นายกฯ สั่งศึกษาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือน ขรก.-จนท.รัฐ ขีดเส้นรายงาน ครม.ภายในเดือนนี้ โฆษกรัฐบาลโร่แจง "เศรษฐา" แค่มอบ "ปานปรีย์" ศึกษาแนวทาง ปัดไม่ใช่มติ ครม. อาจทำหรือไม่ทำก็ได้ คสรท.ชี้เข้าข่ายแทรกแซง ยันควรขึ้น 492 บาทเท่ากันทั้งประเทศ "นิด้าโพล" ชี้ประชาชนหนุนแจกเงินดิจิทัลให้ทุกกลุ่ม
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธวัชชัย จันทร์ไพศาลสิน ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว(ล) 23425 ลงวันที่ 2 พ.ย.2566 เรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถึงนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), รมว.คลัง, รมว.แรงงาน, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, เลขาธิการ ก.พ. และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างรายได้ สร้างชีวิตของคนไทยให้มีเกียรติ มีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมสอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัยด้านการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี นั้น
จึงขอมอบหมาย ดังนี้ 1.ให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว 2.ให้รองนายกรัฐมนตรี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือน รับไปเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจน และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็วภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ จึงเรียนยืนยันมา และขอได้โปรดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอได้โปรดดำเนินการตามมติ ครม. ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่มติ ครม. แต่เป็นเพียงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในที่ประชุม ครม. โดยมอบหมายให้นายปานปรีย์ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงาน ก.พ. ไปศึกษาแนวทางว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ทำได้แค่ไหน โดยให้พิจารณาอย่างรอบด้านและให้รายงานกลับมาให้ทราบเท่านั้น
"เวลานี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และเมื่อผลออกมาแล้ว นำเสนอให้นายกฯ ก็ยังไม่รู้ว่าแนวทางที่ศึกษาจะทำได้แค่ไหนอย่างไร และอาจจะทำหรือไม่ทำตามก็ได้ ขอย้ำว่าเรื่องนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้เท่านั้น" โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ
ชูขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท
ขณะที่ นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ขณะนี้มีคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้าง 3 ฝ่าย (ไตรภาคี) ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานอย่างชัดเจน จริงๆ มีการแทรกแซงมาตลอดอยู่แล้ว แทรกแซงตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว โดยรัฐมนตรีไม่ควรออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่าไม่สามารถเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทได้ทุกพื้นที่
อย่างไรก็ตาม หากมาพูดกันด้วยเรื่องเหตุผล ตอนนี้รัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น แต่หากไม่เติมกำลังซื้อแล้ว ถามว่าเศรษฐกิจจะดีได้อย่างไร ซึ่งการเติมกำลังซื้อสามารถทำได้ด้วยการปรับรายได้ของคนให้เพิ่มขึ้น จะทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ นี่คือหลักการที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศชาติดีขึ้น ไม่ใช่ว่ามาแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่เรียกว่าเป็นการชั่วพักชั่วครู่ จ่ายมาแล้วก็หายไป แต่หากปรับค่าจ้างขั้นต่ำแล้วจะยั่งยืนตลอดไป คนไหนที่มีงานทำ คนนั้นก็จะมีเงินไปซื้อของ
ที่ปรึกษา คสรท.กล่าวว่า หากปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มแล้ว ทุนจะย้ายฐานการผลิต เรื่องนี้พูดมาเยอะมาก ตั้งแต่ช่วงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ซึ่งมองว่า หากใครอยากย้ายฐานการผลิตให้ย้ายไป เพราะถึงไม่ปรับเพิ่ม เขาก็ย้ายไปที่ประเทศที่มีการให้สิทธิสวัสดิการสำหรับการลงทุนอยู่แล้ว ถ้าเขาเห็นว่าประเทศอื่นๆ ไม่มีความมั่นคง จะเลือกตั้งฐานการผลิตที่เมืองไทย เพราะมองว่าเพิ่มค่าจ้างขึ้นมานิดหน่อย เขาอยู่ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีการอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจมากมายอยู่แล้ว
"ดังนั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จึงต้องปรับตามสภาพความเป็นจริง ตอนนี้ข้าวของแพงขึ้นทุกอย่าง ขณะเดียวกันเงินในกระเป๋าน้อยลง แล้วจะให้เขาทำอย่างไร ถ้าไม่ปรับเพิ่ม กำลังซื้อของโรงงานที่เขาผลิตออกมาก็ไม่เกิด ออเดอร์น้อย โรงงานก็แย่อยู่ดี เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ ความจริงนี่เป็นหลักการเอาเงินนายจ้างปล่อยออกมา แล้วเอาเงินนายจ้างซื้อของกลับไปเหมือนเดิม" นายชาลีระบุ
นายชาลีกล่าวด้วยว่า ขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคีมีก็เหมือนไม่มี มีไว้เพื่อที่จะบอกต่างชาติได้ว่า ประเทศไทยมีกรรมการไตรภาคีที่ดูแลการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เอาเข้าจริง เวลาจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะให้ไปทางไหน เพราะกรรมการจาก 3 ฝ่าย นายจ้างกับลูกจ้างความเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่ 3 คือรัฐ ที่จะให้ไปทางไหนก็ไปทางนั้น จะให้ปรับหรือไม่ปรับขึ้นอยู่กับคนกลาง ดังนั้น จึงเห็นว่ากรรมการค่าจ้างควรเพิ่มสัดส่วนนักวิชาการ ผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้ามาอีกกลุ่ม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวเลขที่ควรปรับเพิ่มควรเป็น 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ตามที่ฝ่ายรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ หรือตัวเลขไหนจึงจะเหมาะสม นายชาลีกล่าวว่า หลักการของ คสรท. เห็นว่าควรมีการปรับในอัตรา 492 บาทเท่ากันทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอยากให้เท่าไร ขอให้ปรับให้เท่ากันทั้งประเทศก็แล้วกัน หากอยากให้ทุกจังหวัดมีเศรษฐกิจที่ดีเหมือนกัน ต้องเอาตรงนี้เป็นรากฐานของคนได้มีเงินซื้อของเท่ากันเสียก่อน เมื่อถึงเวลานั้น เดินไปพร้อมกันทุกจังหวัด ของเราที่เสนอคือ 492 บาท แต่ถ้าเขาคิดว่าจ่ายได้เท่านี้ ด้วยหลักการและเหตุผลขึ้นอยู่กับภาครัฐ พิจารณาแล้วจะได้เท่าไรก็ได้ แต่สมควรจะได้เท่ากัน เพราะรัฐบาลหาเสียงไว้ ถ้าไม่ทำก็เสียรังวัด
หนุนแจกเงินดิจิทัลทุกกลุ่ม
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “หลักเกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-2 พ.ย.2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 50.08 ระบุว่าจ่ายทุกกลุ่มโดยไม่ต้องมีเกณฑ์เงินเดือน หรือเงินฝากในบัญชีมาเป็นข้อจำกัด รองลงมา ร้อยละ 26.64 ระบุว่าจ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ร้อยละ 14.66 ระบุว่าตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 5 แสนบาท, ร้อยละ 8.01 ระบุว่าตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้/เงินเดือน เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 1 แสนบาท และร้อยละ 0.61 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านเกณฑ์พื้นที่/รัศมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ร้อยละ 69.85 ระบุว่าควรใช้จ่ายในร้านค้าใดก็ได้ในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่/รัศมีมากำหนด รองลงมา ร้อยละ 14.50 ระบุว่าต้องใช้จ่ายในร้านค้าภายในจังหวัด (ตามทะเบียนบ้าน), ร้อยละ 13.59 ระบุว่าต้องใช้จ่ายในร้านค้าภายในอำเภอ (ตามทะเบียนบ้าน) และร้อยละ 2.06 ระบุว่าต้องใช้จ่ายในร้านค้ารัศมี 4 กิโลเมตร (ตามทะเบียนบ้าน)
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ร้อยละ 62.60 ระบุว่าต้องใช้จ่ายเงินภายใน 6 เดือน รองลงมา ร้อยละ 37.09 ระบุว่าต้องใช้จ่ายเงินภายใน 1 ปี และร้อยละ 0.31 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,132 คน (สำรวจทางออนไลน์) สำรวจระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-3 พ.ค.2566 พบว่า สิ่งที่ประชาชนคาดหวังต่อรัฐบาล ณ วันนี้ คืออยากให้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ร้อยละ 80.43 ส่วนสิ่งที่คาดหวังจากฝ่ายค้าน คือ ควรให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ ร้อยละ 78.70 ผลงานของรัฐบาลที่ทำให้รู้สึกว่ามีความหวัง คือ การลดราคาพลังงาน ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน ร้อยละ 51.54 ส่วนผลงานของฝ่ายค้านที่ทำให้รู้สึกว่ามีความหวัง คือ การตั้งใจตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ร้อยละ 85.05 ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนการทำงานรัฐบาลในช่วง 2 เดือนแรกนี้ 5.52 คะแนน และให้คะแนนฝ่ายค้าน 5.86 คะแนน
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ผลโพลในครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำชัดเจนว่า ความหวังของประชาชนคือต้องการให้รัฐบาล “ทำตามนโยบาย” ที่ให้ไว้ให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาค่าครองชีพ ด้านฝ่ายค้านเองก็มีผลงานที่เข้าตาใน เรื่องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญๆ ในสังคม นับว่าเป็นบทบาทที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ในภาพรวมทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้คะแนนจากประชาชน “ผ่านแบบคาบเส้น” ในช่วงสองเดือนแรก หลังจากนี้ในระยะยาวจะสร้างผลงานได้ดีขึ้นหรือไม่ ก็ต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่ายในการทำงานต่อไป
ดร.งามประวัณ เอ้สมนึก อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลการสำรวจประชาชนรู้สึกพึงพอใจการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเป็นคะแนนที่สูงมากเมื่อเทียบกับความพอใจที่มีต่อผลงานของรัฐบาล แม้รัฐบาลได้มีการลดราคาพลังงานและค่าครองชีพลงแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นว่าผลงานของรัฐบาลอาจจะยังไม่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนคาดหวังไว้ เช่น การลดราคารถไฟฟ้ามีเพียงบางสายเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมตามนโยบายตอนหาเสียง บางเรื่องอย่างดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังขาดความชัดเจน แต่เมื่อมาพิจารณาจากคะแนนรวมการทำงานของทั้งสองฝ่ายระดับคะแนนกลับไม่แตกต่างกันมาก เป็นไปได้ว่าประชาชนพึงพอใจในการตรวจสอบเชิงรุกของฝ่ายค้าน แต่ในการทำงานภาพรวมของทั้งสองฝ่ายยังไม่เด่นชัดมากนัก เนื่องจากระยะเวลาทำงานเพียง 2 เดือนอาจจะน้อยไปสำหรับการประเมินผลการทำงานของทั้งสองฝ่ายนั่นเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน