ขรก.เฮ!ขึ้น2.5หมื่น ปานปรีย์นัด4หน่วยถก10พ.ย./สั่งโปรโมตดิจิทัล

“เศรษฐา” ลั่นไม่ได้จะขึ้นเงินเดือนข้าราชการ แค่ให้ศึกษาเท่านั้น   “ปานปรีย์” นัด 4 หน่วยงานหลักหารือ 10 พ.ย.ครั้งแรก ปูดตั้งเป้าตามที่หาเสียงขยับเงินเดือนปริญญาตรีให้ถึง 25,000 บาท แต่ไม่ได้ทำทันที “รมช.คลัง” ชี้ ขรก.ไม่ได้ขยับเงินเดือนมากว่า 9 ปี “ซานต้านิด” มาแล้ว เทงบ 55,038 ล้านบาทอุ้มชาวนา ทั้งสินเชื่อชะลอขาย-แทรกแซงราคา “ภูมิธรรม” ลั่นเอาแน่แจกผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ถลุงงบอีก 5.6 หมื่นล้าน “จุลพันธ์” เชื่อ ธ.ก.ส.เอาอยู่ เริ่มจ่าย พ.ย.นี้ “อิ๊งค์” สั่ง  สส.เร่งโปรโมตดิจิทัลวอลเล็ต

เมื่อวันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2566  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการขึ้นราคาสินค้าหลังมีข้อสั่งการเตรียมขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐว่า ไม่ได้บอกว่าจะขึ้นเงินเดือน แต่ให้ไปศึกษา  และการให้ไปศึกษาไม่ได้หมายความว่าจะให้ขึ้นทันที

เมื่อถามว่า จะทำให้สินค้าจ่อขึ้นราคาล่วงหน้าหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ได้ขึ้นราคา มันยังตั้งไม่ได้ ยังไงเรื่องนี้กรมการค้าภายในก็ต้องดูแลอยู่แล้ว

ขณะที่ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร  รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ  ในฐานะประธานศึกษาเรื่องขึ้นเงินเดือนข้าราชการ กล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯ ให้นโยบายมา ซึ่งเป็นการศึกษาก่อนตามมติคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนเลย โดยได้แจ้ง 4 หน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงบประมาณ ให้มาประชุมกันที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 10 พ.ย. และจะประชุมลักษณะนี้ 2 ครั้ง เพื่อเสนอ ครม.ภายในเดือนนี้ตามคำสั่งนายกฯ 

ถามว่าจะขึ้นเงินเดือนเหมือนตอนสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ปรับขั้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า จะไปดูจากฐานข้อมูลเดิมด้วย ไปดูจำนวนและกลุ่มบัญชีที่ปรับขึ้น แต่การปรับขึ้นเงินเดือนของรัฐบาลนี้จะเป็นไปตามที่พรรคหาเสียงไว้ คือเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน แต่ต้องใช้เวลาขยับขึ้น ซึ่งคณะทำงานจะดูรายละเอียดพวกนี้เพื่อเสนอต่อ ครม. ด้วย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้น เคยมีแนวคิดมาตลอด แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ทำให้ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมาข้าราชการทุกระดับชั้นไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนเลย ซึ่งแนวคิดขึ้นเงินเดือนข้าราชการไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นนั้น ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ ต้องรอให้คณะกรรมการสรุปแนวทางการขึ้นเงินเดือนก่อน ซึ่งไม่ว่าจะมีการปรับขึ้นแบบใด กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานเบิกจ่ายนั้นพร้อมจะรับนโยบาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณสำหรับจ่ายเงินเดือนข้าราชการปีละเท่าไหร่ รมช.การคลังระบุว่า ไม่รู้ จำไม่ได้ แต่ที่จำได้ว่าเรื่องงบประมาณในส่วนของเงินเดือนข้าราชการนั้นไม่ได้เยอะมาก

อนุมัติ พรฎ.จ่ายเงิน 2 รอบ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม.ว่า  ที่ประชุมมีมติอนมุติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่...) พ.ศ..... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่าเงินเดือนและปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการ โดยสามารถแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ รวมทั้งเพิ่มอัตราเงินหมุนเวียนซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจของประเทศ 

นายชัยกล่าวต่อว่า การจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการและลูกจ้างประจำที่อยู่ในระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำของกรมบัญชีกลาง 230 หน่วยงาน โดยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ,  ข้าราชการในพระองค์, ข้าราชการรัฐสภา, ทหาร, ตำรวจ, ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่รวมข้าราชการบำนาญ, ข้าราชการการเมือง, ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม, ข้าราชการฝ่ายอัยการ, ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง, องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร และข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีวิธีการตามความสมัครใจ โดยข้าราชการหรือลูกจ้างประจำสามารถเลือกการรับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำเป็นแบบจ่ายเดือนละ 1 รอบ หรือแบบจ่ายเดือนละ 2 รอบได้ ด้วยวิธีการยื่นแบบต่อส่วนราชการได้ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธ.ค.2566 และมีผลในเดือน ม.ค.2567 และลูกจ้างประจำสามารถยื่นแบบได้ตั้งแต่วันที่ 1-15 ก.พ.2567 และมีผลในเดือนมี.ค.2567

นายชัยยังแถลงอีกว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ 2 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือชาวนาในการดูดซับปริมาณข้าวออกจากตลาด แบ่งเป็น 1.สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และ 2.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยทั้ง 2 มาตรการมีวงเงินรวมกว่า 55,038.96 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. 44,437 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 10,601.96 ล้านบาท

แจงยิบมาตรการอุ้มชาวนา

นายชัยกล่าวว่า 2 มาตรการดังกล่าวจะช่วยดูดซับปริมาณข้าว เพื่อดึงราคาข้าวให้ปรับเพิ่มขึ้นมา โดย

สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเป้าหมายดูดซับปริมาณข้าวออกสู่ตลาด 3 ล้านตัน โดยให้สถาบันเกษตรกรและเกษตรกรที่มียุ้งฉางของตัวเองเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉาง 5 เดือนเพื่อรอการขาย ซึ่งรัฐบาลจะให้สินเชื่อ โดยสินเชื่อในกลุ่มข้าวหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท, ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่  ตันละ 10,500 บาท, ข้าวหอมมะลิปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท, ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท, ข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท พร้อมทั้งช่วยค่าฝากอีก ตันละ 1,500 บาท (สหกรณ์รับตันละ 1,000 บาท+เกษตรกรรับตันละ 500 บาท) มีวงเงินสินเชื่อ 34,437 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 10,120.71 ล้านบาท กำหนดเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 ถึง 29 ก.พ.2567

สำหรับสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม มีเป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยให้สถาบันเกษตรกรรวบรวมรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา มีวงเงินกู้ 10,000 ล้านบาท และวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 481.25 ล้านบาท โดยจะให้สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% และรัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน ส่วนการชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส. 4.85%นั้น รัฐบาลจะช่วยรับภาระดอกเบี้ย 3.85% ส่วนสถาบันเกษตรกรรับภาระ 1% กำหนดเริ่ม 1 ต.ค.2566 ถึง 30 ก.ย.2567

 “มาตรการนี้จะให้สถาบันเกษตรกรเข้าไปซื้อแข่งและแทรกแซงตลาด โดยซื้อในราคานำร่องข้าวเปลือกหอมมะลิ ในความชื้น 25% ราคาตันละ 12,200 บาท เมื่อขายได้แล้วมีกำไรจะแบ่งชาวนาตันละ 300 บาท ซึ่งจะทำให้ชาวนาได้รับเงินรวมตันละ 12,500 บาท ซึ่งจะดีกว่าเดิมหากไม่ไปแทรกแซง เพราะจะทำให้ชาวนาได้เงินเพิ่มจากราคาตลาดอีก 1,500 บาท” นายชัยกล่าว

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า มาตรการชะลอข้าวออกสู่ตลาดครั้งนี้ เบื้องต้นในฤกาลผลิต 2566/67 คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาด 10 ล้านตัน ซึ่งการดูแลช่วยเหลือจะดำเนินการ ผ่านสหกรณ์และเกษตรที่มียุ้งฉางและเกษตรกรโดยตรง คาดว่าจะสามารถดูดซับสภาพคล่องได้ 4 ล้านตัน ซึ่งจะมีผลกับราคาข้าวอย่างมีนัยสำคัญไม่ให้ราคาตกลงไป

จ่ายไร่ละพันเริ่ม พ.ย.

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทว่า คณะกรรมการ 3 ฝ่าย ทั้งกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง โดย ธ.ก.ส.ได้หารือกันอยู่ ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 56,321 ล้านบาท

 “การดูแลเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท เป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามจะหาทางออก เพราะเป็นสิ่งที่เกษตรกรได้รับมาก่อนหน้านี้ตลอด โดยจะพยายามหาวิธีการเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มต้นทุนลง ซึ่งจากการหารือ 3 ฝ่าย วันนี้มีความชัดเจนแล้ว และเร็วๆ นี้น่าจะได้ข้อสรุปทุกเรื่อง” นายภูมิธรรมกล่าว

ขณะที่นายจุลพันธ์กล่าวว่า ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ และจะเสนอเข้ามาในที่ประชุม ครม.ใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งในการประชุม นบข.เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ระบุว่าจะเร่งนำเข้า ครม.เร็วที่สุด ถ้าไม่ทันสัปดาห์หน้าก็เป็นอีกสัปดาห์ และคาดว่าเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท น่าจะเริ่มจ่ายให้ได้ภายในเดือน พ.ย.2566

สำหรับเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท อยู่ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 มีกรอบวงเงินจ่ายขาด 56,321 ล้านบาท กำหนดเกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน โดยจะให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท กับเกษตรกรครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือคิดเป็นเงิน 20,000 บาท

นายจุลพันธ์กล่าวว่า วงเงินที่จะนำมาใช้นั้น ยืนยันว่า ธ.ก.ส.มีสภาพคล่องเพียงพอ และที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ก็มีประสบการณ์ในการดูแลเกษตรกรผ่านโครงการนี้มาก่อน ดังนั้นจึงเชื่อว่าการดำเนินโครงการไม่น่าจะมีปัญหา เพราะตอนนี้ราคาข้าวมีแนวโน้มราคาต่ำลง ซึ่งการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท มีความสำคัญต่อการเดินหน้าประกอบอาชีพของเกษตรกร และที่ผ่านมารัฐบาลได้รับฟังปัญหามาต่อเนื่อง และมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือชาวนา

วันเดียวกัน ในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย (พท.) นายภูมิธรรมได้ชี้แจงกับ สส.ถึงนโยบายข้าวว่า นโยบายของเราต้องสร้างความสมดุล ไม่ใช่สร้างความเกลียดชังหรือขัดแย้งกับทุกฝ่าย วิธีการจัดการปัญหามี 2 วิธี คือการบริหารและการใช้กฎหมาย ซึ่งการใช้ข้อกฎหมายจะสร้างผลกระทบได้ วันนี้นายเศรษฐาจึงสั่งให้ใช้การบริหารมากกว่า โดยในส่วนของเรื่องข้าวยืนยันว่าเราพูดคุยทุกภาคส่วน ทั้งชาวนา โรงสี ผู้ประกอบการและด้านการส่งออก เพื่อจัดสมดุลโดยที่ชาวนาไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาโดยไม่สร้างความขัดแย้ง เบื้องต้นจะเยียวยาเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ แต่ยังไม่เข้า ครม. เพราะต้องผ่านขั้นตอนให้ถูกกฎหมายก่อน ก่อนนำข้อสรุปทั้งหมดเข้าสู่ นบข.และเสนอเข้า ครม.ต่อไป

อิ๊งค์สั่งโปรโมตดิจิทัลวอลเล็ต

ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวตอนหนึ่งว่า ย้ำอีกครั้งเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ขอให้ สส. รวมถึงผู้ช่วย สส. ให้เข้ามาช่วยสื่อสารข้อความที่สำคัญของพรรคและรัฐบาลว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้างกับประชาชนในโซเชียลให้รับรู้ได้มากขึ้น”

ส่วนนายเศรษฐากล่าวว่า วันศุกร์นี้จะมีการแถลงข่าวใหญ่เกี่ยวกับเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ขอฝาก สส.ให้ช่วยกันโปรโมตในโซเชียลด้วย และคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ประชาชนน่าจะมีความสุข

ขณะที่นายจุลพันธ์ปฏิเสธให้สัมภาษณ์รายละเอียดเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีกำหนดการแถลงข่าวความชัดเจนทุกอย่างในวันที่ 10 พ.ย. โดยบอกสั้นๆ ว่า “วันศุกร์ครับ วันศุกร์ครับ"

เมื่อถามว่า วันศุกร์ที่ 10 พ.ย.นี้ทุกอย่างจะจบใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ พยักหน้ารับ พร้อมบอกให้รอนายกฯ เป็นผู้แถลงข่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ครม. นายจุลพันธ์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการลดค่าครองชีพประชาชนว่า ถ้าเราสามารถออกมาตรการช่วยค่าไฟฟ้าแบบนี้ได้ 1 เดือน อย่าเพิ่งไปถอดมิเตอร์เขา โดยขอขยายเป็น 3 เดือนสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน และในเมื่อ มท.มี 4 รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน คือ การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค 4 แห่งนี้ใช้หลักการเดียวกันได้หรือไม่ ก็เป็นข้อสั่งการในการประชุมของ มท.เมื่อวันที่ 6 พ.ย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง