะช่วยชาวนาไร่ละพัน ‘ปานปรีย์’แย้มข่าวดีขรก.

“ภูมิธรรม” นั่งหัวโต๊ะประชุม นบข. ไฟเขียวแจกเกษตรกรไร่ละพันไม่เกิน 20,000 บาทเป็นครั้งสุดท้าย   ชง ครม. 14 พ.ย.นี้ “ปานปรีย์” แย้มขึ้นเงินข้าราชการมีข่าวดี เน้นพวกแรกเข้าก่อน กกพ.ชง 3 แนวทางปรับค่าเอฟที สูงสุด 5.95 บาท/หน่วย

เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ก่อนให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินไม่เกิน 20,000 บาท วงเงินงบประมาณจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท โดยจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 พ.ย.2566 ซึ่งไม่ถือว่าผิดวินัยการเงินการคลัง และหากผ่านการพิจารณาจะสามารถเริ่มดำเนินการทันที

“ชาวนาที่จะร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ปลูกข้าวปี 2566/2567 ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน และมีระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2566 ไปจนถึง 30 กันยายน 2567 โดยปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่ใช้โครงการนี้ ไม่ใช่เพราะเป็นภาระงบประมาณ แต่เป็นเพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูง ใช้แนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นายภูมิธรรมระบุ

ขณะที่ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นประธานการประชุมหารือข้อราชการเรื่องการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ โดยกล่าวภายหลังการประชุมว่า ทิศทางออกมาดี แต่รายละเอียดต้องทำเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่ง คาดว่าก่อนสิ้นเดือน พ.ย.เสร็จแน่นอน             

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีข่าวว่าจะขึ้นเงินเดือนเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย ส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะขึ้นแบบน้อยมาก มีหลักและแนวทางอย่างไร นายปานปรีย์ กล่าวว่า คงต้องดู เพราะมันมีในส่วนข้าราชการแรกเข้าที่เราต้องปรับฐานเงินเดือน เพื่อให้คนที่เข้ามาใหม่สนใจเข้าสู่ระบบราชการมากขึ้น เพราะถ้าฐานเงินเดือนต่ำ เราอาจได้คนที่ไม่มีคุณภาพ และในที่สุดคนที่จะเข้ามารับราชการอาจตัดสินใจเลี้ยวไปทางภาคเอกชน ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงมาดูด้วยว่าเงินเดือนเอกชนที่จบปริญญาตรีเขาเริ่มต้นจากตรงไหน และดูความเหมาะสมในส่วนของราชการว่าควรจะเป็นเท่าไหร่             

เมื่อถามว่า ควรต้องปรับเป็น 25,000 บาท ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า ยังไม่ใช่ ต้องดูรายละเอียด อย่าเพิ่งสรุปว่าจะเป็นเท่าไหร่

ผู้สื่อข่าวถามว่า อย่างข้าราชการชั้นผู้น้อยที่บรรจุตั้งแต่ระดับ 3-7 ที่ไม่ใช่ระดับผู้บริหาร จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ใช่หรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า การหารือยังไปไม่ถึงตรงนั้น ตอนนี้กำลังดูในส่วนของข้าราชการแรกเข้าก่อน เมื่อถามย้ำว่า การขึ้นจะเป็นการขึ้นทั้งระบบใช่หรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า ขอให้รอฟังก่อน 

เมื่อถามว่า เท่าที่ได้รับฟังข้อมูลครั้งนี้  โอกาสเป็นไปได้ที่จะขึ้นมีสูงหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า ก็เป็นไปตามนโยบาย  ซึ่งจะขึ้นมากหรือขึ้นน้อยก็ค่อยว่ากัน

วันเดียวกัน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวถึงผลประชุม กกพ.ว่า เห็นชอบผลการคำนวณประมาณการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ.นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็น 3 แนวทาง ผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10-24 พ.ย.2566

สำหรับ 3 แนวทาง คือ 1.ให้มีการจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างกับ กฟผ. ทั้งหมด  95,777 ล้านบาทในงวดเดียว คิดเป็นต้นทุน 2.16 บาท/หน่วย รวมกับค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ที่ 64.18 สตางค์/หน่วย และรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเพิ่มขึ้น 1.96 บาท/หน่วย เป็น 5.95 บาท/หน่วยจากงวดปัจจุบัน (เดือน ก.ย.-ธ.ค.2566) อยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย

2.จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างกับ กฟผ. 95,777 ล้านบาท ภายใน 1 ปี แบ่งเป็น 3 งวด งวดละ 31,926 ล้านบาท คิดเป็นต้นทุน 1.14 บาท/หน่วย รวมกับค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน 64.18 สตางค์/หน่วย และรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเพิ่มขึ้น 94 สตางค์/หน่วย เป็น 4.93 บาท/หน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่  3.99 บาท/หน่วย

และ 3.ให้จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างกับ กฟผ. 95,777 ล้านบาท ภายใน 2 ปี แบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 15,963 ล้านบาท คิดเป็นต้นทุน 89.55 สตางค์/หน่วย รวมกับค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน 64.18 สตางค์/หน่วย และรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเพิ่มขึ้น 69 สตางค์/หน่วย เป็น 4.68 บาท/หน่วย

“คาดการณ์ว่าค่าไฟฟ้าปี 2567 จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในกรอบกว่า 60 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปี 2567 ทั้งปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่หากมีข้อเสนอให้ค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 3 แนวทางที่กำหนดข้างต้น หรือต่ำกว่า 4 บาท กกพ.ก็ต้องกลับมาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติ เพราะจะเป็นการผลักภาระให้ กฟผ.แบกหนี้ต้นทุนเพิ่มขึ้นต่อไป รวมถึงผู้นำเข้าก๊าซด้วย ยกเว้นมีแนวทางการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติทั้งระบบให้ราคาเท่ากัน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากบางทางเลือกไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ กกพ. ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดผลกระทบกับหน่วยงานใดหรือไม่ ต้องหารือร่วมกัน” นายคมกฤชกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง