โหมสื่อรัฐพีอาร์‘นิด’ ดินเนอร์กระชับพรรคร่วม/รุมถล่ม‘ดิจิทัล’พาชาติลงเหว

"เศรษฐา" เชิญหัวหน้าพรรคร่วมดินเนอร์รอบค่ำ ขอสื่องดติดตาม บอก 9 พ.ย.จะกลับมาเล่าให้ฟัง   คาดคุยขับเคลื่อนงานรัฐบาล พร้อมกระชับความสัมพันธ์ สั่ง "พวงเพ็ชร" ใช้สื่อรัฐตีปี๊บผลงานให้เข้าถึง ปชช.มากสุด   แย้มคิวนายกฯ เดินสายทัวร์เหนือ ก่อนนำครม.สัญจรนัดแรก จ.หนองบัวลำภู "อุ๊งอิ๊ง" กินข้าวกลางวันบนตึกไทยคู่ฟ้ากับเสี่ยนิด "สมศักดิ์" ฟุ้ง "ครม.เศรษฐา" 60 วันแรกผลงานเพียบ "เรืองไกร" ร้องศาลรธน. "นายกฯ" แถลงนโยบายไม่แจงรายได้ ขัด รธน.มาตรา 162 “ปานปรีย์” ยังไม่ชัดขึ้นเงินเดือน ขรก. "เวทีสภาที่ 3" ถกนโยบายดิจิทัล เตือนอย่าดันทุรังอาจพา  ปท.ลงเหว

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 8 พ.ย. มีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ส่งข้อความเรียนเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารเย็น ในวันพุธที่ 8 พ.ย. เวลา 19.00-20.00 น. ที่ร้านอาหาร Spider Collection NW303 ถ.สาทรเหนือ ซึ่งเป็นสถานที่ปิด บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปสังเกตการณ์ได้  คาดว่าจะเป็นการพูดคุยถึงการทำงานร่วมกันในพรรคร่วมรัฐบาล และผลงานในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงค่ำวันที่ 9 พ.ย. นายกรัฐมนตรีจะมีการแถลงผลงานรัฐบาลด้วย นอกจากนี้คาดว่าจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ช่วงเช้ายอมรับว่า ในช่วงเวลา 19.00 น. (8 พ.ย.) ได้นัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน ทั้งนี้ ตนไม่ทราบจริงๆ  ว่าสื่อรู้แล้ว และเมื่อถามมาตนก็คงโกหกไม่ได้

ถามว่าจะอนุญาตให้สื่อมวลชนติดตามไปทำข่าวด้วยได้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “เดี๋ยวผมจะกลับมาเล่าให้ฟังดีกว่า วันที่ 9 พ.ย.จะกลับมาเล่าให้ฟัง"

ซักว่าที่ผ่านมาการทำงานกับพรรคร่วมโอเคหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า โอเคหมด เป็นการคุยกันในเรื่องดี ไม่มีปัญหา และเข้าใจว่าธรรมดาในรัฐบาลก่อนๆ ไม่ค่อยมี เราก็อยากจะทำขึ้นมาอย่างน้อยเดือนละหน หรือ 2 เดือนหน ก็เป็นการกินแบบสบาย ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ตนอยากจะให้มีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เผื่อท่านมีข้อแนะนำ ตนบอกแล้วเราเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน ฉะนั้นเราต้องรับฟังคำแนะนำของประชาชน และพรรคร่วมเองถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการบริหารขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ อาจจะมีอะไรติชมหรือมีอะไรก็มาพูดคุยกันได้ดีกว่า เน้นวงเล็กหน่อย ไม่ต้อง 40-50 คน สักประมาณ 10 ท่านก็พอแล้ว

"หัวหน้าพรรคร่วมทุกพรรคตอบรับหมดแล้ว เรียบร้อยไม่มีปัญหา" นายกฯกล่าว และเมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐตอบรับหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มาครับ เมื่อถามว่าอย่างไรให้มาเล่าสู่กันฟัง นายกฯ กล่าวว่า แน่นอน ยินดีครับ

นายกฯ กล่าวถึงการแถลงผลงาน 60 วันในวันที่ 9 พ.ย.นี้ว่า ขอให้รอฟัง เป็นการพูดธรรมดาในทุกเรื่องที่ทำมา และเป็นการแถลงอย่างเป็นทางการ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้พูดคุยอะไรมาก จึงเป็นการแถลงเพื่อให้ทราบ

ต่อมาเวลา 11.27 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางขึ้นตึกไทยคู่ฟ้ารับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนายกฯ หลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ครั้งที่ 1/2566 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลเสร็จสิ้น ในฐานะเป็นกรรมการคณะกรรมการอำนวยการฯ

กระทั่งเวลา 12.49 น. น.ส.แพทองธาร เดินลงมาขึ้นรถยนต์ โดยยิ้มและโบกมือทักทายสื่อมวลชนพร้อมให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ ถึงกรณีนายกรัฐมนตรีนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารค่ำเวลา 19.00 น. วันเดียวกันนี้ ที่ร้าน Spider Collection NW303 อาคาร Kronos Sathorn ชั้น 26 ถ.สาทรเหนือ กทม.ว่า “ไปค่ะ”

เช่นเดียวกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า การที่นายกฯ นัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไปรับประทานอาหาร เพราะทำงานเป็นรัฐบาลมา 2 เดือน ยังไม่มีเวลาเจอกัน ซึ่งเป็นการพูดคุยทั่วไป ไม่เกี่ยวกับการแถลงผลงานรัฐบาล 2 เดือน

ถามว่า พรรค ภท.จะพูดคุยเรื่องใดเกี่ยวกับการประสานงานเป็นพิเศษหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เดี๋ยวไปนั่งดูในวงก่อน เมื่อถามย้ำว่า การทำงานของพรรค ภท.มีปัญหาอะไรที่จะเสนอในวงหารือหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ต้องดูว่านายกฯ จะคุยในประเด็นใดบ้าง ส่วนเราจะคุยว่าหลังจากนี้สภาจะเปิดประชุมเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 เป็นต้น

สั่งใช้สื่อรัฐตีปี๊บผลงาน รบ.

เวลา 16.50 น. นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเข้าพบนายกฯ ที่ตึกไทยคู่ฟ้าว่า ได้เข้าพบนายกฯ คนละวงประชุมกับรัฐมนตรีท่านอื่น โดยนายกฯเรียกตนไปหารือเพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการจัดงานที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ย. คืองานแถลงนโยบายครบรอบ 2 เดือนของรัฐบาล และในวันที่ 10 พ.ย. จะมี 2 งาน คือแถลงเรื่องนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท และงาน T hailand Winter Festival ซึ่งตนต้องมีหน้าที่ดูแลการถ่ายทอดสด ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์

"นายกฯ กำชับว่าอะไรที่เป็นผลงานของรัฐบาลให้เผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบให้มากที่สุด และถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด" รมต.ประจำสำนักนายกฯ ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภารกิจนายกฯ นั้น ในวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. เวลา 10.00 น. มีกำหนดเป็นประธานแถลงข่าวในพิธีเปิดโครงการ Thailand, Winter Festival โดยมี น.ส.แพทองธาร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติร่วมด้วย จากนั้นเวลา 11.00 น. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นอกจากนี้ นายกฯ จะเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-19 พ.ย. จากนั้นวันที่ 23-24 พ.ย. มีกำหนดการเดินทางไปประชุมที่ประเทศสิงคโปร์ วันที่ 27 พ.ย.เดินทางไปเป็นประธานและร่วมงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ที่ จ.สุโขทัย ช่วงเช้าวันที่ 28 พ.ย. จะเดินทางกลับมาเป็นประธานการประชุม ครม.  ช่วงบ่ายจะบินไปปฏิบัติภารกิจที่ จ.เชียงใหม่ ร่วมประเพณีเดือนยี่เป็ง และลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 28-29 พ.ย. พอวันที่ 30 พ.ย. เดินทางโดยรถยนต์จาก จ.เชียงใหม่ ไปยัง จ.อุตรดิตถ์ เพื่อปฏิบัติภารกิจและพักค้างคืน ก่อนวันที่ 1 ธ.ค.จะเดินทางไปยัง จ.พิษณุโลก เพื่อขึ้นเครื่องบินไปที่จังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีกำหนดการประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ที่ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลนี้ ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค. ก่อนที่ระหว่างวันที่ 6-7 ธ.ค. นายกฯ ได้ขอลาราชการเพื่อเข้าร่วมประชุมสัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 60 วันว่า สำหรับตนมีผลงานการทำงานมาตลอดระยะเวลา 2 เดือน อย่างเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ก็ได้เสนอร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าไปแล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบ ก็ทำระบบตรงนี้เพื่อป้องกันการทุจริตเกิดขึ้นในกลุ่มของราชการ ซึ่งถือว่าพร้อม

อย่างไรก็ตาม นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วันนี้ตนได้ไปยื่นคำร้องด้วยตนเองเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่ชี้แจงที่มาของรายได้นั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 และใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5

นายเรืองไกรกล่าวว่า การที่นายกฯเศรษฐาแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่ชี้แจงที่มาของรายได้นั้น ตนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวทำให้ตนเสียสิทธิที่จะได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารเกี่ยวกับที่มาของรายได้ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญมาตรา 41 (1) บัญญัติไว้ ดังนั้น ในวันนี้ตนจึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย 3 ข้อ

1.การแถลงนโยบายของนายกฯเศรษฐาต่อรัฐสภา ที่มิได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายนั้น เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ข้อ 2.การแถลงนโยบายดังกล่าว ทำให้ตนถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 41(1) และ 3.การแถลงนโยบายดังกล่าว เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

"ผมจึงใช้สิทธิตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ช่องมาให้แล้วในวันนี้ ดังนั้นก็ต้องรอดูการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำขอทั้ง 3 ข้อของตนต่อไปว่าศาลจะพิจารณาวินิจฉัยออกมาอย่างไร รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำร้อง เลขรับที่ 314 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญรับไว้แล้ว" นายเรืองไกรกล่าว

ยังไม่ฟันธงขึ้นเงินเดือน ขรก.

วันเดียวกัน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาเพิ่มเงินเดือนข้าราชการว่า  ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มประชุม โดยจะประชุม 1-2 วันนี้ และจะมีความคืบหน้า เพราะเราจะหารือโดยละเอียด ทั้งในส่วนเรื่องของงบประมาณ อัตราการขึ้นเงินเดือนว่าจะเป็นเท่าไหร่

ถามว่าจะทันรอบการให้ข้าราชการเลือกรับเงินเดือนเป็น 2 งวดในช่วงต้นปี 67 หรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า ขอรอฟังข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนแล้วจึงจะมีบทสรุปออกมา และค่อยเสนอ ครม.ต่อไป เมื่อซักว่าเบื้องต้นมีการประเมินหรือไม่ว่าหากเพิ่มเงินเดือนข้าราชการจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ นายปานปรีย์กล่าวว่า ยัง ขอฟังรายละเอียดก่อน ส่วนที่มีนักวิชาการเสนอให้ปรับเป็นระยะ โดยเริ่มจากข้าราชการชั้นผู้น้อยก่อนนั้น ตนขอฟังรายละเอียดก่อน เพราะต้องดูเรื่องของงบประมาณด้วย เนื่องจากที่ผ่านมางบประมาณออกมาล่าช้าพอสมควร

"เบื้องต้นอาจต้องใช้งบประมาณของปีหน้า จึงขอว่าอย่าเพิ่งฟันธง ให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนก่อน และจะนำมาแจ้งให้ทราบ ซึ่้งในการประชุมวันที่ 10 พ.ย. จะได้บทสรุปเลยหรือไม่นั้น ขอรอฟังก่อน ขอให้ใจเย็นๆ" นายปานปรีย์กล่าว 

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการเสวนาเวทีสภาที่ 3 หัวข้อแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หายนะหรืออนาคตประเทศ โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. หนึ่งในวิทยากร กล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการให้นโยบายนี้สำเร็จน่าจะมีปัญหาพอสมควร เพราะรัฐบาลผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดิน 4 เรื่อง

นายสมชัยกล่าวว่า 1.การสั่งให้มีการทบทวนงบประมาณปี 67 ของทุกส่วนงานราชการเพื่อจะให้เกิดความประหยัด แต่ความจริงงบของแต่ละส่วนงานไม่ได้ลดลงเลย จึงทำให้งบปี 67 ออกมาล่าช้า ซึ่งคาดว่าจะได้ใช้งบประมาณปี 67 ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2.เชื่อมั่นในตนเองมากเกิน 3.การไม่ศึกษากฎหมายต่างๆ ให้รอบคอบทั้งวินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.เงินกู้ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ เข้าใจว่าตนเองรู้จริง แต่เมื่อทำไปกลับติดปัญหา  แม้ธนาคารออมสินก็ไม่ให้กู้ 4.ภาวะอวิชชา คือการไม่รู้จริง แต่ก็ไปพูดในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นการพูดคำใหญ่ แต่ไม่สามารถเป็นไปได้จริง ดังนั้นวันนี้ต้องควรถอยมาตั้งหลักในนโยบายหลายเรื่อง

นายสมชัยกล่าวว่า การแถลงข่าวที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ย.นี้ คิดว่าทางออกเปลี่ยนไปหลายอย่าง คือ 1.ขยับวันแจกจะไม่ใช่ 1 ก.พ. แต่จะแจกช่วงต้น พ.ค. หรือช่วงงบปี 67 ออก 2.เปลี่ยนจากการจ่ายก้อนเดียวเป็นการจ่ายแบบทยอยจ่าย โดยจะแจกคนละ 2,500 บาท ใน 4 ปี

 “จะไม่ใช่การกระตุกเศรษฐกิจแล้ว ไม่ใช่พายุหมุนอีกแล้ว ซึ่งประชาชนก็จะมองแค่ว่ายังดีกว่าไม่ได้ แต่จะไม่สร้างความพึงพอใจ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จึงเป็นนโยบายขายผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น” นายสมชัยกล่าว

ส่วนนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง กล่าวว่า ลักษณะของการเมืองไทยต้องระวังในโครงการนี้ เพราะอาจกลายเป็นประเพณีเป็นการแข่งขันทางการเมืองไทยในการเลือกตั้งรอบหน้า อาจจะได้เห็นภาพที่ออกมาว่าแจกเงิน 5 หมื่น หรือ 1 แสนบาท ซึ่งถือว่าเป็นการประเพณีทางการเมืองที่จะพาประเทศลงเหว ดังนั้นสังคมไทยจะต้องช่วยกันคิดว่าการเดินทางในเส้นทางนี้อันตรายจะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน

"เรื่องนี้จะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และขอตั้งข้อสังเกตว่า การจะมีงบประมาณและเป็นงบผูกพันถือเป็นการใส่กุญแจมือรัฐบาลในอนาคต ดังนั้นการทำโครงการทำเพื่อความนิยมทางการเมืองเป็นเรื่องที่อันตราย" นายธีระชัยกล่าว

ด้านนายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.การคลัง และประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า หากรัฐบาลยังดันทุรังดำเนินการต่อในรูปแบบเดิมจะเกิดความเสี่ยงในกระบวนการคลัง และหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะแก้ไขได้ยากมาก ขณะที่ประเทศไทยยังหารายได้จากการจัดเก็บภาษีได้ยาก ดังนั้นนโยบายดังกล่าวฟังเผินๆ เหมือนจะง่าย แต่ก็สร้างความงุนงงสงสัยเรื่องที่มาของงบประมาณ ขนาดสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท มากกว่ารัฐบาลปัจจุบันถึง 3 เท่าตัว ยังทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เลย โอกาสที่จะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหลายรอบก็เป็นไปได้ยาก เพราะไทยมีมูลค่าส่งออกสูง เงินจะรั่วไหลไปต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

"เวลานี้รัฐบาลควรรีบนำงบประมาณชั่วคราวที่กฎหมายอนุญาตออกมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ควรต้องมุ่งการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่เร่งด่วนคือเรื่องขาดแคลนน้ำจากภาวะเอลนีโญ หากนำงบมาลงทุนเรื่องนี้ ประชาชนจะได้มีน้ำใช้โดยไม่เปลืองค่าใช้จ่าย" นายพิสิฐกล่าว

นายมานะ มหาสุวีระชัย อดีตประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เสนอวิธีแก้ปัญหาให้รัฐบาลใช้เงินอย่างเป็นประโยชน์มากกว่านำไปแจก โดยมองว่า นโยบายเงินดิจิทัลถือว่าดีมาก เพราะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลได้ เป็นนโยบายที่คิดใหญ่จริง แต่จะทำเป็นหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ เพราะผ่านมา 2 เดือนการชี้แจงของรัฐบาลสร้างความสับสนไปทั่ว และมีแนวโน้มจะทิ้งแนวคิดดิจิทัลวอลเล็ตด้วย

 “หากรัฐบาลจะทิ้งดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นของใหม่กลับไปใช้อีวอลเล็ตแบบปัจจุบัน จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสมหาศาล และพรรคเพื่อไทยจะถูกยัดเยียดสโลแกนว่า คิดใหญ่ แต่ทำไม่เป็น  จึงขอให้นายกฯ ไตร่ตรองเรื่องนี้ให้รอบคอบ ก่อนจะแถลงอย่างชัดเจน อย่านำเรื่องเงื่อนเวลามามัดกัน แต่ต้องทำให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ” นายมานะกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์บอกตำรวจอยากดูแล ปท.แบบคนรุ่นใหม่มีอะไรคุยกันได้

นายกฯ มอบนโยบายตำรวจ ขอดูแลปชช.ช่วงปีใหม่ เชื่อ ตร.ภายใต้การนำ ”บิ๊กต่าย“ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข-ปลอดภัย บอกอยากดูแลประเทศแบบคนรุ่นใหม่ มีอะไรคุยกันได้