“เศรษฐา” โวดิจิทัลวอลเล็ตจบแน่ในสัปดาห์ก่อนไปประชุมเอเปก “ภท.-รทสช.” ประสานเสียงหนุน กกต. ปัดสวะบอกไม่เกี่ยวข้องทำได้-ไม่ได้ แค่ให้แจง 3 ข้อเท่านั้น “เสี่ยนิด” ไอเดียบรรเจิดเตรียมผุดโปรเจกต์ใหญ่กว่าช็อปดีมีคืนกลางเดือนหน้า ขาเที่ยวเฮ! ตีเส้น 15 ธ.ค. ดีเดย์ 4 จังหวัดนำร่องสถานบันเทิงปิดตี 4
เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ทุกอย่างหวังว่าน่าจะจบภายในสัปดาห์หน้า อย่าไปถามรัฐมนตรีคนอื่นหรือที่ปรึกษาคนอื่นแล้วกัน วันนี้มีการประชุมแล้ว ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยก็น่าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการก่อนจึงประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ เพราะวันที่ 12 พ.ย.ต้องเดินทางไปประชุมเอเปก ก็อยากให้จบภายในวันศุกร์หน้าให้ได้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงท่าทีพรรค ภท.ในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า พรรคร่วมรัฐบาลต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ไม่งั้นจะเป็นพรรคร่วมได้อย่างไร และกรณีนี้เป็นนโยบายของพรรคแกนนำด้วย เรามีหน้าที่ต้องให้การสนับสนุน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวเช่นกันว่า ในฐานะรัฐบาลเราก็ต้องสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบกับภาพเศรษฐกิจอย่างที่ประชาชนเป็นห่วง ซึ่งมั่นใจว่านายกฯ ไม่ต้องการให้เกิดแบบนั้น
ด้านนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะทำงานตรวจสอบนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท และมี กกต.ร่วมเป็นคณะทำงาน ว่าในช่วงเลือกตั้งพรรคการเมืองจะเสนอนโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงินต้องชี้แจงข้อมูลให้ครบ 3 เงื่อนไข 1.แหล่งที่มาของเงิน 2.ประโยชน์ที่จะได้รับ และ 3.ความเสี่ยงของนโยบายนั้นๆ ซึ่ง กกต.ไม่มีอำนาจไปอนุญาตให้ใครหาเสียงได้หรือไม่ได้ แต่ขอให้พรรคการเมืองจัดทำข้อมูลให้ครบใน 3 เงื่อนไข เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะออกเสียงลงคะแนนให้หรือไม่ ถ้านโยบายนั้นจะทำให้การเงินการคลังของประเทศเสียหาย ก็มีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจตามมาตรา 245 โดยระบุว่าให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำความเห็น ถ้าพบว่านโยบายจะสร้างความเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศ ให้หารือร่วมกันกับ กกต. และ ป.ป.ช. แต่ถ้าดำเนินการนโยบายนั้นๆ แล้วเกิดการทุจริต ก็จะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบ ซึ่งกฎหมายออกแบบมาอย่างถูกต้องครอบคลุมแล้ว
“การที่พรรคการเมืองพยายามทำตามนโยบายเป็นเรื่องที่ดีของการเมืองไทย ส่วนดีหรือไม่ต้องรอดู ซึ่งมีกระบวนการในการตรวจสอบ ซึ่งต้องรอดูว่าจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน” นายแสวงกล่าว
เมื่อถามว่า มีการร้อง กกต.ให้ตรวจสอบจะทำอย่างไร นายแสวงกล่าวว่า เราจะไม่เอาความรู้สึกของคนมาบริหารประเทศ ไม่ได้ แต่เราทราบถึงความรู้สึกนั้นว่าประชาชนคาดหวังอย่างไร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขณะนี้ขยับหมดทั้ง สตง. และ ป.ป.ช. ในส่วนของ กกต.ก็พร้อมร่วมทำงานกับ สตง.และ ป.ป.ช.
เมื่อถามอีกว่า ก่อนหน้านี้ กกต.ได้ยกคำร้องว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลไม่ได้เข้าข่ายว่าเป็นการสัญญาว่าจะให้ นายแสวงย้ำว่า นโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงินเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์มาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง คือนโยบายก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย เมื่อนโยบายผ่านประชาชนจากการเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่ใช้เงินในลักษณะแบบนี้ ประชาชนต้องพิจารณาใน 3 เงื่อนไข ไม่ใช่ กกต.เป็นผู้พิจารณา โดย กกต.ดูเพียงว่าพรรคการเมืองเสนอครบตาม 3 เงื่อนไขหรือไม่
“ประชาชนต้องดูว่า 3 เงื่อนไขว่าประชาชนจะเลือกคุณไหม มันเสี่ยงหรือคุ้มค่าหรือไม่ แล้วก็ไปโหวต ถ้าโหวตไม่ผ่านก็ไม่ผ่านตั้งแต่ประชาชน ถ้าผ่านด่านประชาชนแล้วก็จะต้องถึงด่านรัฐธรรมนูญต่อ แล้วมาด่าน ป.ป.ช.ต่อไป ระบบวางไว้แบบนี้ อย่าว่าต่อๆ ทำตามกฎหมายเราไม่ได้ทำตามความรู้สึกคน” นายแสวงกล่าว
ต่อมาในช่วงบ่าย นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เซ็นทรัลและคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา โดยนายกฯ กล่าวหลังหารือว่า เครือเซ็นทรัลเป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด โดยได้มีการพูดคุยถึงโปรเจกต์ใหญ่ประมาณกลางเดือนหน้าจะประกาศได้ อย่างน้อยคุยกับรายใหญ่รายแรกไปก็ได้รับการตอบรับที่ดี หวังว่าจะมีรายอื่นๆ เข้ามาทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐเอกชนได้ ก็หวังว่าจะมีข่าวดีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการพัฒนาเมืองรอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นมาตรการภาษีแบบช็อปดีมีคืนหรือไม่ นายกฯ ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ แต่ใหญ่กว่านั้น และครอบคลุมกว่านั้น และจากนี้จะมีมาตรการด้านการท่องเที่ยวออกมาเรื่อยๆ ซึ่งบางส่วนก็ติดข้อกฎหมาย แต่ในส่วนที่ไม่ติดข้อกฎหมายก็เร่งดำเนินการเลย เพราะต้องการให้ทันในช่วงปีใหม่นี้ อะไรที่ทำได้ก่อนเราก็ทำ
วันเดียวกัน มีการประชุมแผนบูรณาการการท่องเที่ยว เรื่องการเปิดสถานบันเทิงถึง 04.00 น. นำร่องจังหวัดภูเก็ต, เชียงใหม่, ชลบุรี และ กทม. โดยนายเศรษฐาย้ำว่า นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ เห็นได้จากนโยบายด้านการท่องเที่ยว แทบจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ซึ่งเรื่องของการเปิดสถานบริการถึงตี 4 นี้ ยืนยันว่าเราก็คิดกันมาดีแล้ว เราได้พูดคุยกับฝ่ายความมั่นคง และเห็นว่าเป็นประเด็นที่ความจริงแล้วมันก็มีการกระทำกันอยู่ ลักลอบกันทำอยู่บ้างแล้ว เราก็ทำให้มันถูกต้องตามกฎหมายก็แล้วกัน แต่ต้องดูเรื่องโซนนิ่ง ว่าเขตไหนเหมาะสมที่จะทำหรือไม่ ทำอย่างไร
“กระทรวงมหาดไทยจะดูในเรื่องของโซนนิ่ง ใบอนุญาตต่างๆ ที่จะทยอยตามมา เดดไลน์ที่เราวางไว้เป็นวันที่ 15 ธ.ค.2566 ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ตามมาได้สั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลประชาชน ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับนโยบายนี้ ในเรื่องที่อาจมีเสียงรบกวน เรื่องการเมาไม่ขับ ได้เน้นย้ำไป และให้ติดกล้อง CCTV ให้มากขึ้น ทั้งนี้ การที่เอาเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยเหลือ ให้บริการเรื่องเมาไม่ขับ”
นายอนุทินกล่าวหลังประชุมว่า ตอนนี้มีรายละเอียดประเภทของสถานบริการ ทั้งสถานบริการที่ได้รับอนุญาตและอยู่ในโซนนิ่งอยู่แล้ว อันนั้นจะเปิดให้ถึง 04.00 น. ส่วนร้านอาหารที่คล้ายสถานบริการซึ่งมีเวลาปิด 24.00 น. ตรงนี้จะหาทางให้เปิดได้ถึง 02.00 น. เพื่อให้ทำมาหากิน แต่ขณะนี้กฎหมายอนุญาตให้ขายแอลกอฮอล์ได้ถึง 24.00 น. ตรงนี้จะพยายามให้นั่งสบายๆ ช่วง 24.00 น. ถึง 02.00 น. แต่ไม่สามารถเล่นดนตรีได้ เพียงแต่ขยายเวลาให้นั่งได้ สำหรับร้านที่ไม่มีใบอนุญาต แต่เปิดเกินเวลาก็จะเข้าลักษณะร้านอาหาร ถ้าไม่ขายแอลกอฮอล์ ไม่มีดนตรี จะเปิดถึงเช้าก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าขายแอลกอฮอล์ก็ได้ถึงแค่เที่ยงคืน ซึ่งที่จะขยายเวลาเพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถ้าผู้ประกอบการสามารถขายอาหารเพิ่มได้ ก็จะมีการจ้างงาน ทำให้มีรายได้เพิ่ม
“พยายามจะคลายให้มากที่สุด โดยกระทรวงมหาดไทยรับบัญชาจากนายกฯ และคุยกับตำรวจแล้ว จะทำร่างประกาศกระทรวงให้สอดคล้องกัน ซึ่งกฎกระทรวงต้องเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับ อีกทั้งต่อไปกระทรวงมหาดไทยเตรียมเสนอออกเป็นพระราชบัญญัติให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถประกาศพื้นที่โซนนิ่งและเวลาเปิด-ปิด ซึ่งผมเห็นด้วย เพราะหากจะขอขยายเวลาเปิด-ปิดแล้วต้องไปถึงขั้นแก้กฎหมาย จะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวลำบาก”
เมื่อถามว่า หากขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงอำนาจในการตรวจสอบจะอยู่ที่ฝ่ายปกครองเป็นผู้เข้าไปดูแลใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ฝ่ายปกครองดูแล และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องดูแล แต่กรณีที่เกิดขึ้นได้หารือกับผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) อธิบดีกรมการปกครอง จะร่วมกัน มีชุดเฉพาะกิจร่วมปฏิบัติงานด้วยกันทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกิดการกลั่นแกล้งใคร หรือชิงกันทำงานเอาหน้าเอาตาเพื่อให้อีกฝ่ายเดือดร้อน ปัญหาจะได้หมดไป เพราะต้องทำงานด้วยกัน และในระดับบนผู้บริหารทุกคนมีความสัมพันธ์ที่ดีกันอย่างมาก และเมื่อพูดคุยกับ ผบ.ตร. ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ขณะที่ มท.ก็จะให้ความร่วมมือเต็มที่ จากนี้ไปผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะประสานงานเพื่อร่วมมือกันจัดระเบียบให้สังคมสงบเรียบร้อย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ