โบนัสสิ้นปีเกษตรกรไทย! รัฐบาลแจกไม่อั้นมาตรการดูแล “ข้าว-ยางพารา” คิวชาวนาอีสานได้เฮ! เล็งโดดอุ้มราคาข้าวหอมมะลิ ขณะที่ “ไทยสร้างไทย” ตะโกนถามหาเงิน 2 หมื่นล้านประกันรายได้เกษตรฯ หายไปไหน ชี้ช่องใช้ประโยชน์ปราบพ่อค้าคนกลางขูดเลือด ด้าน “ธรรมนัส” ขันนอต "กยท.” ปลุกยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราสู่บล็อกเชน เชื่อมโยงข้อมูลครบวงจรสู่ตลาดเศรษฐกิจ จับตาฟื้นโครงการใช้ผสมทำถนน สั่งปูพรมจัดการสวนยางตามมาตรฐาน Carbon Credit เพิ่มมูลค่าทางการตลาด
เมื่อวันจันทร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมหารือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ว่าได้หารือเรื่องข้าวฤดูใหม่ที่กำลังจะออกว่าจะจัดซื้อ หรือช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องดอกเบี้ยหรือเรื่องต่างๆ อย่างไร โดยจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ซึ่งตอนนี้เป็นฤดูที่ข้าวกำลังออกผลผลิต โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิในภาคอีสานจะเริ่มออกในสัปดาห์หน้า โดยที่ จ.อุบลราชธานี ราคาหน้าโรงสีอยู่ที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าแย่ แต่รัฐบาลเองจะมีมาตรการหลายเรื่อง ทั้งการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เงินสหกรณ์ไปซื้อ โดยมีสหกรณ์กว่า 500 แห่งที่มีความพร้อมในการซื้อ จะช่วยซื้อดึงราคาให้ชาวบ้านได้มากขึ้น
นายสมคิดกล่าวว่า อยากจะเรียนไปยังเจ้าของโรงสีหรือผู้ประกอบการว่า ให้เห็นใจชาวนาเพราะปีหนึ่งข้าวผลิตออกมาแค่ครั้งเดียว และราคาข้าวหอมมะลิส่งออกสูงมากถึง 30,000 ต่อตัน ส่วนต่างกับที่ขายในประเทศแตกต่างกันถึง 3,000 บาท มันมากเกินไป จึงฝากไปยังพ่อค้าทั้งหลายว่าพี่น้องเราเดือดร้อนกันอยู่ในเรื่องราคาข้าว ไหนจะน้ำท่วม ภัยแล้ง ไม่ใช่ว่าข้าวออกมาปีละครั้งแล้วจะกดราคาต่ำ
"ขอให้เอาราคาที่เป็นธรรม ไม่ต้องให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ ถ้าราคากิโลกรัมละ 12 บาทตนคงไม่บ่น ชาวนาคงเบาลง แต่ตอนนี้บางแห่งกิโลกรัมละ 10 บาท ทั้งนี้ในวันที่ 7 พ.ย. หาก ธ.ก.ส.มีการประชุมกันเรียบร้อย จะมีการออกเงินกู้ให้สหกรณ์ที่มีความพร้อม ในการช่วยซื้อเพื่อราคาข้าวหอมมะลิในภาคอีสานจะได้ดีขึ้น” นายสมคิด ระบุ
ขณะที่นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอ 2 มาตรการ ชะลอการขายข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือก ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ว่า เมื่อข้าวเปลือกถูกนำออกมาขาย ในช่วงเดียวกันจะทำให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ดังนั้นตนขอเสนอไปยังรัฐบาลว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/2566 ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ซึ่งเกษตรกรและสถาบันการเกษตรที่มีข้าวเปลือกเก็บไว้ในยุ้งฉาง โดยเก็บข้าวเปลือกเป็นแก้มลิง แล้วนำข้าวไปเข้าโครงการชะลอการขาย ซึ่งจะได้เงินสดตามราคาประกันและได้ค่าเก็บรักษาตันละ 1,500 บาท เมื่อราคาดีค่อยทยอยนำข้าวเปลือกออกขาย ก็จะทำให้ราคาข้าวเปลือกไม่ตกต่ำ ตนจึงเห็นสมควรว่ารัฐจะต้องเพิ่มวงเงินในส่วนของโครงการนี้เป็น 30,000 ล้านบาท จากเดิมที่ได้ในปีการผลิตที่ผ่านมา 25,590 ล้านบาท แต่ถูกปรับลดเหลือเพียง 10,601 ล้านบาท
“รัฐสมควรที่จะเพิ่มวงเงินสำหรับโครงการนี้เป็น 20,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยได้ในปีการผลิตที่ผ่านมา 10,000 ล้านบาท แต่ถูกลดลงมาจนเหลือเพียง 481 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยขอตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณในส่วนดังกล่าวหายไปไหน ทั้งที่โครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นเงินที่ให้ขาด แต่เป็นเงินที่ให้สถาบันการเกษตรไว้กู้ยืม และรัฐบาลจะได้คืนอย่างแน่นอนเมื่อมีการขายข้าว” นายชัชวาลระบุ
วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมกันตัง กยท. สำนักงานใหญ่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประชุมมอบนโยบายขับเคลื่อนการบริหารยางพารา
โดย ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น โดยยกระดับอุตสาหกรรมยางพารา ทั้งด้านการบริหารจัดการข้อมูลยางผ่านระบบบล็อกเชน ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานยางพารา ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ทะเบียนสวนยาง โดยจัดเก็บข้อมูลพื้นที่แปลงยางผ่านระบบ GIS ครอบคลุมถึงพันธุ์ยางและปริมาณผลผลิต เพื่อคาดการณ์ผลผลิตยาง จึงสามารถควบคุมการนำเข้ายางพาราจากต่างประเทศ ป้องกันการแทรกแซงราคายาง อีกทั้งระบบบริหารจัดการข้อมูลยางจะช่วยแสดงแหล่งกำเนิดที่มาของสินค้าว่าไม่มีการบุกรุกทำลายป่า หรือเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้แก่ประเทศ
ทั้งนี้ ขอให้สำรวจสต๊อกยางพาราเพื่อจะได้นำข้อมูลมาบริหารจัดการ ให้ปริมาณการผลิตสอดคล้องกับความต้องการใช้ ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาได้ โดยอาจดำเนินมาตรการเสริมเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ผ่านโครงการชะลอยางเพื่อควบคุมปริมาณยางในระบบ ที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพราคายางในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งมีการเพิ่มวงเงินงบประมาณให้เพียงพอและสามารถดำเนินการได้ทันที
ร.อ.ธรรมนัสระบุด้วยว่า ตลอดจนควบคุมปริมาณผลผลิตยาง ด้วยการจัดทำโซนนิงพื้นที่กรีดยาง หยุดกรีดในพื้นที่ที่ประสบภัยทางธรรมชาติ มีโรคระบาด หรือพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยชาวสวนยางจะได้รับความช่วยเหลือทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อลดผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ตลอดจนมีแนวทางดำเนินโครงการพักชำระหนี้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นของรัฐบาล ช่วยลดภาระการชำระหนี้สิน เสริมสภาพคล่องให้เกษตรกร
“จะต้องยังช่วยส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมยางให้ได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้เพิ่มขึ้น โดยเตรียมจะฟื้นโครงการใช้ยางพาราผสมในดินซีเมนต์เพื่อทำถนน ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงคมนาคม พร้อมกันนี้จะให้ กยท.ลงทุนร่วมกับเอกชนเพื่อเปิดโรงงานล้อยาง แล้วขอมติ ครม.บังคับให้รถราชการทุกคันใช้ล้อยางที่ผลิตจากโรงงานของ กยท. ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางได้เป็นอย่างมาก พร้อมๆ กับที่จะต้องเร่งขยายตลาดส่งออก” ร.อ.ธรรมนัสระบุ
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท.มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการระบบยางพาราของประเทศ ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.กว่า 1.7 ล้านราย พื้นที่สวนยางรวมกว่า 19.8 ล้านไร่ และมีสถาบันเกษตรกรขึ้นทะเบียน 1,101 สถาบัน มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 327,782 ราย ตลอดจนผู้ประกอบการจำนวน 558 ราย มีสำนักงานตลาดกลางยางพารา 8 แห่ง มีปริมาณยางที่ผ่านตลาดกลางทั้งหมดประมาณ 3 แสนตัน/ปี และตลาดเครือข่าย 584 ตลาดทั่วประเทศ
“นโยบาย 1 ลด 3 เพิ่ม (R3I) ที่ กยท.ผลักดันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยาง โดยลดต้นทุนการผลิต ด้วยการจัดสรรปัจจัยการผลิต สนับสนุนเงินกู้ เงินอุดหนุน ซึ่งกำหนดวงเงินงบประมาณสำหรับเงินกู้ 408 ล้านบาท และเงินอุดหนุน 678 ล้านบาท ขณะเดียวกันดำเนินการเพิ่มผลผลิต โดยการบริหารจัดการสวนยาง ตั้งแต่พันธุ์ยาง ระบบกรีด และการจัดการโรค เพิ่มรายได้โดยการสร้างรายได้ทางเลือกในสวนยาง ด้วยการทำเกษตรผสมผสาน เลี้ยงสัตว์ และจัดการสวนยางตามมาตรฐาน Carbon Credit เพิ่มมูลค่า โดยการพัฒนามาตรฐานการแปรรูปยาง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในการวิเคราะห์ผลผลิต รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาง” นายณกรณ์ระบุ
นายณกรณ์กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการสำคัญของ กยท.ที่ขานรับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น เช่น โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ก็เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 8,060 ราย รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 14,400 บาทต่อครัวเรือน รวมกว่า 116 ล้านบาท และมีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วม 85 แห่ง รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 1.56 ล้านบาทต่อแห่ง รวมกว่า 127 ล้านบาท.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ