ล้อมคอกสั่งแก้ปัญหาส่วยสติกเกอร์

นายกฯ สั่งคมนาคม- กทม.-กรมทางหลวง แก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน "บิ๊กโจ๊ก" แจ้งข้อหาคนขับรถบรรทุก ลั่นต้องไม่เกิดซ้ำอีก ผบก.น.5 ตั้ง กก.สอบส่วยสติกเกอร์   กทม.นำเทคโนโลยีตรวจน้ำหนักติดตั้งสะพานทั่วกรุง "วิโรจน์" ซัดตำรวจตัดตอนอ้างตัวบีชื่อเจ้าของบริษัท สหพันธ์ขนส่งทางบกฯ ฟันธงสัญลักษณ์จ่ายส่วย

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9   พฤศจิกายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาส่วยสติกเกอร์ ซึ่งวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุฝาท่อคอนกรีตทรุดตัว ทำให้รถบรรทุกดิน 10 ล้อตกลงไปในบ่อร้อยสายไฟฟ้า บริเวณปากซอยสุขุมวิท 64/1 และพบสติกเกอร์ที่อาจเป็นสัญลักษณ์ของการจ่ายส่วยติดอยู่ที่กระจกหน้ารถว่า ได้รับทราบปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งต้องประสานกับกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร รวมถึงกรมทางหลวงด้วยเช่นกัน

เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ฟาง พอเกิดเรื่องขึ้นมาค่อยแก้ไขปัญหา และพอลืมกันไปก็มีปัญหาเรื่องทุจริตแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ นายกฯ กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกปัญหา และจะแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ อย่างที่ตนบอกไม่อยากให้เกิด พอมีปัญหาก็มาแก้ แก้แล้วก็ลืม พยายามตอกย้ำไปตลอดเวลา

ที่ สน.พระโขนง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  (รอง ผบ.ตร.) ที่รับผิดชอบงานจราจร  เปิดเผยภายหลังเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง กรณีพบรถบรรทุกดังกล่าวมีสติกเกอร์หน้ารถเป็นรูปดาวตัวอักษรบีสีเขียว ที่สังคมสงสัยเป็นส่วยสติกเกอร์อำนวยความสะดวกในการบรรทุกดินเกินน้ำหนัก ว่า ผกก.สน.พระโขนงได้ลงมากำกับดูแลเอง ประเด็นเรื่องสติกเกอร์ตัวบี พบว่าเจ้าของมีรถบรรทุกประมาณ 5 คัน ทราบว่าสติกเกอร์ตัวบีเป็นสัญลักษณ์ในการวิ่งเข้าไซต์งานของเขา อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้รอง ผกก.สืบสวนไปตรวจสอบต่อว่าเป็นสติกเกอร์ส่วยหรือไม่ ส่วนประเด็นที่เอาดินออกจากรถนั้น เพื่อให้น้ำหนักลดสามารถยกรถออกได้ ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือ แต่ตอนนี้ได้นำดินกลับมาใส่รถเหมือนเดิมแล้ว ถ้าน้ำหนักเกินเป็นความผิด

สำหรับเหตุการณ์แบบนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก ไม่ใช่วัวหายล้อมคอก ต่อไปรถบรรทุกที่วิ่งเข้ากรุงเทพฯ ต้องเข้าตามเวลา และรถคันที่เกิดเหตุนี้ผิดเรื่องเวลาด้วย ทั้งนี้ ได้ประสานนำตาชั่งมาชั่งแล้ว วันนี้จะได้รู้ว่ารถคันดังกล่าวน้ำหนักเกินหรือไม่ หากเกิน 25 ตัน มีความผิดแน่นอน เกิน 1 ตันหรือ 10 ตัน โทษเท่ากัน เบื้องต้นการดำเนินคดีกับรถบรรทุกได้แจ้งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ส่วนน้ำหนักถ้าชั่งแล้วน้ำหนักเกินก็แจ้งข้อหาเพิ่ม รวมทั้งการวิ่งนอกเวลา

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน แต่เรื่องการแก้ปัญหาการบังคับคดี ตนลงมากำกับดูแล ส่วนเรื่องส่วยสติกเกอร์ ไม่มีอำนาจตรวจสอบ ต้องให้ ผบ.ตร.มอบหมาย หาก ผบ.ตร.แต่งตั้ง ถึงทำได้

ทางด้าน พ.ต.อ.วิทวัฒน์ ชินคำ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 (รอง ผบก.น.5) รักษาราชการแทน ผบก.น.5 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วยบุคคล ดังนี้ 1.พ.ต.อ.ภพธร จิตติ์หมั่น รอง ผบก.น.5 เป็นประธาน 2.พ.ต.อ.สุนทร ไชยรักษา ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.น.5 เป็นกรรมการ 3.พ.ต.ท.กฤษณะ จันทร์ประเสริฐ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.วัดพระยาไกร เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วเสนอรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงมาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

วันเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า บ่ายวันเดียวกันนี้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมากำชับเรื่องการทำงานอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะงานที่เป็นตัวโครงสร้างชั่วคราวคือตัวฝาบ่อ ซึ่งยังไม่ได้ปิดถาวร กลางวันปิดไว้และเปิดช่วงกลางคืนเพื่อลงมาทำงาน แต่ละหน่วยก็ต้องไปเพิ่มความเข้มข้นตรงนี้มากขึ้น ส่วนเรื่องน้ำหนักบรรทุก ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ต้องบอกว่าเป็นความรับผิดชอบของ กทม.ร่วมกับตำรวจ ปัจจุบัน พ.ร.บ.ทางหลวงกำหนดให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลทางหลวงท้องถิ่น กทม.จึงเป็นผู้ออกกฎน้ำหนักบรรทุกเอง แต่ กทม.ไม่ได้ชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพราะรถบรรทุกไม่ได้วิ่งเฉพาะใน กทม. แต่จะออกไปทางหลวง หรือทางหลวงชนบทรอบนอก ทั้งนี้ ในอนาคตคงต้องจัดชุดร่วมกับตำรวจและหน่วยงานที่มีเครื่องชั่งน้ำหนัก ซึ่งตอนนี้ได้เครื่องชั่งน้ำหนักจากกรมทางหลวงมาแล้ว 1 ตัว และต่อไปต้องมีเครื่องชั่งเป็นของตัวเอง

ทั้งนี้ เรื่องน้ำหนักเราไม่ได้ไว้วางใจ ตั้งแต่ออกประกาศไป เราก็มีกระบวนการทำงานร่วมกับนักวิจัยในเรื่องนี้แล้ว คือจะเอาตัววัดไปอยู่บนสะพานต่างๆ  เรียกว่า Weigh-In-Motion (WIM) ซึ่งได้มีการจ้างคณะอาจารย์เมื่อ 2 เดือนที่แล้วเพื่อทดลองใช้ และได้ส่งทะเบียนรถบรรทุกคันที่เกิดเหตุไปดูในฐานข้อมูลซึ่งได้ประวัติออกมาว่าเคยตรวจวัดได้ว่าบรรทุกน้ำหนักเท่าไหร่ ซึ่งต้องทำให้รอบคอบ เพราะสามารถเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ โดย กทม.เริ่มนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้แล้ว

"การดำเนินการในระยะสั้น กทม.จะร่วมกับกรมทางหลวงในการนำเครื่องชั่งน้ำหนักมาใช้ตรวจวัด และสั่งการให้สำรวจไซต์งานก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่มีอยู่ทั้งหมด 317 แห่ง รวมถึงฝาบ่อ 879 บ่อ ส่วนระยะกลาง กทม.จะติดตั้งระบบ Weigh-In-Motion ให้มากขึ้น เพื่อทำให้การวัดมีมาตรฐาน รวมไปถึงเรื่องกฎหมายต้องเสนอทางรัฐบาลในการปรับให้เข้มข้นมากขึ้น" นายชัชชาติระบุ

ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ชี้แจงว่าสติกเกอร์ที่ติดหน้ารถบรรทุกเป็นสัญลักษณ์ของบริษัทรับเหมาว่า เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น หากจะออกแบบสติกเกอร์เช่นนั้น น่าจะออกแบบเป็นรูปโลโก้บริษัทตนเอง แต่การติดสติกเกอร์ในลักษณะนี้ ไม่ได้ทำให้คนขับมองเห็น แต่เอาไว้ให้ใครสักคนที่เตี๊ยมเอาไว้มองเห็นมากกว่า ต้องตั้งคำถามกับ ผกก.สน.พระโขนง และ ผบก.น.5 ว่า คนที่เตี๊ยมเอาไว้ให้มองเห็น เป็นข้าราชการตำรวจหรือไม่ เป็นระดับไหน รวมถึงมีการจ่ายส่วยด้วยหรือไม่

"ก็เป็นชื่อเจ้าของอยู่แล้ว ตัว “B” บางคนก็บอกว่าย่อมาจาก “เสี่ยบิ๊ก” แต่ที่ต้องตั้งคำถามคือ “เสี่ยบิ๊ก” คือใคร มีการโยงใยไปถึงการเรียกรับผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่งผมมองว่ามีการตัดตอนคำตอบเร็วเกินไป ทำให้มองเป็นอย่างอื่นลำบาก" นายวิโรจน์ระบุ และว่า มีการบ่ายเบี่ยงที่จะไม่ยอมชั่งน้ำหนัก ทั้งตัวรถและดินที่ขน ถ้าเป็นตำรวจระดับ ผกก. และ ผบก.น.5 ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง รวมถึงรักษาพยานวัตถุและของกลางสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ หากยังขาดศักยภาพที่จะทำในเรื่องดังกล่าว ทาง ผบ.ตร. ควรพิจารณาหาคนที่เหมาะสมกว่านี้มาทำงานแทนหรือไม่

นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม.เขตพระโขนง-บางนา พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ.จะเดินทางเข้าไปพบ ผบ.ตร. ในวันที่ 13 พ.ย.นี้ โดยจะถือโอกาสนี้สอบถามถึงเรื่องดังกล่าว รวมถึงคณะอนุกรรมการที่ศึกษาเรื่องส่วยทางหลวงจะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อหาคำตอบต่อไป

นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเรื่องนี้ในอีก 2 สัปดาห์ อาทิ ตำรวจทางหลวง กรมทางหลวง ตำรวจท้องที่ ว่าเป็นเรื่องส่วยจริงหรือไม่

ขณะที่ นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หน้ารถบรรทุกมีสติกเกอร์รูปดาวสีเขียวติดอยู่ ยืนยันว่าเป็นรถที่จ่ายส่วยเพื่อวิ่งนอกเวลา และบรรทุกน้ำหนักเกินแน่นอน ซึ่งคาดการณ์คันดังกล่าวหนักไม่น้อยกว่า 40 ตัน แต่หากเป็นรถพ่วงอยู่ที่ 50 ตัน ซึ่งรถพ่วงบางเจ้าขนน้ำหนักเป็น 100 ตันก็มี ทำให้ผู้ประกอบการบางรายมองว่าใครทำผิดก็ได้ อยู่ที่ว่าใครสามารถจ่ายให้เจ้าหน้าที่เท่าไหร่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ