"นิกร" หวั่น "ถามความเห็นทำประชามติแก้ รธน." ตกม้าตาย เหตุประชาชนออกมาใช้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง อาจต้องใช้งบประมาณถึง 1 หมื่นล้านบาท "วุฒิสาร" เล็งทำประชามติพ่วงเลือกตั้งท้องถิ่นปีหน้า
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายนิกร จํานง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง เรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับกลุ่มนักศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เราตั้งใจหารือกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญนานกว่าคนรุ่นตน
โดยในวันนี้ได้เชิญหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มราษฎร 63 ที่เคยมีการชุมนุม และให้ความเห็นในเรื่องการทำประชามติ ซึ่งก่อนการประชุมเราได้ส่งคำถามที่จะใช้ถามต่อสมาชิกรัฐสภาให้กับกลุ่มนักศึกษาที่เข้ามาพูดคุยในวันนี้แล้ว เพื่อดูว่ามีความเห็นอย่างไร และเป็นการทดสอบคำถามไปในตัวด้วย
นายนิกรกล่าวต่อว่า เมื่อได้มติจากคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ก็จะนำคำถามเหล่านี้ไปสอบถามต่อสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน เมื่อมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยจะขออนุญาตนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในการเสนอเรื่องนี้เข้าไปในที่ประชุม สส.และ สว. ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุม สส.ในวันที่ 13-14 ธ.ค. และเข้าที่ประชุม สว.ในวันที่ 18-19 ธ.ค.
จากนั้นจึงจะมีการประชุมในวันที่ 22 ธ.ค. พร้อมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญให้ได้ข้อสรุป
นายนิกรกล่าวอีกว่า จากที่ตนได้หารือกับนายวุฒิสาร ตันไชย ประธานอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ซึ่งเมื่อเช้าได้มีการเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาหารือ ทาง กกต.ได้มีการสอบถามค่าใช้จ่ายในการทำประชามติ ที่ประชุมจึงเสนอจํานวน 3,250 ล้านบาท และอาจจะต้องใช้แอปพลิเคชัน เนื่องจากเราไม่มีเครื่องมือ และอาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 10,000 ล้านบาท
ส่วนที่มีข้อเสนอให้การจัดทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งอื่น เมื่อดูรายละเอียดพบว่ามีข้อกฎหมาย 3 ฉบับซ้อนกัน ดังนั้น หากมีการสอบถามความเห็นการทำประชามติในขั้นตอนแรกก็คงไม่ทัน เพราะต้องรอไปถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 67 แต่อาจจะทําซ้อนได้ในการทําประชามติครั้งที่ 2
นายนิกรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลอย่างยิ่งในเรื่องกฎหมายที่ใช้ทำประชามติ ที่กำหนดให้มีเสียงข้างมาก 2 ชั้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ประชาชนใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของทั้งหมด เท่ากับกว่า 20 ล้านคน ทำให้มีข้อกังวลว่าเมื่อไม่ใช่การเลือกตั้ง สส. จะทำให้การออกมาของประชาชนเป็นเรื่องยาก การที่ประชาชนจะออกมาเกินกึ่งหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย มีโอกาสจะเดี้ยง เพราะในกึ่งหนึ่งนั้นจะต้องมีส่วนเห็นชอบอีกกึ่งหนึ่ง
ทั้งนี้ การทำประชามติครั้งแรกอาจได้รับความสนใจ แต่ในรอบ 2 ประชาชนจะเข้าใจในมาตรา 256 เรื่องการตั้ง ส.ส.ร. หรือไม่ อาจจะเป็นตัวเร่งให้ทำซ้อนพร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แต่อาจจะตกม้าตาย เพราะประชาชนออกมาไม่ครบ จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าหากกฎหมายทําประชามติมีปัญหาก็ต้องแก้ เป็นเรื่องที่สภาต้องไปคุยกัน แต่คณะอนุฯ ของเราไม่รอ จะทำตามกฎหมายที่มีอยู่
เมื่อถามว่า การแก้ไขกฎหมายประชามติ ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ นายนิกรกล่าวว่า ไม่นาน น่าจะทันการณ์ เพราะถ้าแก้กฎหมายทําประชามติแล้ว ก็น่าจะเริ่มขั้นตอนถามความคิดเห็นจากประชาชนเรื่องการทําประชามติในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 67 แก้ให้คลี่คลายจะได้ใช้ประโยชน์ แต่ส่วนตัวมองว่าจะทำไม่ได้เพราะประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ครบ ทั้งนี้ หากมีการถามเรื่องประชามติในช่วงเดือนเมษายน ปี 67 ก็น่าจะใช้เวลาประมาน 90-120 วัน ก่อนจะมีการทำประชามติต่อไป
ด้านนายวุฒิสาร ตันไชย ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เปิดเผยว่า หลักการทำประชามติมีทั้งผลผูกพันกันกับคำถาม นั่นก็คือผูกพันกับรัฐบาล หรือเป็นประชามติแบบปรึกษาหารือ เพราะถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะมีประเด็นหลายเรื่อง ที่จะมีการสอบถาม ในเชิงหารือกับประชาชน ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะหารือกับ กกต. รวมถึงกรอบเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งตนเข้าใจว่าปีหน้าหรืออาจจะต้นปี 68 จะมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งจะมีการเลือกตั้งทั้งประเทศ เราจะสามารถพ่วงกับการทำประชามติได้หรือไม่ ก็จะหารือกับกกต.เพื่อให้ทราบแนวทางว่า ถ้าจะออกแบบ และถ้าข้อพิจารณาของอนุกรรมการชุดนี้เห็นว่าจะสามารถทำประชามติ จะทำได้กี่ครั้งอย่างไร จะได้นำกรอบพิจารณาและระยะเวลาเหล่านี้ไปพิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการกำหนดไทม์ไลน์ที่จะสรุปข้อมูลทั้งหมดเมื่อใด นายวุฒิสารตอบว่า ตามที่นายภูมิธรรม ได้ชี้แจงไปว่าประมาณสิ้นปีนี้คงจะได้ข้อยุติเบื้องต้น เพื่อนำเสนอให้กับคณะกรรมการชุดใหญ่ เพราะอนุกรรมการ 2 ชุดที่กำลังทำงานอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคณะอนุกรรมการที่ทำงานมากหน่อย ในขณะนี้คือชุดของนายนิกร ที่ไปรับฟังความคิดเห็น ซึ่งวันที่ 15 นี้ จะรับฟังความคิดเห็นที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่จะแก้ไขการจัดทำรัฐธรรมนูญ
นายวุฒิสารกล่าวว่า อนุฯ ชุดของตน จะพิจารณาในลักษณะข้อกฎหมาย เป็นการศึกษาข้อกฎหมายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพันอยู่ ว่าสรุปแล้วการทำประชามติจะต้องทำกี่ครั้ง เพราะนโยบายรัฐบาลประกาศว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องคงหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งก็ต้องมาดูว่าการยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คณะอนุฯ ชุดนี้อาจมีการทอดเวลา ด้วยการรับฟังข้อมูลจากคณะอนุฯ ชุดที่สอง และรับฟังความเห็นของคนทั่วไป ขณะเดียวกัน ก็จะไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และคนที่เป็นนักกฎหมายทั้งหลาย เพื่อมาช่วยกันให้คำตอบ
เมื่อถามว่า แสดงว่าเหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือน นายวุฒิสารกล่าวว่า ตามกรอบเวลาก็น่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้น ที่จะนำเสนอ แต่น่าจะมีความชัดเจนว่าหากจะทำต้องทำอย่างไร ทั้งนี้ ต้องหารือกับคณะกรรมการชุดใหญ่ก่อน
ขณะที่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เผยว่า กกต.ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับทางรัฐบาล แต่ยืนยัน กกต.มีความพร้อม ส่วนงบประมาณ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด และจะอนุมัติช่วงไหน ซึ่ง กกต.จะต้องส่งเรื่องมาของบประมาณจากรัฐบาล
ส่วนการจัดทำประชามติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น เลขาธิการ กกต.ระบุว่าต้องรอดูรายละเอียดเพราะมีเงื่อนไข ทางเทคนิคบางส่วน ซึ่งก็สามารถทำได้ แต่ก็ว่าจะถึงตรงนั้นก็ยังมีเรื่องอื่นให้พิจารณาโดยเฉพาะเรื่องความพร้อม ซึ่งได้ชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดให้คณะอนุกรรมการฯเรียบร้อยแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"